Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๒๑

ธรรมสำหรับละนิวรณ์ ๕

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dhamajaree-121-1

เวลาเมื่อปฏิบัติธรรมก็ย่อมจะมีอุปสรรคมาขัดขวางนะครับ
อุปสรรคที่สำคัญที่มักจะมาขัดขวางไม่ให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมนั้น
จะได้แก่ “นิวรณ์ ๕” ซึ่งหมายถึง ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี
สิ่งที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม อกุศลธรรมที่กดทับจิต ปิดกั้นปัญญา
โดยประกอบด้วย ๕ อย่างได้แก่ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ
อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา

ในอรรถกถาสัมปันนสูตร (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ จตุกนิบาต)
ได้มีกล่าวถึงเรื่องธรรมสำหรับละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ไว้
เราลองมาพิจารณาดูกันนะครับ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านบางท่านที่จะได้
นำไปพิจารณาและประพฤติปฏิบัติ (ผมเองก็ยังโดนนิวรณ์ ๕ เล่นงานอยู่เหมือนกันนะครับ
ก็จะนำไปพิจารณาหรือประพฤติปฏิบัติด้วยเช่นกัน)

๑. “กามฉันท์” คือ ความพอใจกาม ความเสน่หากาม ความกระหายกาม
ความร้อนรนเพราะกาม ความสยบอยู่กับกาม การหยั่งลงสู่กาม ในกามทั้งหลาย

โดยธรรม ๖ ประการที่ย่อมเป็นไปเพื่อการละกามฉันท์ ได้แก่
๑.๑ การเรียนอสุภนิมิต ๑.๒ การประกอบความเพียรเนือง ๆ ในอสุภภาวนา
๑.๓ ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย
๑.๔ ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ๑.๕ ความมีกัลยาณมิตร ๑.๖ ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ

ผู้ที่กำลังเรียนอสุภนิมิต ๑๐ อย่างอยู่ย่อมละกามฉันท์ได้
โดยอสุภ (หรืออสุภะ) นั้นหมายถึงสภาพที่ไม่งาม
พิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้เห็นสภาพที่ไม่งาม
ในส่วนของ “อสุภนิมิต ๑๐ อย่าง” นั้นประกอบด้วย
(๑) “อุทธุมาตกะ” คือซากศพที่เน่าพอง (๒) “วินีลกะ” คือซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ
(๓) “วิปุพพกะ” คือซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลออกอยู่
(๔) “วิจฉิททกะ” คือซากศพที่ขาดกลางตัว (๕) “วิกขายิตกะ” คือซากศพที่สัตว์กัดกินแล้ว
(๖) “วิกขิตตกะ” คือซากศพที่มีมือ เท้า ศีรษะขาด
(๗) “หตวิกขิตตกะ” คือซากศพที่คนมีเวรเป็นข้าศึกกัน สับฟันเป็นท่อน ๆ
(๘) “โลหิตกะ” คือซากศพที่ถูกประหารด้วยศัสตรามีโลหิตไหลอาบอยู่
(๙) “ปุฬุวกะ” คือซากศพที่มีตัวหนอนคลานคล่ำไปอยู่
(๑๐) “อัฏฐิกะ” คือซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก

สำหรับความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายนั้น
ความสำรวมในอินทรีย์ ๖ คือสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย
ในเวลาที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ หรือรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
ระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖
โดยผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายแล้ว ก็ย่อมจะละกามฉันท์ได้

สำหรับผู้รู้ประมาณในโภชนะ คือการกินอาหารนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า
“ควรงดฉันข้าว ๔ – ๕ คำไว้แล้วดื่มน้ำ เพียงพอ
เพื่อจะอยู่อย่างสบายสำหรับภิกษุผู้มีใจแน่วแน่”
(ดังนี้แล้ว สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่กินอาหารกันจนอิ่มจนแน่น จนอาจจะถึงกับไม่สบายตัว
หรือประเภทที่มีก๊อกสอง ก๊อกสามอะไรทำนองนี้ ก็ย่อมจะละกามฉันท์ได้ยาก)

ในส่วนของความมีกัลยาณมิตรนั้นอธิบายว่า
ผู้ที่กำลังคบหากัลยาณมิตร (เช่นกับพระติสสเถระผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน) ละกามฉันท์ได้ก็มี
ส่วนถ้อยคำที่เป็นสัปปายะนั้นอธิบายว่า ผู้ที่ละได้ด้วยกถาที่เป็นสัปปายะอาศัยอสุภะ ๑๐
ในสถานที่ยืนและที่นั่งเป็นต้นด้วยก็มี

คำว่า “กถา” หมายความว่า ถ้อยคำ เรื่อง คำกล่าว หรือคำอธิบาย
“สัปปายะ” หมายความว่า สบาย สภาพเอื้อ สภาวะที่เกื้อหนุน
สิ่ง สถาน หรือบุคคลที่สบาย เหมาะกัน เกื้อกูล หรือเอื้ออำนวย

๒. “พยาบาท” คือ ความร้ายกาจ ความใจร้าย ภาระของผู้มีจิตถูกโทสะประทุษร้ายแล้ว
ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความดุร้าย การให้ผู้อื่นหลั่งน้ำตา ความไม่พอใจแห่งจิต

โดยธรรม ๖ ประการที่ย่อมเป็นไปเพื่อการละพยาบาท ได้แก่
๒.๑ การเรียนเอาเมตตานิมิต ๒.๒ การเจริญเมตตา
๒.๓ การพิจารณาความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
๒.๔ ความเป็นผู้มากไปด้วยการพิจารณา
๒.๕ ความมีกัลยาณมิตร ๒.๖ ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ

ผู้ที่กำลังเรียนเมตตาด้วยสามารถเมตตาไปทั่วทิศทั้งโดยเจาะจงและโดยไม่เจาะจง
ย่อมละพยาบาทได้ แม้ผู้กำลังเจริญเมตตา ด้วยสามารถเมตตาไปทั่วทิศทั้งโดยเจาะจง
และโดยไม่เจาะจง ก็ย่อมละพยาบาทได้

ผู้กำลังพิจารณาถึงความมีกรรมเป็นของตน และของผู้อื่น อย่างนี้ว่า
ตนเองโกรธผู้อื่นแล้วจักทำอะไรเขาได้ จักสามารถให้คุณธรรมทั้งหลาย (มีศีลเป็นต้น)
ของเขานั้นพินาศไปได้หรือ ตนเองมาแล้วตามกรรมของตน
ตนเองก็จักไปตามกรรมของตนมิใช่หรือ
ธรรมดาความโกรธของผู้อื่น ก็เหมือนกับความประสงค์จะหยิบถ่านไฟร้อน
หรือหยิบอุจจาระแล้วขว้างคนอื่น
ถึงคนอื่นนั้นจะโกรธตนเองก็จักทำอะไรตนเองได้
เขาจักสามารถทำให้ธรรมทั้งหลาย (มีศีลเป็นต้น) ของตนเองพินาศไปได้หรือ
คนอื่นนั้นมาตามกรรมของตน ก็จักต้องไปตามกรรมของตนนั่นแหละ
ความโกรธนั้นจักตกลงบนกระหม่อมของเขานั่นแหละ
เหมือนกับการไม่รับเอาบรรณาการ และเหมือนกับการซัดกำธุลีทวนลม
ได้พิจารณาเหล่านี้แล้ว ยืนอยู่ที่ที่พิจารณา ย่อมละพยาบาทได้

การคบหากัลยาณมิตรกับผู้ยินดีในเมตตาภาวนา (เช่นกับพระอัสสคุตตเถระ) ย่อมละพยาบาทได้
แม้ด้วยกถาที่เป็นสัปปายะอาศัยเมตตาในที่ที่ยืนและที่ที่นั่งเป็นต้น ก็ย่อมละพยาบาทได้

๓. “ถีนมิทธะ” ประกอบด้วยคำว่า “ถีนะ” และ “มิทธะ” ทั้งสองอย่าง
คำว่า “ถีนะ” คือความหดหู่ ความท้อแท้ใจ ส่วนคำว่า “มิทธะ” คือความเซื่องซึม
โดยอาการก็คือ ความที่จิตไม่เหมาะสม ไม่ควรแก่การงาน ความหดหู่ ความโงกง่วงแห่งจิต
ความที่นามกายไม่เหมาะสม ไม่ควรแก่การงาน ความปกคลุม ความหุ้มห่อ

คำว่า “นามกาย” หมายความว่า กองแห่งนามธรรม คือ เจตสิกทั้งหลาย
กล่าวคือ ธรรมที่ประกอบกับจิต อาการหรือคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต เช่น
ความโลภ ความโกรธ ความหลง ศรัทธา เมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น

โดยธรรม ๖ ประการที่ย่อมเป็นไปเพื่อการละถีนมิทธะ ได้แก่
๓.๑ การบริโภคโภชนะที่เหลือเฟือแต่พอประมาณ
๓.๒ การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ๓.๓ การมนสิการอาโลกสัญญา
๓.๔ การอยู่แต่ในที่แจ้ง ๓.๕ ความมีกัลยาณมิตร ๓.๖ ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ

สำหรับผู้บริโภคโภชนะเยี่ยงอาหารมากเกินไปนั้น
ความง่วงเหงาหาวนอนจะมาทับถมเหมือนช้างใหญ่มาทับ
แต่หากเว้นโอกาสในการทานอาหารไว้ ๔ – ๕ คำแล้วดื่มน้ำแทน
ยังอัตภาพให้เป็นไปตามปกติ ความง่วงเหงาหาวนอนนั้นจะไม่มี
ผู้บริโภคโภชนะที่เหลือเฟือแต่พอประมาณอย่างนี้ ย่อมละถีนมิทธะได้
ผู้เปลี่ยนอิริยาบถอื่นไปจากอิริยาบถที่ตนก้าวลงสู่ความง่วงเหงาหาวนอน ย่อมละถีนมิทธะได้

สำหรับคำว่า “มนสิการ” หมายความว่า การทำในใจ ใส่ใจ พิจารณา
“อาโลกสัญญา” หมายความว่า ความสำคัญในแสงสว่าง กำหนดหมายแสงสว่าง
คือตั้งความกำหนดหมายว่ากลางวันไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
โดยในเวลากลางคืน มนสิการถึงแสงพระจันทร์ แสงประทีป แสงคบเพลิง
เวลากลางวัน มนสิการถึงแสงพระอาทิตย์
การอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง ก็ย่อมละถีนมิทธะได้

การคบหาสมาคมกัลยาณมิตรผู้ปราศจากความง่วงเหงาหาวนอน
(เช่น พระมหากัสสปเถระ) ก็ย่อมละถีนมิทธะได้
แม้ด้วยกถาที่เป็นสัปปายะอาศัยธุดงค์ ในที่นั่งและที่นอนเป็นต้น ย่อมละถีนมิทธะได้

๔. “อุทธัจจกุกกุจจะ” ได้แก่ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ
“อุทธัจจะ” เป็นอาการของจิตที่ฟุ้งซ่าน
ส่วน “กุกกุจจะ” เป็นความเดือดร้อนเพราะบาปที่ทำไว้เป็นปัจจัยของผู้ที่ทำความชั่วไว้
โดยอาการก็คือความฟุ้งแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความซัดส่ายแห่งจิต ความวกวนแห่งจิต

โดยธรรม ๖ ประการที่ย่อมเป็นไปเพื่อการละกามฉันท์ ได้แก่
๔.๑ ความเป็นพหูสูต ๔.๒ การสอบถาม ๔.๓ ความรอบรู้ในพระวินัย
๔.๔ การคบหาสมาคมผู้เจริญ ๔.๕ ความมีกัลยาณมิตร ๔.๖ ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ

คำว่า “”พหุสูต” หรือ “พหูสูต” หมายความว่า ผู้ได้ยินได้ฟังมามาก
คือทรงจำธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก ผู้เล่าเรียนมาก ผู้ศึกษามาก ผู้คงแก่เรียน
อธิบายว่าผู้เรียน ๑, ๒, ๓, ๔, หรือ ๕ นิกาย ด้วยสามารถแห่งบาลี
และด้วยสามารถแห่งเนื้อความ (อรรถกถา)
โดยความเป็นพหูสูตอยู่ ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้
คำว่า “นิกาย” หมายถึง หมวดตอนใหญ่แห่งพุทธพจน์ในพระสุตันตปิฎก
ซึ่งแยกเป็นทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย
คำว่า “บาลี” มีได้สองความหมายนะครับ หมายถึงภาษาบาลีก็ได้
หรือจะหมายถึงพระพุทธวัจนะก็ได้ คำว่า “ด้วยสามารถแห่งบาลี” ในที่นี้
หมายถึงเชี่ยวชาญในพระพุทธวัจนะครับ ไม่ได้หมายถึงภาษาบาลี

ผู้มากไปด้วยการสอบถามสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้
โดย “กิปปิยะ” หมายความว่า สมควร หรือควรที่จะบริโภค หรือใช้สอย
“อกิปปิยะ” หมายความว่า สิ่งที่ไม่เป็นกัปปิยะ
ผู้รอบรู้ เพราะความเป็นผู้ประพฤติมาจนชำนาญในพระวินัยบัญญัติ ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้
ผู้คบหากัลยาณมิตรผู้ทรงพระวินัย (เช่นกับพระอุบาลีเถระ) ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้
แม้ด้วยกถาที่เป็นสัปปายะที่อาศัยสิ่งที่ควรและไม่ควร ณ ที่ยืน และที่นั่งเป็นต้น
ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้

๕. “วิจิกิจฉา” ได้แก่ความกังขา กิริยาที่เคลือบแคลง ภาระของผู้เคลือบแคลง
ความแคลงใจ ความคิดสองเงื่อน ความเห็นสองทาง ความสงสัย ความยึดถือหลายอย่าง
ความคิดสับสน ความคิดวุ่นวาย ความคิดไม่หยั่งลง ความครั่นคร้ามแห่งจิต
ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย เช่น ความสงสัยในพระพุทธเจ้า เป็นต้น

โดยธรรม ๖ ประการที่ย่อมเป็นไปเพื่อการละกามฉันท์ ได้แก่
๕.๑ ความเป็นพหูสูต ๕.๒ การซักถาม ๕.๓ ความรอบรู้ในพระวินัย
๕.๔ ความเป็นผู้มากไปด้วยอธิโมกข์ ๕.๕ ความมีกัลยาณมิตร ๕.๖ ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ

ผู้เรียน ๑, ๒, ๓, ๔, หรือ ๕ นิกาย ด้วยสามารถแห่งบาลี
และด้วยสามารถแห่งเนื้อความ (อรรถกถา) ด้วยความเป็นพหูสูต ย่อมละวิจิกิจฉาได้
ผู้สอบถามมากในธรรมทั้งหลายมีประเภทกุศลเป็นต้น ปรารภพระรัตนตรัย ย่อมละวิจิกิจฉาได้
ผู้รอบรู้ เพราะความเป็นผู้ประพฤติจนชำนาญในพระวินัย ย่อมละวิจิกิจฉาได้
ผู้มากไปด้วยอธิโมกข์ กล่าวคือความเชื่อที่พึงกำหนดแน่ในพระรัตนตรัย ย่อมละวิจิกิจฉาได้
คำว่า “อธิโมกข์” หมายความว่า ความปลงใจ ความตกลงใจ ความปักใจในอารมณ์
ความน้อมใจเชื่อ ความเชื่อสนิทแน่ว ความซาบซึ้งศรัทธาหรือเลื่อมใสอย่างแรงกล้า

ผู้คบหากัลยาณมิตรผู้น้อมไปในศรัทธา (เช่นกับพระวักกลิเถระ) ย่อมละวิจิกิจฉาได้
แม้ด้วยกถาที่เป็นสัปปายะ อาศัยคุณพระรัตนตรัย ณ ที่ยืน และที่นั่งเป็นต้น ย่อมละวิจิกิจฉาได้

(หมายเหตุ - ความหมายคำต่าง ๆ ข้างต้น ส่วนหนึ่งได้อ้างอิงจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์
ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) และอีกส่วนหนึ่ง
ได้อ้างอิงจากอรรถกถาสัมปันนสูตรนั้นเอง)

อนึ่ง ขอฝากข้อสังเกตว่าสำหรับ “ความมีกัลยาณมิตร” นั้น
ในอรรถกถาสัมปันนสูตรได้ยกตัวอย่างถึงการคบหากัลยาณมิตรคือพระอรหันต์ผู้เลิศคุณแต่ละท่าน
ซึ่งสำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ในปัจจุบัน ย่อมจะไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้โดยง่ายแล้ว
เพราะเราย่อมไม่สามารถจะไปสามารถทราบได้โดยง่ายว่าพระรูปไหนเป็นพระอรหันต์บ้าง
แต่อย่างน้อย เราก็ควรจะเลือกคบกัลยาณมิตร (เพื่อนที่ดี) และห่างไกลเพื่อนไม่ดีนะครับ
หากคบกับเพื่อนคนไหนแล้ว มีแต่จะเพิ่มพูนนิวรณ์ ๕ แล้ว ก็ควรจะห่างไกลครับ
ก็ควรจะเลือกคบกับเพื่อนที่คบกันแล้วลดละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้
สำหรับ “ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ” ก็เช่นกัน ก็ควรพิจารณาว่าในแต่ละวันนั้น
ถ้อยคำที่เราได้ยินได้ฟัง และถ้อยคำที่เราพูดเองนั้น เป็นสัปปายะหรือเปล่า
เกื้อหนุนหรือเอื้อเฟื้อในการลดละนิวรณ์ ๕ หรือไม่ หรือกลับจะไปเพิ่มนิวรณ์ ๕ กันแน่

ยกตัวอย่างเช่นว่า อยู่กับเพื่อนคนหนึ่งแล้ว ก็ชวนสนทนากันแต่เรื่องเพิ่มกามฉันท์
หรือสนทนากันแต่เรื่องเพิ่มพยาบาท ไม่ได้ช่วยกันแนะนำหรือเอื้อเฟื้อให้ลดละสิ่งเหล่านี้ลง
หรือชักชวนกันแต่ขี้เกียจ ง่วงเหงาหาวนอน ก็เพิ่มพูนถีนมิทธะ
หรือชักชวนสนทนากันแต่เรื่องให้ฟุ้งซ่าน เรื่องให้ใจไม่สงบ เรื่องกลุ้มใจในบาปกรรมในอดีต
หรือเรื่องที่ทำให้สงสัยแคลงใจโน่นนี่ไปเรื่อย ทำนองนี้นะครับ
นอกจากนี้ ควรพิจารณาด้วยว่าตนเองได้ทำดั่งนั้นด้วยหรือไม่ หากทำอยู่ก็ควรจะลดละเลิกเสีย
โดยก็ควรจะคบกับเพื่อนที่ช่วยลดละเลิกนิวรณ์ ๕
และตนเองก็ควรจะประพฤติและสนทนาในทางที่ลดละเลิกนิวรณ์ ๕ ด้วย

นอกจากเรื่อง “ความมีกัลยาณมิตร” และ “ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ” แล้ว
ในข้ออื่น ๆ นั้นได้มีอธิบายไว้ละเอียดพอสมควรแล้ว ก็แนะนำให้ท่านผู้อ่านได้ลองนำไปพิจารณา
และประพฤติปฏิบัติตามที่เหมาะสมกับจริตของแต่ละท่านนะครับ
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องความเป็นพหูสูตนั้น สำหรับบางท่านแล้ว
ยิ่งเรียนมาก ยิ่งรู้มาก กลับยิ่งสงสัยไปเรื่อย และอยากรู้ไปเรื่อยไม่รู้จบสิ้น
เช่นนี้อาจจะเรียกได้ว่าไม่ถูกจริต ก็ควรจะลองพิจารณาใช้ข้ออื่น ๆ แทนหรือประกอบด้วยครับ

ในท้ายนี้ สำหรับท่านที่เจริญสติภาวนาอยู่นั้น ได้มีครูบาอาจารย์ท่านสอนแนะนำว่า
อาการของนิวรณ์ ๕ นั้น ก็คืออาการฟุ้งซ่านของจิต เช่นว่าจิตไปตรึกเรื่องกามฉันท์
จิตไปมีโทสะ จิตหดหู่ซึมเซา จิตไม่สงบรำคาญใจ หรือจิตลังเลสงสัย เหล่านี้เป็นต้น
วิธีการที่จะละอาการฟุ้งซ่านของจิต ก็คือต้องมีสัมมาสมาธิ คือมีจิตตั้งมั่น
ซึ่งหากมีจิตตั้งมั่นแล้ว ก็ย่อมจะเป็นการละอาการฟุ้งซ่านของจิตได้