Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๒๙

คุยกันเรื่องกรรม ตอนจบ

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-129
(ต่อจากตอนที่แล้วครับ)

ในคราวก่อนคุยกันถึงข้อสามนะครับ โดยได้อธิบายว่า
หากเราสามารถแก้ไขต้นเหตุแห่งความทุกข์ได้ใกล้ต้นตอของปัญหามากเท่าไร
เราก็จะพ้นจากทุกข์ได้มากขึ้นตามลำดับ แต่หากเราไปแก้ไขที่ปลายเหตุแห่งความทุกข์
ห่างไกลต้นตอของปัญหา เราก็จะพ้นจากความทุกข์ได้น้อยกว่า

ฉะนั้นแล้ว เวลาที่เราศึกษาและปฏิบัติตนเพื่อให้พ้นจากความทุกข์
ก็ควรจะพิจารณาด้วยครับว่า การแก้ไขเพื่อให้พ้นจากทุกข์ที่เราศึกษาและปฏิบัติอยู่นั้น
อยู่ใกล้หรือไกลจากต้นตอเพียงไร หรือว่าเราหลงไปแก้ไขที่ปลายเหตุหรือเปล่า
บางทีเราได้มีโอกาสดีมาก ๆ ที่จะศึกษาและปฏิบัติ เพื่อแก้ไขความทุกข์ที่ต้นตอแล้ว
แต่เรากลับไม่ให้ความสำคัญเท่าไรเลย เพราะว่าเราไม่เข้าใจในภาพรวม
เรามัวหลงไปมุ่งให้ความสำคัญกับการแก้ไขความทุกข์ที่ปลายเหตุ
ด้วยเหตุว่าเราหลงไปตั้งเงื่อนไขหรือสร้างความเข้าใจในจิตใจตนเองขึ้นมาว่า
หนทางและวิธีการแก้ไขความทุกข์ของตนเองนั้นจะต้องแก้ไขที่ปลายเหตุเท่านั้น
อะไรที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขหรือความเข้าใจตรงนี้ เราก็ปฏิเสธไปเสียทั้งหมด
ที่อาการหนักกว่าก็คือ ในบางคราว สิ่งที่เราไปเสียเวลาศึกษาและปฏิบัตินั้นไม่ได้เกี่ยวกับ
การที่จะพ้นจากทุกข์นั้นได้เลย แต่เราก็หลงเข้าใจว่าจะช่วยเหลือให้เราพ้นจากทุกข์นั้นได้

คำสอนในพระพุทธศาสนานั้นสอนให้พ้นจากทุกข์ที่ต้นเหตุ และพ้นจากทุกข์สิ้นเชิงได้
ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ไขบรรเทาความทุกข์ที่ปลายเหตุเท่านั้น
ซึ่งเราจะทำได้มากน้อยเพียงไร ก็ย่อมจะขึ้นอยู่กับอินทรีย์ ๕ หรือพละ ๕ ของเราเอง
(อันประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา) ว่าแข็งแรงเพียงไร

ข้อสี่ ในการแก้กรรม เราพึงแยกเรื่องแก้ทุกข์ กับเรื่องแก้ปัญหาชีวิตออกจากกัน
เท่าที่ได้เห็นในชีวิตจริงแล้ว หลายท่านที่ต้องการจะแก้กรรมนั้น ไม่ได้แยกสองเรื่องนี้
โดยมองแบบเหมารวมไปเลยว่าสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน
มองว่าปัญหาชีวิตทำให้ทุกข์ หากต้องการแก้ทุกข์จึงต้องแก้ไขปัญหาชีวิต
หรือการแก้ไขปัญหาชีวิตคือการแก้ทุกข์ เมื่อปัญหาชีวิตหมดไป ทุกข์ก็จะหมดไป
ทุกข์จะหมดไป ก็เมื่อปัญหาชีวิตหมดไป มองว่าทั้งสองสิ่งนี้มาด้วยกันไปด้วยกัน
ซึ่งการมองหรือเข้าใจเช่นนั้นยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่

แท้จริงแล้ว เรื่องปัญหาชีวิตกับเรื่องความทุกข์ในใจเราเป็นสองเรื่องที่แยกจากกัน
คนเราอาจจะมีปัญหาชีวิตเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยที่ไม่ได้มีความทุกข์ใจก็ได้
ในทางกลับกัน คนเราอาจจะมีความทุกข์ใจ โดยไม่ได้มีปัญหาชีวิตเลยอะไรก็ได้

ยกตัวอย่างนะครับ สมมุติว่าเราและเพื่อนมีปัญหาเรื่องงาน โดยทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน
และหัวหน้างานก็ได้ตำหนิรุนแรงในเรื่องงานต่ำกว่ามาตรฐานนั้น
พอช่วงเย็นหลังเลิกงาน ต่างคนต่างกลับบ้านแล้ว
เราก็ไม่ได้ไปคิดเรื่องงานนั้นอีก โดยก็มัวแต่ไปทำภารกิจส่วนตัวอื่น ๆ ของเรา
เช่น ดูโทรทัศน์ คุยกับแฟนหรือคนในครอบครัว อ่านหนังสือ นอน เล่นเกม ตอบอีเมล์
เล่นเน็ต เข้าเฟสบุ๊ค ทำงานเสริม สวดมนต์ ฟังธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม ฯลฯ
โดยที่เราไม่ได้ไปทุกข์ใจอะไรกับเรื่องที่โดนเจ้านายตำหนินั้นเลยก็ได้
ในขณะที่เพื่อนของเราอาจจะหมกมุ่นคิดแต่เรื่องงานต่ำกว่ามาตรฐาน
และคิดเรื่องโดนตำหนิ โดยคิดไปไกลเรื่องจะโดนไล่ออก จะตกงาน ครอบครัวจะลำบาก
จนกระทั่งทุกข์ใจอย่างมากมายในเรื่องนั้น ๆ ก็ได้ ซึ่งก็จะแตกต่างกับเราที่ไม่ได้ทุกข์อะไร

สมมุติว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งไม่ได้มีปัญหาชีวิตอะไรเลย เธอมีทุกอย่างสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว
และเธอก็สบายใจและมีความสุขดีอยู่แล้ว ต่อมาเธอไปร่วมงานเลี้ยงงานหนึ่ง
และได้พบกลุ่มเพื่อน ๆ ของเธอ เพื่อน ๆ ของเธอแต่ละคนใช้กระเป๋ายี่ห้อราคาแพงมาก
เพื่อน ๆ แซวเธอว่าเธอใช้กระเป๋ายี่ห้อราคาถูกซึ่งด้อยกว่ากระเป๋าของเพื่อน ๆ
เธอกลับมาบ้าน เธอก็ทุกข์ใจ อยากจะมีอยากจะได้กระเป๋ายี่ห้อราคาแพง ๆ ขึ้นมา
จะได้ไม่น้อยหน้าเพื่อน จะได้ไม่ด้อยกว่าเพื่อน จะได้ทัดเทียมเพื่อนคนอื่น ๆ ได้
ถามว่าเธอมีปัญหาชีวิตอะไรหรือเปล่า ตอบว่าเปล่าเลย
ชีวิตของเธอไม่มีปัญหาอะไรมาก่อน และมีความสุขสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว
แต่เธอก็มีความทุกข์ได้เช่นกัน โดยที่ไม่ได้มีปัญหาชีวิตอะไรเลยนี่แหละ

ฉะนั้นแล้ว ปัญหาชีวิต กับเรื่องความทุกข์ใจนี้ เป็นสองเรื่องที่แยกจากกัน
ปัญหาชีวิตอาจจะไม่ได้ทำให้เราทุกข์ และที่เราทุกข์อาจจะไม่ได้เพราะมีปัญหาชีวิต
การแก้ไขปัญหาชีวิตจึงอาจจะไม่ได้เป็นการแก้ทุกข์
(ในบางกรณี อาจจะสร้างทุกข์ให้มากขึ้นก็ได้ หากแก้ไขปัญหาชีวิตผิดวิธี)
และการแก้ทุกข์ก็อาจจะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาชีวิตเลยก็ได้
(ในบางกรณี อาจจะเป็นการซ้ำเติมให้มีปัญหาชีวิตมากขึ้นก็ได้ หากแก้ทุกข์ผิดวิธี)

ฉะนั้นแล้ว เราต้องแยกเรื่องราวให้ดี และต้องกำหนดให้ดีว่าเราจะทำอะไร
เราจะแก้ทุกข์ หรือแก้ไขปัญหาชีวิต หรือจะแก้ทั้งสองอย่าง
จะแก้อย่างไหนก่อน จะแก้อย่างไหนหลัง จะให้ความสำคัญกับอะไร
ซึ่งกรณีเหล่านี้ก็ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปนะครับ

อนึ่ง แม้ว่าเราจะไม่ทุกข์แล้ว หรือไม่ทุกข์เลยตั้งแต่แรก
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราสมควรจะปล่อยปัญหาชีวิตนั้นไว้
ยกตัวอย่างจากเรื่องข้างต้นที่ว่าเราและเพื่อนทำงานต่ำกว่ามาตรฐานนะครับ
แม้ว่าเราจะไม่คิดเรื่องดังกล่าว และไม่ทุกข์ในเรื่องดังกล่าว
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขการทำงานของเรา
โดยเราก็ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขการทำงานของเราให้ดีขึ้นและให้ได้มาตรฐาน
ปัญหาชีวิตอื่น ๆ ก็เช่นกัน เช่น หากเราป่วยหนัก ก็ควรต้องไปพบแพทย์
ลูกหลานเรียนไม่ดี เป็นเด็กเกเร ก็ต้องสั่งสอน ต้องพยายามปรับปรุงแก้ไข
พ่อแม่พี่น้องเล่นการพนัน ดื่มสุรา สนใจอบายมุข เราก็ต้องตักเตือน ต้องชักจูงให้เลิก
หลังคาบ้านรั่ว ท่อน้ำในบ้านแตก ก็ต้องซ่อม ต้องดูแล ฯลฯ
กรณีไม่ใช่ว่าเราไม่ทุกข์ใจแล้ว ก็ไม่ต้องทำหน้าที่อะไรในทางสมมุติบัญญัติเลย
ไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรในทางโลกทั้งสิ้น เช่นนั้น ก็ไม่เป็นการสมควรเช่นกัน

ข้อห้า การแก้กรรมจะมีวิธีการแก้อย่างไร
เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ผมจะขอแบ่งกรรมออกเป็น ๓ กลุ่มนะครับ
กลุ่มแรก คือ กรรมที่เราเพิ่งทำแบบผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ เลย
กลุ่มที่สอง คือ กรรมในอดีตที่เราทำในชีวิตนี้
กลุ่มที่สาม คือ กรรมในอดีตที่เราทำในอดีตชาติ (ก่อนชีวิตในชาตินี้)

เมื่อเรามีปัญหาชีวิตและต้องการจะแก้กรรม
เบื้องต้นเลย เราก็พึงพิจารณาก่อนว่าปัญหาชีวิตนั้นเกิดจากกรรมอะไร
กรณีอาจจะเกิดจากกรรมที่เราเพิ่งทำผ่านไปแบบสด ๆ ร้อน ๆ เลยก็ได้
เช่น ชีวิตเราไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เราทุกข์ใจเพราะเราหลงไปคิด
หรือว่าหลงไปอยาก หรือว่าหลงไปโกรธในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
โดยเมื่อเราเห็นความจริงอันนี้แล้ว เราก็ย่อมจะพิจารณาแก้ไขโดยใช้วิธีการแบบหนึ่ง

หากกรณีเกิดจากกรรมในอดีตที่เราได้ทำไว้ในชีวิตนี้
เช่น ชีวิตมีฐานะยากจน เพราะเราใช้เงินฟุ่มเฟือยมาตลอด
เราไม่เคยจะสนใจทำมาหากิน เรามัวแต่สนใจเล่นการพนัน สนใจอบายมุข
หรือลูกหลานเกเรไม่ตั้งใจเรียน เพราะเราปล่อยปละละเลยมาตลอด
โดยไม่สนใจอบรมสั่งสอนให้ดี ไม่ดูแลให้ดี ไม่แบ่งเวลาให้พวกเขา ฯลฯ
ซึ่งเมื่อเราเห็นความจริงอันนี้แล้ว เราก็ย่อมจะพิจารณาแก้ไขโดยใช้วิธีการแบบหนึ่ง

แต่หากกรณีไม่ได้เกิดจากกรรมสด ๆ ร้อน ๆ และไม่ได้เกิดจากกรรมในชีวิตนี้
โดยเราพิจารณาทุกอย่างโดยถ้วนถี่แล้วเห็นว่าน่าจะเป็นกรรมเก่าในชาติก่อน
ไม่ใช่เรื่องกรรมในชาตินี้แน่ ๆ ซึ่งหนทางแก้ไขก็อาจจะใช้วิธีการอีกแบบหนึ่ง

ฉะนั้น ในเบื้องต้นแล้ว เราพึงพิจารณาว่าปัญหาชีวิตนั้นเกิดจากกรรมในกลุ่มไหน
เพราะเป็นไปได้ว่า หากเกิดจากกรรมต่างกลุ่มกันแล้ว
หนทางในการแก้ไขปัญหาและความยากง่ายในการแก้ไขปัญหาอาจจะแตกต่างกัน
เช่นว่า ลูกสอบตก ลองเทียบสามกรณีว่า กรณีแรกสอบตก เพราะลูกเจ็บป่วย
เหตุเกิดจากว่าเราพาลูกไปเที่ยวเล่นน้ำช่วงใกล้สอบจนทำให้ลูกเจ็บป่วย
แต่หากลูกไม่เจ็บป่วยแล้ว ลูกก็ตั้งใจเรียนอยู่เป็นปกติและมีความรู้ที่จะสอบผ่านได้
กับกรณีที่สองสอบตก เพราะลูกไม่มีความรู้และไม่ตั้งใจเรียนเลย เหตุเกิดจากว่า
เราปล่อยปละละเลยลูก ไม่สั่งสอนให้ดีมาหลายปี จนลูกหลานไม่ตั้งใจเรียน
กับกรณีที่สามลูกสอบตก เพราะเรียนไม่เก่งด้วยเหตุสติปัญญาไม่ดีมาแต่กำเนิด
ซึ่งเป็นปัญหาทางสมองและร่างกาย โดยเราจะเห็นได้ว่าความยากง่าย
ในการแก้ไขปัญหาในทั้งสามกรณีนั้นจะอยู่คนละระดับกันเลย
และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาไม่เท่ากัน

ปัญหาจากกรรมในกลุ่มที่หนึ่ง และกรรมในกลุ่มที่สองนี้
เรา ๆ ยังจะมีความสามารถพอที่จะพิจารณาทราบได้ และหาหนทางแก้ไขได้นะครับ
ปัญหาที่เรามักชอบถามกัน และมักสนใจกันมากก็คือกรรมในกลุ่มที่สาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับบางท่านแล้ว ไม่แยก ไม่พิจารณาเลยว่า
ปัญหาชีวิตของตนเองเกิดจากกรรมกลุ่มที่หนึ่ง หรือกลุ่มที่สองหรือไม่
แต่พอเจอปัญหาชีวิตอะไรหนัก ๆ ขึ้นมา ก็จับเหมาไปโยนให้กรรมกลุ่มที่สามทั้งหมด
ประเภทว่าชีวิตนี้ของข้าพเจ้าไม่เคยทำอะไรผิดเลย ข้าพเจ้าทำทุกอย่างดีพร้อม
แต่ที่มันแย่หรือที่มันมีปัญหานี้ก็เพราะกรรมในชาติก่อนเป็นเหตุเท่านั้น

หากเราจะพิจารณาวิเคราะห์กรรมในกลุ่มที่สามนี้เพื่อหาหนทางแก้กรรม
เราจะทำอย่างไร ในเมื่อพวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้มีญาณวิเศษจะไปทราบอดีตชาติได้
บางท่านก็บอกว่า ในเมื่อเราไม่ทราบ เราก็ไปถามคนที่มีญาณวิเศษที่เขาทราบสิ
แต่ในหนทางเช่นนั้น เราย่อมมีต้นทุนและความเสี่ยงอยู่หลายประการนะครับ
เช่น เราจะทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นผู้มีญาณวิเศษดังกล่าวบ้าง
และผู้มีญาณวิเศษดังกล่าวอยู่ที่ไหน โดยเราต้องลงทุนเวลาและค่าใช้จ่ายในการค้นหา
แล้วเรายังจะต้องลงทุนเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทางไปสอบถามอีกด้วย

แม้จะหาพบก็ตาม มีความเสี่ยงต่อไปว่าเราจะเชื่อหรือมั่นใจได้อย่างไรว่า
ผู้นั้นได้มีญาณวิเศษดังกล่าวจริง เราจะมีวิธีการพิสูจน์ได้อย่างไร
ต่อให้ผู้มีญาณวิเศษจะทราบได้จริง ๆ ว่าปัญหาชีวิตเราเกิดจากกรรมใดในอดีตชาติ
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้มีญาณวิเศษจะทราบด้วยว่าจะแก้ไขอย่างไร
คนที่ทราบว่าปมเชือกอยู่ตรงไหน ไม่ได้แปลว่าจะต้องทราบวิธีการแก้ปมนะครับ
(ยกตัวอย่างว่า ผมสามารถหาได้ว่ายางรถยนต์นั้นรั่วตรงไหน
แต่ไม่ได้แปลว่าผมจะมีความสามารถแนะนำวิธีการซ่อมปะยางรถยนต์นะครับ)
ซึ่งจะเห็นได้ว่าการอาศัยญาณวิเศษของผู้อื่นเพื่อมาแก้กรรม และแก้ไขปัญหาชีวิตนั้น
ต้องลงทุนเวลาและค่าใช้จ่าย แถมยังมีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนหลายประการ

เช่นนี้แล้ว เราจะทำอย่างไร เพราะเราไม่มีทางทราบได้ว่าปัญหาชีวิตในปัจจุบันนี้
เกิดจากกรรมอะไรในอดีตชาติ แล้วเราจะหาหนทางแก้ไขปัญหาชีวิตได้อย่างไร
ผมเห็นว่าก็ยังมีอยู่อีกวิธีการหนึ่งนะครับที่เรายังสามารถจะทำได้
โดยเหตุผลและหลักการก็คือว่า ในทุกกรณี คงไม่มีผู้มีญาณวิเศษท่านไหนจะแนะนำ
ให้เราทำกรรมไม่ดีในปัจจุบัน เพื่อไปลดทอนผลจากกรรมไม่ดีในอดีตหรอกนะครับ
ก็คงจะมีแต่ว่าให้ลดละกรรมไม่ดีเสียที่เกี่ยวข้องเสีย และสร้างสมกรรมดีใหม่ ๆ
เพื่อเป็นการแก้กรรม

ภายใต้เหตุผลและหลักการดังกล่าวนั้นแล้ว วิธีการที่เราจะแก้กรรมได้แบบครบวงจร
และครอบคลุมกว้างขวาง โดยไม่ต้องไปสอบถามผู้มีญาณวิเศษท่านไหนเลย
และก็สอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนาด้วยก็คือ
ยึดหลักธรรมข้อปฏิบัติสามข้อในโอวาทปาฏิโมกข์ ดังต่อไปนี้
๑. ละเว้นบาปอกุศลทั้งปวง (ละเว้นกรรมไม่ดีทั้งปวง)
๒. สร้างกุศลให้ถึงพร้อม (สร้างกรรมดีทั้งปวง)
๓. ชำระจิตใจให้ขาวรอบ (ฝึกจิตใจให้บริสุทธิ์)

ลำพังเพียงเรายึดหลักปฏิบัติแค่ ๓ ข้อนี้เท่านั้นล่ะครับ
จะเป็นการแก้ไขกรรมไม่ดีในทุกกรณี เป็นการสร้างสะสมกรรมดีในทุกกรณีเพื่อในอนาคต
และเป็นการลดละทุกข์ในจิตใจ ไม่ใช่แต่เฉพาะจะแก้ไขปัญหาชีวิตเท่านั้น

แต่หากเรายังมัวสนใจว่าปัญหาชีวิตในเรื่องนี้เกิดจากกรรมอะไรในอดีตชาติ
เราจะได้มุ่งแก้ไขกรรมไม่ดีนั้น แล้วจะแปลว่ากรรมไม่ดีอื่น ๆ เราก็ทำได้กระนั้นหรือ
แล้วจะแปลว่ากรรมดีอื่น ๆ เราจะไม่ต้องทำกระนั้นหรือ
ก็คงตอบว่าไม่ได้แปลว่าเช่นนั้น ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะทราบหรือไม่ทราบก็ตาม
กรรมไม่ดีอื่น ๆ ก็ควรจะละเว้นอยู่ดี และกรรมดีอื่น ๆ ก็ควรจะต้องกระทำอยู่ดี
และเราเองก็คงไม่อยากจะทุกข์ใจ จึงพึงต้องชำระใจให้บริสุทธิ์เพื่อพ้นจากทุกข์อยู่ดี

ดังนี้ เราก็มีทางเลือกครับว่าเราจะจับที่หลักใหญ่สามข้อ แล้วก็ปฏิบัติไปเลย
ซึ่งจะเป็นการแก้ไขทุกข์ และแก้กรรมแบบครบวงจร
หรือเราจะเลือกสนใจแต่เรื่องใดเรื่องเดียว ทั้งที่ต้องใช้เวลาและต้นทุนมาก
แถมยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอีกหลายประการ
ในขณะที่แม้จะได้ทราบคำตอบ แต่ก็ต้องกลับมาปฏิบัติในหลักใหญ่สามข้ออยู่ดี

ทีนี้เราได้คุยกันมาเยอะแล้ว ก็จบคำตอบสำหรับคำถามที่หนึ่งแล้วนะครับ
คำถามที่สองและคำถามที่สามจะตอบสั้นหน่อยล่ะ
เพราะได้คุยหลักการ และเหตุผลไปในคำถามที่หนึ่งเสียยาวแล้ว

คำถามที่สอง คือตนเองอยากจะได้อะไรดี ๆ บางอย่างในอนาคต ถามว่าจะต้องทำกรรมอะไร
ตอบว่า เราพอจะสามารถทราบได้ว่ากรรมใดในชีวิตนี้จะส่งผลอะไรบ้างในชีวิตนี้
แต่หากจะถามไปถึงผลในชาติหน้าแล้ว เราคงตอบแน่นอนไม่ได้
และเราก็ไม่ทราบด้วยว่ากรรมใด ๆ ในชาตินี้จะให้ผลเมื่อไร เวลาใด
สมมุติว่าเราทำกรรมดีเพื่ออธิษฐานขอให้ผิวขาว หุ่นดี หุ่นผอม ๆ
แต่หากในชาติหน้าเราไปเกิดในสังคมที่นิยมชอบคนผิวดำ และหุ่นอวบ ๆ ล่ะ
เราก็จะกลายเป็นไม่สวยในยุคสมัยนั้นไปอีก
หรือหากเราอธิษฐานขอให้เราวาดภาพเก่ง ๆ
แต่ว่าเราไปเกิดในยุคสมัยที่มีแต่สงคราม มีแต่การรบรากัน ไม่มีใครสนใจเรื่องภาพวาด
เราปลูกข้าวปลูกผักไม่เก่ง ทำงานอื่นไม่เป็น เป็นแค่วาดภาพ ก็ย่อมจะไม่ได้เรื่องแล้ว

นอกจากนี้ เราก็ไม่มีญาณวิเศษที่จะทราบไปถึงชาติหน้าด้วย
ซึ่งแม้ว่าเราจะทราบได้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ต้องทำกรรมดีอื่น ๆ ด้วย
และก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทำกรรมชั่วใด ๆ ก็ได้อยู่ดี
ไม่เช่นนั้นแล้ว เราได้ผลแห่งกรรมดีอยู่อย่างเดียว โดยไม่มีผลแห่งกรรมดีอื่น ๆ เลย
แถมมีแต่ผลแห่งกรรมชั่วรายล้อมไปหมด อย่างนี้จะบอกว่าในอนาคตจะมีความสุขก็คงไม่ได้
ฉะนั้นแล้ว ก็กลับมาที่หลักปฏิบัติสามข้อหลักอยู่ดีนะครับ

คำถามที่สาม คือ เห็นคนทำกรรมชั่วแล้ว อยากจะรู้ว่าเขาจะได้รับผลกรรมอะไรในอนาคต
ตอบว่า เรื่องกรรมของคนอื่นนั้นไม่ได้เกี่ยวกับตัวเรา
คนอื่นเขาทำกรรมชั่ว และจะได้รับผลกรรมไม่ดีอย่างไรในอนาคตนั้น ก็เป็นเรื่องของตัวเขา
แต่ในขณะนี้ เราได้ทำกรรมใหม่สด ๆ ร้อน ๆ ของเราขึ้นมาแล้ว
คือเราอยากจะทราบผลกรรมไม่ดีของคนอื่น อยากจะทราบความฉิบหายของคนอื่น
เพื่อที่จะทำให้ตัวเราเองสบายใจจากการที่ได้รับทราบนั้น
ดังนี้ พึงควรมาสนใจแก้ไขในส่วนของตัวเองจะเป็นประโยชน์กว่า
โดยเมื่อได้เห็นแล้วว่าจิตใจเราเป็นอกุศลแล้วขณะนี้ เราจะทำอย่างไร
เราจะเจริญสติ มีสติรู้ทันและเห็นอกุศลนี้ผ่านมา ผ่านไป
หรือว่าเราจะพยายามปรับปรุงจริยธรรมในใจของตนเองเพื่อให้เราเป็นคนดีขึ้น
หรือจะดำเนินการอื่น ๆ เกี่ยวกับใจเราเองเพื่อให้มีคุณธรรมสูงขึ้น
ลดละเลิกความอยากจะทราบอยากจะรู้อยากจะเห็นความฉิบหายของคนอื่น
ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าการที่เราจะตามใจกิเลสไปทราบความฉิบหายของคนอื่นนั้น

(จบเรื่องคุยกันเรื่องกรรมแล้วนะครับ ในคราวหน้าก็จะได้คุยเรื่องอื่นกันครับ)