Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๓

ไปซ้ายก็โดนหลอก ไปขวาก็โดนหลอก

ngod-ngamงดงาม

จำได้ว่าเมื่อประมาณสองปีก่อน มีอยู่คืนหนึ่งที่ผมนั่งสมาธิในห้องนอน
นั่งไปได้สักพักนึง จำเวลาไม่ได้ว่านานเท่าไร จู่ ๆ ก็คิดขึ้นมาว่า ผมควรจะต้องเข้านอนได้แล้ว
เพราะวันรุ่งขึ้นต้องตื่นเช้าไปทำงานสำคัญ ใจก็เห็นว่ากำลังห่วงกังวลถึงเรื่องงานสำคัญนั้น
ก็ตัดสินใจเลิกนั่งสมาธิ แล้วก็เอนตัวลงนอน พอหลังแตะพื้นที่นอนปุ๊บ ก็เห็นใจที่อยากจะนอน
แล้วใจก็คิดขึ้นมาว่า “เอ ยังไม่ต้องรีบนอนก็ได้นี่นา นั่งสมาธิต่อไปอีกหน่อยก็ได้
ถ้านอนในตอนนี้ ก็เท่ากับว่าแพ้กิเลสอยากนอน โดนกิเลสหลอกให้นอน และเลิกปฏิบัติแล้ว”

เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้ว จึงตัดสินใจลุกขึ้นมานั่งสมาธิต่อ
พอลุกขึ้นมานั่งและยังไม่ทันไขว้ขาได้เรียบร้อย ก็เห็นใจที่อยากจะปฏิบัติ
แล้วใจก็คิดขึ้นมาอีกว่า “เอ้า นี่อยากจะปฏิบัตินี่นา ก็เท่ากับว่าปฏิบัติด้วยความอยาก
เวลานี้ควรนอนแต่ไม่ยอมนอน แต่มาปฏิบัติ ก็แพ้กิเลสอยากปฏิบัติแล้วน่ะสิ”
เมื่อคิดได้ดังนี้ ผมก็จะเอนตัวลงไปนอนใหม่ ก็เห็นใจที่อยากจะนอนอีกแล้ว
ใจก็คิดว่า “เอ้า ถ้านอน ก็แพ้กิเลสความอยากนอน ถ้าปฏิบัติ ก็แพ้กิเลสความอยากปฏิบัติ
เช่นนี้ นอนก็แพ้กิเลส ปฏิบัติก็แพ้กิเลส ไม่ว่าจะไปทางซ้ายหรือทางขวา
ก็เท่ากับว่าโดนกิเลสหลอกทั้งสองทาง”
แล้วในกรณีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะครับ จะนอนหรือจะปฏิบัติดี?

มีเหตุการณ์จริงอีกสองเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันครับ
มีอยู่วันหนึ่ง ผมนั่งทำงานอยู่ที่บ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยคิดว่าเมื่อทำงานเสร็จแล้ว
ต่อไปก็จะทำความสะอาดห้องนอน และจัดเอกสารต่าง ๆ ในบ้าน
แต่พอทำงานเสร็จจริง ๆ แล้ว ใจก็คิดแวบขึ้นมาว่าน่าจะไปซื้อหนังสือธรรมะสำหรับแจกธรรมทาน
พอเห็น “ใจที่อยากจะไปซื้อหนังสือธรรมะ” ก็เห็นว่าเกิดมีความอยากไปซื้อหนังสือแล้ว
ใจก็บอกกับตัวเองว่า “อย่าไปโดนหลอกนะ เราควรจะอยู่บ้านเพื่อทำความสะอาดห้องนอน
และจัดเอกสารต่าง ๆ ในบ้านให้เรียบร้อยตามความตั้งใจเดิม”
พอบอกกับตัวเองดังนั้นแล้ว ก็เห็น “ใจที่อยากจะทำความสะอาดห้องนอน
และจัดเอกสารที่บ้านให้เสร็จเรียบร้อย” ซึ่งพอเห็นความอยากที่จะกระทำดังนั้น
แล้วก็มีอีกใจนึงมาบอกว่า “อย่าไปโดนหลอกนะ เราควรจะไปซื้อหนังสือธรรมะมากกว่า
จะได้นำไปแจกเป็นธรรมทาน หากเราไม่ไปซื้อ แต่มามัวทำความสะอาดและจัดเอกสารในบ้าน
ก็เท่ากับว่าโดนกิเลสหลอก หรือโดนมารมาขัดขวางการสร้างบุญกุศลธรรมทานแล้ว”
ใจทั้งสองนี้ก็ถกเถียงกันอยู่นะครับ โดยบอกว่าหากผมไปทำตามใจอีกตัวนึง ก็คือว่าโดนหลอก
สรุปก็คืออยู่บ้านทำความสะอาดและจัดเอกสาร ก็เท่ากับโดนกิเลสอยากทำความสะอาด
และอยากจัดเอกสารมาหลอก แต่หากไปซื้อหนังสือธรรมะ ก็เท่ากับว่า
โดนกิเลสอยากไปซื้อหนังสือธรรมะมาหลอก ดังนั้น ไม่ว่าจะไปทางซ้ายหรือทางขวา
ก็เท่ากับว่าโดนกิเลสหลอกทั้งสองทาง
แล้วในกรณีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะครับ จะอยู่บ้านทำงานหรือจะออกไปซื้อหนังสือดี
?

อีกเหตุการณ์นึงครับ ผมไปทานอาหารกับญาติธรรมท่านนึงที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง
ก็ได้สั่งอาหารมาสามสี่จาน มีปลากระพงนึ่งมะนาวด้วย ซึ่งมาเป็นจานสุดท้ายเลย
ปรากฏว่าขณะนั้นก็อิ่มกันพอสมควรแล้ว แต่ก็ช่วย ๆ กันทานต่อไป
ทานต่อไปสักพัก ผมก็บอกว่า “กินอิ่มแล้ว ก็พอดีกว่านะ กินเยอะเกินไปไม่ดี
เดี๋ยวไม่สบาย และอาหารจะไม่ย่อยอาจจะป่วย”
ใจก็เห็นว่า เกิดมีความรักและห่วงหวงร่างกายและสุขภาพตัวเองขึ้นมาแล้ว
ญาติธรรมก็ตอบว่า “สงสารปลาที่ตายนะ โดนคนอื่นจับมาทำอาหารแล้ว
คนกินก็น่าจะช่วยกินให้หมด แถมหากปล่อยอาหารให้เหลือ ก็สิ้นเปลืองนะ”
ผมก็บอกไปว่า “ปลานี้ตายมาตั้งแต่ก่อนถึงร้านแล้วนะ ... ไม่ใช่ว่าเรากินปลาเป็น”
ญาติธรรมตอบว่า “เข้าใจ ... หากเราไม่กินให้หมด เพราะห่วงสุขภาพก็คือห่วงตัวเอง
แต่ช่วยกินให้หมดนี้ คิดเสียว่าช่วยให้กุศลแก่เจ้าปลาตัวนี้ที่มาเป็นอาหารให้เรา”
ผมก็ตอบกลับว่า “แต่หากเรากินด้วยคิดว่าให้กุศลแก่เจ้าปลาตัวนี้ที่มาเป็นอาหารให้เรา
นั่นก็คืออยากจะกินต่อเพราะเสียดาย แต่หาเหตุผลอื่น ๆ มาหลอกตัวเองหรือเปล่า
?
(นี้ก็เป็นตัวอย่างนะครับว่า ... หากคนเราจะถกเถียงธรรมะกันนะ
ขนาดทานปลากันอยู่ดี ๆ ยังหยิบมาเถียงกันได้ นับประสาอะไรกับเรื่องธรรมะอื่น ๆ
เหตุการณ์แรกและเหตุการณ์ที่สองก็จะเห็นได้นะครับว่าใจผมเองยังเถียงกันได้เองเลย ...)
สรุปว่า หากจะหยุดทานปลา ก็คือแพ้กิเลสที่ห่วงสุขภาพตัวเอง
แต่หากจะทานต่อ ก็คือแพ้กิเลสที่อยากจะทานต่อ แล้วในกรณีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะครับ
จะหยุดทานตามที่ผมบอก หรือจะทานต่อให้หมดตามที่ญาติธรรมบอกดีล่ะ
?

เหตุการณ์ที่เล่ามาทั้งสามเรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างนะครับ
แต่ในชีวิตจริง ๆ แล้ว เราจะเจอเรื่องที่มีทางเลือกให้ต้องตัดสินใจทำนองนี้มากมายเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่นว่า เราควรจะไปเที่ยวดี หรือจะอยู่บ้านดี
เราควรจะนำเงินไปทำบุญดี หรือจะเก็บเงินไว้สำหรับใช้จ่ายอื่น ๆ ดี
เราควรจะไปทำธุรการงานอย่างหนึ่งก่อนหรือหลังจากธุรการงานอีกอย่างหนึ่ง
เราควรจะทำงานอยู่ที่ทำงานเดิม หรือควรจะหาทางย้ายไปอยู่ที่ทำงานใหม่
เราควรจะคบกับแฟนคนนี้ต่อไป หรือควรจะเลิกแล้วไปเสี่ยงหาคนใหม่ในภายหน้า
หากจะให้ละเอียดย่อยกว่านั้นก็ได้ เช่น เราควรจะดูข่าวโทรทัศน์หรือควรจะนอนดี
เราควรจะสวดมนต์ หรือควรจะนั่งสมาธิ หรือควรจะเดินจงกรมดี
เราควรจะเปิดฟังซีดีธรรมะ หรือซีดีเพลง หรือชมซีดีภาพยนตร์ หรือชมฟุตบอลดี
เราควรจะไปห้องน้ำก่อนนอน กินน้ำก่อนนอน หรือเข้านอนเลยดี เป็นต้น

นอกจากนี้ กรณีอาจจะเป็นการตัดสินใจในเชิงที่ว่าจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่ทำ
เช่นว่า จะร่วมทำบุญหรือไม่ จะตกลงเป็นแฟนกับเขาหรือไม่ จะทำงานให้เขาหรือไม่
จะเลิกเป็นแฟนกับเขาหรือไม่ จะตำหนิหรือดุว่าเขาหรือไม่ จะตอบโต้หรือทำไม่ดีกับเขาหรือไม่
จะให้สิ่งของแก่เขาหรือไม่ จะทำดีและจะแสดงความชื่นชมเขาหรือไม่ จะอนุโมทนาด้วยหรือไม่
จะซื้อของให้เขาหรือไม่ จะไปร่วมงานกับเขาหรือไม่ จะช่วยเขาหรือไม่
ควรจะทานอาหารร้านนี้หรือไม่ ควรจะพักที่สถานที่แห่งนี้หรือไม่ ควรจะซื้อของสิ่งนี้หรือไม่ ฯลฯ

เมื่อเกิดมีข้อสงสัยทั้งหลายเหล่านี้แล้ว ไม่ว่าเราจะตัดสินใจไปในทางเลือกใดก็ตาม
ก็จะมีกิเลสความอยากอยู่เบื้องหลังและให้เหตุผลสนับสนุนในทางเลือกดังกล่าวทั้งสิ้น
ไม่ว่าเราจะเลือกทำสิ่งใด หรือไม่ทำสิ่งใด จะเลือกไปทางซ้าย หรือจะเลือกไปทางขวา
ก็จะกลายเป็นโดนกิเลสหลอกไปเสียทุกทาง แล้วเราจะทำอย่างไร
? ...

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่โดนหลอกให้ไปทุกทิศทางจนมึนไปหมด
และโดนหลอกอย่างสะบักสะบอมเสียเต็มทีแล้ว
จนได้มีโอกาสศึกษาเรื่อง “การเจริญสติ” จากครูบาอาจารย์
ก็เห็นว่าเราจะพ้นจากการโดนหลอกนี้ได้ โดยเมื่อมีข้อสงสัยว่าควรจะทำอะไรแล้ว
ก่อนอื่นเลย “สงสัยให้รู้ว่าสงสัย” นะครับ
(แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมในตอนที่แล้ว ชื่อว่า “สงสัยให้รู้ว่าสงสัย ... แล้วอย่างไรต่อ” ด้วย)
เมื่อรู้ว่าสงสัยแล้ว ไม่ว่าจะอยากไปทางซ้ายหรืออยากไปทางขวาก็ตาม
ก็ให้มีสติเห็นว่าอยากไปทางซ้าย และอยากไปทางขวาครับ เห็นความอยากทั้งหมดที่เกิดขึ้น
ไม่ว่าจะอยากทำสิ่งนี้ อยากทำสิ่งนั้น ไม่อยากทำสิ่งนี้ หรือไม่อยากทำสิ่งนั้นก็ตาม
ให้มีสติเห็นว่าอยากทำสิ่งนี้ อยากทำสิ่งนั้น ไม่อยากทำสิ่งนี้ หรือไม่อยากทำสิ่งนั้นเช่นกัน
เห็นความอยากแล้วอย่างไรต่อ ก็ให้ใจเป็นกลาง โดยไม่กระโจนลงไปให้ความอยากใด ๆ ครอบงำ
จากนั้น ก็กลับมาพินิจพิจารณาและเลือกตัดสินใจว่าทางเลือกไหนเหมาะสมที่สุด
โดยใช้เหตุผลทั้งปวงและจิตใจที่เป็นกลางต่อปัญหานั้นในการพิจารณา

หากเราลองนำวิธีการนี้มาปรับใช้ตอบคำถามสำหรับเหตุการณ์แรกข้างต้นแล้ว
ก็คือว่า เราต้องมีสติเห็นความอยากนอน เห็นความกังวลเป็นห่วงงานสำคัญ
และเห็นความอยากปฏิบัติ โดยให้ใจเป็นกลางในความอยากเหล่านั้น
(บอกว่าให้ใจเป็นกลางนี้ ... พูดง่าย แต่ทำยากนะครับ)
จากนั้นแล้ว ก็พิจารณาเหตุผลทั้งปวงว่า ถึงเวลาสมควรนอนแล้วหรือไม่
หรือว่าแท้จริงแล้วเราควรจะปฏิบัติต่อ เมื่อพิจารณาด้วยใจเป็นกลางแล้ว
ก็จะได้คำตอบที่สมควรทำที่สุด และเราก็ทำไปตามนั้น คือทำไปตามที่สมควรและเหมาะสม
หากสมควรนอนแล้ว ก็ควรจะนอน แต่หากสมควรปฏิบัติต่อไป เราก็ควรปฏิบัติต่อไป
เราก็จะไม่โดนหลอกครับ เพราะเราไม่ได้ทำตามที่เราอยาก แต่เราทำในสิ่งที่เหมาะสม

เมื่อนำวิธีการนี้มาปรับใช้ตอบคำถามเหตุการณ์ที่สองข้างต้นแล้ว
ก็คือว่า เราต้องมีสติเห็นความอยากทำความสะอาดห้องนอน อยากจัดเอกสาร
และเห็นความอยากไปซื้อหนังสือธรรมะเพื่อไปแจกเป็นธรรมทาน
โดยให้ใจเป็นกลางในความอยากเหล่านั้น
จากนั้นแล้ว ก็พิจารณาเหตุผลทั้งปวงด้วยใจที่เป็นกลางว่า
สมควรอยู่บ้านเพื่อทำความสะอาดห้องนอน และจัดเอกสารหรือไม่
หรือสมควรไปซื้อหนังสือธรรมะเพื่อไปแจกเป็นธรรมทานหรือไม่ เพราะอะไร
เมื่อพิจารณาด้วยใจเป็นกลางดังนี้แล้ว ก็จะได้คำตอบที่สมควรทำที่สุด
และเราก็ทำไปตามนั้น อันเป็นการทำไปตามความเหมาะสม และสมควรทำ
ไม่ได้ทำเพราะอยาก ก็เรียกได้ว่าเราไม่โดนหลอก

หากนำวิธีการนี้มาปรับใช้ตอบคำถามเหตุการณ์ที่สามข้างต้น
ก็คือว่า เราต้องมีสติเห็นความอยากจะหยุดทาน ความห่วงกังวลในสุขภาพ
และเห็นความอยากจะทานปลาให้หมด โดยให้ใจเป็นกลางในความอยากเหล่านั้น
จากนั้นแล้ว ก็พิจารณาเหตุผลทั้งปวงด้วยใจที่เป็นกลางว่า ควรจะหยุดทานหรือไม่ เพราะอะไร
ควรจะทานต่อให้หมดหรือไม่ เพราะอะไร ... อะไรเป็นสิ่งที่ควรทำกันแน่
เมื่อพิจารณาด้วยใจเป็นกลางดังนี้แล้ว ก็จะได้คำตอบที่สมควรทำที่สุด
และเราก็ทำไปตามนั้น อันเป็นการทำไปตามความเหมาะสม และสมควรทำ
ไม่ได้ทำเพราะอยาก ก็เรียกได้ว่าเราไม่โดนหลอกเช่นกัน

เรื่องราวอื่น ๆ ทั้งหลายที่ต้องตัดสินใจในทางเลือกต่าง ๆ ก็ทำนองเดียวกันนะครับ
เราสามารถใช้วิธีการดังกล่าวข้างต้นได้ กล่าวคือ หากเราสงสัยว่าควรจะทำอย่างไรดี
ก่อนอื่นให้รู้ว่าสงสัย เห็นว่าสงสัย และเห็นความอยากในทุกทางเลือกที่ต้องการทำ
ให้ใจเราเป็นกลางในการใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง
แล้วจึงตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด และเราก็ปฏิบัติไปตามนั้น
นั่นก็จะไม่ได้เป็นการโดนหลอกครับ เพราะเราทำในสิ่งที่สมควร ไม่ได้ทำเพราะอยาก

ก่อนจบ ... ขอบอกสถานการณ์ในอนาคตสำหรับบางท่านให้ทราบนะครับว่า
ในหลายคราว เราได้ตัดสินใจพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดได้แล้วนะครับ
แต่ปรากฏว่าในท้ายที่สุด เราเองก็กลับไปทำในทางเลือกที่ไม่เหมาะสมอยู่ดี
เช่น รู้อยู่แล้วว่าไม่ควรจะเสียเงินซื้อของชิ้นนี้เลย แต่ก็ซื้อมาจนได้
รู้อยู่แล้วว่าไม่ควรจะไปที่นั่นเลย แต่ก็ยังไปจนได้
รู้อยู่แล้วว่าไม่ควรจะทำสิ่งนั้นเลย แต่แล้วก็ยังไปทำจนได้
รู้อยู่แล้วว่าไม่ควรจะไปสนใจเขาเลย แต่ก็ยังไปสนใจเขาจนได้
รู้อยู่แล้วว่าไม่ควรจะไปตามใจหรือยอมเขาเลย แต่ก็ยังไปตามใจหรือยอมเขาจนได้
รู้อยู่แล้วว่าไม่ควรจะไปทะเลาะกับเขาเลย แต่ก็ยังไปทะเลาะจนได้ เป็นต้น
เรียกได้ว่าเลือกทำในทางที่ไม่สมควรทั้ง ๆ ที่รู้นะครับ
หากจะคิดให้สบายใจบ้าง ผมก็ขอบอกว่า อย่างน้อยเราก็ยังจะพอรู้นะครับว่า
สิ่งที่เหมาะสม และควรทำคืออะไร และเรายังมีโอกาสที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ในอนาคต
แต่เราหากทำไปด้วยความอยากล้วน ๆ แต่โดนหลอกว่าเหมาะสม ก็จะยิ่งหลงทางหนักขึ้น
ซึ่งในกรณีหลังนี้โอกาสในการปรับปรุงตัวและแก้ไขตนเองจะทำยากกว่าในกรณีแรกครับ
แต่ไม่ควรนำข้อนี้มาเป็นข้อแก้ตัวว่า ตนเองสามารถเลือกทำในสิ่งที่ไม่สมควรไปเรื่อยนะครับ
รู้ว่าสิ่งใดไม่สมควรแล้ว ก็ต้องพยายามเลี่ยง
รู้ว่าสิ่งใดสมควรแล้ว ก็ต้องพยายามทำครับ