Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๔

วันมาฆบูชา

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-114

วันศุกร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นี้เป็น “วันมาฆบูชา” โดยถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพุทธศาสนา
ซึ่งแต่เดิมนั้น ในประเทศไทยไม่ได้มีจัดพิธีการทางพระพุทธศาสนาในวันมาฆบูชา
จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)
โดยพระองค์ได้ทรงดำริว่า เหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือนสามคือ “วันมาฆบูชา” นี้
เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง อันควรที่จะมีการประกอบพิธีการทางพระพุทธศาสนา
เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ทรงโปรดให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น
จนกระทั่งต่อมา การจัดพิธีงานมาฆบูชาจึงได้เป็นที่นิยมแพร่หลายขยายไปทั่วประเทศ
โดยในปัจจุบัน “วันมาฆบูชา” ได้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย และถือเป็นวันสำคัญ
ในพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย และได้มีการประกอบพิธีการทางศาสนาไปทั่วประเทศ

เวลาที่พวกเราระลึกนึกถึงวันมาฆบูชานั้น บางท่านก็อาจจะนึกถึงเพียงว่า
วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมรวมกันโดยมิได้นัดหมาย
เสมือนกับว่าจำได้แต่เพียงเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งปาฏิหาริย์
ส่วนเรื่องธรรมะทั้งหลายที่เกี่ยวกับวันมาฆบูชานั้นก็จำไม่ได้แล้ว
ในที่นี้จึงขออธิบายเกี่ยวกับวันมาฆบูชานะครับ เพื่อประโยชน์แห่งความศรัทธาเลื่อมใส
และเพื่อประโยชน์ในเรื่องเนื้อหาธรรมะที่จะได้น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติกันต่อไป

“วันมาฆบูชา” ถือเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา เนื่องด้วยเกิดเหตุการณ์ ดังต่อไปนี้คือ
๑. เป็นวัน “
จาตุรงคสันนิบาต” ซึ่งได้มีขึ้น ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร
(ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มาแล้วเป็นระยะเวลา ๙ เดือน)
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง "
โอวาทปาฏิโมกข์"
ซึ่งถือเป็นหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
๓. เป็นวันที่พระพุทธองค์ได้ทรงปลงพระชนมายุสังขาร
(ซึ่งในส่วนของเรื่องพระพุทธองค์ได้ทรงปลงพระชนมายุสังขารนั้น
ผมขออนุญาตว่าจะละไว้ โดยไม่กล่าวโดยละเอียดในที่นี้นะครับ)

จาตุรงคสันนิบาต” นั้นหมายความว่า การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ได้แก่
๑. เป็นวันที่ “ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์” คือ วันเพ็ญเดือนสาม (จึงเรียกว่า “มาฆบูชา”)
๒. พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๑
,๒๕๐ รูป มาประชุมรวมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้ “
อภิญญา ๖
(อภิญญา ๖ ได้แก่ “อิทธิวิธิ” คือแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ “ทิพพโสต” คือหูทิพย์
“เจโตปริยญาณ” คือทายใจคนอื่นได้ “ปุพเพนิวาสานุสติ” คือ ระลึกชาติได้
“ทิพพจักขุ” คือ ตาทิพย์ และ “อาสวักขยญาณ” คือ ญาณที่ทำอาสวะกิเลสสิ้นไป)
๔. พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเหล่านั้น ล้วนแต่เป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
กล่าวคือได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
(วิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าประทานด้วยพระองค์เองคือ ด้วยพระองค์เปล่งพระวาจาว่า
“ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว
ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
ซึ่งวิธีนี้ ท่านได้ประทานอุปสมบทแก่พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นบุคคลแรก)

พวกเราบางท่านก็มักจะจำได้เฉพาะเรื่อง “วันจาตุรงคสันนิบาต” นี้นะครับว่า
ได้มีพระภิกษุสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมรวมกันโดยมิได้นัดหมายดังที่กล่าวแล้ว
แต่แท้ที่จริงแล้ว ส่วนที่สำคัญมาก ๆ กับพวกเราชาวพุทธศาสนิกชนนั้น ได้แก่
การที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง “โอวาทปาฏิโมกข์” อันถือเป็นการประกาศหลักธรรม
และคำสั่งสอนของพระองค์ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายที่ร่วมประชุมในวันนั้น
ได้นำไปสั่งสอนและเผยแพร่ต่อไป และถือเป็นเนื้อหาธรรมะอันเป็นประโยชน์แก่
การประพฤติปฏิบัติของชาวพุทธศาสนิกชนด้วย

พวกเราบางท่านอาจจะไม่ทราบว่า คำสอนใน “โอวาทปาฏิโมกข์” นั้นมีอะไรบ้าง
ผมก็ขอแนะนำให้เราพิจารณาตามบทสวด “โอวาทปาฏิโมกขคาถา” นะครับ
โดยมีเนื้อความว่า

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง (การไม่ทำบาปทั้งปวง)
กุสะลัสสูปะสัมปะทา (การทำกุศลให้ถึงพร้อม)
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง (การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ)
เอตัง พุทธานะ สาสะนัง
(ธรรม ๓ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
(ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง)
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
(ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง)
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
(ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย)
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
(ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย)
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต (การไม่พูดร้าย
, การไม่ทำร้าย)
ปาติโมกเข จะ สังวะโร (การสำรวมในปาติโมกข์)
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง (ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค)
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง (การนอนการนั่งในที่อันสงัด)
อะธิจิตเต จะ อาโยโค (ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง)
เอตัง พุทธานะ สาสะนัง (ธรรม ๖ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย)

“โอวาทปาฏิโมกข์” นี้ถือเป็นคำสอนที่เป็นหลักที่สำคัญในพระพุทธศาสนานะครับ
ในโอกาสที่วันมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบครบอีกครั้งหนึ่ง
จึงใคร่ขอแนะนำให้พวกเราได้สอบทานตนเองว่า
พวกเราได้ปฏิบัติตามคำสอน “โอวาทปาฏิโมกข์” ไว้ครบถ้วนและสมควรแก่ธรรมหรือไม่ เพียงไร
และได้น้อมนำคำสอน “โอวาทปาฏิโมกข์” นี้ไปปฏิบัติอย่างเข้มแข็งต่อไปเพื่อเป็น “ปฏิบัติบูชา” ครับ

+ + + + + + + + + + + + + + + + + +

อ้างอิง

๑. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ (ฉบับชำระ-เพิ่มเติมช่วงที่ ๑)
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)

๒. คู่มือสวดมนต์แปล ฉบับอุบาสก-อุบาสิกา วัดสังฆทาน

๓. เว็บไซต์ http://th.wikipedia.org ค้นหาคำว่า “วันมาฆบูชา”