Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๒๒

ข่าวการเลือกตั้ง

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-122

ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกันนะครับ
โดยในช่วงที่ผ่านมา พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ได้รณรงค์หาเสียงกันอย่างแข็งขัน
สื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวเลือกตั้งกันอย่างมากมาย (จริง ๆ แล้วก็นำเสนอข่าวกันทุกวันเลย)
ทั้งข่าวในเรื่องบุคคลที่ลงสมัคร เรื่องนโยบายของแต่ละพรรค รวมทั้งเรื่องโจมตีกันระหว่างพรรค
หยิบหนังสือพิมพ์มาอ่านก็เจอข่าวการเลือกตั้ง เปิดโทรทัศน์ดูข่าวก็เจอข่าวการเลือกตั้ง
เปิดวิทยุฟังข่าวก็ได้ยินข่าวการเลือกตั้ง นั่งรถไปตามถนนก็เจอป้ายหาเสียงเลือกตั้ง
ในเรื่องที่ว่าท่านผู้อ่านควรจะเลือกใคร เลือกพรรคไหน เลือกนโยบายใคร หรือจะโนโหวตหรือเปล่า
ย่อมจะไม่อยู่ในขอบเขตและวัตถุประสงค์ของบทความนี้นะครับ

สิ่งที่ผมจะขอนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณา ก็คือว่า
ข่าวการเลือกตั้ง (หรือข่าวการเมือง) เหล่านี้ ได้มีผลอย่างไรต่อจิตใจของท่านผู้อ่านในแต่ละขณะ
และส่งผลต่อการใช้เวลาในชีวิตประจำวันของท่านผู้อ่านอย่างไรบ้าง
โดยที่ผมได้ประสบเห็นตัวอย่างจากหลาย ๆ ท่านก็คือ
บางท่านเคร่งเครียด หรือกระทั่งหมกมุ่นกับข่าวการเลือกตั้งเป็นอย่างมากในแต่ละวัน
บางท่านก็สนทนากับผู้อื่นในเรื่องนี้ด้วยอารมณ์เครียด (โดยปล่อยให้โมหะ โลภะ และโทสะครอบงำ)
บางท่านไม่สนทนาเรื่องนี้เลย แต่ห้ามคนอื่นพูดให้ฟัง หากมีใครพูดให้ฟังทีไรก็เดินหนี
(ถึงจะเดินหนี แต่ก็ปล่อยให้อารมณ์โมหะ โลภะ และโทสะตามไปครอบงำใจเช่นกัน)
บางท่านพบเห็นใครคุยเชียร์พรรคฝ่ายที่ไม่ชอบเป็นไม่ได้ จะต้องเข้าไปโต้แย้งโต้เถียงเอาชนะกัน
บางท่านก็ใช้เวลามากมายในแต่ละวันในการหมกมุ่นติดตามข่าวการเลือกตั้ง เป็นต้น

ยกตัวอย่างว่า เมื่อวันก่อน ผมได้ขึ้นรถแท็กซี่คันหนึ่ง รถวิ่งไปแล้วก็พบป้ายหาเสียงระหว่างทาง
ซึ่งเป็นป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองที่คนขับแท็กซี่ไม่ชอบ เขาก็เกิดอารมณ์หงุดหงิด
และบ่นว่าพรรคการเมืองดังกล่าว แต่พอขับไปเจอป้ายพรรคการเมืองที่ตนเองชอบ
เขาก็อารมณ์ดีขึ้นทันที และกล่าวเชียร์ชื่นชมพรรคการเมืองนั้น
ผมจึงถามคนขับแท็กซี่ว่า หากเขาขับรถไปและปล่อยให้อารมณ์เปลี่ยนขึ้นลงทั้งวัน
โดยเหตุเพราะโดนป้ายหาเสียงครอบงำ หรือข่าวการเลือกตั้งจากวิทยุมาครอบงำเช่นนี้แล้ว
จะเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตของเขาหรือ และเขาจะมีความสุขได้หรือ
เขาตอบว่า “เป็นเรื่องธรรมดาของทุกคนที่จะเป็นเช่นนี้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน
ทุกคนจึงต้องสนใจเรื่องการเมือง และทุกคนก็มีหน้าที่ต้องไปเลือกตั้ง
ทุกคนที่สนใจติดตามข่าวการเลือกตั้งก็ย่อมจะมีพรรคการเมืองที่ตนเองชอบและไม่ชอบ
ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไปทุกคน” และยังบอกอีกว่า “บางคนที่ไม่สนใจไม่ติดตามข่าวการเมืองนั้น
เป็นคนที่ไม่รับผิดชอบต่อเรื่องการเมือง และถือว่ามีส่วนในการปล่อยปละละเลย
ทำให้เกิดปัญหาในบ้านเมืองที่ผ่านมา และในอนาคตด้วย แต่สำหรับเขาเองนั้น
ได้ใช้เวลาระหว่างวันที่ขับรถแท็กซี่นั้น ติดตามข่าวการเลือกตั้งอยู่อย่างสม่ำเสมอ”

ผมฟังคนขับรถอธิบายได้สักพักนึง ก็ถึงสถานที่จุดหมายของผม และหมดเวลาที่จะคุยกันเสียแล้ว
ก็ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะอธิบายเรื่องของการเจริญสติ หรือการรู้ทันใจตัวเอง
ได้เพียงแต่บอกเขาสั้น ๆ ว่า “สนใจติดตามข่าวการเลือกตั้งได้นะครับ
แต่ว่าไม่ควรปล่อยให้ข่าวนั้นมาครอบงำอารมณ์และจิตใจเรา
และไม่ควรไปหมกมุ่นอยู่กับข่าวเหล่านั้นทั้งวัน
เพราะชีวิตเรายังมีอะไรอื่น ๆ ที่สำคัญต้องทำอีกมากมาย ควรลองหันมาสนใจเรื่องใจตัวเองบ้าง”

ในเรื่องนี้ เราลองพิจารณากันนะครับว่า หากเราขับรถหรือนั่งรถไปตามท้องถนน
และเห็นป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองที่เราชอบ ก็ดีใจ ปล่อยให้ความดีใจมาครอบงำใจ
แต่หากเห็นป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองที่เราไม่ชอบ ก็โมโห ปล่อยให้ความโมโหมาครอบงำใจ
เมื่อรถวิ่งไปบนถนนเส้นนึงที่มีป้ายหาเสียงมากมายสลับไปมาแล้ว จิตใจเราจะเป็นอย่างไร
เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวโมโห เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวโมโห เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวโมโห สลับกันไปมาเรื่อย ๆ อย่างนี้หรือ
หากสมมุติว่าเราได้ไปประสบพบเจอชายคนหนึ่งที่เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้
เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ สลับไปมาเช่นนี้เรื่อย ๆ แล้ว
เราจะมองว่าชายคนนี้เป็นคนปกติดีหรือเหล่า หรือมองว่าชายคนนี้เพี้ยนไปแล้ว

บางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย การปล่อยให้ป้ายหาเสียงหรือข่าวการเลือกตั้งมาครอบงำใจ
ในแต่ละขณะนั้น จะส่งผลเสียอย่างไร ท่านก็จะลองมองในมุมนี้ก็ได้ครับว่า
อารมณ์ที่เราได้ประสบกับป้ายหาเสียง หรือข่าวการเลือกตั้งนั้น
ส่วนใหญ่แล้วเป็นอารมณ์ที่เป็นกุศล หรืออกุศล
เป็นอารมณ์กุศล เช่นว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาหรือเปล่า
หรือเป็นอารมณ์โมหะ โลภะ และโทสะ เช่นว่า เห็นป้ายหาเสียงแล้ว ก็หลงตามไปคิดเรื่องต่าง ๆ
เกี่ยวกับการเลือกตั้ง พรรคการเมือง หรือนโยบายของพรรคการเมือง เช่นนี้ เป็นโมหะ
เห็นป้ายหาเสียงแล้ว ก็อยากจะให้พรรคที่ตนเองชอบนั้นได้คะแนนเสียงมาก ๆ เป็นโลภะ
เห็นป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองที่เราไม่ชอบแล้ว ก็ไม่พอใจ เป็นโทสะ
แถมก็อยากจะให้พรรคการเมืองที่เราไม่ชอบนี้ได้คะแนนเสียงน้อย ๆ ก็เป็นโลภะอีก
เราก็ลองพิจารณาในมุมนี้ก็ได้ว่าส่วนใหญ่แล้ว ใจเราจะเป็นกุศลหรืออกุศลกันแน่
ซึ่งหากส่วนใหญ่จะเป็นอกุศลแล้ว เราจะปล่อยให้อกุศลครอบงำใจเราเรื่อย ๆ จะไม่เสียหายหรือ
(จริง ๆ แล้ว หากเราตั้งใจจะเป็นนักภาวนานะครับ แม้แต่ตัวกุศลเองก็ตาม
เราก็ยังไม่ควรจะปล่อยให้กุศลมาครอบงำใจเราเลย โดยเราต้องมีสติรู้ทันกุศลด้วย)

ท่านผู้อ่านที่เดินทางในแต่ละวันก็ลองดูนะครับว่า ในถนนสายหนึ่ง ๆ นั้น มีป้ายหาเสียงเท่าไร
มีป้ายหาเสียงกี่พรรคการเมือง และแม้ป้ายพรรคการเมืองเดียวกันนั้นมีกี่ป้าย
แล้วใจเราจะเป็นอย่างไร หากให้ป้ายหาเสียงมาครอบงำใจเราแล้วจะเป็นการดีหรือ

หากถามว่า “เช่นนี้แล้วเราควรจะทำอย่างไร”
ก็ตอบว่า “ก็ต้องมีสติรู้ทันใจ” ครับ
เมื่อรู้ทันใจแล้ว ใจก็ต้องเป็นกลางด้วย อย่าปล่อยให้ใจกระโจนลงไปในอารมณ์ใด ๆ นั้น
ไม่ใช่ว่ารู้ทันใจแล้วว่าเกิดอารมณ์ชอบใจและไม่ชอบใจ
แต่ว่าใจไม่เป็นกลาง โดยไปหลงชอบใจหรือไม่ชอบใจในอารมณ์เหล่านั้นอีกที โดยไม่ได้รู้ทัน

หากจะอธิบายในมุมของศีล ก็อธิบายได้ว่าต้องมี “อินทรียสังวรศีล” ครับ
คือความสำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาที่เห็นรูป
ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ หรือรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
หรือระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้น

ดังนั้น หากเราจะไม่ปล่อยให้ป้ายหาเสียงเหล่านี้ หรือข่าวการเลือกตั้ง มาครอบงำใจเรานะครับ
ที่ต้องทำก็คือว่า เมื่อได้เห็นป้ายหาเสียงเหล่านี้ หรือได้ชมได้ฟังข่าวการเลือกตั้งแล้ว
หรือได้ยินเสียงใคร ๆ มาคุยเรื่องการเลือกตั้งแล้ว
ชอบพรรคการเมืองนี้ ให้มีสติรู้ทันใจ ไม่ชอบพรรคการเมืองนี้ ให้มีสติรู้ทันใจ
ชอบผู้สมัครคนนี้ ให้มีสติรู้ทันใจ ไม่ชอบผู้สมัครคนนี้ ให้มีสติรู้ทันใจ
เห็นภาพผู้สมัครคนนี้หน้าตาน่ารัก ถูกอกถูกใจ ให้มีสติรู้ทันใจ
เห็นภาพผู้สมัครคนนี้หน้าตาน่าเกลียด ไม่ชอบใจ ให้มีสติรู้ทันใจ
ชอบนโยบายพรรคการเมืองนี้ ให้มีสติรู้ทันใจ ไม่ชอบนโยบายพรรคการเมืองนี้ ให้มีสติรู้ทันใจ
ไม่ชอบพรรคการเมืองไหนทั้งนั้น ตั้งใจจะไปกาโนโหวต ให้มีสติรู้ทันใจ
เห็นป้ายชวนให้ไปกาโนโหวตแล้วชอบ หรือไม่ชอบก็ตาม ให้มีสติรู้ทันใจ
สงสัยว่าจะเลือกพรรคการเมืองไหนดี หรือจะไปกาโนโหวตดีไหม ให้มีสติรู้ทันใจ
ใจหลงไปคิดถึงอดีต ถึงอนาคตเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือการเมือง ให้มีสติรู้ทันใจ
เป็นห่วงประเทศไทยในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ให้มีสติรู้ทันใจ ฯลฯ
กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาในใจแล้ว ก็ให้มีสติรู้ทันใจนะครับ
ส่วนว่าท่านจะไปเลือกกาพรรคไหน หรือจะกาอะไรนั้น ก็ให้ใช้เหตุผลและปัญญาพิจารณา
ตามความเหมาะสม ด้วยเหตุผลที่ดีและเพื่อประโยชน์ของประเทศนะครับ

นอกเหนือจากเรื่องการระวังสำรวมอินทรีย์แล้ว อีกเรื่องนึงที่ควรจะต้องพิจารณาก็คือ
เราใช้เวลาในแต่ละวันมากน้อยแค่ไหนในการติดตามข่าวการเลือกตั้งดังกล่าว
เช่นว่า วันหนึ่งใช้เวลาห้านาที สิบห้านาที ครึ่งชั่วโมง หรือหลายชั่งโมงในการติดตามข่าวดังกล่าว
และเราจำเป็นต้องใช้เวลาขนาดนั้นหรือไม่ เรามีภาระหน้าที่สำคัญอื่นต้องทำด้วยไหม
โดยการใช้เวลามากหรือน้อยทุกวันนับแต่บัดนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง
จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้งของเราอย่างมากมายเลยหรือ

ผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องของหน้าที่ประชาชนที่ควรต้องติดตามหรือรับทราบความเป็นไปของบ้านเมือง
(และเรื่องการเมือง) รวมทั้งสนใจศึกษานโยบายของพรรคการเมือง
เพื่อจะนำไปใช้ตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนะครับ
แต่ว่าการติดตามหรือรับทราบข่าวเหล่านั้น ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องให้ใจเรากระโจนลงไปในข่าว
และปล่อยให้ข่าวสารเหล่านั้นมาครอบงำใจ
โดยเราสามารถติดตามหรือรับทราบข่าวเหล่านี้ด้วยความมีสติ และด้วยใจเป็นกลางได้
และโดยใช้เวลาแต่วันในชีวิตตามที่เหมาะสม
การที่จะปล่อยให้ข่าวเหล่านั้นมาครอบงำใจ และใช้เวลามากเกินไปในแต่ละวัน
ไม่ได้แปลว่าจะเป็นการช่วยเหลือส่วนรวมนะครับ แต่กลับจะสร้างปัญหามากขึ้นก็ได้
เช่นว่า ปล่อยให้ข่าวนั้นครอบงำใจแล้ว ก็โมโหไปเที่ยวทะเลาะกับคนรอบข้างหรือคนอื่น ๆ
หรือทำให้ตัวเองเครียดมากจนอาจจะทำให้เป็นโรคเจ็บป่วยขึ้นมา
หรือว่าใช้เวลามากเกินไปในแต่ละวัน ทำให้เสียงานเสียการอื่น ๆ ด้วย

โดยคน ๆ หนึ่งก็ย่อมจะมีหน้าที่อื่นด้วย เช่น หน้าที่ที่จะต้องทำงานในฐานะลูกจ้างหรือพนักงาน
หน้าที่ที่จะต้องทำงานในฐานะนายจ้างหรือผู้บริหาร หน้าที่ที่จะต้องดูแลบุตรในฐานะบิดามารดา
หน้าที่ที่จะต้องดูแลบิดามารดาในฐานะบุตร หน้าที่ต่อเพื่อนในฐานะที่เป็นเพื่อน
หน้าที่ต่อตนเองในการทำชีวิตตนเองให้ดี หน้าที่ต่อครูในฐานะศิษย์
หน้าที่ต่อภรรยาในฐานะสามี และหน้าที่อื่น ๆ อีกนะครับ
ไม่ใช่ว่าจะมีแค่เพียงหน้าที่ในการเป็นพลเมืองไปเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ที่ยกตัวอย่างเล่ามาตั้งแต่ตอนต้นนี้ ก็เป็นเรื่องของข่าวการเลือกตั้ง หรือข่าวการเมืองนะครับ
แต่ในอันที่จริงแล้ว หลักการนี้ไม่ได้ใช้กับเพียงเรื่องของข่าวการเลือกตั้งหรือข่าวการเมืองเท่านั้น
แต่ก็ย่อมจะนำมาใช้กับเรื่องข่าวอื่น ๆ หรือเรื่องราวอื่น ๆ ในแต่ละวันที่เราได้ติดตาม
หรือได้รับทราบมาในทำนองเดียวกันด้วย เช่น ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม ข่าวบันเทิง ข่าวละคร ฯลฯ
เช่น ดาราคนโน้นจะเลิกกับคนนี้ ดาราคนนี้เป็นกิ๊กกับคนนั้น ดาราคนนี้มีข่าวฉาวเรื่องโน้น
ประเทศข้างเคียงจะมาล้ำดินแดนประเทศเรา ประเทศเราจะยิงปืนใหญ่ตอบโต้การรุกราน
ราคาสินค้าต่าง ๆ จะสูงขึ้น ค่ารถเรือโดยสารจะขึ้นราคา ดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับตัวสูงขึ้น ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังนำไปปรับใช้กับเรื่องเม้าท์แตกคนอื่น ๆ ในสถานที่ทำงานด้วย และในสถานที่ต่าง ๆ ด้วย
(ก็คือ คุยหรือฟังเรื่องชาวบ้านว่างั้นเถอะ) หรือในการสนทนาผ่านอีเมล์ ผ่านเฟสบุ๊ค ผ่านเว็บบอร์ด
ผ่านระบบสนทนาในโทรศัพท์มือถือ ผ่านระบบอื่น ๆ หรือในการสนทนาผ่านโทรศัพท์ เป็นต้น
อะไรเหล่านี้ทั้งหลายก็เป็นไปในทำนองเดียวกันครับว่า เราต้องมีสติรู้ทันใจ ครับ
และพิจารณาด้วยว่า เราใช้เวลาในแต่ละวันในการติดตาม และรับทราบเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
เรามีอะไรอื่น ๆ ที่สำคัญที่จะต้องทำ และเราได้ใช้เวลาไปทำสิ่งเหล่านั้นให้เรียบร้อยแล้วหรือยัง
หรือว่าเรามัวแต่มาเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้มากเกินไปในแต่ละวัน