Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๑

แผนที่และวิธีการเดินทาง

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


dhammajaree-111
photo by Silawat
http://silawat.multiply.com/photos/album/56/Trip_to_Jasper_and_Mt._RobsoN#photo=86

ในตอนที่แล้วเราได้คุยกันถึงเรื่องเป้าหมายที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตไปแล้ว
โดยได้ข้อสรุปว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทำให้เราไปถึงนิพพาน
ถือเป็นเป้าหมายที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตมนุษย์เรา
เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว หากเราได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวมั่นใจแล้วว่า
เราต้องการจะได้สิ่งที่มีคุณค่าที่สุด เราต้องการมุ่งไปสู่เป้าหมายที่มีคุณค่าที่สุด
ย่อมเท่ากับว่าเราเลือกจะศึกษาและปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เพื่อที่จะนำพาตัวเราเองให้บรรลุธรรมและไปถึงซึ่งนิพพาน

ในการนี้ เราก็จะต้องทราบก่อนถึงวิธีการปฏิบัติเพื่อมุ่งไปยังเส้นทางสู่นิพพานนั้น
เสมือนกับว่าก่อนที่เราจะเดินทางไปสู่สถานที่เป้าหมายใด ๆ ก็ตาม
หากเราไม่ทราบเส้นทางไปที่แน่นอน เราก็ควรจะต้องหาแผนที่เพื่อ
ศึกษาเส้นทางและวิธีการไปให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อที่จะได้เดินทางไปได้ถูกทาง
การที่เราจะรีบเร่งออกเดินทางไปโดยยังไม่รู้เส้นทางที่ถูกต้องนั้น
ไม่ได้เป็นประโยชน์เสมอไป เพราะอาจจะเป็นการเร่งรีบเดินทางไปผิดทางได้
อันจะทำให้เสียเวลาไปกันใหญ่ เพราะจะต้องเดินทางย้อนกลับมาอีก

สำหรับแผนที่และวิธีการเดินทางไปสู่นิพพานนั้น
ก็ได้แก่ ธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้แล้ว อันได้แก่
อริยสัจสี่
โดยการปฏิบัติต่อธรรมอริยสัจสี่นั้น สามารถจะพออธิบายได้ว่า
อริยสัจข้อแรก คือ
ทุกข์ซึ่งเรามีหน้าที่ที่จะต้องรู้ ทุกข์ ตามความเป็นจริง
อริยสัจข้อสอง คือ
สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) ซึ่งเรามีหน้าที่ที่จะต้องละ สมุทัย
อริยสัจข้อสาม คือ
นิโรธ(ความดับทุกข์) ซึ่งเรามีหน้าที่ที่ต้องทำให้แจ้งซึ่ง นิโรธ
อริยสัจข้อสี่ คือ
มรรคซึ่งเรามีหน้าที่ที่จะต้องทำให้เจริญซึ่ง มรรค

การบอกสั้น ๆ ว่าให้เรารู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ และเจริญซึ่งมรรคนี้
อาจจะเข้าใจได้ยากนะครับว่า จะต้องทำอย่างไรบ้าง
หากจะให้ง่ายกว่านั้นหน่อย ก็ควรจะลองพิจารณาถึง “ไตรสิกขา” ก็ได้
“ไตรสิกขา” หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ต้องศึกษา ๓ ประการอันประกอบด้วย
“อธิศีลสิกขา” “อธิจิตตสิกขา” และ “อธิปัญญาสิกขา”
“อธิศีลสิกขา” ได้แก่ ข้อปฏิบัติสำหรับพัฒนาในเรื่องศีล การประพฤติตั้งอยู่ในศีล
เช่น ศีล ๕ หรือศีล ๘ เป็นต้น และรวมถึง “อินทรียสังวรศีล” ด้วย
“อินทรียสังวรศีล” ได้แก่ การสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
โดยระมัดระวังไม่ให้กิเลสเข้าครอบงำใจในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖
“อธิจิตตสิกขา” ได้แก่ การศึกษาในเรื่องจิต การอบรมพัฒนาจิตใจเพื่อให้เกิดสมาธิ
และความมั่นคง พร้อมทั้งคุณสมบัติทั้งหลายที่เกื้อกูลเหมาะสมแก่การเจริญปัญญา
เช่น สติ ขันติ เมตตา กรุณา สดชื่น เบิกบาน เป็นสุข ผ่องใส เป็นต้น
“อธิปัญญาสิกขา” ได้แก่ การศึกษาในเรื่องวิปัสสนาปัญญาที่รู้ความจริงแห่งไตรลักษณ์
การฝึกอบรมพัฒนาปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
อันจะทำให้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ ปราศจากกิเลส และความทุกข์
(หมายเหตุ - ความหมายของคำทั้งหลายข้างต้นนี้ ผู้เขียนได้ศึกษาและอ้างอิงส่วนหนึ่ง
จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต))

หากท่านไหนได้ศึกษาและปฏิบัติเรื่อง “ไตรสิกขา” แล้ว เห็นว่ายังยากเกินไป
และยังไม่ค่อยจะเข้าใจอีก ก็ยังมีที่น่าจะเข้าใจง่ายกว่านั้นอยู่อีกนะครับ
กล่าวคือ ขอแนะนำให้ท่านจำและทำเพียง ๓ อย่างเท่านั้นเองได้แก่
๑ “สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง” แปลว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง
๒ “กุสะลัสสูปะสัมปะทา” แปลว่า การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓ “สะจิตตะปะริโยทะปะนัง” แปลว่า การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ
หากสามารถประพฤติทั้งสามข้อนี้ไปได้เรื่อย ๆ ก็ยังถือว่าอยู่บนเส้นทางเช่นกัน

ในระหว่างการปฏิบัติภาวนาเพื่อมุ่งบรรลุธรรมและไปถึงนิพพานนี้
ระหว่างทางนั้น เราอาจจะมีข้อสงสัยว่า เรายังอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่
หรือว่าเราได้ลงข้างทาง หรือว่าหลงทางเข้าป่าอเมซอนไปแล้ว
ก็ขอแนะนำว่า เราสามารถตรวจสอบหรือวัดผลระหว่างทางปฏิบัติได้
ด้วยการพิจารณาตนเองด้วยตัวเอง โดยพิจารณาว่าอกุศลกรรมได้ลดลงเพียงไร
โลภ โกรธ หลงได้เบาบางลงเพียงไร ลดละเลิกได้มากน้อยแค่ไหน
คุณธรรมและกุศลธรรมต่าง ๆ ได้เจริญขึ้นเพียงไร มีสติมากน้อยเพียงไร

เราสามารถพิจารณาความเจริญของกุศลธรรมได้ โดยพิจารณา ๕ ประการ ดังนี้
ประการที่ ๑ ดูว่าเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นกุศลมากขึ้นหรือไม่
เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองที่จะพัฒนาธรรมและกุศลกรรมขึ้นไปหรือไม่
เมื่อมีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยมากขึ้น ก็เรียกว่า มี “ศรัทธา” มากขึ้น
ประการที่ ๒ ดูว่าประพฤติตนอยู่ในศีลและสุจริตมากขึ้นไหม
เรียกสั้น ๆ ว่ามี
ศีลดีขึ้นไหม บริบูรณ์มากขึ้นหรือเปล่า
ประการที่ ๓ ดูว่าเรามีความรู้ในทางธรรมะมากขึ้นไหม
และเพียงพอสำหรับการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมต่อ ๆ ไปหรือไม่
เรียกสั้น ๆ ว่ามี
สุตะมากขึ้นหรือไม่
ประการที่ ๔ ดูว่าเราลดละกิเลสได้มากขึ้นไหม มีความเสียสละมากขึ้นไหม
มีน้ำใจเห็นแก่เพื่อนมนุษย์เห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้นไหม
มีจิตใจกว้างขวางโปร่งเบามากขึ้นไหม เรียกสั้น ๆ ว่ามี
จาคะมากขึ้นไหม
ประการที่ ๕ คือ ดูว่ามีความรู้ความเข้าใจในความจริงของสิ่งทั้งหลายมากขึ้นไหม
มองเห็นเหตุปัจจัยและความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายชัดเจนหรือไม่
เรียกสั้น ๆ ว่ามี
ปัญญา มากขึ้นหรือไม่

อีกวิธีการหนึ่งที่จะตรวจสอบได้ว่าเรายังอยู่ในเส้นทางหรือไม่ ก็คือ
ดูสภาพจิตใจของตัวเองไปด้วยว่าเป็นอย่างไร
โดยสภาพของจิตใจที่ปฏิบัติธรรมมาถูกทางนั้น ก็ควรมีลักษณะ ๕ อย่าง ได้แก่
๑ มี
ปราโมทย์ได้แก่ ความแช่มชื่น ร่าเริง เบิกบานใจ
๒ มี
ปีติได้แก่ ความอิ่มใจ ความปลาบปลื้มใจ ใจฟูขึ้น
๓ มี
ปัสสัทธิได้แก่ ความรู้สึกผ่อนคลายกายใจ ใจเรียบรื่น ระงับลง เย็นสบาย
๔ มี
สุขได้แก่ ความสุข ความคล่องใจ โปร่งใจ ไม่มีความติดขัด บีบคั้น
๕ มี
สมาธิได้แก่ ความมีใจตั้งมั่น สงบ อยู่ตัว อยู่กับงานที่ทำหรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง
โดยไม่วอกแวก และไม่ฟุ้งซ่าน ซึ่งพอสมาธิเกิดขึ้นแล้ว จิตใจก็มีสภาพเหมาะแก่งาน
ที่เรียกว่าเป็น
กัมมนีย์ พร้อมที่จะเอาไปใช้สร้างสรรค์พัฒนาปัญญาได้ต่อไป
โดย “สมาธิ” ก็อาศัยองค์ธรรม ๔ อย่างแรกนั่นแหละที่ช่วยเกื้อหนุนและทำให้เกิดขึ้น
(หมายเหตุ - วิธีการตรวจสอบทั้งสองวิธีข้างต้น ผู้เขียนได้ศึกษาและอ้างอิงส่วนหนึ่งจาก
หนังสือชื่อว่า
ปฏิบัติธรรมให้ถูกทางของพระพรหมคุณากรณ์ (ป.อ. ปยุตโต))
หากท่านไม่ทราบว่าจะใช้วิธีการไหนจึงจะเหมาะสมแล้ว
ผมก็ขอแนะนำว่าให้ใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไปครับ

บางท่านอาจจะบอกกับตัวเองและคนอื่น ๆ ว่า ไม่ต้องไปสนใจนิพพานหรอก
เพราะเข้าใจว่านิพพานนั้นไม่มีอะไร นิพพานนั้นเป็นเพียงความว่าง
สู้ทำบุญกุศลมาก ๆ เพื่อไปสวรรค์เป็นเทวดาไม่ได้หรอก มีความสุขกว่าเยอะ
หากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องขอเรียนว่าท่านกำลังเข้าใจผิดเสียแล้ว
เพราะแม้จะเป็นเทวดาก็ตาม ก็ยังมี “ทุกข์” อย่างเทวดาได้
สวรรค์ก็มีหลายชั้น โดยในแต่ละชั้นก็มีความสุขไม่เท่ากัน
เทวดาแต่ละองค์ก็มีวิมานสวยงามไม่เท่ากัน มีรัศมีและอิทธิฤทธิ์ไม่เท่ากัน
มีนางฟ้าบริวารและสวรรค์สมบัติต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกัน
เป็นเทวดาก็ยังมีตาย และหลังจากตายแล้ว ก็ยังไปนรกได้ ยังไปอบายภูมิอื่น ๆ ได้
เช่น เปรต สัตว์เดรัจฉาน หรืออสุรกายตามผลแห่งกรรมของตนนั้น
และหากสวรรค์สมบัติจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดจริง ๆ มีคุณค่าที่สุดจริง ๆ แล้ว
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย และพระอรหันต์ทั้งหลายที่ได้บำเพ็ญกุศลอย่างมากมาย
ก็คงจะอยู่เพลิดเพลินกับสวรรค์สมบัติ โดยไม่มุ่งไปนิพพานแล้วล่ะครับ
นอกจากนี้ ก็ยังมีเหตุผลอื่นอีก แต่เพียงย่อ ๆ เท่านี้ก็น่าจะพอเข้าใจได้นะครับว่า
นิพพานนั้นเป็นสมบัติที่มีคุณค่ากว่าสวรรค์สมบัติ (และมนุษย์สมบัติ) มากมายนัก

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ชาวพุทธหลาย ๆ ท่านไปหลงติดอยู่เพียงมุ่งหวังสวรรค์สมบัติ
อันเป็นการมุ่งสู่เป้าหมายที่มีคุณค่าน้อย และเป็นการมองต่ำเกินไป
หลาย ๆ ท่านก็ไปติดแค่เพียงว่า ขอเป็นคนดีมีคุณธรรมตามจริยธรรมสากลก็พอแล้ว
ทั้งที่จริงแล้ว เป้าหมายตามคำสอนในศาสนาพุทธนั้น คือให้เหนือกว่าดีและชั่วขึ้นไปอีก
ในที่นี้ ผมขออ้างถึงคำสอนของท่านพุทธทาส จากหนังสือชื่อ “ตัวกูของกู”
โดยในบทที่หนึ่งเรื่อง “ปรับความเข้าใจ” ได้กล่าวไว้บางส่วน ดังนี้

... พุทธศาสนิกชนไทยที่นับถือพุทธศาสนาในลักษณะที่คนอื่นมองเห็นว่าเคร่งครัด
แต่ความจริงคนนั้นยังเข้าไม่ถึงตัวแท้แห่งพุทธศาสนาเลย ก็มีอยู่เป็นอันมากทีเดียว
แล้วคนพวกนี้เองที่เป็นคนหัวดื้อถือรั้นหรืออวดดี จนกระทั่งยกตนข่มผู้อื่นที่เขารู้ดีกว่า

การเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยวิธีปรัมปรา หรือปฏิบัติตาม ๆ กันมาอย่างงมงายนั้น
แม้จะได้กระทำสืบ ๆ กันมาตั้งหลายชั่วบรรพบุรุษ
แต่ก็หาสามารถทำให้เข้าถึงตัวแท้แห่งพุทธศาสนาได้ไม่
มีแต่จะกลายเป็นของหมักหมมทับถมกันมากเข้า
จนเกิดความเห็นผิดใหม่ ๆ ขึ้นมากลายเป็นพุทธศาสนาเนื้องอกไปหมด
ทำให้ห่างจากตัวแท้ของพุทธศาสนาออกไปเรื่อย ๆ
จนกระทั่งเกิดการกลัวต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน
ซึ่งเราได้ยินกันอยู่ทั่ว ๆ ไปในหมู่พุทธบริษัทชาวไทยสมัยนี้
ที่ห้ามไม่ให้พูดกันถึงเรื่องมรรค ผล นิพพาน ใครขืนพูดคนนั้นจะถูกหาว่าอวดดี
หรือถูกหาว่านำเอาเรื่องที่เหลือวิสัยมาพูด แล้วก็ขอร้องให้พูดกันแต่เรื่องต่ำ ๆ เตี้ย ๆ
เช่นให้พูดเรื่องจริยธรรมสากล ที่ศาสนาไหน ๆ เขาก็มีด้วยกันทั้งนั้น

นี่แหละ คือสถานะอันแท้จริงของการศึกษาและปฏิบัติพุทธศาสนาในประเทศไทย
มีผลทำให้พุทธบริษัทชาวไทยกลายเป็นชาวต่างศาสนาของตนไป ...

ในท้ายที่สุดนี้ หากเราได้ตัดสินใจที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายที่มีคุณค่าที่สุดแล้ว
เราก็ต้องมีความเชื่อนะครับว่า ของฟรี ๆ ไม่มีในโลก ... ของทุกอย่างต้องลงทุน
แม้กระทั่งของดี ๆ บางอย่างที่ดูเหมือนว่า เราจะได้มาฟรี ๆ ก็ตาม
แต่แท้จริงแล้ว เราก็ได้มาเพราะผลแห่งกุศลกรรมเดิมที่ได้ทำไว้ดีแล้วในอดีต
ดังนั้นแล้ว เราก็ต้องมีความขยันและพากเพียร โดยมุ่งศึกษาและปฏิบัติ “ไตรสิกขา”
อย่างต่อเนื่องและไม่ย่อท้อ ซึ่งเดินไปอย่างต่อเนื่องทุกวัน ๆ
สักวันหนึ่งก็จะถึงเป้าหมายได้ครับ เหมือนอย่างที่สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา
และพระอริยสาวกทั้งหลายที่ท่านได้ไปถึงเป้าหมายเป็นตัวอย่างให้แก่เราทุกคนแล้ว

(ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของเรื่องนี้ ซึ่งได้เขียนมา ๑๐ ตอนต่อเนื่องกันใน ๒๐ สัปดาห์
ในตอนหน้าจะได้คุยเรื่องอื่นต่อไปนะครับ)