Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๔๔๖

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

จิตที่ฝึกแล้ว นำความสุขมาให้ 

 

dhammajaree446

 

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
ในคืนส่งท้ายปีเก่า ๒๕๖๖ ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา
ประชาชนได้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีกันเป็นจำนวนมาก
โดยจากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ประสานงานสวดมนต์ข้ามปีระดับจังหวัดทั่วประเทศ
ร่วมกับสำนักงานสถิติของจังหวัดได้ประมวลผลการจัดงานพบว่า
วัดและศาสนสถานในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค
ได้ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี จำนวน ๒๔,๖๒๙ แห่ง
และมีวัดในต่างประเทศร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี จำนวน ๗๐ วัด
โดยมีผู้เข้าร่วมสวดมนต์ในวัด สถานที่จัดงาน และผ่านทางระบบออนไลน์
รวมทั้งสิ้นกว่า ๑๒,๐๖๗,๓๘๗ คน
https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_4355864
ซึ่งก็เป็นข่าวที่น่ายินดีและสมควรอนุโมทนาร่วมกันครับ

เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ๒๕๖๗ นี้ ผมขอนำพระคติธรรมที่ได้พระราชทาน
โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
มาฝากท่านผู้อ่าน โดยมีใจความ ดังนี้ครับ

บัดนี้ บรรลุอภิลักขิตสมัยขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗
วาระเถลิงศกเช่นนี้ ช่วยเตือนใจให้เราทั้งหลาย ได้ทบทวนถึงอายุช่วงหนึ่งปีที่ล่วงไป
ว่าได้คิด พูด และทำสิ่งใดไว้บ้าง ถ้าเป็นสิ่งดีงาม ก็จะได้เร่งเพิ่มพูนให้ทวียิ่ง ๆ ขึ้น
และในขณะเดียวกัน ถ้ายังมีสิ่งใดบกพร่อง ก็จะได้ระมัดระวัง
ตั้งตน และตั้งใจกันใหม่ ที่จะไม่ก่อโทษ กระทำผิด ให้ซ้ำรอยเดิมอีกในปีนี้

ตลอดปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของโลกผันผวนปรวนแปรไปมาก
บังเกิดความยากลำบากกันทั่วหน้า เหตุการณ์ร้ายนานา ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น ภัยสงคราม ทุพภิกขภัย โรคระบาด
และภัยธรรมชาติต่าง ๆ กลับปรากฏขึ้นทั่วทุกหัวระแหง
อันที่จริง มนุษย์ผู้ฉลาด ย่อมจักสามารถเข้าใจได้ ถึงธรรมดาของ “โลก”
ซึ่งตามศัพท์แปลว่า สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม
เพราะฉะนั้น สิ่งใดชำรุดทรุดโทรม สิ่งนั้นจึงเป็นสภาวะปรกติแห่งโลก
เมื่อคิดได้เช่นนี้ ก็ย่อมเห็นกระจ่างถึงสัจธรรมว่า
โลกกับความทุกข์ มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะทำอย่างไรดี
ให้ยังสามารถดำรงตนอยู่อย่างมีความสุข บนโลกที่ชำรุดทรุดโทรมนี้
คำตอบก็คือ ทุกคนจำเป็นต้องฝึกฝนอบรมจิตใจ ให้มีสมาธิจดจ่อแน่วแน่ต่อคุณความดี
อย่าปล่อยให้ลุกลี้ลุกลน เร่าร้อน วิ่งวนอยู่ในวงจรกิเลสตัณหา
ขอให้ฝึกหัดใช้สมาธิภาวนานั้น เป็นอุปกรณ์เพิ่มพลังความสงบนิ่งในจิต
ให้บังเกิดความร่มเย็นในชีวิตยิ่งขึ้นเป็นลำดับไป

ณ โอกาสเถลิงศกใหม่ จึงขอเชิญชวนทุกท่าน
หันมาเอาใจใส่ในการเจริญจิตภาวนา ให้เป็นปรกติในชีวิตประจำวัน
จงหมั่นฝึกใจให้เข้มแข็งด้วยคุณธรรมทั้งหลาย
เช่น มีเมตตา กรุณา ขยัน อดทน สดชื่น เบิกบานผ่องใส เป็นต้น
เพื่อให้ความฟุ้งซ่าน ซัดส่าย เร่าร้อนทุรนทุราย
จะได้ค่อย ๆ สงบระงับลงบ้าง แม้ชั่วครู่ชั่วคราวก็ยังดี
ครั้นเมื่อท่านได้ลิ้มรสความสบาย จากภาวะจิตใจที่สงบ ก็ย่อมจะมีแรงบันดาลใจ
ในการฝึกฝนอบรมตน ให้อาจหาญด้วยคุณธรรมอันสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
หากทำได้เช่นนี้ ท่านย่อมจะประสบความสุขอย่างแท้จริง
สมด้วยพระพุทธภาษิต ที่ว่า “จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ”
แปลความว่า “จิตที่ฝึกแล้ว นำความสุขมาให้” ทุกประการ

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และคุณความดีที่ทุกท่านร่วมกันบำเพ็ญ
เป็นเครื่องจรรโลงสันติสุขสู่ประเทศชาติและประชาชน ดลความโสมนัสพระราชหฤทัย
ให้บังเกิดในสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อจักได้ทรงเพียบเพ็ญด้วยพระบารมีธรรม
และขอปวงประชาชาติไทย จงสำเร็จสมมโนรถในสรรพกิจ อันถึงพร้อมด้วยสุจริตธรรม
นำความผาสุกเกษมศานต์มาสู่พี่น้องร่วมชาติ
ตลอดพุทธศักราช ๒๕๖๗ นี้ โดยทั่วหน้ากัน เทอญ.”
https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02EKca9PaR1KQnL52BWHBb6KwcGjYjtC6am6KUGvKdPJ5W4b9GdZT342oZ815KThoJl&id=100064535149453&mibextid=2JQ9oc

ในพระคติธรรมข้างต้นได้กล่าวถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า “จิตที่ฝึกแล้ว นำความสุขมาให้”
ซึ่งพระพุทธภาษิตนี้ได้กล่าวถึงใน “คาถาธรรมบท จิตตวรรคที่ ๓”
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท)
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=366&Z=394&pagebreak=0
ในอรรถกถาของ “คาถาธรรมบท จิตตวรรคที่ ๓” ในเรื่อง “ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง”
ได้เล่าเรื่องของภิกษุรูปหนึ่งที่ได้ไปพำนักอยู่ ณ บ้านของอุบาสิกาท่านหนึ่ง
ซึ่งบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ และโลกิยอภิญญา
สามารถล่วงรู้ความคิดของบุคคลอื่นได้
ภิกษุรูปนั้นเมื่อได้ไปพำนักแล้ว ก็ได้รับการถวายภัตตาหาร น้ำ และยา
ตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งต่อมา ภิกษุก็เริ่มวิตกกังวลว่า
ธรรมดาปุถุชน ย่อมคิดถึงอารมณ์อันงามบ้าง ไม่งามบ้าง
ถ้าหากเราคิดสิ่งอันไม่สมควรแล้ว อุบาสิกานี้ย่อมทราบได้
เสมือนจับโจรที่มวยผมพร้อมด้วยของกลางฉะนั้น เราจึงควรไปเสียจากที่แห่งนี้

เมื่อคิดดังนั้นแล้ว ภิกษุรูปนั้นจึงเดินทางจากบ้านอุบาสิกานั้น
กลับมาหาพระศาสดา และได้กราบทูลเล่าเรื่องดังกล่าวให้พระองค์ทรงทราบ
เมื่อพระศาสดาได้ทรงทราบแล้ว ได้ตรัสถามภิกษุว่า “ภิกษุ เธออยู่ในที่นั้นไม่ได้หรือ
?”
ภิกษุตอบว่า “เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่สามารถอยู่ในที่นั้นได้”
พระศาสดาตรัสถามว่า “เพราะเหตุไร ภิกษุ”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่า
อุบาสิกานั้น ย่อมรู้ถึงเรื่องอันคนอื่นคิดแล้วทุกประการ
ข้าพระองค์คิดว่า ก็ธรรมดา ปุถุชนย่อมคิดอารมณ์อันงามบ้าง ไม่งามบ้าง
ถ้าข้าพระองค์จักคิดสิ่งบางอย่างอันไม่สมควรแล้ว
อุบาสิกานั้นก็ย่อมทราบได้ เหมือนจับโจรที่มวยผมพร้อมทั้งของกลาง”

พระศาสดาทรงรับฟังแล้วตรัสว่า “ภิกษุ เธอควรอยู่ในที่นั้นแหละ”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่สามารถ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักอยู่ในที่นั้นไม่ได้”
พระศาสดาตรัสถามว่า “ภิกษุ ถ้าอย่างนั้น เธอจักรักษาสิ่งหนึ่งเท่านั้นได้ไหม
?
ภิกษุกราบทูลถามว่า “รักษาอะไร พระเจ้าข้า”
พระศาสดาตรัสว่า “เธอจงรักษาจิตของเธอนั่นแหละ ธรรมดาจิตนี้บุคคลรักษาได้ยาก
เธอจงข่มจิตของเธอไว้ให้ได้ อย่าคิดถึงอารมณ์อะไร ๆ อย่างอื่น
ธรรมดาจิตอันบุคคลข่มได้ยาก” ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน     ยตฺถ กามนิปาติโน
จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ      จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ
การฝึกจิตอันข่มได้ยาก เป็นธรรมชาติเร็ว
มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ เป็นการดี (เพราะว่า)
จิตที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้

ในอรรถกถาได้อธิบายพระคาถาดังกล่าวว่า
ธรรมดาจิตนี้อันบุคคลย่อมข่มได้โดยยาก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ทุนฺนิคฺคหํ.
จิตนี้ย่อมเกิดและดับเร็ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ลหุ
ซึ่งจิตอันข่มได้ยาก อันเกิดและดับเร็วนั้น
บาทพระคาถาว่า ยตฺถ กามนิปาติโน ความว่า มักตกไปในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนั่นแล
จริงอยู่ จิตนี้ย่อมไม่รู้จักฐานะอันตนควรได้ หรือฐานะอันไม่ควรได้
ฐานะอันสมควรหรือฐานะอันไม่สมควร
ย่อมไม่พิจารณาดูชาติ ไม่พิจารณาดูโคตร ไม่พิจารณาดูวัย
ย่อมตกไปในอารมณ์ที่ตนปรารถนาอย่างเดียว
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่”

การฝึกจิตเห็นปานนี้นั้น เป็นการดี คือความที่จิตอันบุคคลฝึกฝนด้วยอริยมรรค ๔
(กล่าวคือ โสดาปัตติมรรค ๑ สกทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตมรรค ๑)
ได้แก่ ความที่จิตอันบุคคลทำแล้วโดยประการที่จิตสิ้นพยศได้ เป็นการดี
ถามว่า “เพราะเหตุไร
?”
ตอบว่า “เพราะว่า จิตนี้อันบุคคลฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้
คือว่า จิตที่บุคคลฝึกแล้ว ได้แก่ทำให้สิ้นพยศ
ย่อมนำมาซึ่งความสุขอันเกิดแต่มรรคผล และสุขคือพระนิพพานอันเป็นปรมัตถ์”

ภายหลังจากพระศาสดาได้ประทานโอวาทนี้แก่ภิกษุนั้นแล้ว
จึงตรัสว่า “ไปเถิด ภิกษุ เธออย่าคิดอะไรๆ อย่างอื่น จงอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ.”
ภิกษุรูปนั้นได้พระโอวาทจากสำนักของพระศาสดาแล้ว จึงได้กลับพำนักในที่นั้น
และได้ปฏิบัติสมณธรรมจนกระทั่งบรรลุพระอรหันต์ในเวลาต่อมา
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=13&p=2