Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๒๖

คุยกันเรื่องกรรม ตอนที่ ๓

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-126
(ต่อจากตอนที่แล้วนะครับ)

ในคราวก่อน เราคุยถึงประการที่สามคือ ควรมองปัญหาในด้านดีหรือข้อดีอื่น ๆ บ้าง
และได้ยกตัวอย่างไปบ้างแล้ว แต่เราจะลองพิจารณาตัวอย่างในสมัยอดีตกาลเพิ่มอีกก็ได้
ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ นั้น
ได้มีเศรษฐีท่านหนึ่งชื่อว่า สุมงคลเศรษฐี โดยเศรษฐีท่านนี้ได้ไปพูดจา
ทำให้โจรคนหนึ่งโกรธและผูกอาฆาตพยาบาท โจรคนนี้ได้พยายามล้างแค้นเศรษฐี
โดยได้เผานาของเศรษฐีถึง ๗ ครั้ง นำมีดไปตัดเท้าวัวในคอกของเศรษฐี ๗ ครั้ง
เผาบ้านของเศรษฐี ๗ ครั้ง แต่ปรากฏว่าก็ไม่ทำให้เศรษฐีโกรธแค้นหรือเสียใจได้

โจรคนนี้จึงได้พยายามสืบว่า เศรษฐีรักอะไรมากที่สุด ก็ได้ทราบว่า
สิ่งที่เศรษฐีรักมากที่สุดก็คือ กุฏิ (หรือเรียกว่า พระคันธกุฎี)
ที่เศรษฐีได้สร้างถวายต่อพระพุทธเจ้ากัสสปะ
ซึ่งเมื่อได้ทราบดังนั้นแล้ว เมื่อเวลาพระพุทธเจ้ากัสสปะได้เสด็จออกบิณฑบาต
โจรคนนี้จึงได้แอบมาเผาพระคันธกุฎีนั้นเสีย
โดยคาดหวังว่าเมื่อเศรษฐีได้ทราบข่าวหรือมาเห็นแล้ว จะต้องโกรธแค้นหรือเศร้าโศกใจ

ปรากฏว่าเมื่อเศรษฐีได้มาเห็นว่าพระคันธกุฎีที่ตนเองสร้างถวายนั้นโดนเผาราบแล้ว
แทนที่เศรษฐีจะโกรธแค้นหรือเศร้าโศกใจอย่างมากมาย แต่กลับชอบใจและบอกว่า
นี่เป็นโอกาสของตนเองที่จะได้สร้างพระคันธกุฎีถวายพระพุทธเจ้ากัสสปะอีกแล้ว
โดยตั้งใจว่าคราวนี้จะสร้างให้ดี และสวยงามกว่าคราวก่อนอีกด้วย
ซึ่งก็จะเห็นได้นะครับว่าท่านสุมงคลเศรษฐีไม่ได้มองแต่ด้านลบของปัญหาเท่านั้น

หากเป็นพวกเรา ๆ แล้ว เราจะมองปัญหาหรือทำใจทำนองนั้นได้บ้างหรือเปล่า
ยกตัวอย่างว่า หากมีญาติธรรมนำซองเรี่ยไรบุญมาให้เรา
เราจะมองว่าเป็นโชคร้ายที่ต้องเสียเงิน หรือเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมทำบุญ
หากมีคนมาทำให้เราโกรธ เราจะมองว่าเขาเป็นคนเลวมาทำเราโกรธ
หรือจะมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้ให้อภัยทาน
หรือเป็นโอกาสที่ได้เจริญสติเห็นกิเลสที่เข้ามา ได้แยกธาตุขันธ์ เห็นความปรุงแต่ง
หรือเป็นโอกาสที่จะได้สอบทานและปรับปรุงตัวเราเอง ฯลฯ
ซึ่งก็ย่อมจะขึ้นอยู่กับที่เราเองจะมองนะครับ

มีสองคนที่ผมรู้จัก ซึ่งพ่อแม่ของพวกเขาป่วยเข้าโรงพยาบาล โดยป่วยต่างเวลากัน
คนแรกนั้นมีรายได้มาก แต่พอเสียค่ารักษาพ่อแม่แล้ว ก็บ่นว่าค่ารักษาแพงมาก
ส่วนอีกคนนั้น มีรายได้น้อยกว่า ต้องไปกู้เงินสินเชื่อบุคคลมาจ่ายค่ารักษาพ่อแม่
แล้วก็ต้องไปทำงานผ่อนใช้หนี้คืนในภายหลังเป็นปี แต่คนที่สองนี้กลับบอกว่า
ถือว่าเป็นโอกาสที่ได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ และเป็นโอกาสที่ตนเองจะได้สร้างกุศล

ก็จะเห็นได้นะครับว่าปัญหาเรื่องเดียวกัน หรือเรื่องราวทำนองเดียวกัน
แต่เมื่อเรามองต่างกันแล้ว มันก็จะไปกันคนละเรื่องแล้วล่ะ
คนแรกอาจจะบอกว่าเป็นเวรกรรมของตนเองที่จะต้องมาเสียเงินทองมากมาย
คนที่สองอาจจะไม่ได้มองว่าเป็นเวรกรรม แต่มองว่าเป็นโอกาสที่ตนเอง
จะได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ จะได้ทำบุญกุศลกับพระอรหันต์ของตน

เรื่องราวของท่านสุมงคลเศรษฐียังไม่จบนะครับ
หลังจากที่ท่านได้สร้างพระคันธกุฎีใหม่เพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว
ในขณะที่กำลังถวายแด่พระพุทธเจ้ากัสสปะนั้นเอง
ท่านเศรษฐีได้กล่าวว่าท่านได้ถูกคนร้ายลอบเผานา ๗ ครั้ง ลอบตัดเท้าวัว ๗ ครั้ง
ลอบเผาบ้าน ๗ ครั้ง และที่เผาพระคันธกุฎีเดิมนี้ ก็น่าจะเป็นคนร้ายรายเดียวกัน
แต่ว่าท่านเศรษฐีไม่ถือโกรธและยังขออุทิศบุญกุศลทั้งหมดจากการถวายพระคันธกุฎีนี้
ให้แก่คนร้ายดังกล่าวด้วย ซึ่งทำให้โจรดังกล่าวสำนึกผิดและต้องมากราบขอขมาต่อเศรษฐี
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม โจรคนนี้ก็ต้องไปใช้กรรมหนักในอเวจีมหานรกขุมลึกที่สุด
โดยได้อยู่อย่างทรมานเนิ่นนานเลยนะครับ พอพ้นขึ้นมาได้ก็ต้องมาเป็นเปรตอีก

ประการที่สี่ คือ ทำใจเป็นกลางต่อปัญหาชีวิต อย่าปล่อยให้อคติความชอบหรือไม่ชอบ
มาครอบงำหรือผลักดันจิตใจ ซึ่งหากเรามองปัญหาชีวิตอย่างไม่เป็นกลาง
หรือปล่อยให้อคติเข้ามาครอบงำใจแล้ว ก็จะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาชีวิตนั้น ๆ
เพราะเราเองอาจจะเร่งรีบตัดสินใจใด ๆ หรือทำอะไรลงไป
โดยยังไม่ทันได้พิจารณาและไตร่ตรองให้ถ้วนถี่เสียก่อน
ซึ่งแทนที่จะช่วยแก้ไขปัญหา อาจจะกลับกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้นก็ได้

ยกตัวอย่างว่าหากเราหิวข้าวมาก หิวจนหน้ามืด ปล่อยให้ความอยากทานข้าวมาครอบงำ
พอใครยกจานอะไรมาวางบนโต๊ะ เราก็รีบเอาช้อนตักทานทันที และทานอย่างเร่งรีบ
โดยไม่พิจารณาให้ดีเสียก่อน ปรากฏว่าอาหารนั้นเพิ่งทำเสร็จใหม่ ๆ ยังร้อนมาก ๆ
เราตักทานเข้าไปทันที อาหารร้อนนั้นก็ลวกปาก ลวกลิ้น ลวกลำคอ ลวกกระเพาะ
อันย่อมเป็นการทำให้เพิ่มปัญหาร้ายแรงยิ่งกว่าปัญหาเรื่องหิวเสียอีก
หรือเราเองอาจจะมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง และแพทย์ห้ามทานอาหารบางประเภท
เราทานไปแล้วก็ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ กระทบต่อโรคป่วยของเรา เป็นต้น
เทียบกับว่าหากเราใจเย็น ๆ พิจารณาอาหารให้ดีก่อนว่าเป็นอาหารอะไร ร้อนหรือไม่
ทดลองแตะภาชนะว่าร้อนไหม ทดลองเป่าอาหารให้เย็นก่อน
พิจารณาว่าเป็นอาหารที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพเราไหม ก็จะปลอดภัยกว่า

หรือยกตัวอย่างว่าหากอยู่ ๆ ไฟในบ้านเราดับขึ้นมา เรายังไม่ทันพิจารณาให้ดี
ยังไม่ทันมองไปรอบ ๆ ให้ดี แต่เราก็เร่งรีบลุกขึ้นวิ่งเพื่อจะไปหยิบไฟฉาย
(ทั้งที่ยังมืด ๆ อยู่ และเรามองไม่เห็นเช่นนั้น) แทนที่เราจะได้หยิบไฟฉาย
เราอาจจะวิ่งไปชนข้าวของเราเองเสียหาย ทำให้ตนเองเจ็บตัว
หรืออาจจะวิ่งไปชนคนอื่น ๆ ในบ้าน ทำให้พ่อแม่ลูกหลานบาดเจ็บเสียอีก
เทียบกับว่าหากเราใจเย็น ๆ และส่งเสียงบอกคนอื่น ๆ ในบ้านก่อน
จากนั้น ค่อย ๆ เดินและคลำทางไปอย่างช้า ๆ จะปลอดภัยกว่า

หรือยกตัวอย่างผู้หญิงบางคนต้องการมีแฟนเป็นอย่างมาก
พอได้มีโอกาสพบชายที่น่าสนใจ ก็ไม่ได้ใช้เวลาไตร่ตรองหรือพิจารณาให้ถี่ถ้วน
ก็เปิดใจรับเขาให้เข้ามาในชีวิต มาอยู่ด้วยกัน มาแต่งงานกัน
ปรากฏว่าชายคนนั้นกลับไม่ได้ดีอย่างที่คาดหวัง โดยเป็นคนไม่ดีอย่างแสนร้ายกาจ
แทนที่จะสมหวัง ก็กลับกลายเป็นต้องทุกข์ใจ เสียใจมากมาย เสมือนฝันร้ายในยามตื่น
ท้ายสุดก็ต้องเลิกรากันไป ... เทียบ ๆ ดูแล้ว เวลามีความสุขนั้นสั้นนิดเดียว
แต่เวลาที่ต้องทุกข์ใจกลับยาวนานกว่ามากมาย

ฉะนั้นแล้ว การปล่อยให้อคติมาผลักดันหรือบังคับเราให้เร่งรีบตัดสินใจใด ๆ
หรือทำอะไรไปอย่างฉุกละหุก โดยไม่ได้มีเวลาพิจารณาเรื่องราวให้ถ้วนถี่นั้น
อาจจะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาชีวิต แต่กลับเป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม
และปัญหานั้นอาจจะใหญ่หลวงกว่าหรือทำให้เราทุกข์ใจมากกว่าเสียอีก

ในบางที เราอาจจะรู้สึกว่าปัญหาชีวิตของเราช่างหนักหนาเสียเหลือเกิน
ปัญหาชีวิตของเรานี้ช่าง special จริง ๆ เราเดือดร้อนกว่าคนอื่น เราทุกข์ใจกว่าคนอื่น
ก็แนะนำว่าควรใจเย็น ๆ พิจารณาให้ดีก่อนครับว่า มัน special กว่าคนอื่นจริงหรือเปล่า
ขอยกตัวเรื่องของท่าน “กีสาโคตมีเถรี” ในสมัยพุทธกาลนะครับ
โดยก่อนที่ท่านจะบวชเป็นภิกษุณีนั้น นางกีสาโคตรมีได้มีลูกชายที่น่ารักคนหนึ่ง
และอยู่มาวันหนึ่งลูกชายที่น่ารักได้เสียชีวิตลง นางกีสาโคตรมีทุกข์ใจและเสียใจมาก
นางอุ้มศพลูกน้อยเดินทางไปทั่ว เพื่อจะหาคนที่สามารถรักษาทำให้ลูกน้อยฟื้นขึ้นมาได้
(ทำนองว่ารักษาคนตายให้ฟื้นกลับมามีชีวิต)
ก็ไม่พบเจอใครเลยที่จะสามารถจะช่วยรักษาลูกของนางได้
จนกระทั่งไปพบคนหนึ่งที่แนะนำว่าให้นางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

นางกีสาโคตรมีได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็ขอพระพุทธองค์ให้ทรงช่วยรักษาให้ลูกน้อยของนางฟื้นขึ้นมาจากความตาย
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเมตตาบอกว่าจะช่วยนางได้ก็ต่อเมื่อ
นางกีสาโคตรมีต้องไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตายเลยมาเสียก่อน
หากนางกีสาโคตรมีสามารถหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดดังกล่าวและนำมาได้แล้ว
พระพุทธองค์ก็จะสามารถช่วยเหลือรักษาชุบชีวิตบุตรชายของนางได้

นางกีสาโคตมีได้ฟังดังนั้นแล้วก็ดีใจ จึงเดินทางไปทั่วเมืองเพื่อค้นหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้น
แต่ปรากฏว่าทุกบ้านล้วนก็มีคนตาย ปู่ย่าตายบ้าง พ่อแม่ตายบ้าง สามีภรรยาตายบ้าง
ลูกหลานตายบ้าง ท้ายสุด นางไม่ได้พบเลยว่า บ้านไหนไม่มีคนตาย
นางไม่ได้พบเมล็ดพันธุ์ผักกาด แต่กลับพบความจริงว่า ไม่แต่เฉพาะลูกของนางที่ตาย
แต่ทุกบ้านล้วนมีคนตาย ทุกคนล้วนตาย และเรื่องตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต
นางได้เข้าใจมรณธรรมนี้แล้ว ก็ได้เข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว
จึงได้ทรงอนุเคราะห์สั่งสอนนาง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่นาง

นางกีสาโคตมีเข้าใจมรณธรรมแล้ว จึงได้นำศพลูกชายไปวางที่ป่าช้า
พร้อมกล่าวว่า ธรรมนี้ไม่ใช่เป็นธรรมของชาวบ้าน ชาวนิคม ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวโลกทุกคน แม้กระทั่งเทวดาทั้งสิ้น
ก็ต้องประสบพบกับความไม่เที่ยง (คือมรณธรรม หรือความตาย) นี้

จากนั้น นางจึงกลับไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ได้ทรงถามนางว่าได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดมาบ้างหรือไม่
นางได้ตอบว่านางไม่สามารถหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาได้ เพราะในบ้านแต่ละหลังนั้น
ล้วนมีคนตายมากกว่าคนที่เป็นอยู่ นางจึงเลิกหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดแล้ว
แต่นางขอให้พระพุทธองค์ทรงประทานที่พึ่งแก่นางด้วย

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสเทศนาธรรม ซึ่งเมื่อจบพระคาถาธรรมแล้ว
นางกีสาโคตมีได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และขอออกบวชเป็นภิกษุณี
โดยได้พระนามว่า “กีสาโคตมีเถรี” ซึ่งท่านกีสาโคตรมีเถรีได้ปฏิบัติสมณธรรมเรื่อยมา
จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
และได้รับการยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นเอตทัคคะว่า
เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งปวง ในด้านทรงจีวรเศร้าหมอง

หากท่านไหนจะบอกว่าปัญหาชีวิตของตนเองนี้ช่าง special เหลือเกิน
ก็แนะนำให้ลองพิจารณาตามจริงว่าปัญหานั้น ๆ จะร้ายแรงกว่าตายหรือไม่
หากตอบว่า “ไม่” แล้ว ก็ขนาดว่าตาย ยังเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปเลย
แล้ว
ปัญหาชีวิตที่ร้ายแรงน้อยกว่าเรื่องตายนั้นจะถือเป็น special ได้ยังไง
ลองพิจารณาคนอื่น ๆ และสิ่งอื่น ๆ รอบ ๆ ตัวเราด้วยก็ได้
สมมุติว่าเราเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ก็ให้เราลองไปที่โรงพยาบาลนะครับ
แนะนำให้ไปโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เลย แล้วก็มองไปให้ทั่ว ๆ ว่า
คนอื่น ๆ ที่เจ็บป่วยนั้นมีจำนวนมากมายเท่าไร จำนวนโรงพยาบาลมีมากมายเท่าไร
และหากนับรวมทุกโรงพยาบาล และทุกคลินิกแล้ว จะมีจำนวนคนป่วยเท่าไร
ที่เจ็บป่วยและไม่สามารถไปพบแพทย์ได้จะมีอีกมายมายเท่าไร

หากว่าเราจะมีเรื่องทุกข์ราวทุกข์ใจใด ๆ ก็ตาม
เมื่อเราออกมานอกบ้านมาทำงานในแต่ละวัน
ให้ลองมองออกไปรอบ ๆ ตัวในท้องถนน มองไปข้างทาง มองเพื่อนร่วมทาง
มองเพื่อนร่วมโลก มองไปแล้ว เราจะเชื่อไหมครับว่า
คนอื่น ๆ นั้นไม่มีเรื่องทุกข์ใจอะไรเลย ไม่มีความทุกข์อะไรเลย
มีแต่เราคนเดียวเท่านั้นที่มีความทุกข์บนโลกใบนี้

เมื่อเราเปิดหนังสือพิมพ์อ่านข่าวในแต่ละวัน ก็ลองพิจารณานะครับว่า
จำนวนเพื่อนร่วมทุกข์ในชีวิตเรานี้มีมากมายแค่ไหน
กรณีที่มีอุบัติภัยธรรมชาติร้ายแรงในแต่ละคราวนั้น คนอื่นต้องทนทุกข์มีมากแค่ไหน
กรณีมีข่าวอุบัติเหตุคนตาย มีข่าวฆาตกรรม ข่าวคนโดนทำร้าย โดนข่มขืน ฯลฯ
ผู้เสียหายเองและญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องจะต้องทุกข์ทรมานใจแค่ไหน
อ่านข่าวการเมืองแล้วพบเรื่องการแก่งแย่งอำนาจ
การทะเลาะเบาะแว้งของนักการเมือง เราเข้าใจว่าคนเหล่านั้นไม่มีความทุกข์ใจหรือ
อ่านข่าวเศรษฐกิจพบเจอปัญหาเศรษฐกิจหรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบคนที่เกี่ยวข้องมากมาย จะไม่ทำให้คนที่เกี่ยวข้องนั้น
ต้องห่วงกังวลหรือต้องทุกข์ใจบ้างเลยหรือ

หากเราพิจารณาไปตามความเป็นจริงแล้ว มองไปรอบ ๆ ให้กว้าง ๆ แล้ว
เราจะพบนะครับว่าปัญหาชีวิตของเราไม่ได้
special อะไรหรอก
คนอื่น ๆ นั้นเขาก็มีปัญหาทุกข์ใจเหมือนกัน และอาจจะทุกข์ใหญ่กว่าเราเสียอีก
ฉะนั้นเราพึงทำใจเป็นกลางเข้าไว้ ไม่ควรปล่อยให้อคติมาครอบงำใจ

หากเราได้พิจารณาผ่านสี่ประการที่ได้กล่าวแนะนำไปแล้ว และยอมรับทั้งหมดได้
ก็เชื่อว่าน่าจะมีใจที่ผ่อนคลายลง และเป็นกลางกับปัญหามากขึ้นแล้วนะครับ
จากนี้ เราก็จะมาพิจารณาแก้ไขปัญหาชีวิตกันต่อไปครับ
นี่เรายังไปไม่ถึงคำตอบว่า ปัญหาชีวิตนั้น เกิดจากกรรมอะไร
และจะทำอย่างไรจึงจะ
แก้กรรมให้พ้นจากปัญหาชีวิตนั้นได้นะครับ
โดยเรื่องว่าจะแก้กรรมอะไร และอย่างไรนั้น ขอเอาไว้ท้าย ๆ
เพราะเราต้องการจะแก้กรรม ก็เพื่อจะแก้ปัญหาชีวิตใช่ไหมล่ะ

หากเราสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้แล้ว การแก้กรรมก็จะไม่จำเป็นอีก
หรือเราคนไหนจะบอกว่าฉันต้องการแก้กรรม แต่ไม่ต้องการแก้ไขปัญหาชีวิต
อย่างนี้ก็เสมือนทำนองว่า ถึงเวลามื้ออาหารแล้ว เราหิวข้าวมากเลย
แต่เราขอไปซักผ้า รีดผ้า และกวาดบ้านก่อนนะ เรื่องกินข้าวนั้นเอาไว้ทำทีหลัง
แล้วจะพ้นจากความทุกข์ในเรื่องหิวข้าวได้ไหม
และถือว่าเป็นการเรียงลำดับสิ่งที่ต้องทำอย่างเหมาะสมไหม

ถึงจะกล่าวเช่นนี้ก็ตาม แต่ก็อย่าเพิ่งนึกว่าผมจะรีบเก็บร้าน
โดยไม่ตอบสามคำถามที่ตั้งไว้ในตอนแรกนะครับ
ผมก็จะอธิบายไล่เรียงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจบคำตอบสำหรับคำถามเหล่านั้นครับ
(ขอยกไปคุยต่อในตอนหน้านะครับ)