Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๐๔

มองกันให้ยาวๆ

ngod-ngamโดย งดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

friend_104_01

"photo by Silawat"
http://silawat.multiply.com/photos/photo/31/1

ในตอนที่แล้ว ผมฝากให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาสิ่งทั้งหลายที่ท่านได้มาและได้มี
เพื่อพิจารณาว่าเราได้ใช้สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไปอย่างผิดทิศผิดทางบ้างไหม
หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นเท่าที่ควรหรือเปล่า
โดยก็ขอให้พิจารณาทุกอย่างไล่เรียงไปเรื่อย แต่อย่าลืม "สองสิ่งที่สำคัญ"
ในตอนนี้ ก็จะขอเฉลยนะครับว่า "สองสิ่งที่สำคัญ" นั้นก็คือ
"กาย" กับ "ใจ" นั่นเอง

โดยเราควรจะพิจารณา"กาย" กับ "ใจ" ตัวเองด้วยนะครับว่า
เราได้ใช้ "กาย" ไปอย่างผิดทิศผิดทาง หรือไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควรหรือเปล่า
เราได้ใช้ "ใจ" ไปอย่างผิดทิศผิดทาง หรือไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควรหรือเปล่า

บางท่านไปพิจารณาแล้ว ก็บอกว่า "ถูกทางแล้ว ถูกทางแล้วล่ะ"
ผมขอเรียนว่า "ช้าก่อนครับท่าน... แน่ใจได้อย่างไรว่าถูกทาง?"
การที่เราจะรู้ว่า "ไปถูกทาง" แน่ เราก็ต้องรู้ว่า "ทางที่ถูกไปทางไหน" ก่อนใช่ไหมครับ
(ไม่เช่นนั้น ก็อาจจะเป็นว่ามุ่งไปถูกทาง แต่ว่าเป็น "ทางที่มุ่งลงสู่เหวลึก" ก็ได้นะ...)
และก่อนที่เราจะรู้ว่า "ทางที่ถูกไปทางไหน" นั้น
เราก็ต้องรู้ว่า "เป้าหมายที่จะไปคือที่ไหน" ก่อนนะครับ

ดังนั้นแล้ว แม้ท่านจะพิจารณาแล้วเห็นว่า "ไปถูกทางแล้ว" ก็ตาม
หรือได้ใช้กาย ใจ และสิ่งทั้งหลายอย่างเป็นประโยชน์เต็มที่แล้วก็ดี
ผมขอแนะนำว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปเลย
แต่ว่า เราลองมาพิจารณาและสอบทานไปด้วยกันอีกครั้งหนึ่งนะครับ

ที่กล่าวไปแล้วว่าก่อนจะหาทิศทางที่ถูกต้องนั้น จะต้องหาเป้าหมายที่จะไปเสียก่อน
โดยเมื่อเราได้ทราบเป้าหมายที่จะไปแล้ว เราจึงมาพิจารณาทิศทางที่จะไป
ก็เปรียบเสมือนว่า หากเราจะเดินทางไปสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งนะครับ
เราก็ต้องพิจารณาเลือก "สถานที่เป้าหมาย" ที่จะเดินทางไปเสียก่อน
หลังจากนั้น เราจึงจะเลือก "ทิศทางหรือเส้นทางเดินทาง" ที่จะไป
แล้วค่อยมาเลือก "วิธีการเดินทาง" ที่จะใช้
(คงพอจะเห็นแล้วนะครับว่า เราจะต้องคุยกันต่อเนื่องไปอีกหลายตอนเลย)

บางท่านอาจจะบอกว่า "เอ ฉันสามารถเลือกทิศทางที่จะไปก่อน
แล้วหลังจากนั้น ฉันค่อยเลือกสถานที่ที่จะไปก็ได้นี่นา"
ผมขอเรียนว่า "ก็มีหลายคนที่ทำอย่างนั้นนะครับ"
แต่ก็อยากจะให้ลองถามตัวเองด้วยนะว่า
"หากเลือกทิศทางที่จะไปก่อน แล้วค่อยเลือกสถานที่ที่จะไปแล้ว
หากปรากฏว่ามีสถานที่อื่นที่สมควรจะไปมากกว่า หรือมีสถานที่ที่ดีที่สุดที่ควรจะไป
แต่ว่าสถานที่นั้นตั้งอยู่ในทิศทางอื่น หรือต้องแยกไปทางอื่น
แล้วจะไม่เสียโอกาสที่ดีของชีวิตเราหรือครับ เวลาชีวิตเรามีไม่เยอะนะครับ"

ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสัมมาทิฐิ หรือเรื่องการเดินทางในชีวิตจริงก็ดี
ผมขอแนะนำให้ พวกเราเลือกสถานที่เป้าหมายที่จะเดินทางไปก่อน นะครับ
แล้วค่อยพิจารณาเลือกทิศทางที่จะไป
หากยังไม่แน่ใจว่าจะไปสถานที่เป้าหมายไหนแล้ว ก็อย่าเพิ่งรีบเดินทางออกไปครับ
เพราะว่าอาจจะมีสถานที่เป้าหมายอื่นที่ดีกว่า เหมาะกว่า และคุ้มค่ากว่าที่จะไปครับ

ทีนี้ ก่อนที่จะเลือกสถานที่เป้าหมายนั้น
ผมขอเรียนว่า พวกเราต้อง "มองกันให้ยาว ๆ" นะครับ
คงจะมีคำถามกันต่อไปว่า "มองอย่างไร จึงเรียกว่ามองสั้น" และ
"มองอย่างไร จึงเรียกว่ามองยาว"

ก็ขอเล่าว่า เมื่อเดือนที่แล้ว ผมและเพื่อนอีกสองคนได้ไปร่วมงานศพที่วัดแห่งหนึ่ง
เสร็จจากงานศพแล้ว พวกเราสามคนก็ไปทานอาหารเย็นกันที่ร้านในบริเวณนั้น
ก็ทานกันไปและคุยกันไปหลายเรื่อง มาจนกระทั่งคุยเรื่องธรรมะ
ผมบอกเพื่อนว่า "เดี๋ยวนี้นะ ตื่นขึ้นมาแล้ว ก็บอกกับตัวเองว่า เย็นนี้ข้าพเจ้าตายแน่
จึงพยายามทำสิ่งที่สมควรทำอย่างเต็มที่ และก็หลีกเลี่ยงไม่ไปเบียดเบียนใครในแต่ละวัน"
(เรียกได้ว่า พยายามฝึกเจริญมรณานุสติอยู่ทุกวันนั่นแหละครับ
เพียงแต่ว่าผมเองยังไม่ถึงขนาดว่าจะสามารถทำได้ทุกลมหายใจเข้าออก)

เพื่อน ๆ สองคนที่นั่งทานอาหารอยู่ด้วยนั้น ก็ประสานเสียงตอบขึ้นมาทันทีว่า
"เฮ้ย... ต้องหัดมองให้ยาว ๆ บ้างนะ อย่าไปมองสั้น ๆ อย่างนั้น
ต้องคิดเผื่อไว้ด้วยว่า ชีวิตยังต้องอยู่อีกยาว และจะต้องทำอะไรเผื่ออนาคตไว้ด้วย
ไม่ใช่คิดว่าแค่ว่าเย็นนี้ก็ตายแล้ว อย่างนั้นมันมองสั้นเกินไปนะ..."
ผมเองก็ไม่ได้ตอบอะไรเพื่อนสองคนนั้นนะครับ

วันรุ่งขึ้น ผมได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้พี่ชายฟัง และถามพี่ชายว่า เขาเห็นอย่างไร
พี่ชายผมบอกว่า "เราเห็นว่า นายมองยาวนะ แต่เพื่อนสองคนนั้นต่างหากที่มองสั้น"
ผมตอบพี่ชายว่า "อืมม์ ก็เห็นอย่างนั้นเหมือนกันนะ"
เราลองพิจารณาตามไปด้วยกันนะครับว่า ท่าน ๆ จะเห็นด้วยกับผมและพี่ชายไหม
การที่ชายคนหนึ่งมองว่าจะตายเย็นนี้ และรีบทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดี ทำไมจึงเป็นการ "มองยาว"
ในขณะที่ชายอีกคนหนึ่งมองว่ายังอยู่อีกยาว และทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อชีวิตในอนาคตที่อยู่ยาว ๆ นั้น
ทำไมจึงเป็นการ "มองสั้น"

เหตุผลก็เพราะว่า ชายคนแรกนั้น ได้มองเวลาในปัจจุบันจนกระทั่งทะลุไปถึง
"ช่วงเวลาหลังจากตายไปแล้ว" ว่าจะไปอยู่ไหน และจะไปยังไงต่อ
แต่ว่าชายคนที่สองนั้น ยังมองเวลาปัจจุบันไปจนกระทั่งถึง "ช่วงเวลาก่อนตาย" อยู่เลย
เช่นนี้แล้วจะบอกว่าชายคนแรกมองสั้นกว่าชายคนที่สองได้หรือครับ

ทีนี้ คำว่า "มองกันให้ยาว ๆ" ที่ผมแนะนำในที่นี้ ก็ทำนองเดียวกันนะครับ
เราอย่าไปมองแค่เพียงชีวิตนี้ตั้งแต่ "เกิดมา" ไปจนถึง "ตาย" เท่านั้น
แต่อยากจะให้มองย้อนหลังทะลุไปจน "ก่อนเกิด" ว่า
"ฉันทำอะไรมา ฉันถึงมาอยู่ตรงนี้ และฉันมาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร"
อยากจะให้มองข้างหน้าทะลุไปจนกระทั่ง "หลังตาย" ว่า
"หลังตายไปแล้ว ฉันจะไปไหน ฉันควรจะไปไหนกันแน่
และฉันควรจะทำอะไรเพื่อให้ได้ไปที่ตรงนั้น"

หากใครชอบดูละครซีรีย์ (series) แล้ว ก็คงเปรียบเทียบได้ง่าย ๆ ว่า
อย่าไปดูแค่เพียงตอนเดียวแล้วบอกว่าจบแล้ว ครบถ้วนแล้ว
แต่ให้มองเรื่องราวทะลุย้อนไปถึงตอนก่อนหน้า และ season ทั้งหลายก่อนหน้าด้วย
และให้มองเรื่องราวทะลุไปข้างหน้าถึงตอนต่อไป และ season ต่อ ๆ ไปด้วย

หากเราจะจองตั๋วรถไฟเพื่อเดินทางไปสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว
เราก็ควรจะพิจารณาเส้นทางรถไฟตั้งแต่ "สถานีต้นทาง" ไปจนถึง "สถานีปลายทาง" ใช่ไหม
มีไหมครับว่า ไม่ได้พิจารณา "สถานีปลายทาง" เลย
แต่เพียงแค่ดูทิศทางไป และพิจารณาสถานีหน้าแค่เพียงสถานีเดียว ก็บอกว่าเพียงพอแล้ว
(เราก็ต้องมองทะลุไปจนถึงสถานีปลายทางด้วยใช่ไหมครับว่า
เส้นทางนี้จะสามารถไปถึงสถานีปลายทางได้แน่ ๆ... ไม่ใช่ไปถึงแค่ระหว่างทางเท่านั้น)

ในการที่เราจะมองชีวิตเราเองเพื่อสร้างสัมมาทิฐิ
เพื่อค้นหาเป้าหมายที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตตนเองนั้น
เราก็ต้อง "มองกันให้ยาว ๆ" ครับ และไม่ได้แค่มองชีวิตนี้ชีวิตเดียวเท่านั้น
แต่เราจะต้องมองกันแบบ "ตลอดสังสารวัฏ" เลย
(จะมาคุยกันต่อในตอนหน้านะครับ)