Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๓๐

พิจารณาข้อติดขัดในการปฏิบัติธรรม

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-130

ระหว่างที่เราปฏิบัติธรรมในแต่ละวันนั้น เราเคยรู้สึกสงสัยบ้างไหมครับว่า
เรามีความคืบหน้าในการปฏิบัติธรรมไปแค่ไหนแล้ว
เราปฏิบัติธรรมมาถูกทางหรือเปล่า เราปฏิบัติธรรมไปผิดทางหรือไม่
เรากำลังมีข้อติดขัดอะไรในการปฏิบัติธรรมบ้างไหม
หากเรากำลังฝึกเจริญสติอยู่ ... ก่อนอื่นเลย สงสัยก็ให้รู้ทันว่าสงสัยนะครับ
รู้ทันอย่างเป็นกลาง อย่าปล่อยให้ความอยากรู้มาครอบงำใจ
จากนั้นก็พิจารณาด้วยปัญญาและเหตุผล
หากสมควรจะต้องหาคำตอบสำหรับความสงสัยนั้น ก็พึงพิจารณาตามที่สมควรครับ

สำหรับการพิจารณาข้อติดขัดและความคืบหน้าการปฏิบัติธรรมนั้น
ในความเห็นส่วนตัวผมนะครับ เห็นว่าเราสามารถทำได้ ๒ วิธีการ ดังนี้
วิธีการแรกคือ สอบถามหรือส่งการบ้านกับครูบาอาจารย์
แล้วขอให้ท่านช่วยพิจารณาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
วิธีการแรกนี้เรียกได้ว่าอาศัยพึ่งพา “กัลยาณมิตร”
ส่วนวิธีการที่สองคือ พิจารณาด้วยตนเองโดยแยบคาย
หรือที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ”

ในทั้งสองวิธีการนั้นต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อยในตัวเองในบางประการ
ยกตัวอย่างว่า วิธีการไปสอบถามหรือส่งการบ้านกับครูบาอาจารย์นั้น
ย่อมสะดวกที่มีครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์มาช่วยพิจารณาให้
ก็อาจจะทำให้เราได้มุมมองที่ดีและเป็นประโยชน์กว่าเราจะพิจารณาเอง
แต่วิธีการนี้ก็ไม่สะดวก เพราะไม่ใช่ว่าจะทำได้บ่อย ๆ
การเดินทางไปพบครูบาอาจารย์นั้นย่อมต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
เป็นการรบกวนธาตุขันธ์ครูบาอาจารย์ และแบ่งดึงเวลาของท่านที่อาจจะสมควรใช้
สำหรับญาติธรรมอื่น ๆ ที่อาจจะมีความจำเป็นมากกว่าเรา
อีกประการหนึ่งคือ ครูบาอาจารย์ท่านอาจจะไม่ได้มีเวลาให้กับเรามากนัก
อาจจะทำได้เพียงให้คำแนะนำสั้น ๆ ซึ่งเราก็ต้องกลับมาพิจารณาคำแนะนำนั้น
ให้เข้าใจและปรับใช้คำแนะนำดังกล่าวด้วยตนเองอยู่ดี

วิธีการที่สองคือพิจารณาด้วยตนเองโดยแยบคายนี้ จะทำได้สะดวกกว่า
เป็นการฝึกที่จะช่วยเหลือตนเอง ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ไม่เป็นการรบกวนธาตุขันธ์ครูบาอาจารย์ ไม่แบ่งดึงเวลาของครูบาอาจารย์
สำหรับญาติธรรมท่านอื่นที่อาจจะมีความจำเป็นมากกว่าเรา
แต่ก็มีข้อด้อยว่า ในบางเรื่องนั้น เราเองก็อาจจะไม่สามารถเห็นหรือเข้าใจได้เอง
หรืออาจจะสามารถมองเห็นและเข้าใจได้เอง แต่ก็จะต้องใช้เวลานานมาก ๆ
เสมือนกับกรณีว่านักมวยบนเวทีต่อยแบบคลุกวงในไปเรื่อย ๆ
นักมวยที่ต่อยบนเวทีในขณะนั้นก็ย่อมจะไม่เห็นในมุมที่ครูผู้ฝึกสอนได้เห็น
หรือไม่เห็นในมุมที่กรรมการให้คะแนนได้เห็น โดยพวกเขามองจากข้างเวที
โดยครูผู้ฝึกสอนก็ย่อมจะให้คำแนะนำหรือบอกข้อบกพร่องแก่นักมวยนั้นได้

เนื่องด้วยทั้งสองวิธีการนี้ต่างก็มีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกันแล้ว
จึงแนะนำว่าให้เรานำทั้งสองวิธีการนี้มาใช้ประกอบกันตามความเหมาะสม
โดยจะไปอาศัยเพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่งย่อมจะไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร
เพราะแต่ละวิธีการนั้นมีข้อด้อยของตนเองอยู่
หากจะอธิบายสรุปก็คือว่า โดยปกติแล้วก็ควรจะใช้วิธีการ “โยนิโสมนสิการ”
เพราะสามารถทำได้โดยสะดวก และทำได้บ่อย ๆ แถมเป็นการฝึกนิสัยพึ่งตนเอง
แต่เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ สักช่วงหนึ่งก็อาจจะใช้วิธีการ “กัลยาณมิตร”
โดยไปสอบถามและขอให้ครูบาอาจารย์ได้ช่วยให้คำแนะนำ

อนึ่ง เพื่อป้องกันการสับสน จึงขออธิบายให้ชัดเจนว่า
การไปสอบถามและขอให้ครูบาอาจารย์ให้คำแนะนำนี้
แตกต่างจากการฟังธรรมะของท่านจากซีดี หรือไปฟังท่านเทศนาธรรมนะครับ
เพราะการฟังธรรมะจากซีดีหรือไปฟังท่านเทศนาธรรมนี้ สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ
ตามสมควรแก่โอกาส โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เวลาผ่านไปนาน ๆ
โดยถือเป็น “ธัมมัสสวนมัย” คือการฟังธรรมตามกาล เป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
ไม่ใช่ว่าพอบอกว่าไม่ต้องสอบถามครูบาอาจารย์ท่านบ่อย ๆ แล้ว
ก็จะแปลว่าไม่ต้องฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ไปด้วย โดยเป็นคนละเรื่องกันครับ

ในส่วนของการพิจารณา “ข้อติดขัด” ในการปฏิบัติธรรมโดยอาศัย “โยนิโสมนสิการ” นี้
ก็ย่อมจะขึ้นอยู่ความรู้ความสามารถทางธรรมะที่ท่าน ๆ ได้ศึกษาและปฏิบัติมา
ซึ่งกรณีของแต่ละท่านก็ย่อมจะหลากหลายแตกต่างกันไป
ดังนั้น จึงขอละไว้ไม่กล่าวในรายละเอียด และขอให้แต่ละท่านได้พิจารณาด้วยตนเอง
แต่จะขอกล่าวถึงเฉพาะการพิจารณา “ความคืบหน้า” ในการปฏิบัติธรรม
ซึ่งโดยผมมีข้อแนะนำในการตรวจสอบอยู่สองวิธี ดังต่อไปนี้

วิธีการแรก พิจารณาไตรสิกขาคือ ศีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา
โดยเราลองพิจารณาตรวจสอบตนเองว่าศีลห้าหรือศีลแปดของเราแข็งแรงขึ้นไหม
เราทำผิดศีลทางกาย วาจา หรือใจมากขึ้นหรือลดลง
อินทรียสังวรศีล (คือความสำรวมอินทรีย์ ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)
ของเราแข็งแรงมากขึ้นไหม เราปล่อยให้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความรู้สึก
มาครอบงำตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเรามากขึ้นหรือน้อยลง
เรามีสติรู้ทันความยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ได้กลิ่น รับรส ถูกต้องสัมผัส
และมีความรู้สึกได้มากน้อยเพียงไร

ลองพิจารณาว่าเรามีความรู้ความเข้าใจในจิตที่เป็นกุศลและอกุศลมากขึ้นเพียงไร
เรามีสติรู้ทันจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลบ่อยแต่ไหน จิตมีความฟุ้งซ่านมากขึ้นหรือน้อยลง
มีจิตใจตั้งมั่น และเป็นกลางหรือไม่ มากขึ้นหรือน้อยลง

พิจารณาว่าเราเห็นไตรลักษณ์ของกายใจ ของรูปนามมากน้อยเพียงไร บ่อยไหม
เราเห็นกายใจ รูปนาม และสิ่งอื่น ๆ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หรือกลับยิ่งเห็นกายใจ รูปนาม และสิ่งอื่น ๆ เป็นนิจจัง สุขขัง อัตตา

วิธีการที่สอง พิจารณา “พละ ๕” หรือ “อินทรีย์ ๕” ได้แก่
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
โดยพิจารณาว่าเรามี “ศรัทธา” ในพระรัตนตรัยมากขึ้นหรือน้อยลง
เรามีความเคลือบแคลง สงสัย และไม่แน่ใจในพระรัตนตรัยมากน้อยเพียงไร
เราศรัทธาและเชื่อมั่นในพระธรรมคำสอนมากน้อยแค่ไหน

เรามีความ “วิริยะ” สนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรมมากขึ้นหรือน้อยลง
มีความเพียร ความหมั่นพยายามในการปฏิบัติธรรมมากขึ้นไหม
หรือว่ามีแต่ความเกียจคร้าน ไม่สนใจและไม่อยากจะปฏิบัติ
อ้างโน่นอ้างนี่ อ้างความไม่สะดวกทั้งปวงเพื่อเลี่ยงการปฏิบัติธรรม

เรามี “สติ” คือความระลึกได้ เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นหรือน้อยลง
เราปล่อยให้โมหะ โทสะ และโลภะครอบงำใจเราบ่อยแค่ไหน มากน้อยเพียงไร
หรือว่าเราหลงตั้งแต่เช้ายันเย็น มารู้สึกตัวอีกทีก็เวลาใกล้จะเข้านอนแล้ว

เรามี “สมาธิ” มากขึ้นหรือน้อยลง มีจิตใจที่ฟุ้งซ่านมากขึ้น แส่ส่ายมากขึ้น
หรือว่าสงบและตั้งมั่นมากขึ้น จิตใจไหลไปตามกิเลสมากขึ้น หรืออยู่กับกายใจมากขึ้น
จิตใจเป็นกลางต่อสภาวะต่าง ๆ ที่ผ่านมาผ่านไปมากขึ้นหรือไม่

ในส่วนของ “ปัญญา” ก็ทำนองเดียวกับปัญญาสิกขาที่ได้กล่าวไปแล้ว
ในส่วนของการพิจารณาไตรสิกขาข้างต้นนะครับ

อนึ่ง เมื่อปฏิบัติธรรมไปแล้ว เราอาจจะได้เห็นกิเลสเข้ามาในใจมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น
บางท่านอาจจะเข้าใจว่าปฏิบัติธรรมแล้วถอยหลังลงคลองคือมีกิเลสมากขึ้น
แต่แท้จริงแล้ว อาจจะเป็นความคืบหน้าก็ได้ กล่าวคือแต่เดิมก็มีกิเลสเยอะเช่นนี้แหละ
เพียงแต่ว่าเราไม่เคยที่จะมีสติรู้ทันเห็นกิเลสที่ผ่านเข้ามาในจิตใจเลย
แต่เมื่อได้มาปฏิบัติธรรมจึงสามารถรู้เห็นได้ และไม่โดนกิเลสเหล่านั้นครอบงำใจ

อีกกรณีหนึ่งก็คือว่าปฏิบัติธรรมไปแล้ว อยู่ ๆ มาวันหนึ่ง ก็รู้สึกว่าเสื่อมไปหมด
จากที่เคยมีสติบ่อย ๆ อยู่ ๆ ก็กลับหายไปหมด ก็กลายเป็นงง เบลอ ๆ ขาดสติไป
คล้ายกับว่ากรรมฐานหรือการปฏิบัติที่ทำอยู่นี้เสื่อมไปหมด
ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าการเสื่อมนี้ถือเป็นความคืบหน้าอย่างหนึ่งนะครับ
ก็คือปฏิบัติจนเจริญได้พอสมควรแล้ว เขาก็แสดงความเสื่อมให้เราได้เห็นได้ดู
โดยแสดงให้เห็นว่าตรงนี้ยังใช้เป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ แต่เราต้องมุ่งมั่นปฏิบัติต่อไป
ฉะนั้นแล้ว แม้จะเสื่อมก็อย่าไปเสียใจหรือท้อถอยครับ (และก็ไม่ต้องไปดีใจด้วย)
แต่ก็ให้รู้อย่างเป็นกลางว่ามันเสื่อมตามหลักไตรลักษณ์นั่นแหละ
และเราก็ปฏิบัติของเราต่อไปครับ

นอกเหนือจากวิธีที่กล่าวข้างต้นแล้ว ผมขอนำคำสอนจากหนังสือ ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง
โดยพระพรหมคุณากรณ์ (ท่าน ป.อ. ปยุตโต) มาฝากท่านผู้อ่านนะครับ
ซึ่งได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการวัดผลในการปฏิบัติธรรมไว้ด้วย

+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + ปฏิบัติธรรม วัดผลอย่างไร

เมื่อเราได้ทุนและเครื่องประกอบในการเดินทางแล้ว ต่อไปนี้ ก็จะเข้าสู่การเดินตามมรรค

ได้บอกแล้วว่า ตัวทางที่เดินก็คือ มรรค มรรคมีองค์ ๘ ประการ อันนี้ทราบกันแล้ว ไม่ต้องบรรยายในรายละเอียด และก็ได้บอกแล้วด้วยว่า การฝึกชีวิตให้ดำเนินตามมรรค หรือการทำตัวให้เดินไปตามมรรคนั้นคือ สิกขา หรือการศึกษา ดังได้อธิบายแล้วว่า การศึกษากับมรรคสัมพันธ์กันอย่างไร

ทีนี้ต่อไป ก็จะพูดถึงการตรวจสอบหรือวัดผล เมื่อกี้นี้ได้บอกให้ตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเองโดยดูว่าโลภ โกรธ หลง มีน้อยหรือมาก ได้ลดละให้เบาบางหรือหมดไปหรือยัง แต่นั้นเป็นการตรวจสอบ โดยพูดเชิงลบอย่างรวบรัด

(ก) ดูกุศลธรรมที่เพิ่มขึ้น

โดยทั่วไปมีการวัดด้วยคุณธรรมต่าง ๆ ที่งอกงามขึ้นมาแทนอกุศลธรรม คือจะต้องดูว่า กุศลธรรมเจริญขึ้นมาแทนที่อกุศลแค่ไหน หลักการวัดความเจริญในการเดินตามมรรคหมวดหนึ่งมี ๕ อย่าง

ประการที่ ๑ ดูว่ามีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่เป็นความดีงามมากขึ้นหรือไม่ มีความมั่นใจแม้แต่ใน โพธิสัทธา เชื่อในศักยภาพของตนเองที่จะพัฒนาขึ้นไปหรือไม่ เมื่อมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ก็เรียกว่า มีศรัทธามากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นกุศลธรรมที่เจริญเพิ่มขึ้น โดยสรุป คือดูว่ามี ศรัทธา มีความเชื่อมีความมั่นใจในกุศลธรรมในความดีงามต่าง ๆ มากขึ้นหรือไม่

ประการที่ ๒ เมื่อปฏิบัติเดินตามมรรคไป มีระเบียบในการดำเนินชีวิตดีขึ้นไหม มีการประพฤติตนอยู่ในสุจริตดีขึ้นไหม อันนี้เป็นส่วนที่แสดงออกภายนอกในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นต้องเอามาวัดดูด้วยว่าเราดำเนินชีวิตดีขึ้นไหม มั่นคงในสุจริตมากขึ้นไหม มีระเบียบวินัยราบรื่นดีไหม มีความสัมพันธ์กับโลกกับมนุษย์กับสังคมดีขึ้นไหม เรียกสั้น ๆ ว่ามี ศีล ดีขึ้นไหม

ประการที่ ๓ ดูว่าเรามีความรู้จากการที่ได้สดับได้ค้นคว้าอะไรต่าง ๆ มากขึ้นไหม ได้เรียนรู้มากขึ้น และกว้างขวางเพียงพอไหมในธรรมที่จะปฏิบัติต่อ ๆ ไป หรือในสิ่งที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา หรือในการพัฒนาตน ได้ประสบการณ์ต่าง ๆ มาเป็นข้อมูลของความรู้มากขึ้นหรือไม่ เรียกสั้น ๆ ว่ามี สุตะ มากขึ้นไหม

ประการที่ ๔ มีความลดละกิเลสได้มากขึ้นไหม กิเลสต่าง ๆ โดยเฉพาะความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัวนี่ละได้ มีความเห็นแก่ตัวน้อยลงบ้างไหม มีความเสียสละมากขึ้นไหม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ เห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้นไหม มีจิตใจกว้างขวางโปร่งเบามากขึ้นไหม เรียกสั้น ๆ ว่ามี จาคะ มากขึ้นไหม

ประการสุดท้าย คือ ปัญญา ได้แก่ความรู้ความเข้าใจในความจริงของสิ่งทั้งหลาย ตรวจสอบว่า เรามีความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้ไหม เรารู้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงมากเพียงใด เรามองเห็นเหตุปัจจัยและความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายชัดเจนดี สามารถนำความรู้มาเชื่อมโยงใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์พัฒนาให้เป็นผลดีหรือไม่ อันนี้เป็นตัวแก่นแท้ที่ต้องการ เป็นตัวคุมทั้งหมด

ตกลงว่า หัวข้อนี้ก็เป็นหลักหนึ่งในการตรวจสอบความเจริญ คือ ดูว่ามีศรัทธามากขึ้นไหม มีศีลมากขึ้นไหม มีสุตะมากขึ้นไหม มีจาคะมากขึ้นไหม และมีปัญญามากขึ้นหรือไม่

หลักนี้เรียกว่า อริยวัฒิแปลว่า ความเจริญของอริยชน ความเจริญแบบอารยะ ได้แก่ หลักวัดความเจริญหรือพัฒนาการของอารยชน

ถ้ามีความเจริญเพียงว่ามีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้นอย่างเดียว แต่มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น อย่างนั้นไม่ถือว่ามีความเจริญในการศึกษา หรือในการพัฒนาชีวิตที่แท้จริง หรือมีโทสะ มีความเกลียดชังมีกิเลสต่าง ๆ มากขึ้น ก็เช่นเดียวกัน

ข) ดูการทำหน้าที่ต่อธรรมต่าง ๆ

ที่จริงหลักตรวจสอบมีหลายอย่าง หลักอย่างหนึ่งเป็นการดำเนินตามอริยสัจ ๔ กล่าวคือ การปฏิบัติธรรมนั้น ได้แก่ การดำเนินตามหลักการแก้ปัญหาด้วยวิธีการของอริยสัจ ๔ ในการปฏิบัติจึงต้องดูว่าเราปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจ ๔ ถูกต้องหรือไม่

อริยสัจ ๔ มีหน้าที่ประจำแต่ละข้อ ถ้าปฏิบัติต่ออริยสัจ ๔ แต่ละข้อผิด ก็ถือว่าเราได้เดินทางผิดแล้ว

อริยสัจข้อที่หนึ่ง ทุกข์ คือตัวปัญหา เรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร หน้าที่ต่อปัญหาหรือความทุกข์ ก็คือหน้าที่ที่เรียกว่า ทำความรู้จัก ท่านเรียกว่า กำหนดรู้ รู้จักว่ามันคืออะไร อยู่ตรงไหนมีขอบเขตเพียงใด เราจะแก้ปัญหา เราจะแก้ความทุกข์ เราต้องรู้ว่าทุกข์คืออะไร ปัญหาของเราคืออะไร ขอบเขตของมันอยู่ที่ไหน อะไรเป็นที่ตั้งของปัญหา ถ้าจับไม่ถูกแล้วก็เดินหน้าไปไม่ได้ จัดตัวปัญหาให้ได้เสียก่อน แล้วก็เรียนรู้สิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหานั้นทั้งหมด

เราไม่มีหน้าที่ที่จะไปสร้างปัญหา เราไม่มีหน้าที่ไปเอาปัญหาวุ่นวายใจมาเก็บมากังวลใจมาทำให้เกิดความทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่มีหน้าที่ทุกข์ แต่เรามีหน้าที่รู้จักทุกข์ นี้เป็นประการที่หนึ่งคือรู้จักตัวปัญหา ตามที่เป็นจริง

อริยสัจข้อที่สอง สมุทัย คือเหตุของทุกข์เรามีหน้าที่อย่างไร หน้าที่ที่จะต้องทำต่อสมุทัย ก็คือสืบสาวค้นหามันให้พบ ให้รู้ว่ากระบวนการที่มันเกิดขึ้นเป็นอย่างไร แล้วละมันให้ได้ แก้ไขกระบวนการให้สำเร็จ คือกำจัดสาเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของความทุกข์ ไม่ใช่กำจัดปัญหา ปัญหานั้นเรากำจัดไม่ได้ เราแก้ปัญหาด้วยการกำจัดเหตุของมัน

อริยสัจข้อที่สาม นิโรธ คือความดับทุกข์ การแก้ปัญหาสำเร็จหรือภาวะปราศจากปัญหาเป็นความมุ่งหมาย การแก้ปัญหาสำเร็จคืออะไร จุดหมายที่ต้องการคืออะไร เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ กระบวนการแก้เป็นอย่างไร เมื่อรู้ว่ามันคืออะไรและเป็นไปได้แล้ว เราก็มีหน้าที่ต่อมันคือ บรรลุถึง หรือ เข้าถึง แต่การที่จะเข้าถึงมัน คือจะเข้าถึงจุดหมายก็ดี จะกำจัดสาเหตุของปัญหาก็ดี แก้ปัญหาได้ก็ดี จะต้องไปสู่ข้อสุดท้าย คือ มรรค

อริยสัจข้อที่สี่ มรรค มรรคเป็นทางเดินก็คือข้อปฏิบัติซึ่งเรามีหน้าที่คือ ลงมือทำ เป็นข้อสุดท้าย ต้องลงมือทำตั้งแต่บุพนิมิตของมรรคเป็นต้นไปทีเดียว

ธรรมทั้งหมด จัดเข้าในอริยสัจ ๔ ได้ทั้งสิ้น
- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ตามที่สัมพันธ์กับมนุษย์ หรือที่มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องประเภทหนึ่งนั้น จัดเข้าในจำพวกที่เรียกว่าทุกข์ ซึ่งเป็นปัญหาและสิ่งที่ต้องเผชิญ
- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่สอง จัดเข้าในจำพวกสิ่งที่เป็นโทษ ก่อทุกข์ภัย หรือเป็นสาเหตุของปัญหา
- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่สาม จัดเข้าในจำพวกสิ่งที่พึงประสงค์ หรือเป็นจุดหมาย และ
- สิ่งทั้งหลายประเภทที่สี่ จัดเข้าในจำพวกสิ่งที่จะต้องทำหรือเป็นวิธีปฏิบัติ
และเราก็มีหน้าที่ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง อย่างที่หนึ่งทำความรู้จัก กำหนดให้ถูก อย่างที่สองกำจัดสาเหตุ อย่างที่สามคือเข้าถึงจุดหมาย และอย่างที่สี่ คือลงมือทำหรือลงมือเดินทาง

หลักการนี้ก็ใช้ในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน คือ ในเวลาที่ไปเกี่ยวข้องกับธรรม ก็ควรจะจัดให้ถูกด้วยว่า ธรรมนั้นอยู่ในประเภทไหนใน ๔ ข้อนี้ เมื่อจัดเข้าถูกต้องแล้ว เราก็จะปฏิบัติถูกหน้าที่ว่าหน้าที่ต่อข้อนั้นคือเราจะต้องทำอะไรอย่างไร

ธรรม ๔ ประเภทนั้น หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะตามหน้าที่ที่เราพึงปฏิบัติต่อมันคือ

๑ สิ่งทั้งหลายที่เป็นทุกข์ เป็นปัญหา เป็นที่ตั้งของปัญหา หรือเป็นจุดเกิดปัญหาเมื่อมนุษย์ปฏิบัติต่อมันไม่ถูกต้อง เรียกว่า ปริญไญยธรรม คือ สิ่งที่จะต้องกำหนดรู้ หรือทำความรู้จัก

ตัวอย่าง เช่น ร่างกาย จิตใจ ชีวิต โลก ความผันผวน ปรวนแปร วิปโยค โศกเศร้า ผิดหวัง ความรู้สึกสุขหรือทุกข์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิด ความจำ ความเปลี่ยนแปลง ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฯลฯ (ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ไตรลักษณ์ และธรรมอื่นทำนองนี้)

๒ สิ่งทั้งหลายที่เป็นจำพวกเหตุก่อทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา เรียกว่า ปหาตัพพธรรม คือ สิ่งที่จะต้องละเลิก แก้ไข กำจัด

ตัวอย่าง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัว ความถือตัว ความเย่อหยิ่ง ความเกียจคร้าน ความเกลียดชัง ความริษยา ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความเฉื่อยชา ความฟุ้งซ่าน ความระแวง ความประมาท ความโง่เขลา ฯลฯ (อกุศลมูล กิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อวิชชา อุปาทาน สังโยชน์ นิวรณ์ และธรรมอื่นทำนองนี้)

๓ สิ่งทั้งหลายที่พึงประสงค์ เป็นจุดหมายที่ควรทำให้สำเร็จ หรือควรได้ควรถึงเรียกว่า สัจฉิกาตัพพธรรม คือสิ่งที่จะต้องเข้าถึงหรือประจักษ์แจ้ง

ตัวอย่าง เช่น ความสงบ ความร่มเย็น ความบริสุทธิ์ ความปลอดโปร่งโล่งเบา ความผ่องใส ความเบิกบาน ความไร้ทุกข์ ความสุขที่แท้ สุขภาพ ภาวะปลอดพ้นปัญหา ความเป็นอิสระ หรืออิสรภาพ ฯลฯ (วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน และธรรมอื่นทำนองนี้)

๔ สิ่งทั้งหลายที่เป็นข้อปฏิบัติ เป็นวิธีการ เป็นสิ่งที่ต้องทำต้องบำเพ็ญเพื่อก้าวไปให้ถึงจุดหมาย เรียกว่า ภาเวตัพพธรรม คือ สิ่งที่จะต้องทำให้มีให้เป็นขึ้น ให้เจริญงอกงามเพิ่มพูนขึ้น หรือต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ

ตัวอย่าง เช่น เมตตา ไมตรี หรือมิตรภาพ กรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเสียสละ ความขยันหมั่นเพียร ความมีกำลังใจ ฉันทะ ศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา สัมปชัญญะ ฯลฯ (มรรค ไตรสิกขา สมถะ วิปัสสนา และธรรมอื่นทำนองนี้) รายละเอียดของธรรม ๔ ประเภท หรือการจัดประเภทสิ่งทั้งหลายในโลกมีอย่างไร จะไม่กล่าวในที่นี้ แต่พูดง่าย ๆ ว่า หลักนี้ท่านให้ใช้ในการตรวจสอบวัดผลสำเร็จในการศึกษาหรือการปฏิบัติธรรมว่า
- สิ่งที่ควรกำหนดรู้ เราได้กำหนดรู้หรือรู้จักแล้วหรือไม่
- สิ่งที่ควรแก้ไขกำจัด เราได้แก้ไขกำจัดแล้วหรือยัง
- สิ่งที่ควรประจักษ์แจ้ง เราได้ประจักษ์แจ้งแล้วแค่ไหน และ
- สิ่งที่ควรปฏิบัติจัดทำให้เกิดให้มีขึ้นจนบริบูรณ์ เราได้ปฏิบัติจัดทำแล้วเพียงใด

ค) ดูสภาพจิตที่เดินถูกระหว่างทาง

ในการปฏิบัติธรรม คือ ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง หรือฝึกฝน พัฒนาตนไปนั้น ระหว่างการปฏิบัติ พัฒนาหรือศึกษาก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ควรจะสังเกตดูสภาพจิตของตนไปด้วยว่าเป็นอย่างไร

ในกรณีทั่วไป ถ้าไม่มีเหตุพิเศษ เมื่อปฏิบัติถูกต้องจิตเดินถูกทางก้าวหน้าดี ก็จะเกิดมีสภาพจิตที่ดีงามสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นทั้งคุณสมบัติของจิตนั้น และเป็นลักษณะของการปฏิบัติที่ได้ผล

ลักษณะของจิตที่เดินถูกทางนั้น ที่ควรสังเกตมี ๕ อย่าง ซึ่งเป็นปัจจัยส่งทอดต่อกันตามลำดับ คือ
ปราโมทย์ ได้แก่ ความแช่มชื่น ร่าเริง เบิกบานใจ
ปีติ ได้แก่ ความอิ่มใจ ความปลาบปลื้มใจ ใจฟูขึ้น
ปัสสัทธิ ได้แก่ ความรู้สึกผ่อนคลายกายใจ ใจเรียบรื่น ระงับลง เย็นสบาย
สุข ได้แก่ ความสุข ความคล่องใจ โปร่งใจ ไม่มีความติดขัด บีบคั้น
สมาธิ ได้แก่ ความมีใจตั้งมั่น สงบ อยู่ตัว อยู่กับงานที่ทำหรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน

พอสมาธิเกิดขึ้น จิตใจก็มีสภาพเหมาะแก่งาน ที่ท่านเรียกว่าเป็น กัมมนีย์ พร้อมที่จะเอาไปใช้สร้างสรรค์พัฒนา คิดการและเป็นที่ทำงานของปัญญาอย่างได้ผลดี และสมาธิก็อาศัยองค์ธรรม ๔ อย่างแรกนั่นแหละช่วยเกื้อหนุนและทำให้เกิดขึ้น

สภาพจิต ๕ อย่างนี้ เป็นทั้งคุณสมบัติที่ดีงามโดยตัวของมันเองและเป็นเครื่องหมายของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม จึงควรพยายามทำให้เกิดขึ้น และการทำสภาพจิตเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัว

เพียงแค่ข้อที่ ๑ มีปราโมทย์ ทำใจให้แช่มชื่นเบิกบานไว้มาก ๆ เมื่อปราโมทย์นั้นเกิดจากการปฏิบัติที่ถูกต้อง จิตเดินดีแล้ว ท่านให้ความมั่นใจว่าจะลุถึงสันติบรมธรรมที่เป็นจุดหมาย ดังคาถาธรรมบท ที่ ๗๗๖, ๓๘๑ ว่า

ตโต ปาโมชฺชพหุโล ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ
ลำดับนั้น เธอผู้มากด้วยปราโมทย์ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้น ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ ปสนฺโน พุทฺธสาสเน อธิคจฺเฉ ปทํ สนฺตํ สงฺขารูปสมํ สุขํ
ภิกษุผู้เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า มากด้วยปราโมทย์ จะพึงบรรลุสันติบท ที่สงบระงับสังขาร เป็นสุข