Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๔๕๐

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

 

ความอ่อนน้อมถ่อมตน

 

 

dhammajaree450

 


เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ได้ทรงพระราชทานพระคติธรรม ดังนี้ครับ
“ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว
ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัท น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระอรหันตสาวก ๑,๒๕๐ รูป
ซึ่งล้วนอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ดิถีเพ็ญเดือน ๓
หลังสมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสรู้และประกาศพระศาสนาแล้ว ๙ เดือน
เมื่อพิจารณาจากประวัติการณ์แห่งวันจาตุรงคสันนิบาต
ย่อมเห็นประจักษ์ว่า พระภิกษุผู้มาประชุมกันเป็นมหาสังฆสันนิบาตนั้น
ต่างพรั่งพร้อมกันมา ณ เวฬุวันมหาวิหาร ด้วยอานุภาพแห่ง “คารวธรรม”
พุทธบริษัททั้งหลายผู้เป็นอนุชน จึงพึงเทิดทูนจริยาของพระอรหันต์ทั้งนั้น
ขึ้นเป็นแบบอย่างทางประพฤติแห่งตน ๆ
โดยสำนึกว่า ถึงแม้พระสาวกทุกรูป ได้บรรลุถึงคุณธรรมสูงสุด ดับกิเลสเพลิงทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้ว
แต่ก็ยังคงเคารพนอบน้อมอย่างยิ่งต่อพระบรมศาสดา และพระธรรม
เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทผู้มุ่งหมายความสุขความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม
จึงจำเป็นต้องมี “นิวาตธรรม” คือความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นพื้นอุปนิสัย
ขอจงระลึกไว้ว่า คุณธรรมแห่งพระอรหันต์นั้น สูงส่งเหนือกว่าอิสริยยศทั้งปวงในโลก
หากแต่พระอรหันต์กลับปราศจากความอวดดื้อถือดี ปราศจากความเนรคุณลบหลู่ดูหมิ่น
เพราะทุกรูปต่างมีความคารวะนอบน้อมอย่างมั่นคง
ต่อพระรัตนตรัย ต่อการศึกษา ต่อความไม่ประมาท และต่อการปฏิสันถาร
ดังนี้ บรรดาผู้ยังมีธุลีในดวงตา มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองครอบงำใจอยู่
จึงพึงเพียรหมั่นเพิ่มพูนคารวธรรม ให้งอกงามขึ้นในตนอยู่เสมอ
ให้สมด้วยธรรมภาษิตที่ว่า “มหตฺตปตฺโตปิ นิวาตวุตฺติ”
แปลความว่า “ถึงแม้จะดำรงตำแหน่งใหญ่ คืออิสริยยศที่กว้างขวาง
แต่ก็ไม่ผยองด้วยยศ ถ่อมตน ทำตามโอวาทของบัณฑิต.”
เพื่อความผาสุกร่มเย็นในจิตใจตน ตลอดจนประเทศชาติ และโลกนี้ได้อย่างยั่งยืน
ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน
และขอสาธุชนทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น
เพื่อบรรลุถึงความรุ่งเรืองสถาพรสืบไป เทอญ.”
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/262791

ในพระคติธรรมข้างต้นได้กล่าวถึงหลักธรรมในเรื่อง “นิวาตธรรม”
คือความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งในคราวนี้ ผมก็จะขอนำเสนอข้อมูลในเรื่องหลักธรรมนี้ครับ
ใน “มงคลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ)
ได้กล่าวถึงมงคลชีวิต ๓๘ ประการ
ซึ่งความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นมงคลชีวิตประการหนึ่งใน ๓๘ ประการนั้น
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=25&A=41&w=%B6%E8%CD%C1%B5%B9

ใน “สัทธานิสังสสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ต้นไม้ใหญ่ สล้างด้วยกิ่ง ใบ และผล มีลำต้นแข็งแรง
มีรากมั่นคง สมบูรณ์ด้วยผล ย่อมเป็นที่พึ่งของนกทั้งหลาย
ฝูงนกย่อมอาศัยต้นไม้นั้น ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ ให้เกิดสุข
ผู้ต้องการความร่มเย็น ย่อมเข้าไปอาศัยร่มเงา
ผู้ต้องการผลก็ย่อมบริโภคผลได้ ฉันใด
ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ
เป็นบุญเขตในโลก ย่อมคบหาบุคคลผู้มีศรัทธา ซึ่งสมบูรณ์ด้วยศีล
ประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง สุภาพ อ่อนโยน มีใจมั่นคง ฉันนั้นเหมือนกัน
ท่านเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา
เขาเข้าใจทั่วถึงธรรมนั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้หมดอาสวกิเลส ปรินิพพาน ฯ
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=22&A=930&w=%B6%E8%CD%C1%B5%B9

ใน “ปิยัญชหเถรคาถา” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา) กล่าวสอนว่า
เมื่อผู้อื่นยกตน ควรถ่อมตน เมื่อผู้อื่นตกต่ำ ควรยกตนขึ้น
เมื่อผู้อื่นไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ควรประพฤติพรหมจรรย์
เมื่อผู้อื่นยินดีในกามคุณ ไม่ควรยินดีในกามคุณ.
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=26&A=5418&w=%B6%E8%CD%C1%B5%B9

ใน “สิริกาฬกัณณิชาดก” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก) ได้เล่าว่า
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี
พระโพธิสัตว์เป็นเศรษฐีในนครดังกล่าว
ในเวลานั้น ได้มีเทพธิดาสองค์ คือกาลกรรณีเทพธิดา และสิริเทพธิดา
ทั้งสองเทพธิดาได้ทะเลาะถกเถียงกันว่า ใครควรจะได้อาบน้ำที่สระอโนดาดก่อน
โดยทั้งสองเทพธิดาได้พากันไปขอให้ท้าวสักกะ (พระอินทร์) ให้ช่วยตัดสิน
แต่ท้าวสักกะได้แนะนำให้ทั้งสองเทพธิดาไปหาพระโพธิสัตว์เพื่อให้ช่วยตัดสินให้
พระโพธิสัตว์ได้สอบถามกาลกรรณีเทพธิดาว่า
เจ้าปลงใจในชายที่มีศีลอย่างไร มีอาจาระอย่างไร?
ในเวลานั้น กาลกรรณีเทพธิดาได้ตอบพระโพธิสัตว์ว่า
ชายใดลบหลู่คุณท่าน ตีตนเสมอ แข่งดี ริษยาเขา ตระหนี่และโอ้อวด
ชายใดได้ทรัพย์มาแล้วย่อมพินาศไป ชายนั้นเป็นที่รักใคร่ของดิฉัน
คนมักโกรธ มักผูกโกรธ พูดส่อเสียด ทำลายความสามัคคี
มีวาจาเป็นเสี้ยนหนามหยาบคาย เขาเป็นที่รักใคร่ของดิฉันยิ่งกว่านั้นอีก
ชายผู้ไม่เข้าใจประโยชน์ของตนว่า ทำวันนี้ พรุ่งนี้ ถูกตักเตือนอยู่ก็โกรธ ดูหมิ่นความดีของผู้อื่น
ชายผู้ที่ถูกความคะนองรบเร้าพรากจากมิตรทั้งหมด
เป็นที่รักใคร่ของดิฉัน ดิฉันไม่มีความทุกข์ร้อนในเขา

ในคำถามเดียวกัน สิริเทพธิดาได้ตอบพระโพธิสัตว์ว่า
ชายใดครอบงำความหนาวหรือความร้อน ลม แดด เหลือบ
และสัตว์เลื้อยคลาน ทั้งความหิวและความระหายได้
ชายใดประกอบการงานทุกอย่างเนืองๆ ตลอดทั้งวันทั้งคืน
ไม่ยังประโยชน์ที่มาถึงตามกาลให้เสื่อมเสียไปด้วย
ชายนั้นเป็นที่ชอบใจของดิฉัน และดิฉันก็ปลงใจเขาจริง ๆ
ชายใดไม่โกรธ มีมิตร มีการเสียสละ รักษาศีล ไม่โอ้อวด
เป็นคนซื่อตรง เป็นผู้สงเคราะห์ผู้อื่น มีวาจาอ่อนหวาน
มีคำพูดไพเราะ แม้จะเป็นใหญ่ ก็มีความประพฤติถ่อมตน
ดิฉันพอใจในบุรุษนั้นเป็นอย่างมาก
ดุจคลื่นทะเลปรากฏแก่คนที่มองดูสีน้ำทะเลเหมือนมีมาก
เมื่อได้ฟังคำตอบของสองเทพธิดาแล้ว
พระโพธิสัตว์จึงได้ตัดสินว่าสมควรให้สิริเทพธิดาได้อาบน้ำที่สระอโนดาดก่อน
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=869