Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๐๓

เพื่อนธรรมจารี (Friend of Dhammacārī)
ngod-ngamโดย งดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



ชีวิตที่ติดลบ

friend_103_01

"photo by Silawat"

เมื่อตอนที่แล้ว เราได้คุยกันถึงเรื่องสัมมาทิฏฐิ และมิจฉาทิฏฐินะครับ
ซึ่งที่เราจะคุยกันต่อในตอนนี้ ก็จะสืบเนื่องต่อจากตอนที่แล้ว

 

คุณเคยรู้สึกไหมครับว่า “ในแต่ละวันนี้ เราเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน (และอาจจะเครียดอีกด้วย)”
เราแทบจะไม่มีเวลาเหลือเลยในแต่ละวัน เพราะต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างมากมาย
หากเราจะพอมีเวลาหยุดพักได้สักเล็กน้อยแล้ว เราก็พักอย่างหมดแรง (หรือสลบไปเลย)
และยังพักไม่ทันจะหายเหนื่อยเลย แต่แล้ว เราก็ต้องเร่งรีบไปลุยทำกันต่ออีกแล้ว

การที่เรามัวแต่ลุยทำอยู่ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่ลืมหูลืมตานั้น
ก็จะมีคำถามแทรกว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรากำลังไปถูกทิศทาง
เป็นไปได้ไหมว่า ที่เรากำลังเหน็ดเหนื่อยทำกันอยู่ทุกวันนี้
แท้จริงแล้ว กำลังพาตัวเราห่างไกลออกจากจุดหมายอันผาสุกไปทุกที ๆ
และทิศทางเส้นนี้ ก็กำลังพาเราไปสู่ปลายทางแห่งมหันตภัยอันทุกทรมาน
แต่เราเองกลับออกแรงเหน็ดเหนื่อยทุกวัน ๆ เพื่อจะมุ่งไปสู่ปลายทางแห่งมหันตภัยนั้น

ดังนั้นแล้ว หากเราจะพอมีเวลาหยุดพักสักเล็กน้อย 
แทนที่เราจะพักให้หายเหนื่อยเพียงอย่างเดียว
เราน่าจะมาลองพิจารณาย้อนกลับไปสักขั้นตอนหนึ่ง
(โดยจะต้อง “มองกันยาว ๆ” ด้วยนะครับ ซึ่งจะได้คุยกันในตอนต่อ ๆ ไป)
ว่า สิ่งทั้งหลายที่เรากำลังเหน็ดเหนื่อยและเครียดทำกันอยู่ทุกวันนี้
สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ทำแล้วให้คุณประโยชน์ (มากหรือน้อย) 
สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ทำแล้วให้โทษ (มากหรือน้อย)
สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ต้องทำ สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ควรทำ 
สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ทำแล้วไร้ประโยชน์สิ้นเชิง
สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ห้ามทำ 
สิ่งไหนที่เราคิดจะทำเพียงเพราะตามกระแสสังคม 
สิ่งไหนที่เราอยากทำเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ฯลฯ

บางท่านอาจจะบอกกับตัวเองว่า “ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็ถูกทิศทางอยู่แล้ว 
เพราะหากไม่ดีไม่ถูกทิศทางแล้ว ฉันจะไปมัวเสียแรงเสียเวลาขยันทำไปเพื่ออะไร”
ผมก็ขอเรียนว่า สิ่งที่ทำไปด้วยความขยัน ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นสิ่งเป็นประโยชน์หรอกครับ
ไม่เช่นนั้น ก็คงไม่มีภาษิตว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” ให้ได้เรียนได้พูดใช้กัน
(สมัยนี้ ก็มีใช้คำว่า “เห็นดอกบัวเป็นกงจักร” ด้วยเหมือนกันนะ)

เพื่อที่จะให้เห็นภาพกันได้ง่าย ๆ ผมจะลองยกตัวอย่างของคนอื่นขึ้นมาก่อนนะ
สมมุติว่า คุณและเพื่อนอีกคนหนึ่งได้มีโอกาสไปเล่นเกมแข่งขันตอบคำถามชิงรางวัลใหญ่
โดยหากตอบถูก ก็จะได้คะแนน และหากตอบผิด ก็จะเสียคะแนน
คุณกับเพื่อนคนนั้นอยู่ในทีมเดียวกัน ต้องช่วยเหลือกัน และการนับคะแนนก็นับเป็นทีม
ปรากฏว่าเพื่อนคุณไม่สนใจคุณเลย เขายกมือตอบเอา ตอบเอา และก็ตอบผิดทั้งหมดด้วย
ทีมคุณก็เลยโดนตัดคะแนนแล้ว ตัดคะแนนอีกไปเรื่อย ๆ 
จนกระทั่งทีมคู่แข่งปรบมือให้เพื่อนคุณ เพราะว่าพวกเขาไม่ต้องตอบเลย ก็ยังชนะขาดลอย
โดยเพื่อนคุณช่วยตัดคะแนนทีมตัวเองอย่างมากมาย
เช่นนี้แล้ว คุณอยากจะให้เพื่อนของคุณขยันตอบผิด ๆ หรืออยู่เฉย ๆ มากกว่ากัน

สมมุติอีกเรื่องหนึ่งว่า คุณกำลังจีบผู้หญิงคนหนึ่ง
ผู้หญิงคนนั้นชอบดอกไม้สีฟ้า และเกลียดดอกไม้สีขาว
(สมมุติว่า แฟนคนแรกที่หักอกเธอนั้น ชอบให้ดอกไม้สีขาวกับเธอก็แล้วกัน)
ปรากฏว่าเพื่อนคุณปรารถนาดีกับคุณ แต่เขาไม่ทราบเรื่องความชอบของผู้หญิงคนนั้น
เขาเข้าใจว่าเธอชอบดอกไม้สีขาว จึงนำดอกไม้สีขาวไปให้เธอทุกวัน โดยบอกว่าคุณให้นำมาให้
คุณเองก็ไม่ทราบเรื่องนี้เลย และได้มาทราบเรื่องนี้ ก็เมื่อภายหลังจากที่ผู้หญิงได้บอกเลิก
และเธอได้ไปแต่งงานกับคนอื่นเสียแล้ว (... โอ้โห เรื่องสมมุติจบแบบเศร้าสนิทเลยนะเนี่ย)
เช่นนี้แล้ว คุณอยากจะให้เพื่อนของคุณขยันส่งดอกไม้สีขาว หรืออยู่เฉย ๆ มากกว่ากัน

ผมเชื่อว่าเราก็น่าจะมีคำตอบตรงกัน ก็คือว่า ในเรื่องสมมุติทั้งสองเรื่องที่ยกมานั้น
เราก็คงอยากจะให้เพื่อนอยู่เฉย ๆ ดีกว่าไปขยันทำอะไรผิด ๆ นะครับ
เพราะขยันผิดทิศผิดทางเช่นนี้ ก็จะมีแต่ก่อให้เกิดความเสียหายและผลร้ายมากกว่าผลดี
แม้ว่าในทุก ๆ เรื่องที่กล่าวมานั้น เพื่อนก็ทำด้วยความขยันนะครับ ไม่ได้ขี้เกียจเลย
และทำด้วยความปรารถนาดีอีกด้วยก็ตาม แต่ทำแล้วกลับเป็นโทษแก่ตัวเองและคนอื่นเสียอีก

ปกติแล้ว เรื่องทำผิดพลาดของคนอื่นนั้น เราย่อมจะมองเห็นได้ง่ายกว่าเรื่องของตัวเราเอง
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่า ในแต่ละวันนั้น
เราไม่ได้ทำตัวเองเหมือนกับเพื่อนของเราในกรณีสมมุติข้างต้นนั้น
หากใครจะบอกว่า “ฉันไม่เคยทำอะไรที่ไร้ประโยชน์ และเสียเวลาดั่งนั้นเลย”
เช่นนั้น ก็ขอให้ลองพิจารณาคำถามดังต่อไปนี้นะครับว่า
เคยไหมครับที่ไปเสียเวลาหาซื้อของสิ่งหนึ่งมาในราคาสูง หรือลงทุนลงแรงสูง
แต่แทบไม่ได้ใช้เลย หรือได้ใช้แค่นิดเดียวไม่คุ้มราคา
เคยไหมครับว่า จะไปทานอาหารที่ร้านแห่งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าไปถึงแล้วร้านแห่งนั้นปิด
เคยไหมครับว่า จะไปซื้อของสิ่งหนึ่งที่ร้านขายของแห่งหนึ่ง
แต่ปรากฏว่าไปถึงแล้ว ของหมดหรือไม่มีขาย
ถ้าคุณสามารถจะรู้ก่อนว่า ท้ายสุดจะเป็นเช่นนี้ คุณก็คงจะไม่ซื้อของราคาสูงนั้น
ไม่ไปร้านอาหารนั้น และไม่ไปร้านขายของนั้น ให้เสียเวลา และค่าใช้จ่ายใช่ไหมครับ

เราจะลองพิจารณาเรื่องใหญ่กว่านั้นก็ได้
เคยไหมครับว่าได้รู้จักและคบหาใครสักคน แต่ท้ายสุดแล้วกลับมาไม่ชอบหน้ากัน
เคยไหมครับว่าตัดสินใจย้ายงาน โดยคิดว่าจะดี แต่ปรากฏว่าแย่กว่าที่เดิมเสียอีก
เคยไหมครับว่าเลือกไปเที่ยวสถานที่แห่งไหน แต่พอไปถึงแล้ว กลับไม่ดีเหมือนที่คาดไว้
เคยไหมครับว่าคิดว่ามีแฟนแล้วจะดี แต่ปรากฏว่าแฟนทำให้เสียใจและทุกข์ใจมากมาย
เคยไหมครับว่าคิดว่ามีลูกแล้วจะดี แต่ปรากฏว่าลูกทำให้เสียใจและทุกข์มากมาย

เราจึงจะเห็นได้นะครับว่าสิ่งใด ๆ ที่เราได้ทุ่มเทลงแรงขยันทำไปแล้ว
ไม่ได้แปลว่าสิ่งนั้น จะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่ตัวเราเองอย่างแท้จริงเสมอไป
ซึ่งหากเราเลือกทิศทางผิดแล้ว เท่ากับว่าเรานั้นพยายามทุ่มเททำสิ่งนั้นอย่างเหนื่อยยาก
เพื่อที่จะสร้างคะแนนติดลบแก่ตัวเองเท่านั้น
และหากหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเราเป็นดั่งนั้นแล้ว เราก็จะมี “ชีวิตที่ติดลบ” ในท้ายที่สุด
เราเหน็ดเหนื่อยอย่างมากมายในแต่ละวัน 
แล้วท้ายสุดเพื่ออะไร เพื่อที่จะได้รับโทษอย่างนั้นหรือ?

นั่นเป็นสิ่งทั้งหลายที่เราได้ทำนะครับ แต่หากจะลองพิจารณาถึงสิ่งทั้งหลายที่เราได้มีบ้าง
ก็จะพบว่าเป็นไปในทำนองเดียวกันว่า อาจจะเป็นโทษก็ได้ หากใช้อย่างผิดทิศผิดทาง
ขอสมมุติว่า คุณเป็นมนุษย์เงินเดือน และไม่ได้มีเงินเดือนมากมายอะไรนะครับ
ก็จำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด และจะซื้อสิ่งของราคาสูงก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ
และคุณก็มีลูกอยู่คนหนึ่ง คุณตั้งใจจะซื้อสิ่งของให้ลูก เพื่อประโยชน์แก่ลูกของคุณ
แต่ปรากฏว่าได้ซื้อให้แล้ว ผลปรากฏว่ากลับไม่เป็นไปตามนั้น ยกตัวอย่างเช่น
คุณซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูก เพื่อให้ใช้เรียนและทำงาน แต่เขาเอาไปใช้เล่นเกมจนเรียนแย่
คุณติดตั้งอินเตอร์เน็ตให้ลูก เพื่อให้ใช้ประโยชน์ แต่เขาเอาไปใช้แต่เพื่อดูภาพลามกอนาจารในเว็บ
คุณซื้อโทรทัศน์และติดเคเบิ้ลทีวีให้ลูก เพื่อให้ดูสารคดีมีประโยชน์ แต่เขาเอาแต่ดูการ์ตูนจนเรียนแย่
คุณซื้อรถยนต์ให้ลูก เพื่อใช้เดินทางไปเรียน แต่เขานำไปขับซิ่งแข่งรถอันตราย ทำชาวบ้านเดือดร้อน
คุณให้เงินลูก เพื่อไปซื้อหนังสือเรียน แต่ลูกกลับนำไปซื้อสุรามาดื่ม บุหรี่มาสูบ ยาบ้ามาเสพ ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าการที่ลูกของคุณได้มีสิ่งของต่าง ๆ นั้น ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นประโยชน์ได้
แต่เขากลับนำไปใช้เพื่อเป็นโทษแก่ตัวเขา แก่ตัวคุณ และแก่คนรอบข้างได้เช่นกัน
ทีนี้ ในส่วนของตัวเราเองนั้น เราลองมาพิจารณากันนะครับว่า 
มีบ้างไหม ที่เราได้หรือมีอะไรมาสักอย่างหนึ่ง แต่เราใช้ในทางที่ผิดทิศทาง
มาลองนึกไล่เรียงไปด้วยกันดูนะครับ
เรามีเงิน แต่นำเงินไปซื้อสุรา บุหรี่ หรือยาเสพติดเพื่อมาทำลายสุขภาพตนเองหรือเปล่า
หรือไปกินอาหารคอเลสเตอรอลสูง ๆ หรืออาหารที่ก่อให้เกิดโรคแก่ร่างกายหรือเปล่า
เรามีคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เน็ต เราใช้เพื่อไปดูภาพอนาจารลามกทำใจตัวเองตกต่ำหรือเปล่า
หรือเพื่อเล่มเกม จนไม่เป็นอันเรียน ไม่เป็นอันทำงาน หรือจนทำให้เสียหายต่ออนาคตหรือเปล่า
เราใช้อีเมล์ หรือเข้าเว็บไซต์ไป เพื่อทำอะไรผิดศีลธรรมหรือไม่ ไปเบียดเบียนใครหรือเปล่า
เรามีตำแหน่งสูง ความรู้ดี มีฐานะดี เราใช้สิ่งนั้น ๆ เพื่อเบียดเบียน หรือรังแกคนอื่นไหม
ใช้เพื่อยักยอกหรือฉ้อโกงคนอื่น หรือองค์กรตัวเองหรือเปล่า
เรามีรูปร่างหน้าตาดี มีคารมดี เราใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อไปจีบคนอื่นมั่วซั่ว หลายใจ
และทำร้ายจิตใจคนอื่นหรือเปล่า หรือถึงกับผิดลูกผิดเมียคนอื่นด้วยหรือเปล่า ฯลฯ

ผมก็ไม่รู้หรอกว่าทั้งหมดที่คุณได้มาและได้มีนั้นคืออะไรบ้างนะครับ
เพราะทุกคนก็ย่อมจะได้มาและมีสิ่งบางอย่าง ทั้งที่เหมือนกันและไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี ผมอยากจะขอให้คุณทุกท่านได้ลองพิจารณาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นทีละสิ่ง
ว่าคุณมีและได้ใช้สิ่งเหล่านั้นอย่างผิดทิศทางหรือไม่
หรืออาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ในสิ่งนั้น ๆ ตามสมควรหรือเท่าที่ควรเลย
โดยแนะนำให้คุณพิจารณาไล่เรียงทุกสิ่งทุกอย่างเรื่อยไป
แต่ไม่ว่าจะพิจารณาได้เท่าไรก็ตาม กรุณาอย่าลืมพิจารณา “สองสิ่งที่สำคัญ” นะ
หลายท่านคงทราบดีแล้วล่ะครับว่า “สองสิ่งที่สำคัญ” นี้คืออะไร
(ได้คุยกันมาพอสมควรแล้ว ขอไปคุยต่อในตอนหน้านะครับ)