Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๒๘

คุยกันเรื่องกรรม ตอนที่ ๕

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-128
(ต่อจากตอนที่แล้วครับ)

ในคราวก่อน ได้คุยจบเกี่ยวกับข้อพิจารณาในการแก้ไขปัญหาชีวิตไปแล้ว
แต่หากว่าปัญหาชีวิตของท่านยังไม่คลี่คลาย ท่านยังกลุ้มใจอยู่
และท่านเชื่อว่ามีเพียงการแก้กรรมเท่านั้นที่จะช่วยเหลือท่านได้
เรามาสร้างความเข้าใจในการแก้กรรมกันต่อนะครับ

ทีนี้ เราก็จะเข้าสู่เนื้อหาการตอบคำถามที่หนึ่งแล้วนะครับ
ในส่วนของความเข้าใจและข้อพิจารณาในการแก้กรรมนั้น ขอแนะนำว่า
ข้อแรก พึงพิจารณาก่อนว่าพวกเราหลายท่านที่ต้องการจะแก้กรรม
ไม่ว่าเพราะมีปัญหาชีวิต หรือเพราะมีความทุกข์ใจใด ๆ ก็ตาม
เราได้มองกรรมเฉพาะในส่วนที่กรรมส่งผลให้เกิดสิ่งที่เราไม่พอใจเท่านั้นหรือเปล่า
แต่ในส่วนที่เราพอใจนั้น เรากลับไม่สนใจในเรื่องกรรมในส่วนนั้นเลยใช่ไหม
(ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่เห็นคุณค่า ไม่สนใจ ไม่เดือดร้อน หรือเพราะประมาทก็ดี)

ยกตัวอย่างว่า ผู้หญิงคนหนึ่งมีสามีหรือแฟนนิสัยไม่ดี
โดยเธอเองนั้นมีคุณสมบัติดี ๆ หลายอย่าง ครอบครัวดี การศึกษาดี ฐานะก็ใช้ได้
(หน้าตาและรูปร่างนั้นไม่ทราบ) และอื่น ๆ ก็ใช้ได้ แต่มีสามีหรือแฟนนิสัยไม่ดี
เธอก็คิดว่ามีปัญหาเรื่องกรรม และต้องแก้กรรมในเรื่องสามีหรือแฟนนิสัยไม่ดี
ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเธอมองแต่เรื่องสามีและแฟนนิสัยไม่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่พอใจ
แต่ในเรื่องอื่น ๆ นั้น เช่น ครอบครัวดี การศึกษาดี ฐานะใช้ได้ ฯลฯ
เธอไม่ได้มองและไม่ได้ให้ความสำคัญเลย เพราะไม่ได้มีความเดือดร้อนในสิ่งเหล่านั้น
แต่สิ่งเหล่านั้นแท้จริงแล้วอาจจะเป็นสิ่งสำคัญกว่าเรื่องนิสัยสามีหรือแฟนเสียอีก

หากจะพิจารณาต่อไปอีก ถามว่าในชีวิตของเธอนั้น เธอได้เคยมีความสุขบ้างหรือไม่
เธอได้เคยลิ้มรสอาหารที่พอใจ ได้เคยพูดคุยสนุกสนานหัวเราะ ได้เคยท่องเที่ยวสบายใจ
ได้เคยพักผ่อนมีความสุข ได้มีโอกาสทำทาน รักษาศีล ได้สวดมนต์ ได้ภาวนา
ได้โน่นนี่ต่าง ๆ มากมาย และที่สำคัญคือเธอได้ “เกิดมาเป็นมนุษย์”
เธอเคยที่จะสนใจให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้บ้างหรือไม่ว่า
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแก่เธอได้เพราะกรรมอะไร
เธอจะยอมไหมล่ะว่า สมมุติให้เธอมีสามีหรือแฟนที่นิสัยดี
แต่เธอไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์นะ เธอและสามีหรือแฟนจะต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
เช่นนี้แล้ว ต่อให้สามีหรือแฟนของเธอจะมีนิสัยดีในภพของสัตว์เดรัจฉาน
แล้วเธอจะมีความสุขหรือ เช่น เกิดเป็นหนูในท่อระบายน้ำ เกิดเป็นแมลงสาบ เป็นต้น

ดังนี้ หากเธอจะมุ่งแก้กรรมโดยให้ความสำคัญเพียงเรื่องที่เธอไม่พอใจ
แต่ไม่ได้สนใจที่จะสร้างกรรมเพื่อรักษาสิ่งที่เธอพอใจอื่น ๆ นั้นแล้ว
ถามว่ากรณีเช่นนี้ จะเป็นทางเลือกที่ดีจริงหรือไม่

เราลองเทียบอีก สมมุติว่าเรามีถังบรรจุน้ำดื่มน้ำใช้ในบ้านอยู่ถังหนึ่ง
ซึ่งต่อมา เราพบว่าถังบรรจุน้ำใบนั้นมีรูรั่วเล็ก ๆ และมีน้ำซึมออกจากรูรั่วนั้นเล็กน้อย
เราจึงหาหนทางที่จะอุดรูรั่วในถังบรรจุน้ำใบนั้นให้ได้
เราใช้เวลา ใช้กำลังกายกำลังใจ และความคิดอย่างมากมายเพื่อจะอุดรูรั่วนั้น
แต่เราไม่เคยจะสนใจเลยว่า เราจะต้องหาน้ำมาเติมลงในถังบรรจุน้ำอย่างไรบ้าง
ในขณะที่เราดื่มน้ำและใช้น้ำจากถังบรรจุน้ำนั้นทุกวัน ๆ
และเมื่อถึงวันนึง น้ำในถังใบนั้นก็จะหมด เพราะเราใช้ (และเพราะรั่วซึมออก)
แต่เรามัวแต่ไปหมกมุ่นแก้ไขปัญหารูรั่วที่เราไม่พอใจนั้น
(ซึ่งน้ำรั่วซึมออกน้อยกว่าน้ำที่เราได้ดื่มได้ใช้ในแต่ละวันเสียอีก)
ถามว่าเช่นนี้ จะเป็นการดำเนินการที่ช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่

หากเทียบกับอีกคนหนึ่ง รูรั่วเล็กน้อยของถัง เขาก็หาทางแก้ไขป้องกันไปตามสภาพ
แต่เขาเห็นคุณค่าและความสำคัญของน้ำในถังนั้น ที่เขาใช้บริโภคและอุปโภคอยู่
เขาจึงใช้เวลา กำลังกายกำลังใจ และความคิดเพื่อหาน้ำมาเติมในถังดังกล่าว
เพื่อให้ถังบรรจุน้ำนั้นมีน้ำให้เขาดื่มและใช้ไปได้เรื่อย ๆ อย่างไม่ขาดแคลน
เช่นนี้จะเป็นประโยชน์กว่าการที่เขาจะมุ่งทุ่มเทอุดรูรั่วเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า

ฉันใดก็ฉันนั้น การที่เราสนใจแก้กรรมก็เช่นกัน พึงพิจารณาให้ดีก่อนนะครับว่า
ที่เราสนใจทุ่มเทอย่างมากมายเพื่อแก้กรรมในเรื่องที่เราไม่พอใจนั้น
เราได้เคยจะหันมาสนใจที่จะสร้างกรรมดี ๆ เพื่อรักษาสิ่งทั้งหลายอื่น ๆ ที่เราพอใจ
หรือสิ่งทั้งหลายอื่น ๆ ที่สำคัญ ๆ ในชีวิตเราด้วยหรือไม่
บางที หากเราจะได้ลองเทียบไปเทียบมาแล้ว เราเองจะเห็นได้ว่า
แทนที่จะมัวแต่ไปทุ่มเทหาหนทางแก้กรรมในเรื่องที่เราไม่พอใจแล้ว
เราควรเอาเวลาและกำลังของเราไปสร้างกรรมดี ๆ
เพื่อสร้างหรือรักษาสิ่งสำคัญ ๆ กับชีวิตเราจะดีกว่า หรือเป็นประโยชน์กว่าเสียอีก

ข้อสอง หลายท่านอาจจะเข้าใจว่าเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้น
เป็นหลักคำสอนที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนา แต่แท้จริงแล้วยังไม่ใช่นะครับ
หลักคำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนานั้นเหนือกว่าเรื่องหลักกรรมเสียอีก
เพราะการศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนานั้น
สามารถนำพาให้เราพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง หรือนำพาให้เราพ้นจากสังสารวัฏได้
ซึ่งหมายถึงพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดและพ้นจากวิบากกรรมทั้งปวง
ดังนั้น หลักคำสอนที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนานั้นถือว่า “เหนือหลักกรรมเสียอีก”

พวกเราหลาย ๆ ท่านก็มุ่งสนใจที่จะแก้กรรมในเรื่องที่เราทุกข์ใจ
โดยมุ่งหวังที่จะมีความสุขและพ้นจากความทุกข์
โดยคาดหวังว่าจะอาศัยหลักกรรมในคำสอนของพุทธศาสนา
แต่อาจจะลืมไปหรือไม่ทราบว่า ในส่วนนั้นยังถือว่าเป็นส่วนที่มีคุณประโยชน์น้อยกว่า
หากจะเปรียบเทียบกับคำสอนในส่วนที่นำพาให้เราพ้นทุกข์สิ้นเชิงได้

หากจะเปรียบเทียบกับกรณีถังบรรจุน้ำที่กล่าวข้างต้นแล้ว
ในเมื่อเรายังสนใจที่จะแก้กรรมโน้น สร้างกรรมนี้ เพื่อเติมน้ำ หรืออุดรูรั่วอยู่
เราก็จะต้องวนเวียนทำเช่นนั้นต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่จบไม่สิ้น
แต่หากเราสนใจที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อที่จะให้ได้คุณประโยชน์สูงสุด
ตามคำสอนของพุทธศาสนาแล้ว สิ่งที่เราจะได้รับก็คือ
เราจะพ้นจากระบบของถังบรรจุน้ำนี้ คือปล่อยวางตัวเราที่ต้องดื่มน้ำใช้น้ำ
และไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับการเติมน้ำในถังบรรจุน้ำ หรือการอุดรูรั่วนี้อีกต่อไป

อันนี้เราก็ต้องเลือกนะครับว่า เราต้องการจะแก้กรรม
โดยหาหนทางอุดรูรั่วของถังบรรจุน้ำและเติมน้ำในถังไปเรื่อย ๆ ซึ่งมีคุณประโยชน์น้อย
หรือจะแก้กรรมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับถังบรรจุน้ำอีกเลย
ซึ่งมีคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงกว่า

ข้อสาม ในการแก้กรรมนั้น บางทีเราอาจจะมองการแก้กรรมที่ปลายเหตุ
แต่ไม่ได้มองที่จะแก้กรรมไปถึงต้นเหตุของเรื่องราวเลย
ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุนั้น มันย่อมจะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
ยกตัวอย่างว่า เราพักอาศัยอยู่ในบ้าน ซึ่งกำลังเกิดไฟไหม้จากห้องครัว
และไฟได้ไหม้ลามมาจนถึงห้องนอน ซึ่งเรากำลังนอนอยู่
หากเราได้ดับไฟในห้องนอนเสร็จแล้ว แต่เราไม่ได้ดับไฟในห้องอื่น ๆ
และไม่ได้ดับไฟไปจนถึงต้นตอของเพลิงไหม้ในห้องครัวแล้ว
ถามว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาของเรื่องราวแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือไม่
เราควรจะสบายใจและพอใจกับการแก้ไขปัญหานั้นแล้วหรือยัง

ในเมื่อเรายังไม่ได้ดับไฟในห้องอื่น ๆ และยังไม่ได้ดับไฟไปถึงต้นตอของเพลิงนั้น
อีกไม่นาน ไฟนั้นก็จะลามมาถึงที่ห้องนอนใหม่อยู่ดี หรือไม่เช่นนั้นแล้ว
ไฟนั้นก็จะเผาผลาญบ้านทั้งหลังและลามมาที่ห้องนอนและตัวเราอยู่ดี
ในการแก้ไขปัญหาไฟไหม้ดังกล่าวนั้น จึงควรต้องดับไฟให้ได้ไปถึงต้นตอของเพลิง
หากเราไม่สามารถดับได้แล้ว และไฟได้ลามไปทั่วบ้านแล้ว
สิ่งที่ควรทำก็คือ รีบพาคนอื่น ๆ ในบ้านและตัวเราออกมาจากบ้านที่กำลังไฟไหม้นั้น
ไม่ใช่ว่าเราดับไฟไหม้ที่ห้องนอนได้ห้องเดียวแล้วเราจะสบายใจและนอนต่อในห้องนอนได้

หากเปรียบกับกรณีที่ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีสามีหรือแฟนนิสัยไม่ดีที่กล่าวข้างต้นแล้ว
เธอมุ่งที่จะแก้กรรมในส่วนที่สามีหรือแฟนนิสัยไม่ดี โดยต้องการให้สามีหรือแฟนนิสัยดี
ถามว่าเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุแห่งปัญหาจริง ๆ แล้วหรือยัง
เป็นการสาวปัญหาไปถึงต้นตอของปัญหาจริง ๆ หรือไม่
หรือว่าเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุที่ไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง

หากเราจะลองสาวไปที่ต้นตอของปัญหาแล้ว
ถามว่าที่เธอไม่พอใจที่สามีหรือแฟนนิสัยไม่ดี และต้องการแก้กรรมนั้น เกิดจากอะไร
เธอก็อาจจะตอบว่าเพราะเกิดจากสามีหรือแฟนนิสัยไม่ดีเป็นต้นเหตุ
แต่หากลองมองย้อนกลับไปอีกนะครับว่าทำไมเธอถึงไม่พอใจล่ะ
ก็เพราะว่าเธอมีความคาดหวังและความต้องการว่าสามีหรือแฟนจะต้องนิสัยดี
และพอสามีหรือแฟนนิสัยไม่ดีดังที่เธอคาดหวังหรือต้องการแล้ว เธอก็ไม่พอใจ

มองย้อนต่อไปอีก แล้วทำไมเธอจึงมีความคาดหวังหรือความต้องการนี้ล่ะ
ก็เพราะว่าเธอมีสามีหรือแฟน โดยหากเธอไม่มีสามีหรือแฟนเลย
เธอก็ย่อมจะไม่มีความคาดหวังในนิสัยของสามีหรือแฟนนั้น
มองย้อนต่อไปอีก แล้วทำไมเธอจึงมีสามีหรือแฟนล่ะ
ก็เพราะว่าเธอต้องการจะมีความสุข และเข้าใจว่าการมีสามีหรือแฟนจะทำให้เธอมีความสุข
มองย้อนต่อไปอีก แล้วทำไมเธอจึงต้องการจะมีความสุขล่ะ
ก็เพราะเธอมีกายมีใจ มีตัณหา มีอุปาทาน มีความยึดถือต่าง ๆ
หากมองย้อนต่อไปอีก ไล่สาวย้อนไปเรื่อย ๆ ก็จะไล่ไปได้ถึงต้นตอคือ “อวิชชา” นะครับ

ทีนี้ การแก้กรรม หรือการหาหนทางที่จะพ้นจากทุกข์ในเรื่องนี้
คนเราแต่ละคนนั้นพยายามจะแก้ในต้นเหตุในแต่ละทอดที่แตกต่างกันไป
บางคนมุ่งแก้ที่นิสัยของสามีหรือแฟนนั้น
บางคนมุ่งแก้ที่ความคาดหวังหรือความต้องการของตนเองในนิสัยของสามีหรือแฟน
บางคนมุ่งแก้ที่การที่ตนเองได้มีสามีหรือแฟนนั้น (ก็ทำให้ไม่มีเสียเลย คือเลิก)
บางคนมุ่งแก้ที่ความต้องการจะมีสามีหรือแฟน
(หรือแก้ที่ความต้องการจะมีความสุข โดยการมีสามีหรือแฟน)
บางคนมุ่งแก้ที่กายใจ และมุ่งแก้ไขความรู้ความเข้าใจตนเองเพื่อให้พ้นจากอวิชชา เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหา เพื่อจะหาหนทางพ้นทุกข์ในเรื่องสามีหรือแฟนนิสัยไม่ดีนี้
สามารถทำได้ในหลาย ๆ ทอดแตกต่างกัน ซึ่งหากเราแก้ไขในทอดใดทอดหนึ่งได้
เราก็จะสามารถพ้นจากทุกข์เรื่องสามีหรือแฟนนิสัยไม่ดีนั้นได้
เพียงแต่ว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการแก้ไขแต่ละทอดนั้นอาจจะแตกต่างกัน
เช่น หากเธอแก้ไขที่นิสัยสามีหรือแฟนได้ แต่ต่อมาหากสามีหรือแฟนมีนิสัยไม่ดีอีก
เธอก็จะกลับมาทุกข์ใจอีกและต้องหาทางแก้ไขอีก
แต่หากเธอแก้ไขที่ความคาดหวังหรือความต้องการให้สามีหรือแฟนมีนิสัยดีแล้ว
เธอก็ย่อมจะไม่ทุกข์เพราะเหตุสามีหรือแฟนกลับมานิสัยไม่ดีอีก
แต่เธอก็อาจจะทุกข์ได้อีก หากสามีหรือแฟนตาย เลิกกัน หรือจากไป
แต่เธอหากแก้ไขที่ความต้องการจะมีสามีหรือแฟนแล้ว
เธอก็จะไม่ทุกข์เพราะเหตุสามีหรือแฟนตาย เลิกกัน หรือจากไปนั้น เป็นต้น

กล่าวคือว่า ยิ่งเธอย้อนไปแก้ไขต้นเหตุแห่งความทุกข์ของเรื่องราวได้
อย่างใกล้ต้นตอของเรื่องมากขึ้นเท่าไร เธอก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้มากขึ้นตามลำดับ
แต่ในชีวิตจริงนั้น หลายท่านกลับมัวแต่หมกมุ่นหาหนทางเพื่อจะ
แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุในทอดสุดท้าย โดยสนใจเพียงว่าจะแก้กรรมอย่างไร
เพื่อให้ปัญหาในทอดสุดท้ายได้รับการแก้ไข
ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว ก็นับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และได้ประโยชน์น้อยที่สุด
เพราะว่าถือว่าทำให้พ้นจากทุกข์น้อยที่สุดนะครับ

(คุยกันต่อในตอนหน้านะครับ)