Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๐๗

มองชีวิตในอดีตและปัจจุบันเพื่อรู้ชีวิตในอนาคต

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree-107-01
photo by Silawat
http://silawat.multiply.com/photos/album/36/Legislature_with_Note#photo=1

ในคราวที่แล้ว เราได้คุยกันถึงเรื่องการมองชีวิตปัจจุบันเพื่อรู้ชีวิตในอดีต
โดยอาศัยหลัก “อิทัปปัจจยตา” (เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี) นะครับ
ในคราวนี้ เราจะมารู้ชีวิตในอนาคตกันบ้าง
ซึ่งบางท่านก็อาจจะบอกอีกว่าเราไม่มีญาณวิเศษแล้ว เราจะไปรู้ชีวิตในอนาคตได้อย่างไร
ก็ขอตอบว่า เราสามารถรู้ชีวิตในอนาคตได้ โดยใช้หลัก
อิทัปปัจจยตา เช่นกันครับ
โดยเราสามารถมองชีวิตในอดีตและปัจจุบันของเรา เพื่อรู้ชีวิตในอนาคตได้

ถามว่าหลัก “อิทัปปัจจยตา” จะช่วยให้เราสามารถรู้อนาคตได้จริง ๆ หรือ
เราลองมาพิจารณาตัวอย่างกันก็ได้ครับ
ลองสมมุติเกี่ยวกับเรื่องปลูกข้าวว่า เรามีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง
หากเราใช้ที่ดินแปลงนั้นทำนาเกลือมาหลายปีแล้ว
อยู่มาวันนี้เราอยากจะทำนาข้าว เราก็นำพันธุ์ข้าวไปหว่านลงในที่ดินแปลงนั้น
เราก็ย่อมจะทราบได้นะครับว่า พันธุ์ข้าวเหล่านั้นจะไม่งอกโตเป็นต้นข้าวในอนาคต
เนื่องเพราะผลจากการกระทำในอดีตของเราเองที่ทำให้ดินเค็มจัด
หรือหากเราไม่ได้ใช้ที่นาแปลงนั้นไปทำนาเกลือ แต่ก็เป็นเพียงที่ดินว่างเปล่าธรรมดา
มาในวันนี้ เราอยากจะทำนาข้าวบนที่ดินแปลงนั้น
แต่ว่าเรานำพันธุ์ข้าวใส่กระสอบไว้แล้วก็นำกระสอบไปฝังไว้ใต้ดินในที่ดินแปลงนั้น
เราก็ย่อมจะทราบได้เช่นกันนะครับว่า พันธุ์ข้าวเหล่านั้นจะไม่งอกโตเป็นต้นข้าวเต็มทุ่งนา
เนื่องเพราะผลจากการกระทำในปัจจุบันนี้ของเรานี่เอง

สมมุติอีกว่า เราเป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ได้มีเงินเก็บ และมีรายได้จากเพียงเงินเดือน
ในเดือนที่แล้ว เราได้ยืมเงินเพื่อนมาเยอะ และรูดบัตรเครดิตไปเยอะ
โดยจะต้องนำเงินไปคืนเพื่อนในเดือนนี้ และชำระบัตรเครดิตด้วยในเดือนนี้
เราเองก็ย่อมจะทราบได้ใช่ไหมครับว่า ในช่วงเดือนนี้เราจะลำบากทางการเงินแน่นอน
ซึ่งก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่เราได้ทำไว้เองในอดีตนั่นเอง
หรือหากว่าเราไม่มีภาระหนี้สินดังกล่าว แต่สมมุติว่าในวันนี้เป็นช่วงต้นเดือน
และเราก็กำลังใช้เงินเดือนที่ได้มานั้น กินเที่ยวหรือซื้อของสิ้นเปลืองในวันนี้เยอะเลย
เราเองก็ย่อมจะทราบได้ใช่ไหมครับว่า เราจะลำบากทางการเงินในช่วงเวลาที่เหลือของเดือนนี้
ซึ่งก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่เราได้ทำไว้ในปัจจุบันนั้นเอง

เปรียบเทียบต่อไปอีกว่าสมมุติให้เราเป็นนักเรียนที่กำลังจะสอบปลายภาคในวันพรุ่งนี้
หากในอดีตที่ผ่านมาระหว่างภาคเรียนจนกระทั่งวันนี้นั้น เราไม่ได้อ่านหนังสือเลย
ไม่ได้เข้าเรียนเลย โดดเรียนตลอด แถมไม่มีความรู้ในวิชานั้น ๆ ด้วย
เราก็พอจะทราบล่วงหน้าถึงผลการสอบปลายภาคของวิชานี้ได้ใช่ไหมครับ
(เนื่องจากเหตุปัจจัยที่เราได้สร้างไว้เองในอดีต)
หรือหากในอดีตที่ผ่านมานั้น เราได้อ่านหนังสือและเข้าเรียนมาบ้างพอสมควร
แต่ว่าวันนี้เรามัวนั่งดื่มสุรากับเพื่อนจนเมามาย แถมไม่หลับไม่นอน ทั้งที่จะต้องไปสอบแต่เช้า
เราก็พอจะทราบล่วงหน้าถึงผลการสอบปลายภาคของวิชานี้ได้ใช่ไหมครับ
ว่ามันย่อมจะออกมาไม่ดีเท่าที่ควร (เนื่องเพราะเหตุปัจจัยที่เราสร้างไว้เองในปัจจุบันขณะนี้)

(... จริง ๆ แล้ว กรรมใด ๆ ที่ได้สร้างไว้ในปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว
แม้เพียงชั่วครู่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียงใดก็ตาม ก็ถือว่าเป็นกรรมในอดีตแล้วล่ะครับ)

เราจะพิจารณาเปรียบเทียบในเรื่องอื่น ๆ อีกก็ได้ ซึ่งก็จะเห็นได้เยอะแยะไปครับ เช่น
แอบมีกิ๊กแล้ว หากต่อมา แฟนจับได้ แฟนก็จะไม่พอใจ หรืออาจจะโดนแฟนบอกเลิกได้
สูบบุหรี่มาก ๆ ก็จะส่งผลทำให้เสียสุขภาพ และป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้
กินอาหารคอเลสเตอรอลสูง ๆ หรือรสจัดมาก ๆ เป็นประจำก็จะส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพได้
ทำงานหนักมาก ๆ และติดต่อกันนาน ๆ โดยไม่ได้พักเท่าที่ควร ก็จะส่งผลให้เสียสุขภาพ
ไม่สนใจเลี้ยงลูก แต่ปล่อยให้ลูกไปคบกับเพื่อนไม่ดี ก็จะส่งผลให้ลูกเสียคนและเป็นคนไม่ดี
ไม่สนใจทำความสะอาดดูแลรักษาบ้าน บ้านก็จะรกสกปรก และเสื่อมโทรม
ในคืนนี้ เที่ยวดึกจนกระทั่งไม่ได้นอนเลย ในวันพรุ่งนี้เช้าก็จะง่วงนอน และร่างกายอ่อนเพลีย
ในวันนี้ ขี้เกียจทำงาน ดองงานเอาไว้ งานก็จะไม่เสร็จ
ฯลฯ และอื่น ๆ อีกมากมายนะครับ
โดยสิ่งเหล่านี้ก็ย่อมทำให้เห็นว่า เหตุปัจจัยในอดีตและปัจจุบันย่อมสามารถบอกถึงอนาคตได้

บางท่านอาจจะบอกว่า บางทีมันก็จะมี “เหตุแทรกแซง” เหมือนกันนะ
และก็ทำให้เหตุปัจจัยในอดีตและปัจจุบันนั้น ไม่สามารถบอกอนาคตได้แน่นอน
ก็ขอเรียนว่า “เหตุแทรกแซง” นั้นก็ถือเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งเช่นกันครับ
แต่เหตุแทรกแซงนั้นไม่ได้จะเกิดขึ้นในทุกกรณี
และบางทีเราเองก็อาจจะพอทราบเหตุแทรกแซงที่จะมาเป็นปัจจัยนั้นได้
ว่าอาจจะมีเหตุแทรกแซงใด ๆ เกิดขึ้น หรือบางทีก็อาจจะไม่สามารถทราบได้เลยก็ได้
แต่อย่างน้อยที่สุด เราเองย่อมสามารถที่จะพิจารณาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเราเองได้
ซึ่งก็จะพอสามารถบอกให้ทราบถึงอนาคตได้ในระดับหนึ่งว่าควรจะเป็นอย่างไร
ยกเว้นแต่ว่าจะเกิดมีเหตุแทรกแซงบางอย่าง หรือเราพิจารณาเหตุปัจจัยผิดไป
หรือมองพิจารณาเหตุปัจจัยอย่างลำเอียง เข้าข้างตัวเอง หรือไม่เข้าใจในเหตุปัจจัยนั้น

หากใครคนใดจะไม่เชื่อว่า หลัก อิทัปปัจจยตา จะช่วยให้เราจะรู้ถึงอนาคตได้แล้ว
คน ๆ นั้นก็ไม่ควรจะต้องทำอะไรแล้วในชีวิตนี้
เพราะไม่ได้เชื่อว่าสิ่งทั้งหลายนั้นล้วนแล้วแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย
ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรไปก็ตาม ก็จะไม่เป็นเหตุหรือเป็นผลแก่กันและกัน
ยกตัวอย่างว่า กินข้าวเยอะ ๆ ก็ไม่เกี่ยวกับว่าจะทำให้รู้สึกอิ่มได้
ออกกำลังกาย ก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะทำให้ร่างกายแข็งแรงได้
ปลูกข้าวลงในพื้นที่นา ก็ไม่ได้เกี่ยวว่าจะทำให้ต้นข้าวงอกโตขึ้นในที่นานั้น
เติมน้ำลงในตุ่ม ก็ไม่ได้เกี่ยวว่าจะทำให้ตุ่มน้ำเต็มตุ่ม
ทำงานให้แก่นายจ้างอย่างขยัน ก็ไม่ได้เกี่ยวว่าจะทำให้ได้ค่าตอบแทน
ประหยัดมัธยัสถ์เก็บออม ก็ไม่ได้เกี่ยวว่าจะทำให้มีเงินเก็บสะสม
ขยันเรียนตั้งใจเรียน ก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าทำให้เรียนจบ หรือสอบผ่าน
ทำดีทำชั่ว ก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะทำให้เกิดกุศลและอกุศลใด ๆ ฯลฯ
โดยหากใครจะเชื่อว่าอะไร ๆ ก็ไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว และไม่ได้เป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว
คนเราก็ไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุปัจจัยใด ๆ เพื่อหวังผลใด ๆ แล้วล่ะครับ

อนึ่ง ในเรื่องว่าผลแห่งเหตุปัจจัยในอดีตและปัจจุบันจะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น
เราเองก็ไม่สามารถไปเร่งหรือบังคับให้ผลออกมาทันทีทันใจของเราได้
เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา จึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาด้วย
เสมือนว่าเพิ่งหว่านพันธุ์ข้าวลงไปในที่น่าปุ๊บ ก็มานั่งบ่นทันทีว่าทำไมข้าวไม่ออกรวงเสียที
การทำเช่นนั้น ย่อมจะไม่เกิดประโยชน์ แต่ควรจะนำเวลาที่มีนั้นไปทำประโยชน์อย่างอื่น
แล้วก็ให้ต้นข้าวนั้นออกรวงของมันเองตามเหตุปัจจัยและตามกาลเวลาจะดีกว่า

หากเรารู้ดังนี้แล้ว เราคงไม่จำเป็นต้องสงสัยอีกแล้วว่าอนาคตข้างหน้าของเราจะเป็นอย่างไร
เราเพียงถามตัวเองว่า ในอดีตนั้นเราได้ทำอะไรไว้และในปัจจุบันเราทำอะไร ก็พอจะทราบได้แล้ว
เพราะอนาคตนั้นก็จะเป็นผลจากเหตุปัจจัยทั้งหลายที่เราได้ทำในอดีตและปัจจุบันนั่นเอง

ผ่านมาถึงขณะนี้เราคงเห็นแล้วนะครับว่า เหตุปัจจัยในอดีตส่งผลให้แก่ ปัจจุบัน
และเหตุปัจจัยในอดีตและปัจจุบันส่งผลให้แก่ อนาคต ตามหลัก
อิทัปปัจจยตา
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เราจะได้ข้อพิจารณาดี ๆหลายประการ ได้แก่

ประการที่หนึ่งคือ เราสามารถยอมรับได้อย่างเต็มใจ และพร้อมใจว่าในสิ่งทั้งหลาย
ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเราในปัจจุบันนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุปัจจัยในอดีตที่เราได้สร้างไว้เอง
เราก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นทุรนทุรายเพื่อจะหนีให้พ้นเลย หรือไปกล่าวโทษคนโน้นคนนี้เลย
(และเราก็ไม่สามารถย้อนเวลาไปแก้ไขอดีตได้ด้วย) นอกจากจะโทษที่เราได้ทำไว้เอง

ประการที่สองคือ เราจะพยายามทำกรรมปัจจุบันให้ดี เพื่อเป็นเหตุปัจจัยที่ดี
และส่งผลให้มีอนาคตที่ดี ๆ โดยเราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า
อนาคตที่ดี ๆ นั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างได้ และกรรมในปัจจุบันส่งผลช่วยได้ด้วย
(โดยประกอบกับเหตุปัจจัยในอดีตที่ผ่านไปแล้ว)

ประการที่สามคือ เมื่อเข้าใจหลักอิทัปปัจจยตา แล้ว จะทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า
สังสารวัฏนั้นเป็นเรื่องมีจริง และเข้าใจได้ว่าเราก็จะต้องวนเวียนในสังสารวัฏไปเรื่อย ๆ
เว้นแต่ว่า เราจะสามารถดำเนินไปในหนทางที่ทำให้พ้นไปจากสังสารวัฏ
นี้ได้

ขณะนี้เราก็สามารถพิจารณาได้ทั้งในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคตแล้วนะครับ
ในลำดับต่อไป เราจะมาพิจารณากันต่อครับว่า อะไรเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด
ที่ชีวิตในปัจจุบันของเราสมควรที่จะขวนขวายหามาไว้เพื่อตนเอง
(จะมาคุยต่อในตอนหน้าครับ)