Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๓๔

ดีแต่พูด

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-134

เมื่อสัปดาห์ก่อน ระหว่างเดินทางไปทำงานที่ทำงาน และรถกำลังติดไฟแดงอยู่นั้น
ผมได้เห็นรถยนต์คันหนึ่งติดสติ๊กเกอร์ไว้ที่กระจกหลัง
เป็นถ้อยคำตัวหนังสือตัวใหญ่ มีความข้อความว่า "ดีแต่พูด"
อ่านถึงตรงนี้แล้ว ท่านผู้อ่านอย่าไปจับโยงเข้าเรื่องการเมืองนะครับ
และก็อย่าไปเหมาว่าเขาตำหนิอะไรฝ่ายไหน ผมไม่ได้บอกนะว่าตัวหนังสือนั้นสีอะไร
ที่สำคัญคือเราไม่ได้ต้องการจะสนทนากันในเรื่องการเมือง
แต่เราต้องการจะคุยกันในเรื่องธรรมะนะครับ

ถามว่า "ดีแต่พูด" เกี่ยวโยงกับเรื่องธรรมะอย่างไร?
ในความเป็นจริงนั้น ธรรมะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องด้วยกายและใจเราเอง
คำว่า "ดีแต่พูด" จึงต้องย้อนมาพิจารณาที่ตัวเราเองนะครับ ไม่ได้ไปพิจารณาที่คนอื่น
ในหลักการก็คือ พิจารณาตัวเราเองว่า เรานั้น "ดีแต่พูด" หรือเปล่า
โดยในที่นี้ เราจะลองมาพิจารณากันในสองมุมนะครับ

ในมุมแรก ซึ่งเป็นมุมที่สำคัญมากคือ ในเรื่องของ "สัจจะ"
ดีแต่พูดนั้น ย่อมหมายถึงว่า ดีแต่พูดอย่างเดียว แต่ไม่ได้ทำอย่างที่ได้พูดไว้
หรืออาจจะขยายความไปถึงว่า ไม่สามารถทำได้ดีอย่างที่พูดไว้นั้นด้วย
ตอนเราพูด ก็พูดเสียดีทีเดียว แต่พอถึงเวลาทำนั้น ไม่ทำเลย หรือทำไม่ดีอย่างที่พูดไว้
อย่างนี้ก็ย่อมจะถือว่า "ดีแต่พูด" เช่นกัน
ถามว่าแล้วอย่างนี้จะเกี่ยวกับตัวเราได้อย่างไรบ้าง?
ยกตัวอย่างเช่น เราลองพิจารณาในเรื่องศีลนะครับ
เราทุกคนที่อ่านบทความอยู่นี้คงจะได้เคยสมาทานศีลห้ากันมาหลายครั้งแล้ว
ในการสมาทานศีลห้าแต่ละครั้ง เราก็กล่าวว่าเราจะรักษาศีลห้า
ลองพิจารณานะครับว่า เรารักษาศีลห้ากันครบหรือไม่ รักษากันแข็งแรงหรือเปล่า
หากรักษาไม่ครบ รักษาไม่แข็งแรง ศีลบกพร่อง ศีลด่างพร้อย หรือไม่สนใจรักษาศีล
ก็เท่ากับว่าดีแต่พูด ดีแต่สมาทาน แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ทำ ก็ไม่รักษา

เราลองพิจารณาในเรื่องที่เราสวดมนต์กันบ้าง
ทุกท่านคงได้สวดมนต์บทไตรสรณคมน์ (พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ...) กันอยู่บ่อย ๆ
โดยความหมายก็คือว่า เรายึดถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก
หรือเรายึดถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ลองพิจารณาว่า เรายึดถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึกจริงหรือ?
ในแต่ละวันที่ผ่านไปนั้น เราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์มากน้อยเพียงไร?
เรานำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพียงไร?
หรือว่าเรามัวแต่ระลึกถึงแต่กิเลส จิตใจเราโดนกิเลสครอบงำทั้งวัน
ในแต่ละวันที่ผ่านไป เราไม่ได้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เลย
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะพูดได้หรือว่า
เราได้ยึดถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่ระลึกตามที่ได้พูดไว้จริง ๆ

ในอีกทางหนึ่ง เรากล่าวว่าเรายึดถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ลองพิจารณาว่าในแต่ละวันที่ผ่านไป เรายึดถืออะไรเป็นสรณะกันแน่?
ในแต่ละวันที่ผ่านไปนั้น เราไหลไปตามกระแสโลก ไหลไปตามกระแสกิเลสหรือไม่?
เรายึดถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะจริงหรือเปล่า?
หรือว่าเรายึดถือสิ่งอื่น ๆ เป็นสรณะ เช่น ยึดถือเงิน ผลประโยชน์ อุปกรณ์ไอที เป็นต้น
จิตใจหมกมุ่นกับสิ่งเหล่านั้น เราฝากจิตใจและความสุขในชีวิตไว้กับสิ่งเหล่านั้น
เราใช้ชีวิตเพื่อดิ้นรนขวนขวายหาสิ่งเหล่านั้น
โดยหวังว่าสิ่งเหล่านั้นจะบันดาลความสุขให้แก่ชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ไอที หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย
เรายึดถือว่าความสุขในชีวิตของเราขึ้นกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่?
เวลาชีวิตเรามีเวลาว่าง เราอยู่กับกายใจเรา เราอยู่กับสติ เราอยู่กับพระรัตนตรัย
หรือว่าเราอยู่กับอุปกรณ์ไอที เราอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์?
พอเราจะมีเวลาชีวิตว่างสักหน่อย เราทำอะไร?
เราระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เรามีสติรู้กายรู้ใจ เราปฏิบัติธรรม
หรือเรารีบเข้าหาอุปกรณ์ไอที รีบเข้าอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
แล้วที่ทำเช่นนั้นเพื่อสร้างสมกิเลสหรือไม่?

ลองพิจารณานะครับว่าเราเป็นเช่นนี้หรือไม่?
เปิดโทรทัศน์ในแต่ละครั้งก็เพื่อชมสิ่งประโลมกิเลส เพิ่มพูนโมหะ โทสะ โลภะ
หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแต่ละครั้งก็เพื่อสนทนาเรื่องที่พาให้ขาดสติ เรื่องที่เพิ่มพูนกิเลส
เรื่องคนอื่น ๆ ที่พาให้ฟุ้งซ่านขาดสมาธิ หรือเกิดโทสะ เรื่องที่นำพาให้ศีลด่างพร้อย
เข้าอินเตอร์เน็ตแต่ละครั้ง เข้าเว็บไซต์แต่ละเว็บ ก็เพื่อเข้าไปอ่าน คิด คุย โพสต์
เรื่องทั้งหลายที่เพิ่มพูนกิเลส เรื่องที่ทำให้ขาดสติ หรือทำให้ศีลด่างพร้อย
โดยไม่ได้เป็นไปเพื่อการระลึกถึงพระรัตนตรัย หรือการยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ดังที่เราได้กล่าวไว้ หรือที่เราได้สวดมนต์ไว้เลย

นอกจากนี้ อย่างสวดมนต์ทำวัตร ก็จะมีกล่าวไว้นะครับว่า
เรามอบกายถวายชีวิตนี้แด่พระรัตนตรัย หรือเราจะประพฤติตามพระรัตนตรัย
แล้วในความเป็นจริงนั้น เราประพฤติตามพระรัตนตรัยจริง ๆ หรือเปล่า?
เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่?
เราปฏิบัติตามพระธรรมหรือเปล่า?
เราปฏิบัติตามจริยวัตรและคำสอนของพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือไม่?
หากคำตอบคือ "ไม่" แล้วนะครับ ตัวเราเองก็ "ดีแต่พูด" เหมือนกัน

สำหรับในมุมที่สอง ลองพิจารณานะครับว่า การทำดีนั้นทำได้ทั้งทางกาย วาจา และใจ
ที่กล่าวว่า "ดีแต่พูด" นี้หมายถึงว่า ทำดีแต่ทางวาจา
แต่ในส่วนทางใจ และทางกายนั้น เราทำไม่ดีหรือเปล่า?
อย่างเช่นตัวเราเองอาจจะพูดกับคนโน้นดีกับคนนี้ดี พูดดีจริง ๆ
แต่แท้จริงในใจเราแล้ว คิดไม่ดีกับเขา หรือที่ทำทางกาย อาจจะทำไม่ดีกับเขาด้วย
หรืออาจจะแค่คิดไม่ดี แต่เราทำดีกับเขา หรือในทางกลับกันก็ตาม
ก็คือว่าให้ลองพิจารณาการกระทำดีในชีวิตเรานะครับว่า
เป็นการกระทำดีทั้งทางกาย วาจา และใจหรือยัง
หรือว่าทำดีเฉพาะวาจาเท่านั้น แต่ในส่วนอื่น ๆ ก็ยังไม่ดี

หากจะอาการหนักมากก็คือ ทำชั่วทั้งทางกาย วาจา และใจอย่างครบวงจร
คือเรียกได้ว่ากระทั่งพูดก็ยังไม่ดี ทำก็ไม่ดี และคิดก็ไม่ดี
ในชีวิตจริง ๆ เราก็คงจะพิจารณาเห็นคนอื่นไม่น้อยเลยนะครับที่เป็นเช่นนั้น
แต่ว่าในทางธรรมะแล้ว เราพิจารณาตัวเราเอง ย่อมจะได้ประโยชน์มากกว่า
เวลาที่เราไปพิจารณาคนอื่นนั้น ก็มีแต่จะเห็นแตกต่างกันแล้วก็ทำให้ทะเลาะกัน
ฉะนั้นแล้ว ก็พิจารณาตัวเองจะดีที่สุด เพราะจะเป็นการตรวจสอบตนเอง
เป็นการขัดเกลาจิตใจ วาจา และความประพฤติของตนเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

เมื่อเราพิจารณาในสองมุมดังกล่าว หากพบว่าเรายังมีข้อบกพร่องอยู่แล้ว
เราก็ไม่ควรละเลย และอย่าประมาทครับ
เราพึงมีความเพียรที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมต่อไปเรื่อยอย่างไม่ย่อหย่อน

เช่นนี้ เมื่อเราเห็นหรือได้ยินถ้อยคำว่า "ดีแต่พูด" ในที่แห่งใดหรือจากแหล่งไหนก็ตาม
ก็อย่าเพิ่งจับไปโยงเรื่องการเมืองว่าใครกำลังด่าใครนะครับ
เพราะการไปพิจารณาเรื่องคนด่ากันนั้น ไม่ค่อยได้ประโยชน์กับตัวเราเท่าไรหรอกครับ
จึงแนะนำให้เราหันมาตรวจสอบตัวเองดีกว่า ย้อนกลับมาดูที่กายที่ใจเราเองดีกว่า
เราหลงไปมองแต่ว่าคนอื่นไม่มีธรรมะ แล้วเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้วหรือยัง?
เราหลงไปมองว่าคนอื่นนั้นดีแต่พูด แล้วเราเองก็ดีแต่พูดหรือเปล่า?

แล้วจะทำอย่างไรจึงจะไม่ถือว่าเราดีแต่พูดในสิ่งที่ได้กล่าวไปข้างต้น
เราก็ต้องสนใจใส่ใจ ตั้งใจ และมีความเพียรในการศึกษาและปฏิบัติธรรม
อย่าเห็นธรรมะเป็นเพียงรีสอร์ท เป็นเพียงที่พักร้อนชั่วคราวของชีวิต
แต่เราควรต้องเห็นว่า ธรรมะเป็นบ้าน เป็นที่พักถาวร เป็นหน้าที่หลัก เป็นงานหลักของชีวิต
มีบางท่านที่เห็นว่าธรรมะเป็นเพียงรีสอร์ท เป็นเพียงที่พักร้อนชั่วคราวนะครับ
โดยพอทุกข์ใจที พอเบื่อ ๆ ที ก็แวะหลบเข้าหันมาหาธรรมะ
แต่พอทุกข์ร้อนเริ่มเบาบางหน่อย ก็กระโจนกลับไปคลุกกับกระแสกิเลสอีก
ซึ่งการที่เราต้องการจะได้ผลอะไรที่จริงจัง เราก็พึงต้องทำอย่างจริงจัง
หากเราทำอะไรอย่างย่อหย่อน ผลที่ได้ก็จะย่อหย่อนตามไปด้วย ก็เป็นเรื่องธรรมดา

อนึ่ง ผมพิมพ์ไป ๆ แล้ว ก็ต้องหันมาพิจารณาตัวเองเหมือนกันนะ
"อ้าว ผมเองก็ ดีแต่พูด อยู่เช่นกันนี่นา"
ดังนี้แล้ว ผมก็ต้องขอตัวไปเพียรในส่วนตนเองด้วยล่ะครับ