Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๐๘

ค้นหาเป้าหมายที่มีคุณค่าที่สุด

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.




dharmajaree-108
photo by Silawat
http://silawat.multiply.com/photos/album/9/so_so#photo=9.jpg

ก่อนที่เราจะไปกันต่อ ... ผมจะขอย้อนอดีตสักเล็กน้อยนะครับ
เพราะว่าเราคุยติดต่อกันมา ๖ ตอน เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนครึ่งแล้ว
ผมก็เกรงว่าบางท่านอาจจะลืมไปแล้วว่าเราเริ่มจากตรงไหน
หรืออาจจะงงว่า ขณะนี้เราอยู่ตรงไหนของเรื่องราวแล้ว

เมื่อเริ่มต้นเรื่อง ผมได้คุยให้ฟังว่าสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเราคือ “สัมมาทิฏฐิ”
เพราะหากปราศจากสัมมาทิฏฐิแล้ว แต่เรากลับขยันทำอะไรเยอะแยะ
สิ่งที่เราขยันทำเยอะแยะมากมายนั้น อาจจะยิ่งเป็นโทษมหาศาลแก่ชีวิตเราเองก็ได้
และเป้าหมายทิศทางในชีวิตที่เรากำลังมุ่งไปนั้น อาจจะเป็นเส้นทางมุ่งไปสู่มหัตภัยก็ได้

ผมยังไม่ได้เล่าว่า เราจะสร้างสัมมาทิฏฐิกันอย่างไรนะครับ (ซึ่งจะขอรวบเก็บไปเล่าทีหลัง)
แต่ว่าได้ข้ามมาคุยเรื่องการค้นหาเป้าหมายที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิต
เพื่อจะนำมากำหนดเป้าหมายและเส้นทางเดินของชีวิตเรานั้น
โดยได้แนะนำก่อนว่า เราจะต้องมองกันยาว ๆ ไม่ได้มองแค่เพียงชีวิตนี้ชีวิตเดียว
แต่จะต้องมองทั้งในชีวิตอดีตที่ผ่านมา และมองไปถึงชีวิตในอนาคตข้างหน้าด้วย
(โดยอธิบายไปแล้วว่า เราสามารถมองได้โดยอาศัยหลัก “อิทัปปัจจยตา”)
ซึ่งมาถึงในตอนนี้ เราก็จะมาค้นหาเป้าหมายที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับชีวิตกันครับ

บางท่านอาจมีคำถามว่า “เราจะดำรงชีวิตไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีเป้าหมายไม่ได้หรือไง”
ก็คงจะต้องลองให้ท่านถามตัวเองว่า “สมมุติให้ท่านเดินทางออกมานอกบ้านหนึ่งวัน
โดยไม่มีเป้าหมาย โดยไม่ทราบว่าตนเองจะต้องทำอะไรบ้าง เดินไปเรื่อยเปื่อย ไม่รู้ไปไหน
ไม่รู้ว่าจะทำอะไร พอตกเย็น ก็กลับบ้าน ปรากฏว่าไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์เลย
เช่นนี้ จะเป็นการเสียเวลาในวันนั้นหรือไม่”
(หากท่านสามารถเลือกได้แล้ว ท่านนำเวลาในวันนั้นไปทำประโยชน์จะดีกว่าไหม
อาจจะใช้เวลานั้นไปทำงานที่คั่งค้าง ทำกิจธุระส่วนตัว ทำงานบ้าน หรือพักผ่อน เป็นต้น)

หากท่านเห็นว่า การเดินออกมานอกบ้านหนึ่งวันไปอย่างเรื่อยเปื่อย ไม่มีจุดหมาย
ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้างนี้ เป็นการเสียเวลาในวันนั้นหนึ่งวันแล้ว
หากชีวิตของเราไม่มีเป้าหมายเลย ไม่ทราบว่าควรต้องทำอะไรบ้าง
เท่ากับว่าชีวิตของเรานั้น เสียเวลาชีวิตไปทั้งชีวิตเลย
และอาจจะไม่ได้ใช้เวลาในชีวิตนี้ สร้างประโยชน์ใด ๆ หรือสร้างประโยชน์เท่าที่ควรเลย

ควรเข้าใจว่า “หลงเป้าหมาย” กับ “หลงทาง” นั้นแตกต่างกันเยอะนะครับ
หากเราวางเป้าหมายที่ดีไว้แล้ว แต่เราเกิดเดินหลงทางไปในทางไม่ดี
เราเดินทางไปสักช่วงหนึ่ง เราอาจจะเห็นได้เองหรืออาจจะทราบได้เมื่อมีคนมาเตือน
ว่าขณะนี้เราเดินหลงทางอยู่ เดินผิดทางอยู่ หรือหลงเดินไปในทางไม่ดีอยู่
เช่นนี้ เรายังสามารถหาหนทางเพื่อกลับไปเดินไปในทางที่ดีและไปสู่เป้าหมายที่ดีได้
แต่หากเราวางเป้าหมายไม่ดีไว้แต่แรก เราก็อาจเริ่มต้นด้วยการเดินทางในทางไม่ดีไปเลย
ต่อให้ว่าจะหลงทางเดินทางไปในทางดีก็ตาม ไปได้สักช่วงก็อาจจะเห็นว่าเดินผิดทาง
แล้วก็จะขวนขวายที่จะหาหนทางเพื่อเดินไปในทางไม่ดี เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ไม่ดีนั้น
ดังนั้นแล้วเห็นว่า “หลงเป้าหมาย” นั้นมีโทษหนักหนากว่า “หลงทาง” เสียอีก
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะต้องวางเป้าหมายให้ดีให้ถูกต้องเสียแต่แรก

สำหรับการที่เราจะพิจารณาเป้าหมายที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับชีวิตนี้
ขอให้เราได้ลองตั้งคำถามกับตัวเองนะครับว่า
“ในการพิจารณาเลือกเป้าหมายที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับชีวิต
เราจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกอย่างไรบ้าง???

มีเพื่อนท่านหนึ่งเคยแนะนำผมว่า
ให้พิจารณาว่า หากไม่ได้ทำสิ่งใดแล้วเราจะเสียใจนั่นแหละเป็นสิ่งมีคุณค่า
ผมก็ชี้แจงท่านไปว่า สิ่งที่เราไม่ได้ทำแล้วเราเสียใจ (หรือจะเสียดายก็ตามที)
มีอยู่มากมายหลายเรื่องนะครับ แต่ในหลาย ๆ เรื่องเหล่านั้น
ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าอย่างสูงสำหรับชีวิตไปทุกเรื่อง
ยกตัวอย่างว่า เราไม่ได้ไปเที่ยวงานประเพณีในสถานที่แห่งหนึ่งแล้วเราเสียใจ
หรือว่าเราไม่ได้ไปร่วมงานวันเกิดเพื่อนแล้วเราเสียใจ (หรือเสียดาย) เป็นต้น

เพื่อนท่านเดิม ก็แนะนำใหม่ว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้พิจารณาว่า
หากเราจะไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งนั้นอีกแล้ว หรือไม่สามารถหาอย่างอื่นมาทดแทนสิ่งนั้นได้
สิ่งนั้นแหละเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับชีวิต
ผมก็ชี้แจงท่านไปว่า สิ่งที่เราจะไม่มีโอกาสทำอีกแล้วนั้น ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีคุณค่าสูง
ยกตัวอย่างว่า เราไม่ได้ไปงานศพของเพื่อนคนหนึ่ง ด้วยติดภารกิจใด ๆ ก็ตาม
(เพื่อนคนนั้นคงไม่ได้มีโอกาสจัดงานศพรอบสองหรอกนะครับ
เราจึงไม่มีโอกาสไปงานศพของเพื่อนคนนั้นอีกแล้วล่ะ)
การไปงานศพเพื่อนนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิต

สำหรับสิ่งใด ๆ ที่ไม่สามารถหาอย่างอื่นมาทดแทนได้นั้น
ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตเสมอไป
ยกตัวอย่างเช่นว่า สุนัขหรือแมวที่เลี้ยงมายาวนานบางตัวได้ตายไป
และเราก็อาจจะไม่สามารถจะหาสุนัขหรือแมวตัวอื่นมาทดแทนกันได้
เพราะเรามีความรักและผูกพันอย่างมากมายกับเจ้าตัวที่ได้ตายไปนั้น
หรือแม้กระทั่งแฟนสุดที่รักตาย หรือสามีหรือภรรยาสุดที่รักได้ตายไป
ซึ่งก็ไม่สามารถจะหาคนอื่นมาทดแทนกันได้ 
ก็ไม่ได้แปลว่าสุนัขหรือแมว หรือสามีหรือภรรยานั้น
จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตของเรานะครับ

ในเรื่องนี้ ผมขอเสนอว่าหลักในการพิจารณาสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับชีวิตนั้น
ควรจะพิจารณาดังต่อไปนี้นะครับ
๑ สิ่งนั้นจะต้องให้ประโยชน์แก่ชีวิตเราทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตระยะยาว
๒ สิ่งนั้นจะต้องให้ความสุขอย่างสม่ำเสมอ (และถาวร) ไม่ใช่เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น
๓ สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่หาได้ยากในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
เราลองมาพิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ ๓ ข้อนี้กันครับ
แล้วเรามาดูกันว่า เราจะพบว่าอะไรเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด

เรามาลองพิจารณา “เงินทอง” กันก่อนเลยครับ
โดยสภาพของเงินนั้นเองไม่สามารถตอบได้ว่าให้ประโยชน์อะไรโดยตัวมันเอง
แต่เงินจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อว่า ไปใช้ทำอะไร เพื่ออะไร หรือแปรสภาพไปเป็นอะไร
หากนำเงินไปโยนลงน้ำทิ้งทั้งหมด ไปเล่นการพนันและหมดไปทั้งหมด ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
หากนำเงินไปซื้ออาหารและของใช้ในบ้าน ก็ได้ประโยชน์ก็คืออาหาร และของใช้ในบ้าน
หากไปซื้อยาบ้า ซื้อยาเสพติด ก็ได้โทษในเรื่องของยาบ้า และยาเสพติด
หากนำเงินไปทำบุญกุศลช่วยเหลือผู้อื่น ก็ได้บุญกุศลตามนั้น
หากนำเงินไปใช้ทำสิ่งบาปอกุศล หรือจ้างคนอื่นไปทำบาปอกุศล ก็จะได้บาปอกุศลตามนั้น
ดังนี้แล้ว จะเห็นว่าเงินเองนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์เสมอไป แต่ขึ้นกับการใช้ด้วย

นอกจากนี้ เงินนั้นจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการยอมรับของสังคมในเงินนั้นอยู่
หากสมมุติว่าเราเองไปติดเกาะกลางทะเลคนเดียว ติดต่อใครไม่ได้
ต่อให้มีเงินทองติดตัวไปสักหมื่นล้านก็ตาม เงินทองนั้นไม่มีค่าอะไรบนเกาะร้างนั้น
เพราะไม่ได้มีสังคมหรือคนอื่น ๆ มายอมรับมูลค่าของเงินทองนั้น
หรือยอมรับที่จะแลกเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ กับเงินทองนั้น

เงินนั้นให้ความสุขอย่างสม่ำเสมอและถาวรหรือเปล่า
ก็ตอบว่าไม่ใช่ เพราะเมื่อใช้เงินไปแล้ว เงินทองก็ลดลงร่อยหรอไปเรื่อย ๆ
ความสุขเนื่องจากการที่มีเงินนั้น ก็ลดลงตามไปด้วย จึงไม่สม่ำเสมอและไม่ถาวร
ถามว่าเงินทองนั้น เป็นสิ่งหายากหรือไม่ ดูไปแล้วก็จะเห็นได้ว่า
เงินนั้นมีในทุกประเทศทั่วโลก เงินก็เป็นสิ่งที่สามารถหาได้อยู่เรื่อย ๆ
และก็มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว เพียงแต่รูปแบบของเงินที่แตกต่างกันไปเท่านั้น
ซึ่งก็ถือได้ว่าเงินก็มีมาแต่อดีต มีในปัจจุบัน และในอนาคตสังคมก็จะใช้เงินอยู่
เพียงแต่จะอยู่ในรูปแบบอะไรเท่านั้น ดังนั้นแล้ว เงินนั้นก็ไม่ใช่สิ่งหายาก

ลองมาพิจารณา “ชื่อเสียง” กันนะครับ โดยชื่อเสียงนั้นก็ไม่ได้จะเป็นประโยชน์เสมอไป
บางคนมีชื่อเสียงมาก ๆ แล้ว ไปไหนมาไหนก็ไม่มีความเป็นส่วนตัว
ทำอะไรนิด ทำอะไรหน่อย ก็เป็นข่าวไปทั่ว ตกเป็นประเด็นสนทนาของชาวบ้านตลอด
คนมีชื่อเสียงบางคนเวลามีเรื่องข่าวเสียหาย หรือมีคนกล่าวให้ร้ายใด ๆ แล้ว
ก็จะเดือดร้อนเสียหายมากกว่าคนไม่มีชื่อเสียง
โดยยิ่งมีชื่อเสียงมากเท่าไร ก็จะเสียหายมากเท่านั้น

ในทำนองเดียวกันกับเงินทองนะครับ ชื่อเสียงนั้นจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อ
มีคนอื่น ๆ มารองรับความมีชื่อเสียงนั้น
หากเราเป็นคนมีชื่อเสียงในสังคมมาก แต่เราไปติดเกาะร้างอยู่คนเดียว
ชื่อเสียงมาก ๆ นั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรสำหรับเราบนเกาะร้างนั้นเลย

ชื่อเสียงนั้นให้ความสุขอย่างสม่ำเสมอและถาวรหรือเปล่า
ก็ตอบว่าไม่ใช่ เพราะตัวชื่อเสียงนั้นเองก็ลดลงได้เองไปตามกาลเวลา
สังเกตง่าย ๆ ว่าชื่อเสียงและความนิยมในนักร้องและดาราในอดีตนั้น
ก็ไม่ได้คงที่ถาวรจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ก็ขนาดตัวชื่อเสียงเองยังลดลง และไม่คงที่ถาวรเลย
ตัวชื่อเสียงจะสามารถมาให้ความสุขที่คงที่และถาวรแก่เราได้อย่างไร

ชื่อเสียงนั้นเป็นสิ่งที่หายากในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตหรือไม่
ก็ตอบได้ว่าตราบใดที่ยังมีสังคมมนุษย์อยู่ร่วมกัน
ความมีชื่อเสียงของมนุษย์ในสังคมนั้นก็ยังจะมีอยู่
โดยชื่อเสียงนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์ทั่วโลก
และก็มีมาแต่ในอดีตโบราณ มีในปัจจุบัน และก็จะมีในอนาคต
เพียงแต่ความมีชื่อเสียงนั้นลดลงและสูญหายไปตามกาลเวลา
บุคคลบางคนมีชื่อเสียงมาก ๆ เมื่อหลายพันปีก่อน
แต่ปัจจุบันก็อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักหรือจดจำได้ของใคร ๆ แล้ว
คนที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันก็เช่นกันที่ว่าจะต้องเป็นที่ถูกลืมในอนาคตแน่นอน

ยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่จะยกมาพิจารณากันอีกพอสมควร
ก็ขอยกไปอธิบายต่อในตอนหน้านะครับ