Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๐๖

มองชีวิตปัจจุบันเพื่อรู้ชีวิตในอดีต?

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

friend_106

ในตอนที่แล้วเราคุยกันว่า ในการพิจารณาสิ่งสำคัญที่สุดหรือมีคุณค่าที่สุด
ที่ควรจะทำในชีวิตนี้ เราจะพิจารณาเพียงชีวิตนี้ชีวิตเดียวนั้นยังไม่พอ
แต่จะต้องพิจารณาถึงชีวิตในอดีต และชีวิตในอนาคตด้วย
บางท่านก็คงจะบอกว่าเราไม่มีญาณวิเศษที่จะระลึกอดีตชาติหรือรู้อนาคตชาติได้
ผมก็ขอเรียนว่า แม้เราจะไม่มีญาณวิเศษที่จะรู้เห็นชีวิตในอดีตหรืออนาคตได้
แต่พวกเราก็พอจะสามารถพิจารณากันได้อยู่ครับ

ในการที่เราจะพิจารณาให้เห็นชีวิตในอดีตหรืออนาคตของเราเองนั้น
เราจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องหลัก "อิทัปปัจจยตา" เสียก่อน
โดยคำว่า "อิทัปปัจจยตา" นั้นหมายถึงความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยต่อสิ่งทั้งหลาย
หรืออาจจะกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นกฎที่ว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี"
กล่าวคือสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ หรือเกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างว่า เรามีที่ดินเปล่าอยู่แปลงหนึ่ง
ซึ่งหากเราอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรบนที่ดินแปลงนั้น และก็ไม่มีใครมาทำอะไรด้วยแล้ว
ก็ย่อมจะไม่มีทางที่ที่ดินแปลงนั้นจะกลายเป็นสวนมะม่วงไปได้
หากต่อมา เราได้ลงทุนลงแรงหว่านเมล็ดแตงโมลงไปจนเต็มพื้นที่แล้ว
เมื่อเมล็ดพืชเหล่านั้นได้เติบโตขึ้น สิ่งที่เราจะได้มีในที่ดินแปลงนั้นก็คือสวนแตงโม
และไม่มีทางที่จะกลายเป็นสวนมะม่วงไปได้เช่นกัน เพราะว่าเราไม่ได้หว่านเมล็ดมะม่วงไว้
ซึ่งก็มีลักษณะในทำนองเดียวกับคำกล่าวที่ว่า "ปลูกข้าวได้ต้นข้าว ปลูกถั่วได้ต้นถั่ว"
เพราะว่าปลูกต้นข้าวแล้ว ต้นข้าวก็ไม่มีทางที่จะงอกออกมาเป็นต้นถั่ว
ในขณะที่ปลูกต้นถั่วแล้ว ต้นถั่วก็ไม่มีทางที่จะงอกออกมาเป็นต้นข้าว

บางท่านอาจจะบอกว่าบางทีปลูกพืชผลไปแล้วแต่ไม่ได้ผลตามนั้นก็มี
เช่นว่าหว่านเมล็ดข้าวลงในพื้นที่นาแล้ว ต่อมาเกิดอุทกภัยน้ำท่วม
และทำให้นาข้าวเสียหาย ไม่ได้ผลผลิตข้าวตามที่ได้หว่านเมล็ดไว้หรือตามที่ใจมุ่งหวังไว้
เช่นนี้ก็เรียกได้ว่ามี "เหตุแทรกแซง" บางอย่างเข้ามา
และเหตุแทรกแซงนั้นเองก็ถือว่าเป็นเหตุปัจจัยว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" เช่นกัน
กล่าวคือ เพราะมีเหตุแทรกแซง คืออุทกภัยมีขึ้น ดังนั้น จึงมีความเสียหายต่อพืชผล

หากเราจะมองย้อนกลับไปขั้นตอนหนึ่งแล้ว ก็จะเห็นว่าเพราะมีที่ดินและเมล็ดข้าวอยู่
เราจึงมีการหว่านเมล็ดข้าวได้ และประกอบกับมีเหตุแทรกแซงคืออุทกภัยเกิดขึ้น
ท้ายสุดจึงมีความเสียหายเกิดขึ้น หากเริ่มแต่แรกว่าไม่มีที่ดิน และไม่มีเมล็ดข้าวแล้ว
หรือว่าเราไม่ได้หว่านข้าวไว้เลย หรือไม่มีเหตุแทรกแซง ความเสียหายแก่พืชผลนั้นก็จะไม่มี
หรือหากจะมองย้อนกลับไปอีกกว่านั้นแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า
เริ่มต้นก็เพราะมีตัวตนเจ้าของที่ดินและเมล็ดข้าว
(คือกายและใจของเจ้าของที่ดินและเมล็ดข้าวนั่นแหละครับ) เป็นเหตุปัจจัย
หากไม่มีตัวตนเจ้าของที่ดินและเมล็ดข้าวแต่แรกแล้ว
ก็จะไม่มีเจ้าของนั้นมาหว่านข้าวหรือให้คนอื่นมาหว่านข้าวลงในที่ดิน

หากจะมองย้อนไปอีกว่าทำไมจึงมีตัวตนของเจ้าของที่ดินและเมล็ดข้าวแล้ว
ก็คงจะต้องไล่เรียงย้อนกลับกันไปตามหลักเรื่อง "ปฏิจจสมุปบาท"
ซึ่งท้ายสุดแล้วก็จะไล่ย้อนกลับไปได้ถึงตัว "อวิชชา"
แต่เราคงไม่ไปคุยย้อนกลับไปถึงขนาดนั้นครับ
ขอเพียงแค่เราเข้าใจความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยต่าง ๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นก็พอแล้ว

ขอยกตัวอย่างอีกนะครับ สมมุติว่าเรามีปริญญาบัตรปริญญาตรีอยู่ใบหนึ่ง
เราลองมาพิจารณาเหตุปัจจัยที่ทำให้ได้ปริญญาบัตรปริญญาตรีนี้กันนะครับ
มีเหตุปัจจัยในอดีตอะไรที่ทำให้เราได้ปริญญาบัตรปริญญาตรีฉบับนี้
หากลองพิจารณาถอย ๆ กลับก็จะเห็นได้ว่า
เพราะเราได้สมัคร ได้ศึกษา และได้สอบในชั้นระดับปริญญาตรีครบตามหลักสูตร
เพราะเราได้สมัคร ได้ศึกษา และได้สอบในชั้นระดับชั้นมัธยมครบตามหลักสูตร
เพราะเราได้สมัคร ได้ศึกษา และได้สอบในชั้นระดับชั้นประถมครบตามหลักสูตร
เพราะเราได้สมัคร ได้ศึกษา และได้สอบในชั้นระดับอนุบาลครบตามหลักสูตร
เพราะแม่เราได้ตั้งครรภ์ และคลอดเราออกมา ฯลฯ
ซึ่งหากไม่ผ่านเหตุปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวข้างต้นแล้ว เราก็จะไม่ได้ปริญญาบัตรฉบับนี้

หากจะพิจารณาสิ่งทั้งหลายที่เรามี เราได้ และเราเป็น ก็จะเห็นได้ในทำนองเดียวกันครับ
หากเรามีของใช้สักชิ้นหนึ่ง ก็เพราะว่าเราซื้อมา หรือคนอื่นให้มา หรือเพราะเหตุปัจจัยอื่น
หากเรามีเงินในบัญชีธนาคาร ก็เพราะว่าเราฝากไว้ หรือคนอื่นฝากให้ หรือเพราะเหตุปัจจัยอื่น
หากเรามีบ้าน ก็เพราะว่าเราไปซื้อบ้าน หรือคนอื่นยกให้เรา หรือเพราะเหตุปัจจัยอื่น
หากเรามีแฟน ก็เพราะว่าเราไปจีบเขา หรือเขามาจีบเรา หรือเพราะเหตุปัจจัยอื่น
(คงไม่มีเหตุปัจจัยว่าใครยกแฟนของเขาให้เรามานะครับ)
ก็จะพอเห็นได้นะครับว่าสิ่งทั้งหลายที่เรามี เราได้ และเราเป็นนั้น เป็นไปเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
ซึ่งในที่นี้ "เหตุแทรกแซง" ที่กล่าวแล้ว ก็ถือเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งเช่นกัน
ในทางกลับกัน หากเราไม่มี ไม่ได้ และไม่เป็นในสิ่งทั้งหลายใด ๆ ก็ตาม
เหตุก็เพราะว่า ไม่ได้มีเหตุปัจจัยทั้งหลายที่จะก่อให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น

ที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นการใช้หลัก "อิทัปปัจจยตา" เพื่อมองเหตุปัจจัยในชีวิตนี้
แต่หลักดังกล่าวก็สามารถนำมาใช้พิจารณาเหตุปัจจัยในชีวิตในอดีตได้เช่นกัน
เราลองมองไปถึงสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ และมองไปถึงเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกใบนี้
เราจะเห็นได้ว่าในโลกนี้มีสัตว์อื่นจำนวนมากมายมหาศาลนับไม่ถ้วน
ในแต่ละวันมีวัว หมู เป็ด ไก่ ห่าน กุ้ง หอย ปู ปลาที่ตายเป็นจำนวนเท่าไร
(เพื่อจะให้เพียงพอเลี้ยงประชากรมนุษย์โลกจำนวนหกพันกว่าล้านคนนี้)
มีนก หนู จิ้งจก สุนัข แมว และแมลงทั้งหลายอยู่อีกเป็นจำนวนเท่าไร
มีไส้เดือน และสัตว์เล็กสัตว์น้อยในผืนดินเป็นจำนวนเท่าไร
มีปลาตัวเล็กตัวน้อย และสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยในท้องทะเลอีกมากมายเป็นจำนวนเท่าไร
เราก็จะเห็นได้ว่ามีสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์อีกเป็นจำนวนมากมายมหาศาลเหลือเกิน
แล้วทำไมเราเองจึงไม่ได้ไปเกิดเป็นหนึ่งในสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น
แต่เราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งแสดงว่าต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์เช่นนี้

หากเราได้ลองพิจารณาในจำนวนมนุษย์ด้วยกันเองแล้ว
เราก็จะเห็นได้ว่า บางคนแท้งตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาโดยไม่มีโอกาสได้คลอดออกมา
บางคนคลอดออกมาแล้วก็ตายทันที บางคนก็ตายในวัยเด็ก บางคนก็ตายในช่วงวัยรุ่น
บางคนแม้ไม่ตาย แต่ก็พิการทางด้านสมอง บางคนก็พิการทางด้านร่างกาย
ทีนี้ หากเราไม่ได้ตายตั้งแต่ในครรภ์ ไม่ได้ตายในวัยเด็ก และเราก็ไม่ได้พิการทางสมอง
อย่างน้อยที่สุดเราก็มีชีวิตอยู่จนกระทั่งได้อ่านวารสารฉบับนี้ออนไลน์
ก็ย่อมจะแสดงว่ามีเหตุปัจจัยบางอย่างทำให้เราเกิดมา ยังไม่ตาย และไม่พิการใด ๆ
นั่นก็แสดงว่าในชีวิตอดีตนั้นเราได้สร้าง หรือได้มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนี้
และทำให้เราได้มาอยู่ จนกระทั่ง ณ ที่ตรงนี้ในปัจจุบันนี้

มีญาติธรรมท่านหนึ่งเคยเปรยให้ผมฟังว่าครอบครัวสมัยเด็กของเธอนั้นไม่มีอะไร
แต่ว่าชีวิตในปัจจุบันนั้นได้มีฐานะที่ดี มีกิจการที่มั่นคง และมีชีวิตที่มีความสุข
เธอก็เห็นว่าเท่านี้ก็ถือว่า "ชีวิตของเธอนั้นคุ้มค่าแล้ว"
ผมได้อธิบายว่าอย่ามองถอยหลังกลับไปแค่เท่านั้นเพราะว่ามองสั้นเกินไป
ลองมองถอยกลับไปอีกหน่อยสิว่า ได้เคยทำอะไรมา เราจึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์
เราลองเทียบสิว่าจำนวนมนุษย์กับจำนวนสัตว์อื่นทั้งหลายที่แตกต่างกันขนาดไหน
(ตรงนี้ได้อธิบายเปรียบเทียบถึงเฉพาะภพภูมิมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานนะครับ
โดยยังไม่ได้อธิบายโยงไปถึงภพภูมิอื่น ๆ เช่น เปรต อสุรกาย หรือสัตว์นรกอีกด้วยนะ)
แต่ที่เรามาเกิดเป็นมนุษย์ได้นี้ แสดงว่าต้องมีเหตุปัจจัยที่เราได้ลงทุนทำไปในอดีตมากมาย
เราต้องถามคำถามว่า เราได้ทำตัวเองให้คุ้มค่ากับความที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์หรือยัง
เราได้สิ่งที่คุ้มค่าที่สุดที่จะสามารถหาได้ในชีวิตมนุษย์เราหรือยัง

เราลองพิจารณาดูนะครับ หากเราจะมีบ้าน มีรถ มีแฟน มีลูก หรือซื้อของแพงสักชิ้นนึง
นี่มันยากและเหนื่อยแรงขนาดไหน
(จีบแฟนนี่มันเหนื่อยนะครับ ... แต่ที่ไหนได้ พอจีบได้แล้วกลับเหนื่อยกว่าเก่าอีก)
นี่ขนาดว่าลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งบ้าน รถ แฟน และสิ่งของอื่น ๆ นะครับ
แล้วลองคิดเปรียบเทียบดูสิว่า การลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งอัตภาพความเป็นมนุษย์
ซึ่งมีชีวิตรอดมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ มีอวัยวะครบ ๓๒ และไม่พิการทางสมองด้วย
จะต้องได้เคยลงทุนลงแรงสร้างสมเหตุปัจจัยไว้มากมายขนาดไหน

หากใครจะบอกว่า "เราไม่ได้สร้างเหตุปัจจัยอะไรมาเยอะแยะหรอก
มันก็เกิดมาเป็นมนุษย์ของเราอย่างนี้โดยบังเอิญเองแหละ"
ก็เท่ากับว่าเขาคนนั้นไม่เชื่อในหลัก "อิทัปปัจจยตา"
และมีความเห็นว่าปลูกต้นข้าวก็สามารถงอกออกมาเป็นต้นถั่วได้
หรือคนเราอยู่ดี ๆ ก็ได้ปริญญาบัตรปริญญาตรีมาโดยไม่ได้ทำอะไรไว้เลยก็ได้

หรือหากใครจะบอกว่า "เป็นมนุษย์นั้นไม่ยากหรอก ก็เห็นมีประชากรโลกมากมาย
และเราคงไม่ได้ลงทุนอะไรไว้มากมายนักหรอก"
ขอเรียนว่าหากเกิดเป็นปลวก เป็นมด เป็นยุง เป็นไส้เดือนแล้ว
ก็คงจะพูดได้ว่าไม่ได้ลงทุนสร้างปัจจัยอะไรมาเท่าไรเลย
แต่หากได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว คงไม่ใช่ว่าลงทุนอะไรนิดหน่อยหรอกครับ

ดังนั้น เราได้เป็นมนุษย์ ได้มีชีวิตมาอยู่ถึง ณ ขณะนี้ และมีอัตภาพในปัจจุบันนี้
ก็เพราะว่าเราได้สร้างสมเหตุปัจจัยมาอย่างมากมาย
ปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาต่อไป ก็คือว่า
"เราได้ลงทุนสร้างสมเหตุปัจจัยอย่างมากมาย เพื่อมาอยู่ ณ ตรงที่นี้ เพื่อทำอะไร?"
(แล้วจะมาคุยต่อในคราวหน้าครับ)