Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๔๓๗

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

มารยาทเป็นเรื่องสำคัญ

 

 

dhammajaree437

 


ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ นี้ หลายท่านคงได้อ่านพบ
สองข่าวเกี่ยวกับเรื่องมารยาทของคนไทยบางกลุ่มในต่างประเทศ
ซึ่งทำให้เห็นว่าสังคมไทยควรจะต้องหันมาให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ข่าวแรกได้แก่ ข่าวคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ไปถ่ายคลิปเพื่อทำ Content
ในการเต้นบนรถไฟที่ประเทศญี่ปุ่น และเมื่อมีชาวเน็ตต่าง ๆ ได้ไปตักเตือน
ว่าเป็นการเสียมารยาทในวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่น เจ้าตัวก็ด่ากลับ
จนทำให้เจ้าตัวต้องเจอทัวร์ลงอย่างหนัก
ซึ่งต่อมาในภายหลัง คนไทยกลุ่มดังกล่าวก็ได้ออกมากล่าวขอโทษแล้ว

ในกรณีนี้ นอกจากคนไทยกลุ่มดังกล่าวทำผิดมารยาทบนรถไฟในญี่ปุ่นแล้ว
ยังเป็นการรบกวนผู้โดยสารคนอื่น ๆ
และละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้โดยสารอื่น ๆ ที่ถูกถ่ายคลิปอีกด้วย
ซึ่งแม้กระทั่งสื่อมวลชนที่ประเทศญี่ปุ่นก็ยังนำไปออกข่าวไปทั่ว
โดยชาวเน็ตไทยหลาย ๆ คนก็กังวลว่าหากทำกันแบบนี้มาก ๆ แล้ว
นอกจากจะทำให้คนไทยเสื่อมเสียและต้องอับอายแล้ว
อาจจะถึงขั้นทำให้ประเทศญี่ปุ่นยกเลิกฟรีวีซ่าประเทศไทยด้วยก็ได้
https://www.komchadluek.net/hot-social/Social/556048
https://mgronline.com/travel/detail/9660000073056
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7813231
https://mgronline.com/travel/detail/9660000073329

ข่าวที่สองได้แก่ คนไทยกลุ่มหนึ่งขึ้นเครื่องบินกลับจากประเทศเวียดนาม
และผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มได้ขอให้แอร์โฮสเตสช่วยยกกระเป๋าให้
(ทั้งที่ในกลุ่มที่มาด้วยก็มีผู้ชายประมาณ ๑๐ คนได้ แต่ไม่ช่วยยก)
ซึ่งแอร์โฮสเตสได้แจ้งผู้หญิงคนดังกล่าวว่าต้องยกเอง
คนไทยบางคนในกลุ่มดังกล่าวก็ได้โวยวายแอร์โฮสเตสได้ยิน
โดยมีทั้งคำหยาบ และมีการข่มขู่ต่าง ๆ นานา
จนในที่สุดกลุ่มคนไทยที่โวยวายดังกล่าว
ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่เวียดนามเชิญลงจากเครื่องบิน
ซึ่งแม้ว่าคนไทยที่โวยวายนั้นมีไม่กี่คนในกลุ่มนั้น
และคนอื่น ๆ ในกลุ่มจะไม่ได้โดนเชิญลงด้วยก็ตาม
แต่ในเมื่อทุกคนในกลุ่มนั้นมาด้วยกัน จึงยินยอมลงไปด้วยกัน
(กล่าวคือ เพื่อนไม่ดีบางคนในกลุ่มทำให้เดือดร้อนกับทั้งกลุ่ม)

ในเวลาที่คนไทยกลุ่มดังกล่าวโดนเชิญลงจากเครื่องบินนั้น
ชาวต่างชาติและชาวเวียดนามด้านหลังเครื่องบินต่างปรบมือกันสนั่น
เรียกได้ว่าคนไทยกลุ่มนี้ทำให้คนชาติอื่นบนเครื่องบินเขาดูถูกคนไทยครับ
นอกจากนี้ ผลของพฤติกรรมนี้ยังทำให้เครื่องบินล่าช้า (Delay) ไปสองชั่วโมง
และอย่างน้อยก็ทำให้ผู้โดยสารชาวเกาหลี ๓ คนที่ต้องไปต่อเครื่องบิน
ที่สนามบินสุวรรณภูมินั้นไปต่อเครื่องบินไม่ทัน คือทำคนอื่นเดือดร้อนกันหมด
https://www.dailynews.co.th/news/2658491/
https://www.matichon.co.th/social/news_4147756
https://today.line.me/th/v2/article/qoGQELw
https://www.thairath.co.th/news/society/2720204

จากสองข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ ดังกล่าวนี้
ย่อมจะทำให้เห็นได้ว่าการไม่รักษามารยาทในต่างประเทศของคนไทยบางกลุ่ม
ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนอื่น ๆ และยังทำให้คนไทยอื่น ๆ ด้วยกันต้องอับอาย
โดยหากประพฤติไร้มารยาทเช่นนี้กันมาก ๆ แล้ว
ก็ย่อมจะกระทบต่อคนไทยอื่น ๆ ที่เดินทางไปต่างประเทศด้วย
และกระทบต่อภาพลักษณ์ของคนไทยในสายตาชาวต่างประเทศ
ซึ่งมองว่าคนไทยนิสัยดี มีรอยยิ้มและมิตรภาพ และมีวัฒนธรรมอันดี
อันเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ที่สำคัญที่ทำให้ชาวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทย
https://www.wonderfulpackage.com/article/v/1148/

ดังนั้นแล้ว หากเราจะต้องเดินทางไปต่างประเทศแล้ว
เราจึงควรที่จะต้องศึกษาข้อมูลเพื่อเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมและมารยาทต่าง ๆ ให้ดี
โดยควรจะต้องให้ความสำคัญในการรักษามารยาทในต่างประเทศ
และพึงระลึกว่าหากเราทำมารยาทไม่ดีและเสื่อมเสียแล้ว
ย่อมมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของคนไทยอื่น ๆ ด้วย

ในเรื่องของการรักษามารยาทนี้ เป็นสิ่งสำคัญของ “สัตบุรุษ”
โดย สัตบุรุษ หมายถึงคนดี หรือผู้ดี ซึ่งธรรมของสัตบุรุษประกอบด้วย ๗ ประการ
เรียกว่า “สัปปุริสธรรม ๗” อันประกอบด้วย
๑. ธัมมัญญุตา คือ ความรู้จักธรรม รู้หลัก รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล
รู้จักเหตุ สิ่งที่จะทำให้เกิดผล
๒. อัตถัญญุตา คือ ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย รู้จักผล รู้ความมุ่งหมาย
รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นตามเหตุ
๓. อัตตัญญุตา คือ ความรู้จักตน รู้ว่าเรานั้นโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้
ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรมเป็นอย่างไร เท่าไร
แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป
๔. มัตตัญญุตา คือความรู้จักประมาณ ความพอดี เช่น
คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์
๕. กาลัญญุตา คือ ความรู้จักกาล รู้เวลาอันเหมาะสม
กระทำหน้าที่การงานให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา
๖. ปริสัญญุตา คือความรู้จักบริษัท รู้จักชุมชน รู้จักที่ประชุม
รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้
จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น
๗. ปุคคลัญญุตา คือ ความรู้จักบุคคล ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า
โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครยิ่งหรือหย่อนอย่างไร
และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นด้วยดีว่าควรจะคบหรือไม่
ควรจะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=287

ดังนั้นแล้ว เวลาที่อยู่ในสังคม ไม่ว่าจะสังคมใด ๆ ก็ตาม
ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ เราพึงรู้จักบริษัทหรือสังคมว่า
ควรจะต้องปฏิบัติตนเองต่อบริษัทหรือสังคมนั้นอย่างไร
รู้จักตนเองว่ามีหน้าที่อย่างไร รู้จักผู้อื่น รู้ว่าควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร
รู้เหตุ รู้ผล รู้ว่าหากทำเช่นนี้แล้วจะก่อให้เกิดผลอย่างไร
รู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสมตามกาล และปฏิบัติอย่างพอดีครับ

อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือพึงคบอยู่กับสัตบุรุษครับ
เพราะหากเราเป็นอสัตบุรุษแล้วไปคบอยู่กับอสัตบุรุษด้วยกันแล้ว
ก็ย่อมจะไม่มีใครในกลุ่มที่สามารถตักเตือนกันได้
เพราะทุกคนในกลุ่มต่างก็ไม่ทราบว่ามารยาทอันดีคืออะไร
ใน “จูฬปุณณมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส
แม้ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ นั่นก็ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส
ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของอสัตบุรุษ
ภักดีต่ออสัตบุรุษ มีความคิดอย่างอสัตบุรุษ มีความรู้อย่างอสัตบุรุษ
มีถ้อยคำอย่างอสัตบุรุษ มีการงานอย่างอสัตบุรุษ มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษ
ย่อมให้ทานอย่างอสัตบุรุษ

ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ นั่นเป็นฐานะที่มีได้
แม้ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ นั่นก็เป็นฐานะที่มีได้
ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ
ภักดีต่อสัตบุรุษ มีความคิดอย่างสัตบุรุษ มีความรู้อย่างสัตบุรุษ
มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ มีการงานอย่างสัตบุรุษ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ
ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=2187&Z=2323&pagebreak=0