Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๑๐

ค้นหาเป้าหมายที่มีคุณค่าที่สุด (ตอนที่สาม)

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree110-1
photo by Silawat
http://silawat.multiply.com/photos/album/10/Hot_and_coLD#photo=3.jpg

ในตอนที่แล้วเราได้พิจารณาอีกหลายสิ่งหลายอย่าง
แต่ก็ไม่พบว่าจะมีสิ่งไหนที่จะผ่านเกณฑ์สามข้อที่เราพิจารณากันอยู่เลยสักอย่าง
ในคราวนี้ เราก็จะมาพิจารณาสิ่งสุดท้ายกันครับซึ่งก็คือ
"ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่สามารถทำให้เราข้ามพ้นจากสังสารวัฏได้"
หรือจะขอเรียกสั้น ๆ ว่า "อริยสัจสี่" ซึ่งเป็นธรรมะที่นำเราไปสู่นิพพานได้
เราลองนำเรื่องอริยสัจสี่มาพิจารณาเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ ๓ ข้อกันนะครับ
ก่อนอื่นนั้น ต้องทราบกันก่อนครับว่า อริยสัจสี่นั้นประกอบด้วย
เรื่องทุกข์ สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) และมรรค (หนทางดับทุกข์)

ข้อพิจารณาประการแรกคือ ธรรมะอริยสัจสี่จะช่วยยังประโยชน์ให้แก่ชีวิตเรา
ในปัจจุบันและในอนาคตระยะยาวหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่า
หากเราสามารถรู้ทุกข์ ละสมุทัย (ละเหตุแห่งทุกข์) แจ้งนิโรธ (แจ้งความดับทุกข์)
และเจริญมรรค (เจริญในหนทางดับทุกข์) ได้ตามสมควรแก่ธรรมแล้ว
ก็ย่อมจะเป็นหนทางช่วยทำให้เราพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
รวมทั้งไม่ก่อเหตุแห่งทุกข์ขึ้นมาใหม่อีกในอนาคต
จึงย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเราในปัจจุบัน และในอนาคตระยะยาวนะครับ

ที่น่าสังเกตคือ การรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ และเจริญมรรคเหล่านี้
ไม่ได้ทำให้เรามีทุกข์เพิ่มขึ้นนะครับ และไม่ได้สร้างเหตุแห่งทุกข์อื่น ๆ เพิ่มเติม
ซึ่งแตกต่างจากสิ่งอื่น ๆ หลายอย่างที่เราได้กล่าวและพิจารณามาแล้ว
โดยสำหรับสิ่งอื่น ๆ นั้น หากได้มาแล้ว ดูเหมือนจะมีความสุข
แต่ว่าก็มีความทุกข์พ่วงแถมมาด้วย เช่นว่า ทุกข์เพราะห่วงกังวล
ทุกข์เพราะอยากให้คงไว้ หรือทุกข์ที่ต้องคอยเฝ้าติดตามดูแลรักษา เป็นต้น

ในประการต่อมา ธรรมะเรื่องอริยสัจสี่จะสามารถให้ความสุขอย่างถาวรได้หรือไม่
หรือจะสามารถให้เพียงแค่ความสุขเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ในประเด็นนี้ ขออาศัยตอบตามตำรานะครับว่า
อริยสัจสี่เป็นธรรมที่สามารถนำเราไปสู่นิพพานได้
โดยที่การไปสู่นิพพานนั้นเป็นกิจที่ทำเพียงครั้งเดียว
หากผู้ใดได้ไปถึงนิพพานแล้ว จะสามารถรู้ชัดได้ด้วยตนเองว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก
อนึ่ง ผู้รู้ทั้งหลายที่ได้รับรสแห่งความสุขในนิพพานแล้วล้วนกล่าวยืนยัน
เป็นเสียงเดียวกันว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง (นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง)
ในเมื่อนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง และการไปสู่นิพพานเป็นกิจที่ทำเพียงครั้งเดียว
ไม่ต้องทำใหม่หลายรอบหลายคราว ดังนั้นแล้ว อริยสัจสี่จึงเป็นธรรมะที่นำพาเรา
ไปสู่ความสุขที่ถาวร และไม่ใช่ความสุขเพียงชั่วครั้งชั่วคราวซึ่งแตกต่างกับ
สิ่งอื่น ๆ ที่ได้ยกมากล่าวและพิจารณาก่อนหน้านี้

ข้อพิจารณาประการต่อมาคือ ธรรมะในเรื่อง "อริยสัจสี่" เป็นสิ่งที่หาได้ยากในอดีต
ในปัจจุบัน และในอนาคตหรือไม่ ในหลักเกณฑ์นี้บางส่วนต้องตอบตามตำรา
แต่บางส่วนจะตอบตามข้อเท็จจริงที่เราเห็นได้ในปัจจุบันนะครับว่า
แม้ว่าโอกาสการจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งหาได้ยากมากก็ตาม
แต่ว่าโอกาสการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งหาได้ยากกว่ามากมาย
และโอกาสการจะได้เรียนรู้ธรรมและบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งหายากยิ่งกว่า

ในพระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
ปฐมฉิคคฬสูตร ว่าด้วย ความเป็นมนุษย์ยาก ได้เล่าว่า
พระพุทธเจ้าได้ทรงอุปมาไว้ว่าการได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก
เปรียบเสมือนว่าในห้วงมหาสมุทรมีเต่าตาบอดตัวหนึ่งดำน้ำอยู่ใต้ท้องทะเล
ในทุก ๆ ๑๐๐ ปี เต่าตาบอดตัวนี้จะโผล่ศีรษะขึ้นมาพ้นเหนือพื้นผิวทะเลครั้งหนึ่ง
โดยในมหาสมุทรนั้นก็มีห่วงเล็ก ๆ ซึ่งขนาดใหญ่กว่าศีรษะของเต่าตัวนั้นไม่มาก
ลอยอยู่ด้วย ๑ ห่วง ดังนี้ โอกาสที่เต่าตาบอดตัวนั้นจะโผล่ศีรษะขึ้นมาเหนือพื้นผิวทะเล
แล้วศีรษะของเต่าตาบอดนั้นไปสอดเข้าห่วงนั้นได้พอดี
โอกาสนั้นก็ยังจะมีมากกว่าการที่เหล่าสัตว์ทั้งหลายจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์เสียอีก

ในอรรถกถาของทุติยฉิคคฬสูตร ว่าด้วย การได้ความเป็นมนุษย์ แสนยาก
พระมหาสีวเถระได้อธิบายเปรียบเทียบว่า
สมมุติให้พื้นที่ระหว่างขอบจักรวาลนี้เป็นท้องมหาสมุทรมีน้ำทะเล
และมีเต่าตาบอดตัวหนึ่งดำน้ำอยู่ในท้องมหาสมุทรนั้นเนิ่นนาน
ในทุก ๆ ๑๐๐ ปี เต่าตาบอดตัวนี้จะโผล่ศีรษะขึ้นมาพ้นเหนือพื้นผิวทะเลครั้งหนึ่ง
การที่จะได้ถึงความเป็นมนุษย์นั้นยากเสมือนกับการที่เต่าตาบอดตัวนั้น
จะโผล่ขึ้นมาพ้นเหนือพื้นผิวทะเล และสวมศีรษะเข้าไปในห่วงเล็ก ๆ
ที่บุคคลที่ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศตะวันออกได้โยนลงไป

และได้เปรียบเทียบต่อไปว่าการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นยากยิ่งกว่า
เปรียบเสมือนว่าบุคคลที่ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศใต้ได้โยนห่วงอีกอันหนึ่ง
ลงไปในท้องมหาสมุทร (จากเดิมที่มีบุคคลที่ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาล
ด้านทิศตะวันออกได้โยนห่วงลงไปแล้วอันหนึ่ง)
และเต่าตาบอดมีโอกาสสวมศีรษะเข้าไปในห่วงสองอันนั้น
ในช่วงเวลาที่ห่วงอันที่สองได้ลอยมาซ้อนกับห่วงอันแรกพอดี

และได้เปรียบเทียบต่อไปว่าการแสดงธรรมและวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรง
ประกาศแล้วได้ชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดยากยิ่งกว่า โดยเปรียบเสมือนว่า
บุคคลที่ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศตะวันตกได้โยนห่วงอีกอันหนึ่ง
ลงไปในท้องมหาสมุทร (จากเดิมที่มีบุคคลที่ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาล
อีกสองทิศได้โยนห่วงลงไปแล้วคนละอันรวมเป็นสองอันแต่เดิม)
และเต่าตาบอดมีโอกาสสวมศีรษะเข้าไปในห่วงสามอันนั้น
ในช่วงเวลาที่ห่วงทั้งสามอันได้ลอยมาซ้อนกันพอดี

และได้เปรียบเทียบต่อไปว่าการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจสี่เป็นสิ่งที่เกิดยากยิ่งกว่า
โดยเปรียบเสมือนว่าบุคคลที่ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศเหนือได้โยนห่วงอีกอันหนึ่ง
ลงไปในท้องมหาสมุทร (จากเดิมที่มีบุคคลที่ยืนอยู่ที่ขอบปากจักรวาล
อีกสามทิศได้โยนห่วงลงไปแล้วคนละอันรวมเป็นสามอันแต่เดิม)
และเต่าตาบอดมีโอกาสสวมศีรษะเข้าไปในห่วงสี่อันนั้น
ในช่วงเวลาที่ห่วงทั้งสี่อันได้ลอยมาซ้อนกันพอดี

หากเราไม่ดูตามตำรา แต่จะพิจารณาตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ก็จะเห็นได้ว่าโลกเรามีมนุษย์มาตั้งแต่หลายหมื่นปีก่อนแล้ว (หรืออาจจะก่อนหน้านั้นอีก)
แต่พุทธศาสนานั้นเพิ่งมีมาแค่เพียง ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง
ธรรมะในเรื่องอริยสัจสี่นั้นก็ไม่ได้มีในทุกประเทศในโลก ไม่ได้มีแพร่หลายในโลกใบนี้
หากแต่มีในบางประเทศ บางเมือง บางตำบล บางหมู่บ้าน และบางสถานที่เท่านั้น
แม้ในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับกันว่าเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนาก็ตาม
การสอนธรรมะที่มุ่งให้เข้าถึงเรื่องอริยสัจสี่อย่างจริงจัง
หรือให้เรามุ่งแน่วแน่ไปสู่พระนิพพานอย่างจริงจังนั้น ก็ไม่ได้มีมากมายแพร่หลายเท่าไรนัก
มีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่ให้มุ่งหมายเพียงแค่มนุษย์สมบัติ (ขอให้ร่ำรวย
หน้าที่การงานเจริญรุ่งเรือง อายุยืน เป็นต้น) หรือสวรรค์สมบัติ (ขอให้ได้เป็นเทวดา เป็นต้น)
นอกจากนี้ หากจะเปรียบเทียบกับการแพร่หลายของเรื่องกิเลสประโลมโลกแล้ว
ยิ่งจะพบว่ามีจำนวนมากมายอย่างเทียบไม่ติด การชักจูงใจให้ไปหลงยึดติดกับกิเลสนั้น
มีอยู่อย่างดาษดื่นมากมายแพร่หลายทั่วไป
เพราะฉะนั้นแล้ว ธรรมะในเรื่องอริยสัจสี่จึงเป็นสิ่งที่หาได้ยาก

มาถึงขณะนี้แล้ว ก็ขอสรุปนะครับว่า
ธรรมะอริยสัจสี่ที่พระพุทธองค์ได้สั่งสอนนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด
หรือเป็นเป้าหมายที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตของมนุษย์เราที่จะพึงไขว่คว้ามาได้
โดยเป็นสิ่งที่ช่วยยังประโยชน์ให้แก่ชีวิตเราในปัจจุบัน และในอนาคต
เป็นสิ่งที่ช่วยพาเราให้ไปถึงนิพพานอันเป็นความสุขที่ถาวรไม่ใช่ความสุขชั่วคราว
เป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ จะได้มีโอกาสมาพบประสบเจอในสังสารวัฏนี้

เคยมีเพื่อนท่านหนึ่งถามผม โดยเธอเห็นผมหันมาสนใจศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง
จากเดิมที่สมัยก่อนนั้น ผมก็ทำงานยุ่งวุ่นวาย และมุ่งสนใจในเรื่องโลก ๆ อยู่มาก
เธอถามว่า ทำไมผมจึงหันมาสนใจเรื่องธรรมะล่ะ?
ผมถึงวัยแก่ชราแล้วเหรอ? มีเรื่องผิดหวังเสียใจอะไรเหรอ? เครียดมากเหรอ?
ผมไม่สามารถที่จะไปถึงเป้าหมายในทางโลก ๆ ที่เคยฝันไว้แล้วเหรอ?

ผมตอบว่า ไม่ใช่ทั้งหมดเลย
ที่มาสนใจธรรมะนี้ เพราะว่าผมต้องการได้สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับชีวิต
ต้องการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุดที่ได้เกิดมาบนโลกใบนี้
ซึ่งที่ผ่านมานั้น ผมก็ได้เคยใช้ชีวิตอย่างโลก ๆ ตะลอน ๆ ค้นหาไปทั่วแล้ว
แต่ก็ไม่พบอะไรที่เป็นแก่นสารของจริง
ไม่พบอะไรที่จะยังประโยชน์ให้ในระยะยาวได้จริง
ไม่พบอะไรที่จะให้ประโยชน์สุขอย่างถาวรได้จริง
ของโลก ๆ ทั้งหลายมีแต่สุขแถมทุกข์ หรือสุขชั่วคราวและหายไปอย่างรวดเร็ว
ไม่พบอะไรที่จะเป็นสิ่งของที่หายากและมีคุณค่าจริง
จนท้ายที่สุด ก็มาพบว่าธรรมะอริยสัจสี่ที่พระพุทธเจ้าทรงได้สอนไว้นี่แหละ
เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดในชีวิต ให้ประโยชน์ในปัจจุบัน และอนาคตระยะยาว
นำพาเราไปสู่ความสุขอย่างถาวร และไม่ใช่ความสุขเพียงชั่วคราว
และเป็นสิ่งมีคุณค่าที่หาได้ยากอย่างยิ่งในสังสารวัฏนี้

ลองเปรียบเสมือนว่าหากเราได้มีโอกาสเข้าร้านอาหารบุปเฟต์หรูราคาแพงสักแห่งหนึ่ง
เราเสียเงินเข้าไปแล้ว เราจะเลือกทานอาหารอะไรล่ะครับ
เราก็คงจะเลือกทานอาหารที่อร่อยที่สุด ราคาแพงที่สุด และหาโอกาสทานได้ยากใช่ไหม
จะมีบ้างไหมครับว่า เราเข้าไปแล้ว เลือกทานแต่ข้าวสวย ซึ่งมีกินอยู่ที่บ้านตัวเองทุกวัน
ชีวิตของคนเราก็ทำนองเดียวกันครับ
ได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้มีอวัยวะครบถ้วน สติปัญญามี และเรียนรู้ได้
ได้มีโอกาสเกิดมาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่ครบถ้วน
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะมีโอกาสได้มาพบประสบง่าย ๆ
แต่เป็นเรื่องที่พวกเรา ๆ ท่าน ๆ ต้องลงทุนสร้างสมบารมีมามากมายแต่ในอดีตแล้ว
ก็ควรจะต้องลองพิจารณาดูเองนะครับว่า
เราจะใช้ชีวิตของเราเลือกสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด หรือเราจะเลือกสิ่งที่มีคุณค่าน้อย
กินแต่ข้าวสวยในร้านบุปเฟต์หรูราคาแพงนั้น ก็เสียโอกาสเพียงแค่อาหารมื้อเดียว
แต่หากเลือกเป้าหมายชีวิตผิดแล้ว เสียโอกาสไปทั้งชีวิตแล้วล่ะครับ
และในเมื่อเราลงทุนได้สร้างสมบารมีอย่างมากมายกว่าจะมาอยู่ตรงนี้ได้
จะปล่อยให้ผ่านไปเฉย ๆ และไปคว้าเอาสิ่งมีคุณค่าน้อยเช่นนั้นหรือ
หากจะกลับมาอยู่ตรงนี้อีกครั้งหนึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แล้วละครับ
ลองนึกถึงอุปมาเรื่องเต่าตาบอดไว้นะครับ

(ในตอนหน้าจะเป็นตอนสุดท้ายของเรื่องนี้ครับ
โดยจะคุยถึงเรื่องแผนที่และวิธีการเดินทางไปสู่เป้าหมายอันมีคุณค่าที่สุดนี้)