Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๒๓

คุยกันเรื่องกรรม ตอนที่ ๑

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-123

เรื่อง “กรรม” นี้ถือเป็นเรื่องที่หลาย ๆ ท่านชอบคุยกันมากในเว็บบอร์ดธรรมะนะครับ
จากเท่าที่ผมได้สังเกตในเว็บบอร์ดธรรมะนั้น คำถามเกี่ยวกับเรื่องกรรมที่มักจะนำมาถามกัน
จะแบ่งออกได้เป็นสามคำถามใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้
คำถามที่หนึ่งคือ มีปัญหาชีวิตบางอย่างในปัจจุบัน ถามว่าเกิดจากกรรมอะไร
และจะทำอย่างไรจึงจะสามารถ “แก้กรรม” ให้พ้นจากปัญหาชีวิตนั้น ๆ
คำถามที่สอง คือ ตนเองอยากจะได้อะไรดี ๆ บางอย่างในอนาคต ถามว่าจะต้องทำกรรมอะไร
คำถามที่สาม คือ เห็นคนทำกรรมชั่วแล้ว อยากจะรู้ว่าเขาจะได้รับผลกรรมอะไรในอนาคต

โดยเราก็จะมาคุยกันใน ๓ คำถามนี้นะครับ
คำถามที่หนึ่ง ถามว่าที่ตนเองมีปัญหาชีวิตบางอย่างในปัจจุบันนั้น เกิดจากกรรมอะไร
และจะทำอย่างไรจึงจะสามารถ “แก้กรรม” ให้พ้นจากปัญหาชีวิตนั้น ๆ ได้
ปัญหานี้น่าจะถือเป็นปัญหายอดนิยมนะครับ
หลายคนมีปัญหาชีวิตบางอย่าง โดยได้พยายามแก้ไขในหลายวิธีและหลายหนทางแล้ว
แต่ปัญหาชีวิตนั้นก็ไม่จากหายไปเสียที โดยก็ยังอยู่สร้างความทุกข์ให้บางท่านอย่างมากมาย
จึงคิดว่าน่าจะเป็นเพราะกรรมเก่า และต้องหาทางแก้กรรมนั้นให้ได้

ยกตัวอย่างนะครับ บางคนหาแฟนมาทั้งชีวิต แต่หาแฟนไม่ได้ ไหว้พระก็แล้ว
สวดมนต์ก็แล้ว นั่งสมาธิก็แล้ว ไหว้เจ้าไหว้เทวดาก็แล้ว ไหว้พระตรีมูรติก็แล้ว
บนบานก็แล้ว หาพ่อสื่อแม่สื่อก็แล้ว ปล่อยนกปล่อยปลาก็แล้ว ฯลฯ
แต่ก็ยังหาแฟนไม่ได้ ก็เป็นปัญหาชีวิตที่ทำให้ทุกข์ใจมาก คิดว่าเป็นเพราะกรรมเก่า
และคิดหาทางแก้กรรมนั้น

บางคนอาจจะไม่ได้หาแฟนนะ แต่ต้องการหาเพื่อนสนิทที่ถูกใจ แต่ก็ไม่มีเพื่อนสนิทที่ถูกใจเลย
โดยก็ต้องอยู่อย่างเหงา ๆ คนเดียวมาโดยตลอด คิดว่าเป็นเพราะกรรมเก่า และคิดหาทางแก้กรรม

บางคนมีแฟน แต่ว่าเจอแต่แฟนไม่ดีทั้งนั้นเลย แฟนคนแรกก็นิสัยไม่ดี แฟนคนที่สองก็นิสัยไม่ดี
แฟนคนที่สามก็นิสัยไม่ดี แฟนคนปัจจุบันก็นิสัยไม่ดี สรุปว่าเจอแต่แฟนนิสัยไม่ดีทั้งนั้นเลย
เป็นปัญหาชีวิตที่ทำให้ทุกข์ใจมาก คิดว่าเป็นเพราะกรรมเก่า และคิดหาทางแก้กรรม

บางคนมีลูกไม่ดี ลูกทำแต่เรื่องให้เสียใจและช้ำใจมาโดยตลอด เก่งแต่ผลาญทรัพย์สิน
สร้างปัญหาและเรื่องวุ่นวายมาโดยตลอด ซึ่งก็ได้พยายามตักเตือนก็แล้ว
พยายามสอนก็แล้ว แต่ก็ไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้นเลย เป็นปัญหาชีวิตที่ทำให้ทุกข์ใจมาก
คิดว่าเป็นเพราะกรรมเก่า และคิดหาทางแก้กรรม

บางคนเป็นโรคเจ็บป่วยบางอย่าง หาสาเหตุไม่ได้ ไปหาแพทย์หลายโรงพยาบาลแล้ว
แต่ก็ยังรักษาไม่หาย จึงคิดว่าน่าจะเป็นเพราะกรรมเก่า และคิดหาทางแก้กรรมนั้น
หรือบางคนทำการค้าแล้วมีแต่ขาดทุน แม้ว่าจะขยันทำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่กำไร
มีแต่ขาดทุนเท่านั้น จึงคิดว่าน่าจะเป็นเพราะกรรมเก่า และคิดหาทางแก้กรรมนั้น

ตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดข้างต้นนี้ถือเป็นเพียงส่วนน้อยนะครับ
โดยปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับหลาย ๆ ท่านนั้น มีเยอะแยะหลากหลายกว่านี้มากมาย
แต่ทุกปัญหานั้น หลาย ๆ ท่านได้วนมาสรุปตรงกันที่คำถามว่า เป็นเพราะกรรมเก่าใช่ไหม
และจะหาทางแก้กรรมนั้นอย่างไร เพื่อที่จะให้ปัญหาชีวิตดังกล่าวหมดสิ้นไป

ก่อนที่จะไปพิจารณาว่า เป็นเพราะกรรมเก่าใช่ไหม และจะหาทางแก้กรรมนั้นอย่างไร
ผมเห็นว่าเราควรจะพิจารณามุมมองในหลาย ๆ มุม และทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนนะครับ
ประการแรกก็คือ เวลาที่หลายท่านกลุ้มใจในปัญหาชีวิตบางเรื่องนั้น
ท่านก็มักจะมองเน้นไปที่ปัญหาชีวิตเรื่องนั้น ๆ ที่กำลังกลุ้มใจอยู่
โดยอาจจะเรียกว่าหมกมุ่นครุ่นคิดกับมันอย่างมากมาย และบ่อย ๆ เลยทีเดียว
และก็กลุ้มใจหนักหนาว่า หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ชีวิตเราก็จะทุกข์มาก
หรือหากเราไม่ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว ชีวิตเราจะต้องทุกข์มาก

เรียกได้ว่าพอเริ่มต้นเรื่องขึ้นมา เราก็สะกดจิตตัวเองแล้วล่ะว่า
เรื่องนี้สำคัญสุด ๆ สำคัญมาก สิ่งนี้สำคัญต่อชีวิตเรามากมายจริง ๆ
แต่ไม่เคยพิจารณามองเลยว่า แล้วมันสำคัญกับชีวิตเราขนาดนั้นจริงหรือเปล่า
หรือว่าเราสะกดจิตตัวเอง หรืออุปาทานไปให้ค่ากับปัญหานั้น ๆ มากจนเกินไป
ทั้งที่ปัญหานั้น ๆ อาจจะไม่ได้สำคัญขนาดนั้น หรือส่งผลกระทบมากมายขนาดนั้นก็ได้

ยกตัวอย่างนะครับว่า ในอดีตเคยมีเพื่อนที่ทำงานต่างบริษัทโทรศัพท์มาคุยกับผม
โดยเธอได้คุยว่าอยากจะลาออกจากบริษัทที่เธอทำงานแล้ว
ผมถามไปว่า จะลาออกทำไมล่ะ บริษัทที่เธอทำงานอยู่นี้ไม่ดีหรืออย่างไร
เธอก็เล่าปัญหาของเธอกับเพื่อนร่วมงานอีกสี่คน (รวมเป็นห้าคน) ให้ผมฟัง
โดยทั้งห้าคนนั้นมีเรื่องที่ไม่พอใจที่ทางบริษัททำไม่ดีกับเธอแต่ละคน
ซึ่งเรื่องของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน และไม่เหมือนกัน
เธอก็บอกว่า บริษัททำเช่นนี้แล้ว เธอรับไม่ได้หรอก และเธอต้องการจะลาออก

ผมถามเธอว่า ฟังดูแล้ว ที่บริษัทอาจจะทำไม่ดีกับเธอก็มีแค่เรื่องเดียว
หากสมมุติว่าเธอไม่เคยได้ฟังเรื่องของเพื่อนร่วมงานอีก ๔ คน
และทราบเพียงแค่ว่า บริษัททำไม่ดีกับเธอแค่เรื่องเดียวนี้ เธอจะตัดสินใจลาออกหรือเปล่า

เธอตอบว่า เรื่องของเธอเรื่องเดียวนี้เป็นเรื่องไม่ใหญ่อะไรเลย เธอคงไม่ลาออกหรอกนะ

ผมจึงอธิบายไปว่า ในเวลานี้ ที่เธอไม่พอใจอย่างแรงและต้องการจะลาออกนั้น
ก็เพราะว่าเธอไปทราบเรื่องไม่เป็นธรรมหรือเรื่องที่ทำให้เธอไม่พอใจอีก ๔ เรื่อง
ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเธอโดยตรง และเธอก็นำเรื่องเหล่านั้นมาอิน
และมาแบกไว้เป็นเสมือนเป็นเรื่องของเธอเอง
จากที่บริษัททำไม่ดีกับเธอในเรื่องไม่ใหญ่เพียงเรื่องเดียว แต่เธอไปฟังมาอีก ๔ เรื่อง
ก็กลายเป็นว่าบริษัทนี้ทำไม่ดี ๕ เรื่อง เป็นบริษัทที่ไม่ดีมาก ๆ และเธออยากจะลาออกแล้ว

หากเราจะมองไปที่เพื่อนร่วมงานแต่ละคนแล้ว แต่ละคนก็โดนทำไม่เหมาะสมเพียงเรื่องเดียว
มันจะเหมาะสมหรือไม่ที่เราจะไปรวมเหมาเรื่องของคนอื่นมาเป็นเรื่องของเรา
แล้วเราก็กลุ้มใจหนัก เครียดจัด แล้วก็ถึงขนาดจะลาออกจากบริษัทเลย
ในขณะที่หน้าที่การงานในเวลานี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะหาได้ง่าย ๆ
ซึ่งจริง ๆ แล้ว การบริหารในทุกบริษัทก็ย่อมจะมีข้อบกพร่องบางอย่างได้เป็นธรรมดา
ผมก็บอกว่า หากจะลาออกนั้น ก็รอให้มีงานที่บริษัทใหม่ที่ดีกว่าที่เดิมก่อนจะดีกว่า
แต่ไม่จำเป็นจะต้องไปทุกข์จัด กลุ้มใจมาก และรีบเร่งที่จะต้องลาออกขนาดนั้น
เพราะจะเสียประโยชน์แก่ตนเองมากกว่า โดยที่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นอะไรเลย

เธอฟังที่ผมอธิบายแล้ว ก็บอกว่าจริง ๆ แล้วเธอเองก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเท่าไร
และเธอก็ไม่จำเป็นจะต้องทำตัวเองให้กลุ้มใจอะไรมากมายจนกระทั่งจะต้องลาออกเลย
เพราะเรื่องที่โดนทำไม่เหมาะสมของเธอนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร
แต่เพราะว่าไปฟังเรื่องของคนอื่น ๆ มา และก็รับสิ่งเหล่านั้นมาไว้ในใจ
แล้วก็ไปหมกมุ่นคิดเรื่องเหล่านั้น จนมากลุ้มใจมากมายเสียเอง

(แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าหากบริษัททำดีกับเราคนเดียว แต่ทำเลวร้ายมหากาฬโกงคนอื่นไปทั่ว
แล้วเราควรจะเย็นใจ และพอใจที่จะทำงานให้กับบริษัทมหาภัยไปเรื่อย ๆ นะครับ
แต่ควรจะต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักก่อนว่า จริง ๆ แล้ว บริษัทนี้ดีหรือไม่ดีกันแน่
น้ำหนักของเรื่องไม่ดีมันมากน้อยแค่ไหน โดยให้ข้อดีอื่น ๆ มาถัวกันด้วย
และให้แยกว่าเรื่องไหนกระทบกับใครบ้าง ส่วนตัว หรือส่วนรวม และกระทบมากน้อยแค่ไหน)

ในกรณีสะกดจิตตัวเองนี้ ยังรวมไปถึงกรณีที่หลงคิดฟุ้งซ่านล่วงหน้าไปยังอนาคตด้วย
ยกตัวอย่างเช่นว่า สามีบอกภรรยาว่าจะกลับบ้านดึกเพราะต้องประชุมกับลูกค้า
ต่อมา ภรรยาได้ทราบจากเพื่อนร่วมงานว่าสามีไม่ได้มีประชุมกับลูกค้าดังที่กล่าวอ้าง
แต่หายไปไหนนั้น ไม่มีใครทราบได้ เช่นนี้แล้ว ภรรยาจะคิดอย่างไรครับ
ภรรยาอาจจะมองไปได้ว่าสามีต้องมีผู้หญิงอื่น ๆ แน่ ๆ สงสัยว่าคงจะมีภรรยาน้อย
ดีไม่ดีอาจจะมีลูกด้วยกันอีกด้วย แล้วจะทำยังไงต่อดีล่ะ น่าจะต้องเลิกและหย่ากันล่ะสิ
พอหย่ากันแล้ว ภรรยาจะทำอย่างไรต่อไป จะแบ่งทรัพย์สมบัติ แบ่งบ้านและรถยนต์อย่างไร
แล้วใครจะเป็นคนปกครองดูแลลูก จะให้ลูกอยู่กับใคร
และลูกเราจะกลายเป็นเด็กมีปัญหาหรือไม่ ฯลฯ

ผมอาจยกตัวอย่างที่ค่อนข้างจะสุดโต่งไปหน่อยนะครับ
แต่ก็เพื่อให้เห็นว่า เราไม่ควรจะต้องรีบคิดฟุ้งซ่านล่วงหน้าไปไกลมากมายอะไร
แม้ว่าสามีจะไม่ได้ไปประชุมจริง แต่ก็อาจจะแค่แอบไปกินข้าวกับเพื่อน ๆ ที่ภรรยาไม่ชอบหน้าก็ได้
หรืออาจจะแอบไปซื้อของขวัญเพื่อจะมาเซอร์ไพร์สภรรยาก็ได้
หรืออาจจะไปเคลียร์ปัญหาบางอย่างที่เขายังไม่พร้อมจะบอกกับภรรยาก็ได้
หรือสามีอาจจะมีประชุมจริง ๆ แต่เพื่อนร่วมงานนั้นไม่ทราบก็ได้ ฯลฯ
ซึ่งการที่ภรรยาได้คิดฟุ้งซ่านล่วงหน้าไปไกลมากมายแล้ว
ย่อมเป็นการเพิ่มน้ำหนักความสำคัญให้กับปัญหานั้น ๆ โดยไม่จำเป็น

การให้น้ำหนักความสำคัญแก่ปัญหาจนเกินจริงบางทีก็ไม่ได้เกิดจากเราคิดเอง
แต่อาจจะเกิดจากไปฟังมา หรือไปอ่านมาจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ก็เป็นได้
เช่น โทรศัพท์หรืออีเมล์ไปปรึกษาญาติสนิท ปรึกษาเพื่อน หรือคนรู้จักก็ตาม
หรือไปสอบถามคนอื่น ๆ ตามเว็บบอร์ด หรือไปอ่านเรื่องราวในเว็บไซต์ต่าง ๆ
ยกตัวอย่างเช่นว่า บางคนอาจจะมีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายบางอย่าง
พอมีอาการดังกล่าวแล้ว ก็ไปสอบถามเพื่อนหรือคนรู้จัก หรือลองไปอ่านข้อมูลจากเว็บไซต์
ก็ได้รับทราบว่าน่าจะเป็นอาการของโรคร้ายแรงโรคนั้นโรคนี้ และน่าจะรักษาได้ยากอีกด้วย
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ท่านนั้นก็ยังไม่ได้ไปตรวจอาการกับแพทย์เลย โดยอาจจะเป็นโรคอื่นก็ได้
หรือป่วยเป็นโรคเล็กน้อยก็ได้ แต่ดันไปฟังคนอื่นฟันธงเสร็จสรรพแล้วว่าป่วยเป็นโรคร้ายแรง
ก็เลยทำให้ตนเองเครียด เสียสุขภาพจิต และกลุ้มใจไปก่อนเสียแล้ว

เรื่องทุกข์ใจในปัญหาชีวิตของหลาย ๆ ท่านก็ทำนองเดียวกันนะครับ
ก่อนอื่นเลยก็คือว่า อย่าไปสะกดจิตตัวเองครับ อย่าไปให้น้ำหนักความสำคัญแก่ปัญหาจนเกินจริง
หากเริ่มต้นมา เราก็สะกดจิตตัวเองว่าปัญหาสำคัญมากมายเกินจริงแล้ว
ก็ย่อมจะทำให้เราแก้ไขปัญหาได้ยากยิ่งขึ้น หัวสมองก็จะคิดอะไรไม่ค่อยออกแล้วล่ะครับ
ก็จะร้อนรน กลุ้มใจ เครียด ปวดหัว เหนื่อยหน่าย หวาดกลัว ฟุ้งซ่าน หรือกังวลไปหมด
ที่เราอยากจะให้หัวสมองเบา ๆ และจิตใจปลอดโปร่งโล่งเย็น เพื่อมาพิจารณาปัญหาตามจริง
ก็จะทำได้ยากแล้วล่ะ และเมื่อเราไม่สามารถพิจารณาปัญหาได้ตามจริงแล้ว
ก็จะอคติมาวุ่นวาย และทำให้เรามองอะไรคลาดเคลื่อนไปหมด ก็ยิ่งแก้ปัญหายากไปกันใหญ่

(ขอยกไปคุยต่อในตอนหน้านะครับ)