Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๔๔๙

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

จักร ๔

 

 

dhammajaree449

เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปี ๒๕๖๗ ที่ผ่านมานั้น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ได้ทรงพระราชทานพระคติธรรม ดังนี้
“รถยนต์ที่วิ่งเป็นปรกติทั่วไปได้อย่างมั่นคงปลอดภัย
มักถูกออกแบบให้มี ๔ ล้อเป็นอย่างน้อย ล้อนั้นเรียกอีกอย่างว่า “จักร”
เป็นองค์ประกอบสำคัญซึ่งช่วยนำพาให้ผู้ขับขี่รถยนต์นั้น
สามารถเดินทางไปสู่ที่หมายได้สำเร็จ
ถ้าขาดล้อใดล้อหนึ่ง หรือยางล้อใดแบนหรือแตกไป ก็อาจไม่ถึงที่หมาย
หรือกว่าจะไปถึงก็เนิ่นช้าเสียเวลา หรืออาจเป็นอันตรายไปกลางทางได้
การดำเนินชีวิตของผู้หวังความสำเร็จก็อุปมาดุจกัน
ย่อมจำเป็นต้องมี “จักร ๔” เป็นหลักธรรมนำไปสู่ความเจริญ
ประกอบด้วย ๑. ปฏิรูปเทสวาสะ หมายถึง การอยู่ในถิ่นอันเหมาะสม
๒. สัปปุริสูปสังเสวะ หมายถึง การเข้าไปคบหากับคนดี
๓. อัตสัมมาปณิธิ หมายถึง การตั้งตนไว้ชอบด้วยสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ
และ ๔.ปุพเพกตปุญตา หมายถึง ความเป็นผู้สั่งสมความดีไว้ก่อนแล้ว

เด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญที่จะพาบ้านเมืองไทยให้รุ่งเรืองสืบไป
จึงขอให้ผู้ใหญ่เร่งปลูกฝังและสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้หนักแน่นในจักร ๔
และขอให้เด็ก ๆ จงรักษาตนให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมอันสมควร
ห่างไกลอบายมุข คบหาทำความสนิทสนมแต่เฉพาะมิตรที่ชักพาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า
ไม่ประพฤติชั่ว ไม่พูดชั่ว ไม่คิดชั่ว อีกทั้งหมั่นสั่งสมความดี
ด้วยการตั้งใจพากเพียรศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น
เพื่อเป็นรากฐานแห่งความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคต
ขออำนวยพรให้เด็กและเยาวชนทุกคน
มีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์จักร ๔ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ขอจงรักษาเพิ่มพูนคุณลักษณะความเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม
เพื่ออนาคตของตน และสังคมไทยที่รักของเราทุกคน.”
https://www.thairath.co.th/news/society/2754074

ในพระคติธรรมข้างต้นได้กล่าวถึงหลักธรรมในเรื่อง “จักร ๔”
ซึ่งในคราวนี้ ผมก็จะขอนำเสนอข้อมูลในเรื่องหลักธรรมนี้ครับ
โดยตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
“จักร ๔” หมายถึง ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมาย
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ คือ อยู่ในถิ่นที่ดี มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม
๒. สัปปุริสูปัสสยะ คือ สมาคมกับสัตบุรุษ
๓. อัตตสัมมาปณิธิ คือ ตั้งตนไว้ชอบ, ตั้งจิตคิดมุ่งหมาย นำตนไปถูกทาง
๔. ปุพเพกตปุญญตา คือ ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว,
มีพื้นเดิมดี, ได้สร้างสมคุณความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น
อนึ่ง ธรรม ๔ ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พหุการธรรม คือธรรมมีอุปการะมาก
เป็นเครื่องช่วยให้สามารถสร้างความดีอื่น ๆ ทุกอย่าง
และช่วยให้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต บรรลุความงอกงามไพบูลย์.
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=140

ใน “จักกสูตร” (จักกวรรคที่ ๔ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย จักร ๔ ประการนี้
เป็นเครื่องเป็นไปแก่มนุษย์และเทวดาผู้ประกอบ
เป็นเครื่องที่มนุษย์และเทวดาประกอบแล้ว ย่อมถึงความเป็นผู้ใหญ่
และความไพบูลย์ในโภคะทั้งหลาย ต่อกาลไม่นานนัก
จักร ๔ ประการเป็นไฉน คือ ปฏิรูปเทสวาสะ การอยู่ในถิ่นที่เหมาะ ๑
สัปปุริสูปัสสยะ การคบสัตบุรุษ ๑ อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ ๑
และปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน ๑
ภิกษุทั้งหลาย จักร ๔ ประการนี้แล เป็นเครื่องเป็นไปแก่เทวดาและมนุษย์ผู้ประกอบ
เป็นเครื่องที่มนุษย์และเทวดาประกอบแล้ว ย่อมถึงความเป็นผู้ใหญ่
และความไพบูลย์ในโภคะทั้งหลาย ต่อกาลไม่นานนัก

นรชนพึงอยู่ในถิ่นที่เหมาะ พึงกระทำอริยชนให้เป็นมิตร
ถึงพร้อมด้วยความตั้งตนไว้ชอบ มีบุญได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน
ธัญชาติ ทรัพย์ ยศ ชื่อเสียง และความสุขย่อมหลั่งไหลมาสู่นรชนนั้น
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=21&item=31&items=1&preline=0&pagebreak=0

ในอรรถกถาของ “จักกสูตร” (จักกวรรคที่ ๔ พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต) ข้างต้นนั้น ได้อธิบายรายละเอียดไว้ ดังนี้
บทว่า “ปฏิรูปเทสวาโส” ความว่า บริษัท ๔ ย่อมปรากฏในที่ใด
การอยู่ในประเทศอันสมควรเห็นปานนั้น ในที่นั้น.
บทว่า “สปฺปุริสูปนิสฺสโย” ความว่า การพึ่ง คือการเสพ การคบ
ได้แก่การเข้าไปนั่งใกล้ สัตบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
บทว่า “อตฺตสมฺมาปณิธิ” ความว่า การตั้งตนไว้ชอบ. ก็ถ้าว่า บุคคลเป็นผู้ประกอบแล้ว
ด้วยโทษทั้งหลายมีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น ในกาลก่อน
การละซึ่งโทษมีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้นเหล่านั้นแล้ว ดำรงอยู่ในคุณมีศรัทธาเป็นต้น.
สองบทว่า “ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา” ความว่า
ความเป็นผู้มีกุศลอันตนสั่งสมไว้แล้วในกาลก่อน.
คุณชาตคือความเป็นผู้มีกุศลอันตนสั่งสมไว้แล้วในกาลก่อนนี้นั่นแหละ เป็นประมาณในที่นี้.
จริงอยู่ กุศลกรรมย่อมเป็นกรรมอันบุรุษกระทำด้วยญาณสัมปยุตตจิตใด
ญาณสัมปยุตตจิตนั้นนั่นแหละอันเป็นกุศล ย่อมนำบุรุษนั้นไปในประเทศอันสมควร
คือให้คบสัตบุรุษทั้งหลาย. อนึ่ง บุคคลนั้นนั่นแล ชื่อว่าตั้งตนไว้โดยชอบแล้ว.
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=400

ตามพระธรรมคำสอนข้างต้น จักร ๔ ประการนี้
ย่อมนำมาซึ่งความเป็นผู้ใหญ่ และความไพบูลย์ในโภคะทั้งหลาย
ซึ่งแม้ว่าสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงพระราชทานพระคติธรรมดังกล่าว เนื่องในโอกาสวันเด็กก็ตาม
แต่ก็เป็นพระคติธรรมที่ผู้ใหญ่ควรนำมาประพฤติปฏิบัติด้วย
เพื่อเป็นประโยชน์และให้บังเกิดความไพบูลย์ในโภคะทั้งหลายแก่ตนครับ