Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๓๒

กลัวในสิ่งที่ควรกลัว

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



friend-132

 

เวลาที่เกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิตเรา เช่น ประสบปัญหาร้ายแรงในชีวิต เป็นต้น
หากเราจะถามหรือบอกกับตัวเองว่า เราได้อะไรหรือเสียอะไรจากเหตุการณ์ร้ายนั้น
บางทีก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของเราเองต่อเหตุการณ์นั้น ๆ นะครับ
บางท่านอาจจะมองเหตุการณ์ร้ายว่าเป็นสิ่งเลวร้ายที่เข้ามาทำให้ชีวิตแย่ลง ไม่ได้อะไรเลย มีแต่เสีย
แต่บางท่านอาจจะมองเหตุการณ์ร้ายว่าเป็นสิ่งที่เข้ามาสอนให้ชีวิตได้รู้จักและเข้าใจความทุกข์
ได้เรียนรู้ความจริงของชีวิต ไม่ให้หลงลืมตัว ไม่ให้ประมาท และให้สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม
(ซึ่งแม้ว่าอาจจะเสียบางสิ่งไป แต่ก็ได้มาซึ่งบางอย่างที่มีคุณค่าสูงกว่ามากมาย)
บางท่านอาจจะไม่ได้ไปยึดถือเหตุการณ์ร้ายอะไรนั้น แต่เพียงแค่เห็นเหตุการณ์ร้าย ๆ เป็นเพียง
ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งชั่วคราวที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปตามเหตุและปัจจัย
โดยไม่ได้คิดหรือรู้สึกว่าเสียอะไรไปหรือว่าได้อะไรมา

ในภัยพิบัติอุทกภัยคราวนี้ก็ทำนองเดียวกัน เราลองมาพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนะครับ
ซึ่งมุมมองสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมจะมีมากมายหลากหลายและแตกต่างกัน
แต่ผมคงจะหยิบมาสนทนาในบางมุมเท่านั้น โดยจะเน้นไปที่เรื่องของ "ความกลัว"
เพื่อให้พิจารณาเปรียบเทียบว่าเรากลัวอะไรกันบ้าง และได้กลัวในสิ่งที่สมควรกลัวกันหรือไม่

หลายท่านคงจะได้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องประชาชนในบางพื้นที่ทะเลาะกันเรื่องคันกั้นน้ำ
ฝ่ายหนึ่งต้องการให้เปิดคันกั้นน้ำเพราะกลัวว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นอีกหรือต้องการให้ระดับน้ำลดลง
อีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้คงคันกั้นน้ำไว้เพราะกลัวว่าน้ำจะไหลมาท่วมบ้านหรือพื้นที่ตนเอง
สองฝ่ายทะเลาะกันจนบางทีก็ถึงกับมีการทำร้ายกันถึงตายเลยก็มี

หากจะเทียบกับในสมัยพุทธกาลแล้ว เคยมีเหตุการณ์ที่สองเมืองซึ่งต่างเป็น
พระญาติของพระพุทธเจ้าได้แก่ เมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพุทธบิดาและ
เมืองโกลิยะซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายมารดา ได้ทะเลาะกันเรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี
โดยฝ่ายทางเหนือได้ทดน้ำเข้าที่นาตนเอง และทำให้ฝ่ายใต้ขาดแคลนน้ำ
ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงเจรจากัน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงด่าทอกันอย่างรุนแรง
และทำให้จะเข้าห้ำหั่นทำสงครามเพื่อแย่งน้ำในแม่น้ำ

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรวจดูโลกและทราบเหตุการณ์นี้ จึงเสด็จมาเพื่อทรงห้ามทั้งสองฝ่าย
โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า "มหาบพิตร! พวกพระองค์เสด็จมาทำไม"
พวกเหล่านั้นกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า! พวกข้าพระองค์เป็นผู้มาที่นี้
ไม่ใช่เพื่อเล่นที่ท่าน้ำ ไม่ใช่เพื่อเล่นที่ภูเขา ไม่ใช่เพื่อเล่นแม่น้ำ ไม่ใช่เพื่อชมเขา แต่มารบกัน"
"มหาบพิตร! เพราะอาศัยอะไร พระองค์จึงทะเลาะกัน"
กราบทูลตอบว่า "น้ำ พระพุทธเจ้าข้า"
"น้ำมีค่าเท่าไร มหาบพิตร"
กราบทูลตอบว่า "มีค่าน้อยพระเจ้าข้า"
"ชื่อว่าแผ่นดิน มีค่าเท่าไร มหาบพิตร"
กราบทูลตอบว่า "หาค่ามิได้พระเจ้าข้า"
"ชื่อว่าพวกกษัตริย์ มีค่าเท่าไร มหาบพิตร"
กราบทูลตอบว่า "ชื่อว่าพวกกษัตริย์ หาค่ามิได้ พระเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "มหาบพิตร! พวกพระองค์อาศัยน้ำที่มีค่าน้อยแล้ว
มาทำให้พวกกษัตริย์ ซึ่งหาค่ามิได้ ฉิบหาย เพื่ออะไร" จากนั้นได้ทรงแสดงธรรมเทศนาและชาดก

เหล่ากษัตริย์ทรงเลื่อมใส และตรัสว่าหากพระศาสดาจักมิได้เสด็จมา
พวกเราก็จะฆ่ากันเองด้วยมือของตนแล้วทำให้แม่น้ำเลือดไหลไป พวกเราจะไม่พึงเห็นลูก
และพี่น้องของเราที่ประตูเรือน พวกเราจะไม่ได้มีแม้แต่ผู้สื่อสารโต้ตอบกัน
พวกเราได้ชีวิตเพราะอาศัยพระศาสดา จากนั้น เหล่ากษัตริย์ทั้งสองเมืองจึงได้
ถวายพระกุมารฝ่ายละ ๒๕๐ องค์เพื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ แล้วต่างก็แบ่งปันน้ำกันอย่างสันติ

มาถึงยุคภัยพิบัติอุทกภัยในปัจจุบัน พวกเราไม่ได้แย่งน้ำกันนะครับ
แต่ว่าพวกเราไม่อยากจะรับน้ำไว้ โดยบางคนกลัวว่าน้ำจะไม่ลด หรือกลัวว่าน้ำจะท่วมพื้นที่ตน
ถึงกับทำร้ายกันเสียเลือดเนื้อ และเสียชีวิต ยอมนำสิ่งของมีค่ามากไปเสี่ยงกับของมีค่าน้อย
กลัวว่าน้ำจะไม่ลด กลัวว่าน้ำจะท่วมพื้นที่ตน แต่ไม่กลัวเสียเลือดเนื้อ ไม่กลัวเสียชีวิต
ไม่กลัวว่าจะผิดศีลธรรม ไม่กลัวว่าจะเบียดเบียนคนอื่นและทำให้คนอื่น ๆ เดือดร้อน
ไม่กลัวว่าจะต้องไปอบายภูมิเพื่อชดใช้กรรมนั้น

บรรดาท่านที่ไปขโมยกระสอบทรายส่วนกลาง หรือของคนอื่น ๆ
หรือแอบไปทำลายคันกั้นน้ำก็ทำนองเดียวกันนะครับว่า
กลัวว่าน้ำจะท่วมบ้านตนเอง กลัวว่าน้ำที่ท่วมบ้านตนเองหรือพื้นที่ตนเองอยู่จะไม่ลดลง
แต่ไม่กลัวว่าจะผิดศีลธรรม ไม่กลัวว่าจะเบียดเบียนคนอื่นและทำให้คนอื่น ๆ เดือดร้อน
ไม่กลัวว่าจะต้องไปอบายภูมิเพื่อชดใช้กรรมนั้น

บางท่านนำรถยนต์ของตนเองไปจอดบนสะพานหรือทางด่วนนอกพื้นที่ที่อนุญาตให้จอด
จอดกันเกินสมควรจนกระทั่งกีดขวางการจราจรทำให้รถติดกันยาวเหยียดทั่วบริเวณ
รถพยาบาลที่จะไปรับหรือส่งคนป่วยก็ติดขัดไปด้วย
รถยนต์ที่จะขนของหรือขนอาสาสมัครไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็ติดขัดไปด้วย
และประชาชนคนอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเร่งด่วนก็ติดขัดไปด้วย
ท่านเหล่านั้นกลัวเพียงว่า รถยนต์ตนเองจะโดนน้ำท่วมและทำให้รถยนต์เสียหาย
แต่กลับไม่กลัวว่าจะเบียดเบียนคนอื่น ๆ และไม่กลัวว่าจะทำให้สังคมส่วนรวมเดือดร้อน
ไม่กลัวว่าจะผิดศีลธรรม ไม่กลัวว่าจะต้องไปอบายภูมิเพื่อชดใช้กรรมนั้น
(อย่างเช่นว่า รถพยาบาลไปรับหรือส่งคนป่วยหนักช้า หรือว่าแพทย์เดินทางไปรักษา
คนป่วยหนักช้า จนทำให้คนป่วยหนักนั้นถึงกับเสียชีวิตเพราะการจราจรที่เลวร้าย
จากผลที่บางท่านได้ไปจอดรถยนต์กีดขวางแล้ว จะเป็นผลกรรมที่เลวร้ายเพียงไรบ้าง)

สำหรับบางท่านที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา แต่ไม่ทำหน้าที่ตนเองให้เหมาะสม
เนื่องด้วยกลัวว่าจะเสียคะแนนเสียง กลัวว่าจะเสียหน้าเสียชื่อ กลัวคนอื่นจะเป็นที่นิยมมากกว่า
กลัวว่าจะมีผลกระทบต่อคะแนนนิยมในบางพื้นที่ แต่กลับไม่กลัวว่าประเทศไทยโดยรวมจะเสียหาย
ไม่กลัวว่าประชาชนตาดำ ๆ ทั้งหลายจะเดือดร้อน ไม่กลัวว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นจะผิดศีลธรรม
ไม่กลัวว่าเป็นการเบียดเบียนคนอื่น และไม่กลัวว่าจะต้องไปอบายภูมิเพื่อชดใช้กรรมนั้น

บางคนอยู่ในพื้นที่ซึ่งน้ำท่วมสูงมาก แต่ไม่ยอมอพยพออกไป เพราะเป็นห่วงทรัพย์สินในบ้าน
กลัวว่าจะมีโจรมาขโมยทรัพย์สินในบ้านไป แต่ไม่กลัวว่าคนอื่นอพยพไปหมดแล้ว
และตนเองอยู่คนเดียวนี้อาจจะเกิดอันตรายใด ๆ แก่ร่างกายและชีวิตตนเอง
ไม่กลัวว่าตนเองจะทำให้ลูกหลานเครียดและเป็นห่วง
ไม่กลัวว่าจะทำให้คนอื่น ๆ ต้องเดือดร้อนเพื่อเข้ามาให้ความช่วยเหลือในภายหลัง

ทั้งที่จากพุทธสุภาษิตแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ว่า

"พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ
พึงสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต
พึงสละทรัพย์ อวัยวะ และแม้ชีวิต เพื่อรักษาธรรม"
แต่บางท่านกลับยอมที่จะเสี่ยงสละอวัยวะและชีวิตเพื่อรักษาทรัพย์
ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนแก่พุทธบริษัท

หากจะถามว่าแล้วจะให้พวกเราทำอย่างไร ก็ขอตอบว่า "อย่าประมาท" ครับ
ไม่ใช่ว่าจะมองแต่เพียงว่าอย่าประมาทในเรื่องน้ำท่วมเท่านั้น
แต่รวมถึงอย่าประมาทในชีวิต อย่าประมาทในกุศลธรรม และอย่าประมาทในอกุศลธรรม
อย่าประมาทในเรื่องน้ำท่วมก็คือว่า เราก็ต้องเตรียมความพร้อมในส่วนของเราเท่าที่จะทำได้
การจะไปเชื่อหรือรอความช่วยเหลือเพียงจากทางภาครัฐหรือหน่วยงานเอกชนนั้นน่าจะไม่พอ
เราเองควรจะต้องเตรียมความพร้อมในส่วนของเราเองก่อนด้วยความไม่ประมาท

ยกตัวอย่างเช่นกรณีน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งนะครับ
หากเริ่มต้นบอกว่าน้ำอาจจะท่วมได้นะ
พอน้ำเริ่มเข้ามาใกล้แล้ว ก็ควรจะหยุดการผลิตไว้ก่อนชั่วคราว
และขนย้ายเครื่องจักรหรือทรัพย์สินมีราคาสูงทั้งหลายออกก่อน (เฉพาะในส่วนที่ขนย้ายได้)
รวมทั้งสารเคมีอันตรายต่าง ๆ ด้วยที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการขนย้าย
หากน้ำไม่ท่วม ก็แค่เพียงเสียโอกาสในการทำกำไรบ้างเท่านั้น
หากน้ำท่วมก็สามารถบรรเทาความเสียหายได้มากมาย
แต่สิ่งที่ปรากฏก็คือ ประมาทว่าสู้น้ำได้ (หรือที่บอกกันว่าเอาอยู่) พอน้ำทะลักท่วมเข้ามาแล้ว
ก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายสิ่งต่าง ๆ ได้ทันท่วงทีแล้ว และทำให้เสียหายหนักมาก
รวมทั้งอาจจะเกิดอันตรายจากสารเคมีอันตรายต่าง ๆ อีกด้วย
ฉะนั้นแล้ว ความไม่ประมาทและการเตรียมพร้อมจะช่วยบรรเทาความเสียหายได้มาก

ในเรื่องการเตรียมตัวนี้ก็ยอมรับนะครับว่าเตรียมตัวยากมาก
ส่วนหนึ่งเพราะว่าขาดข้อมูลที่เพียงพอและเชื่อถือได้ เช่นว่า น้ำจะเข้ามาท่วมเมื่อไร
จะท่วมสูงแค่ไหน จะท่วมนานเท่าไร จะตัดน้ำประปาและไฟฟ้าเมื่อไร อาหารในพื้นที่จะมีถึงเมื่อไร
หากจะย้ายจะให้ย้ายไปที่ไหน รถและเรือจะมีรับส่งแค่ไหน ฯลฯ
ทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีความชัดเจน การเตรียมตัวจึงยากมาก ๆ
แต่ถึงจะยาก เราก็ต้องเตรียมตัวเต็มที่ในส่วนของเราด้วยความไม่ประมาทครับ

เรื่องคันกั้นน้ำนั้นควรจะทำอย่างไร ก็แนะนำให้พิจารณาตามหลักในสมัยพุทธกาลนะครับ
การที่จะบอกว่าต้องปล่อยน้ำให้ท่วมทุกพื้นที่เหมือนกันทั้งหมด ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
แต่จะบอกว่าให้กั้นน้ำไว้ให้ฝั่งหนึ่งท่วมไปเรื่อยโดยไม่มีกำหนด แต่อีกฝั่งหนึ่งแห้งตลอด
ก็ย่อมจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพราะหากท่วมกันหมดทุกพื้นที่แล้ว
ก็คงไม่มีฝ่ายไหนจะไปช่วยเหลือฝ่ายไหนได้ (หากไม่มีพื้นที่แห้งเลย จะมีใครไปช่วยใครได้)
ในทางกลับกัน หากจะให้อีกฝ่ายหนึ่งท่วมตลอด โดยฝ่ายที่แห้งไม่ช่วยระบายน้ำเท่าที่ควร
โดยถือว่าตนเองไม่เดือดร้อน ก็ย่อมจะไม่เป็นธรรม และเมื่อกั้นน้ำไว้มาก ๆ จนกระทั่ง
มวลน้ำเยอะมาก ๆ แล้ว ท้ายสุดพอคันกั้นน้ำพังลงมา ก็จะต้องเดือดร้อนกันทั้งหมดอยู่ดี
ฉะนั้นแล้ว การแก้ไขปัญหาก็ควรจะต้องมองภาพรวมทั้งระบบและเจรจากันด้วยสันติ
เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาเพื่อปกป้องที่ใดที่หนึ่งที่เดียว

เช่นว่าบางท่านบอกว่าจะต้องป้องกันกรุงเทพฯ อย่างเต็มที่ สมมุติว่าป้องกันกรุงเทพฯ ได้
แต่ว่าหลายจังหวัดอื่น ๆ ตอนบนโดนน้ำท่วมหลายเดือน ประชาชนเดือดร้อนหนักมากมาย
แล้วจะบอกว่าป้องกันกรุงเทพฯ ได้ถือเป็นความสำเร็จหรือ
ทุก ๆ ท่านที่อยู่อาศัยในพื้นที่แห้งในบ้านของท่านจะสบายใจและมีความสุขใจได้หรือ
หากพื้นที่แห้งในบ้านของท่านแลกมาด้วยความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ของเพื่อน ๆ ร่วมประเทศจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งลูกเด็กเล็กแดง และพ่อเฒ่าแม่เฒ่า
วัดวาอาราม และพระภิกษุทั้งหลาย เป็นต้น

บางท่านอาจจะเคยชมภาพยนตร์เรื่อง "A Beautiful Mind" นะครับ ซึ่งเป็นเรื่องราวประวัติ
ของนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะชื่อ "John Forbes Nash" ที่ได้รับรางวัลโนเบล โดยในเรื่องนั้น
John Forbes Nash ได้ค้นพบว่าทฤษฎีหนึ่งที่คิดค้นโดย "Adam Smith" ซึ่งได้รับการยกย่องว่า
เป็น "บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์" นั้นยังไม่สมบูรณ์ โดยทฤษฎีนั้นของ Adam Smith ได้กล่าวว่า
The best result comes from everyone in the group doing what's best for himself.
(ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดมาจากการที่แต่ละคนในกลุ่มทำดีที่สุดเพื่อตนเอง)
แต่ John Forbes Nash บอกว่าทฤษฎีนี้ยังไม่สมบูรณ์ (Incomplete) เพราะว่าแท้จริงแล้ว
The best result will come from everyone in the group doing what's best for
himself ... and the group. (ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจะมาจากการที่แต่ละคนในกลุ่มทำดีที่สุด
เพื่อตนเอง ... และเพื่อกลุ่ม) โดย John Forbes Nash ได้ทำการอธิบายหักล้างทฤษฎีดังกล่าว
ซึ่งมีอายุนับร้อยปีของ Adam Smith ลงได้ โดยทฤษฎีของ John Forbes Nash มีประโยชน์ต่อ
การเจรจาการค้า แรงงานสัมพันธ์ หรือชีววิทยาพัฒนาการ ฯลฯ
โดยจริง ๆ แล้ว ก็มีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องภัยพิบัติอุทกภัยของเราในปัจจุบันนี้เช่นกัน
กล่าวคือ การแก้ไขปัญหาจะต้องไม่พิจารณาเพียงทำเพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
หรือกลุ่มตนเองเท่านั้น แต่จะต้องทำเพื่อประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม และเพื่อส่วนรวมด้วยกัน

นอกจากไม่ประมาทในเรื่องภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว เราก็พึงไม่ประมาทในชีวิตด้วยนะครับ
เรากลัวแต่ว่าน้ำจะท่วมและทำให้บ้านและทรัพย์สินเสียหาย กลัวว่าจะต้องอพยพไปที่อื่น
กลัวว่าจะลำบาก แต่ในอันที่จริงแล้ว เราทุกคนนั้นมีโอกาสตายได้ทุกวัน และทุกเวลา
และเมื่อตายแล้วก็คือสูญสิ้นบ้านและทรัพย์สินทุกอย่าง สูญสิ้นญาติสนิทมิตรสหาย
สูญสิ้นชีวิต และสูญสิ้นโอกาสในการทำความดีทั้งหลาย เราประมาทในชีวิตของเราหรือไม่
เราเคยคิดกลัวว่าจะต้องสูญเสียชีวิตในเวลาที่เรายังไม่พร้อมหรือไม่
เราห่วงที่จะเตรียมตัวพร้อมสำหรับน้ำท่วม แต่เราเคยห่วงที่จะเตรียมตัวพร้อมสำหรับ
ความตายหรือเปล่า และเราเตรียมตัวที่จะตายพร้อมแล้วหรือยัง
เพราะความตายนั้นเป็นสิ่งที่ร้ายแรงกว่าการสูญเสียบ้านหรือทรัพย์สินมากมายนัก
และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลายิ่งกว่าน้ำท่วมเสียอีก

เราประมาทในกุศลธรรมหรือเปล่า เราเห็นว่าเป็นกุศลธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงไม่ทำ
เราประมาทในอกุศลธรรมหรือไม่ เราเห็นว่าเป็นอกุศลธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงทำ
กุศลธรรมหรืออกุศลธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เมื่อทำไปเยอะ ๆ แล้วก็รวมกันเป็นกองใหญ่ได้
และสามารถให้ผลร้ายอันหนักหน่วงได้ เสมือนน้ำฝนหยดเล็ก ๆ
แต่เมื่อรวมกันมาก ๆ หลาย ๆ หยดแล้ว ก็ทำให้น้ำท่วมท้องถนนได้ เราจึงไม่ควรประมาท

สรุปแล้ว เราก็ควรจะกลัวในสิ่งที่สมควรจะกลัวด้วยนะครับ
อย่าเพียงแต่กลัวในเรื่องน้ำท่วม หรือกลัวเรื่องทรัพย์สินเสียหายเท่านั้น
แต่ควรจะพึงกลัวในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่นว่า กลัวการผิดศีล กลัวในอกุศลกรรมทั้งหลาย
กลัวที่จะไปเบียดเบียนคนอื่น กลัวที่จะสร้างกรรมไม่ดี กลัวที่จะพาตนเองไปอบายภูมิ
กลัวที่จะมีชีวิตที่สูญเปล่าและไม่ได้สร้างประโยชน์หรือคุณค่าแก่ชีวิตเท่าที่ควร
กลัวที่จะไม่ได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม
และกลัวที่จะต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ