Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๓๓

บริหารจัดการชีวิตในยามวิกฤติ

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-133

ในเวลาที่มีเหตุการณ์ร้ายแรงผ่านเข้ามาในชีวิตเรา
หากถามว่าเราจะผ่านเหตุการณ์นั้นไปอย่างไร
ผมเห็นว่าคำตอบก็ควรจะขึ้นอยู่กับว่า ๑. ทัศนคติและมุมมองของเราต่อเหตุการณ์นั้น
๒. เราให้ความสำคัญกับสิ่งใด และ ๓. เราจะเลือกบริหารจัดการชีวิตเราอย่างไร

เริ่มต้นที่ข้อแรก “ทัศนคติและมุมมองของเราต่อเหตุการณ์นั้น”
ทัศนคติและมุมมองของเราต่อเหตุการณ์ร้ายแรงที่ผ่านเข้ามานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ผมเคยเล่าเรื่องของท่าน “สุมงคลเศรษฐี” ในตอนก่อน ๆ นะครับว่า
ในอดีตกาล ท่านเศรษฐีผู้นี้ได้ถวายกุฏิแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่า “กัสสปะ”
ต่อมาได้มีโจรนายหนึ่งที่เจ็บแค้นท่านเศรษฐีผู้นี้ และไปแอบเผากุฏิที่ท่านเศรษฐีได้ถวายนั้น
เมื่อท่านเศรษฐีได้ทราบข่าวว่า กุฏิที่ตนเองได้ถวายนั้นถูกเผาราบไปแล้ว
แทนที่ท่านเศรษฐีจะรู้สึกเสียใจและโกรธแค้น ท่านกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น
แต่ท่านกลับชอบใจและเห็นว่าที่เป็น “โอกาส” ของตนเองที่จะได้สร้างกุฏิ
เพื่อถวายพระพุทธเจ้ากัสสปะอีก โดยท่านตั้งใจว่าครั้งใหม่นี้จะสร้างให้ดี
และสวยงามกว่าครั้งก่อนอีกด้วย ซึ่งท่านเศรษฐีไม่ได้มองว่าเหตุการณ์นั้นเป็น “วิกฤติ” เลย

ผมเคยอ่านเรื่องเล่าชีวิตของบางท่านที่ป่วยหนักเป็นโรคร้ายนะครับ
และท้ายที่สุดท่านเหล่านั้นก็เสียชีวิตเสียด้วย แต่ว่าเมื่อได้ทราบว่าตนเองเป็นโรคร้ายแล้ว
แต่ละท่านเหล่านั้นได้มีโอกาสใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอย่างเป็นประโยชน์เต็มที่
บางคนได้ปรับเปลี่ยนนิสัยจากที่แย่มากทำให้ทุกคนหนีห่างนั้นกลายเป็น
คนดีมากที่ทำให้ทุกคนชื่นชอบและชื่นชม บางคนได้มีโอกาสขออภัยในสิ่งที่ตนเองทำผิดพลาดไป
และเป็นสิ่งที่ค้างคาใจตนเองและผู้อื่น หรือได้เปิดเผยความรู้สึกในใจที่ดีแก่คนที่ตนเองรัก
บางคนได้หันเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมะ ได้รู้ถึงเป้าหมายของชีวิตตนเอง
ได้ใช้เวลาชีวิตช่วงสุดท้ายในการภาวนา และก็จากโลกนี้ไปอย่างนักภาวนาผู้ไม่กลัวมรณภัย
บางท่านสรุปในตอนท้ายว่า ตนเองดีใจมากที่ได้ป่วยหนักเป็นโรคร้าย
เพราะทำให้ได้มี “โอกาส” หันมาทำสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตและจิตใจตนเองในโอกาสสุดท้ายนั้น
ซึ่งมีคุณค่ากว่าที่จะให้ชีวิตตนเองไหลไปตามกระแสสังคม ไหลไปตามกระแสโลก
แล้วถึงวันหนึ่งก็ต้องตายไปอย่างฉับพลัน โดยไม่ได้มีโอกาสที่จะทำสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านั้นเลย

ฉะนั้นแล้ว อะไรก็ตามที่ดูเหมือนว่าจะเป็นวิกฤติเลวร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรานั้น
จริง ๆ แล้ว มันอาจจะไม่ได้เป็นวิกฤติที่เลวร้ายเสมอไป
แต่แท้จริงแล้ว อาจจะเป็น “โอกาส” ในชีวิตเราก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับทัศนคติและมุมมองของเรา
ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ๆ กรณีเหตุการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน
เหตุการณ์น้ำท่วมนี้อาจจะทำให้บางท่านที่ประสบภัยรู้สึกเสียใจและทุกข์ใจมากมาย
รู้สึกว่าตนเองไม่ได้อะไรจากเหตุการณ์นี้เลย แต่บางท่านอาจจะไม่ได้มองหรือรู้สึกเช่นนั้น
บางท่านที่ประสบภัยอาจจะรู้สึกว่าได้ประโยชน์ และเป็นโอกาสที่จะได้พบเห็นหรือ
ได้ย้อนกลับมาพิจารณาอะไรบางอย่างในชีวิตของตนเองอย่างลึกซึ้ง
หรือได้พิจารณาสิ่งรอบ ๆ ตัวในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากปกติ

การที่คนสองคนหรือหลายคนจะรู้สึกแตกต่างกันในเหตุการณ์น้ำท่วมเดียวกันนี้
ย่อมเป็นไปได้นะครับ ยกตัวอย่างเช่นว่า มีครอบครัวหนึ่งมีพ่อแม่ลูกสามคน
ปรากฏว่าน้ำท่วมบ้านทำให้เดินทางไปไหนไม่ได้ คนที่เป็นพ่อรู้สึกไม่พอใจที่น้ำท่วมบ้าน
เพราะตนเองต้องการไปทำงาน และกังวลถึงเรื่องงานที่ทำงานเป็นอย่างมาก
คนที่เป็นแม่ไม่ได้ทำงานนอกบ้านด้วย อาจจะรู้สึกดีใจที่ได้มีเวลาอยู่กับสามีและลูกเต็มที่
จากเดิมที่สามีออกไปทำงานและลูกออกไปเรียนทุกวันทำให้ไม่ได้มีเวลาอยู่ด้วยกันเลย
คนที่เป็นลูกอาจจะรู้สึกขี้เกียจไปเรียน และก็ดีใจว่าได้หยุดอยู่บ้าน ไม่ต้องไปเรียน
ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าสิ่งที่คนหนึ่งมองว่าเป็นวิกฤติ แต่อีกคนหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นโอกาสก็ได้
โดยก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคนนะครับ อย่างตัวอย่างในชีวิตจริงก็มีให้เห็นอยู่นะ
บางท่านมองเห็นโอกาสน้ำท่วมนี้ที่จะช่วยกันสร้างกุศล โดยการช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อน
แต่บางท่านก็กลับนำเหตุการณ์นี้ไปสร้างสิ่งอกุศล เช่น ไปลักขโมย หรือฉ้อโกงต่าง ๆ ก็มี

ผมรู้จักญาติธรรมท่านหนึ่งที่ทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งพอมีข่าวมาก ๆ ว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หนัก
เขาก็ได้ถือโอกาสชักชวนคุณพ่อคุณแม่เดินทางอพยพไปต่างจังหวัด
ซึ่งจากเดิมที่คุณพ่อคุณแม่ของญาติธรรมท่านนี้ไม่เคยจะยอมเดินทางไปไหนเลย
ไม่ชอบไปวัด ไม่ชอบไปทำบุญที่ไหน มัวแต่เฝ้าบ้านเพราะห่วงบ้านและทรัพย์สิน
แต่พอทราบข่าวว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หนักและต้องอพยพแล้ว
คุณพ่อคุณแม่ก็ยอมเดินทางอพยพไปต่างจังหวัดด้วย
ญาติธรรมท่านนี้จึงได้มี “โอกาส” พาคุณพ่อคุณแม่ไปทัวร์ทำบุญไหว้พระที่ต่างจังหวัด
และได้ร่วมงานกฐินในหลาย ๆ วัด ในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน
และยังได้มีโอกาสถวายพระไตรปิฎกพร้อมตู้ให้กับวัดอีกแห่งหนึ่งที่มีความต้องการด้วย
ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมนี้แล้ว เขาคงไม่มีโอกาสที่จะชักชวนและพาพ่อแม่ไปได้
จึงจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมนี้ ถือเป็น “โอกาส” ของเขานะครับ ไม่ใช่ “วิกฤติ”

รู้จักญาติธรรมอีกท่านหนึ่งนะครับ ซึ่งสถานที่ทำงานนั้นน้ำท่วม
ญาติธรรมท่านนี้ไม่สามารถไปทำงานได้ จึงเดินทางไปต่างจังหวัด
ไม่ได้ไปเที่ยวนะครับ แต่ว่าไปอยู่วัดเพื่อปฏิบัติธรรม เช่นนี้ก็ถือว่าเป็น “โอกาส” เหมือนกัน

บางท่านอาจจะบอกว่า เหตุการณ์น้ำท่วมนี้เป็น “วิกฤติ” อย่างแน่นอน
เป็น “วิกฤติ” โดยแท้ ไม่มีทางที่จะเป็น “โอกาส” สำหรับท่านได้เลย
เพราะมีแต่เสียเงินอย่างเดียว ขอเรียนว่าในพิจารณาว่าเป็น “วิกฤติ” หรือ “โอกาส” นั้น
เราอย่าไปมองเพียงเรื่อง “เงิน” เท่านั้นนะครับ
หากท่านมองแต่เพียงเรื่องเงินเป็นสำคัญ และมองว่ามีแต่เสียเงิน และเสียเงินเท่านั้น
จากนั้นก็มาสรุปว่าเป็นวิกฤติของชีวิตท่านแล้ว ผมเห็นว่าท่านจะสรุปผิดเสียแล้วล่ะ

หากท่านสรุปว่า “เสียเงิน” หรือ “วิกฤติในเรื่องการเงิน” ของท่านเท่ากับว่า
เป็น “วิกฤติในชีวิต” ด้วยแล้ว เท่ากับว่าท่านกำลังจะแปลคำว่า “เงิน” คือ “ชีวิต”
ลองถามตัวเองนะครับว่า “เสียเงิน” เท่ากับ “เสียชีวิต” หรือไม่ หากตอบว่า “ไม่”
แล้วทำไม “วิกฤติในเรื่องการเงิน” จะต้องเท่ากับ “วิกฤติในชีวิต” ด้วยล่ะ

สมมุติว่ามีชายคนหนึ่งป่วยหนักเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย โดยมีโอกาสหายป่วยน้อยมาก
แต่ว่าชายคนนั้นขายทรัพย์สินทุกอย่างที่เขามีเพื่อมารักษาตนเอง และทำใจสบาย ๆ
ไม่เครียดในเรื่องราวใด ๆ ต่อมาปรากฏว่าเขาได้หายจากโรคมะเร็งนั้น
แต่ว่าเขาได้สูญเสียทรัพย์สินทั้งหมดไป
เราจะพิจารณาว่ากรณีนี้เป็น “วิกฤติ” ที่เขาต้องสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมดไป
หรือเราจะมองว่าเป็น “โอกาส” ที่เขารอดตาย และได้มีชีวิตอยู่ยืนยาวต่อไปกันแน่
ฉะนั้นแล้ว เรื่อง “เงิน” นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่อง “ชีวิต” นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
วิกฤติที่เกิดขึ้นนี้อาจจะกระทบกับเรื่องการเงินของเรา ทำให้ฐานะการเงินเสียหาย
ทำให้อาชีพการงานเสียหาย ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย แต่ไม่ได้แปลว่าจะต้องทำให้
ชีวิตเสียหายไปด้วย และทำให้ชีวิตไม่ได้อะไรเลยจากเหตุการณ์นี้
ชีวิตเราจะได้อะไรจากเหตุการณ์นี้หรือไม่นั้น ขึ้นกับทัศนคติและมุมมองของเราเอง
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเสียเงิน หรือเราได้เงิน

สมมุติว่า มีชายสองคนโดนน้ำท่วมบ้าน สูญเสียทรัพย์สิน และต้องอพยพไปอยู่ที่วัด
ชายคนแรกมองว่าเป็นวิกฤติ มัวแต่คิดกลุ้มใจ เสียดายบ้านและทรัพย์สิน กังวลห่วงแต่ว่า
จะมีโจรเข้าไปขโมยทรัพย์สินหรือไม่ สนใจแต่ว่าเมื่อไรน้ำจะลดลง จะได้กลับไปดูแลทรัพย์สิน
ชายคนที่สองมองว่าเป็นโอกาสที่ได้มาอยู่สถานที่อพยพที่วัด โดยถือว่าได้มาพักที่วัด
และได้ปฏิบัติธรรมที่วัดไปด้วย เวลาอยู่ที่สถานที่อพยพที่วัดก็พยายามช่วยเหลือคนอื่น ๆ
ช่วยเหลืองานของสถานที่อพยพ และช่วยเหลืองานของวัด
โดยมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้สร้างประโยชน์อันย่อมเป็นบุญกุศลแก่ชีวิตตนเอง
การที่น้ำท่วมทำให้เดินทางไปไหนไม่สะดวกกลับกลายเป็นโอกาสว่าไม่ต้องไปไหน
และทำให้สามารถใช้เวลากับชีวิตตัวเองอย่างเต็มที่
โดยไม่มีเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตเข้ามาแทรกแซง

ฉะนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่าทัศนคติและมุมมองของเราต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น
เป็นสิ่งสำคัญมาก หากมองเหตุการณ์ว่าเป็น “วิกฤติ” มันก็จะเป็นวิกฤติตามนั้น
แต่หากเราลองเปลี่ยนมุมองบ้าง และหาประโยชน์ให้พบ
เราอาจจะพบว่าแท้จริงแล้ว เหตุการณ์นั้นกลับจะเป็น “โอกาส” ก็ได้
ทั้งนี้ ทัศนคติและมุมมองของเราต่อเหตุการณ์นั้นจะเป็นอย่างไร
ก็ย่อมจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ และธรรมะในใจของเราด้วย

ในข้อต่อมา “เราให้ความสำคัญกับสิ่งใด”
เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงผ่านเข้ามาในชีวิตเราแล้ว
ก่อนที่เราจะพิจารณาตัดสินใจเลือกบริหารจัดการชีวิตเราอย่างไร
เราควรจะพิจารณาก่อนนะครับว่า เราให้ความสำคัญกับสิ่งใดเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิต
บางท่านให้ความสำคัญกับชีวิตตนเอง หรือประโยชน์อื่น ๆ เพื่อชีวิตตนเอง
บางท่านให้ความสำคัญกับบ้าน รถและทรัพย์สินอื่น ๆ
บางท่านให้ความสำคัญกับคนในครอบครัว (เช่น พ่อแม่ สามีภรรยา และบุตร)
บางท่านให้ความสำคัญกับหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบในหน้าที่งาน
บางท่านให้ความสำคัญกับการทำประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น และส่วนรวม
บางท่านให้ความสำคัญกับธรรมะ และการประพฤติธรรม ฯลฯ

การบริหารจัดการชีวิตของเรานั้น ก็พึงที่จะบริหารจัดการไปตามลำดับความสำคัญ
โดยพิจารณาให้น้ำหนักว่าสิ่งใดสำคัญมากน้อยกว่ากันเรียงลำดับกันไป
เช่น อย่างบางท่านบอกว่า “ชีวิตตนเอง”สำคัญมาก แต่ว่ากลับห่วงแต่ทรัพย์สิน
และเอาชีวิตตนเองที่ว่าสำคัญนั้นไปเสี่ยงเฝ้าทรัพย์สินที่สำคัญน้อยกว่า
บางท่านบอกว่า “ครอบครัว” สำคัญ แต่ถึงเวลากลับทอดทิ้งครอบครัว
และกลับไปให้ความสำคัญแก่สิ่งอื่น ๆ หรือคนอื่น ๆ ที่เราให้ความสำคัญน้อยกว่า

ถ้าเราให้ความสำคัญผิด หรือจัดลำดับความสำคัญผิด
ก็ย่อมจะมีโอกาสสูงที่จะบริหารจัดการผิดลำดับความสำคัญตามไปด้วย
แต่แม้ว่าเราจะให้ความสำคัญถูกต้อง หรือจัดลำดับความสำคัญถูกต้องก็ตาม
แต่ก็มีโอกาสว่าในเวลาที่เราบริหารจัดการชีวิตจริง ๆ แล้ว
เราอาจจะบริหารจัดการไปคนละเรื่องกับลำดับความสำคัญก็ได้
เพราะว่าในช่วงเวลาที่ฉุกละหุกหรือเร่งด่วนนั้น เราอาจจะหลงลืมบางสิ่งบางอย่างไป
เพราะฉะนั้นแล้ว เราจึงควรย้อนมาพิจารณาเรื่องความสำคัญนี้อยู่เสมอ ๆ

ยกตัวอย่างบางท่านที่แอบไปขโมยกระสอบทรายส่วนกลางหรือของคนอื่น ๆ
หรือแอบไปทำลายคันกั้นน้ำของส่วนกลาง หรือของคนอื่น ๆ
ท่านนั้น ๆ อาจจะทำไปด้วยความกังวลและเป็นห่วงต่อบ้านและทรัพย์สินของท่าน
แต่หากท่านใจเย็น ๆ สักนิด และลองไล่ลำดับความสำคัญแล้ว
การทำเช่นนั้นเพื่อรักษาบ้านและทรัพย์สินนั้นสำคัญเพียงไร
การทำเช่นนั้นจะสำคัญกว่าความรู้สึกผิดในใจตลอดชีวิตหรือเปล่า
สำคัญกว่าเกียรติในตัวท่าน สำคัญกว่าคุณธรรมและความเป็นคนดีในตัวท่านอีกหรือ
หากท่านมีพ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยา และลูกแล้ว เขาเหล่านั้นจะมองท่านอย่างไร
การทำเช่นนั้นสำคัญกว่าความรู้สึกของคนในครอบครัว สำคัญกว่าความเคารพนับถือ
และการเป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูกหลานของท่านในปัจจุบันและในอนาคตหรือไม่

บางท่านอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมสูงอย่างรวดเร็ว ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะขนย้าย
ทรัพย์สินและของมีค่าใด ๆ ออกมาได้ โดยทำได้แค่เพียงพาตนเองและครอบครัวออกมาเท่านั้น
เมื่อพ้นออกมาจากพื้นที่แล้ว ท่านมัวแต่เศร้าโศกเสียใจและเสียดายในทรัพย์สิน
และสิ่งของมีค่าหลายอย่างที่ไม่สามารถนำติดตัวออกมาได้ทัน
หากท่านจะลองใจเย็น ๆ และจัดลำดับความสำคัญดูแล้ว
ถามว่าทรัพย์สินมีค่าทั้งหลายเหล่านั้น สำคัญกว่าชีวิตของตัวท่านเอง
และสำคัญกว่าชีวิตคนในครอบครัวท่านหรือไม่ หากท่านตอบว่า “ไม่” นะครับ
ก็แสดงว่าในสภาวการณ์เช่นนั้น ท่านได้ทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว
กล่าวถือ ท่านได้เลือกรักษาสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าและมีคุณค่ามากกว่า
กรณีจึงไม่จำเป็นที่จะมัวไปเสียใจถึงสิ่งที่สำคัญน้อยกว่าและมีคุณค่าน้อยกว่านั้น

ในข้อสุดท้าย “เราจะเลือกบริหารจัดการชีวิตเราอย่างไร”
ในข้อนี้ก็ขึ้นอยู่กับสองข้อที่กล่าวไปแล้วนะครับว่าเรามีทัศนคติและมุมมองอย่างไร
และเราให้ความสำคัญกับสิ่งใดบ้าง หากเรามีทัศนคติและมุมมองที่มองว่า
เหตุการณ์ร้ายแรงเป็นวิกฤติ ไม่ได้เห็นแง่บวก และไม่ได้เห็นโอกาสอะไรเลย
และมัวแต่ให้ความสำคัญแก่เรื่องราวในอดีต หรือสิ่งที่ไม่เป็นสาระสำคัญอะไร
เราก็คงจะไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตได้ดี เพื่อเกิดประโยชน์ในอนาคตได้
แต่หากเรามีทัศนคติและมุมมองที่เห็นโอกาสในเหตุการณ์ดังกล่าว
และให้ความสำคัญแก่เหตุการณ์ในปัจจุบัน และสิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบันอย่างถูกต้อง
เราก็จะสามารถบริหารจัดการชีวิตได้ดี เพื่อเกิดประโยชน์ในอนาคตอย่างมากมาย

ยกตัวอย่างว่าบางท่านโดนน้ำท่วมบ้าน ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้
วัน ๆ จึงเอาแต่หมกมุ่นติดตามข่าวเรื่องน้ำท่วม หรือตามข่าวการเมืองที่เกี่ยวกับน้ำท่วม
เอาแต่คิดเรื่องใด ๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดอกุศลในจิตใจ
จะโทรศัพท์หาใคร หรือใครจะโทรศัพท์มา หรือจะคุยกับใครก็หมกมุ่นคุยแต่เรื่องน้ำท่วม
หมกมุ่นเรื่องการเมืองที่เกี่ยวกับน้ำท่วม ห่วงกังวลแต่บ้านและทรัพย์สิน
วัน ๆ ก็มีแต่อารมณ์เครียด หงุดหงิด ไม่พอใจ
โลภ อยาก เสียดาย กังวล เป็นห่วง หลงขาดสติ และอื่น ๆ ที่เป็นอกุศลทั้งวัน
เช่นนี้จะถือว่าเป็นการบริหารจัดการชีวิตที่ถูกต้องในช่วงเวลาดังกล่าวหรือเปล่า

สมมุติว่าชายคนหนึ่งติดน้ำท่วมอยู่ที่บ้าน โดยอาหารและน้ำเหลือน้อยแล้ว
เขาก็เครียดและกังวล วัน ๆ ก็เอาแต่ติดตามข่าวน้ำท่วม และเฝ้ามองแต่คนจะนำของมาแจก
กับชายอีกคนหนึ่งที่ประสบเหตุการณ์เหมือนกัน แต่เขาลดละวางความเครียดและกังวล
โดยเมื่ออาหารและน้ำเหลือน้อย เขาก็ถือศีลแปดเสียเลย
และถือโอกาสลดน้ำหนักเสียเลย ก็ย่อมจะได้ประโยชน์ และสบายใจกว่า
ส่วนว่าจะควรอพยพไหม หรือจะอยู่ในบ้านต่อไปหรือไม่ อย่างไร
ก็พิจารณาไปตามเหตุผลที่เหมาะสม และทำในสิ่งที่สมควรจะทำ ก็จะแก้ปัญหาได้ดีกว่า

หากบางท่านติดน้ำท่วมอยู่ที่บ้าน และไม่รู้ว่าจะทำอะไร
แทนที่ท่านจะเอาแต่ติดตามข่าวน้ำท่วม ๆ ทุกวัน ๆ วันละหลายชั่วโมง
หากท่านลองนำเวลาไปใช้เพื่อทำสิ่งอื่น ๆ แล้ว
อาจจะเป็นประโยชน์กับชีวิตท่านมากกว่าอย่างมากเลยก็ได้
เช่น เอาเวลาไปสวดมนต์ ฟังธรรมเทศนา (จากซีดี หรืออินเตอร์เน็ต ฯลฯ)
อ่านหนังสือธรรมะ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือเจริญสติภาวนา ฯลฯ
หรือนำไปทำงานบางอย่างที่คั่งค้าง หรืออ่านหนังสือที่ซื้อไว้แต่ไม่ได้อ่าน เป็นต้น

หากท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ชักรู้สึกไม่แน่ใจว่า ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมนี้
ท่านได้บริหารจัดการชีวิตท่านอย่างเหมาะสมหรือไม่
ก็ขอแนะนำให้ท่านลองทดสอบตนเองด้วยการตอบคำถามเหล่านี้นะครับ
- ท่านได้เห็นโอกาส หรือได้ข้อคิดเตือนใจตนเองใด ๆ จากเหตุการณ์น้ำท่วมนี้บ้าง
- ท่านได้ทำประโยชน์ใด ๆ ให้แก่ตนเอง ผู้อื่น และส่วนรวมในเหตุการณ์น้ำท่วมนี้บ้าง
- ท่านได้คิด พูดและทำสิ่งกุศลหรืออกุศลอะไรบ้าง และแค่ไหนในเหตุการณ์น้ำท่วมนี้
- จิตใจของท่านในแต่ละวัน และแต่ละเวลาเป็นอย่างไร เป็นกุศลเยอะ หรือเป็นอกุศลเยอะ
ส่วนใหญ่แล้วท่านจะมีสติ จิตใจปลอดโปร่ง โล่ง เบา และสบายใจ
หรือว่าท่านขาดสติ และมีแต่เครียด หลง อยาก ห่วง กังวล ไม่พอใจ และไม่สบายใจ
- ท่านใช้เวลาในแต่ละวันทำอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน เช่น เอาแต่ติดตามข่าวน้ำท่วม
เอาแต่สนทนาไม่เป็นเรื่องราวกับคนอื่น ๆ หรือใช้เวลาทำงาน ศึกษา หรือทำประโยชน์อย่างอื่น
- อะไรบ้างที่เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตท่าน และท่านได้ดูแลสิ่งเหล่านั้นตามลำดับความสำคัญหรือไม่

โดยสรุปแล้ว เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา
เราจะผ่านเหตุการณ์นั้นไปอย่างไร จะเสียประโยชน์ หรือจะได้ประโยชน์
จะเกิดอกุศล หรือจะเกิดกุศล จะได้บาป หรือจะได้บุญ
จะสร้างโอกาสอันดีให้แก่ตนเองและผู้อื่น หรือจะสร้างวิกฤติเลวร้ายให้แก่ตนเองและผู้อื่น ฯลฯ
ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้อธิบายไว้แล้วข้างต้นนะครับ
ทั้งนี้ ผู้ที่มีธรรมะในจิตใจนั้นย่อมสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้
แต่สำหรับบางท่านที่ไม่มีธรรมะในจิตใจแล้วย่อมจะทำวิกฤติให้เป็นวิกฤติหนักกว่าเดิมได้เช่นกัน