Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๔๒๙

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 สอนให้หยุดเลี้ยงดูพ่อแม่

 

dhammajaree429

ในช่วงนี้ ข่าวส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องหาเสียงเลือกตั้ง
โดยได้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าไปในวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖
และก็จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖
ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็มีรูปแบบการหาเสียงที่หลากหลาย
แต่ว่ามีการหาเสียงในรูปแบบหนึ่งไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย
กล่าวคือมีกลุ่มการเมืองแนะนำให้ลูกหยุดส่งเงินเลี้ยงดูพ่อแม่
หากพ่อแม่ไม่เลือกพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ
ในกรณีนี้ เท่ากับว่าเป็นการสอนหรือแนะนำให้ลูกอกตัญญู และเนรคุณพ่อแม่
และเป็นการทำลายสถาบันครอบครัวของประเทศไทยเอง

ผมเคยสัมภาษณ์งานน้องคนหนึ่ง
ซึ่งผมได้แนะนำให้น้องคนนั้นให้เงินแก่พ่อแม่ของเขาด้วย
น้องเขาตอบว่า พ่อแม่ของเขามีเงินพออยู่แล้ว ไม่ได้เดือดร้อน จึงไม่ต้องให้ก็ได้
ผมตอบน้องคนนั้นว่า ที่ผมแนะนำให้น้องให้เงินพ่อแม่นั้น
ไม่ได้เพื่อเป็นการช่วยเหลือพ่อแม่ของน้อง แต่ว่าเพื่อเป็นการช่วยตัวน้องเอง
เพราะว่าการที่น้องให้เงินพ่อแม่นั้น น้องเองที่จะเป็นคนได้ประโยชน์
น้องเขาฟังแล้วก็ดูไม่ค่อยเข้าใจนะครับว่า
ตนเองจะได้ประโยชน์อย่างไรในการที่เอาเงินให้พ่อแม่

เหตุผลที่น้องจะได้ประโยชน์จากการเอาเงินให้พ่อแม่นั้น
เพราะว่าบิดามารดาเป็นผู้มีอุปการะมากต่อบุตร
เป็นเนื้อนาบุญที่ดีอย่างยิ่งสำหรับบุตรในการทำบุญด้วย
ใน “พรหมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ตระกูลใด บุตรบูชามารดาและบิดาอยู่ในเรือนของตน
ตระกูลนั้นชื่อว่ามีพรหม มีบุรพเทวดา มีบุรพาจารย์ มีอาหุไนยบุคคล
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหม เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่า บุรพเทวดา เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่า บุรพาจารย์ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่า อาหุไนยบุคคล เป็นชื่อของมารดาและบิดา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาและบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก
เป็นผู้ถนอมเลี้ยง เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร

มารดาและบิดาเรากล่าวว่า เป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์
เป็นอาหุไนยบุคคลของบุตร เพราะเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร
เพราะเหตุนั้นแหละ บัณฑิตพึงนอบน้อม
และพึงสักการะมารดาและบิดาทั้งสองนั้น
ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การขัดสี การให้อาบน้ำ และการล้างเท้า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ทีเดียว
เพราะการปฏิบัติในมารดาและบิดา บุคคลนั้นละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์”
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=6643&Z=6657&pagebreak=0

ใน “ทุจริตวรรคที่ ๓” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย
คนพาลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้ไม่ฉลาด เป็นอสัปบุรุษ
ย่อมบริหารตนให้ถูกขจัด ถูกทำลาย เป็นผู้มีโทษ วิญญูชนติเตียน
และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑ ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวที ๑

ภิกษุทั้งหลายบัณฑิตผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนฉลาด เป็นสัปบุรุษ
ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกขจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน
และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
กายสุจริต ๑ วจีสุจริต ๑ มโนสุจริต ๑ ความเป็นคนกตัญญูกตเวที ๑
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=21&A=6134&Z=6194&pagebreak=0

ตามพระธรรมคำสอนข้างต้นนั้น เราจะเห็นได้ว่า
หากบุตรในครอบครัวใดบูชามารดาและบิดาของตนแล้ว
ครอบครัวนั้นย่อมชื่อว่า มีพรหม มีบุรพเทวดา มีบุรพาจารย์ มีอาหุไนยบุคคล
โดยบัณฑิตพึงนอบน้อม และพึงสักการะมารดาและบิดาทั้งสองนั้น
ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การขัดสี การให้อาบน้ำ และการล้างเท้า เป็นต้น
ซึ่งผลของการกระทำดังกล่าว บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้
และเมื่อบุคคลนั้นตายไปแล้ว ก็ย่อมได้ไปสู่สวรรค์

ในขณะที่ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวที ถือเป็นคุณสมบัติของคนพาล
โดยคนพาลเป็นผู้ไม่ฉลาด เป็นอสัปบุรุษ ย่อมทำให้ตนเองถูกขจัด ถูกทำลาย
เป็นผู้มีโทษ วิญญูชนติเตียน และย่อมประสบบาปอกุศลเป็นอันมาก
ในทางกลับกัน ความเป็นคนกตัญญูกตเวที ถือเป็นคุณสมบัติของบัณฑิต
โดยบัณฑิตเป็นคนฉลาด เป็นสัปบุรุษ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกขจัด
ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก

ดังนั้น การสอนแนะนำให้ลูกหยุดให้เงินหรือดูแลพ่อแม่นั้น
เท่ากับว่าเป็นการทำร้ายลูกนั้นเอง โดยเป็นการแนะนำให้ลูกนั้น
กลายเป็นผู้ไม่ฉลาด เป็นอสัปบุรุษ ทำให้ตนเองถูกขจัด ถูกทำลาย
เป็นผู้มีโทษ วิญญูชนติเตียน และย่อมประสบบาปอกุศลเป็นอันมาก
ซึ่งในส่วนของลูกนั้นเองถือว่าไม่คุ้มค่าด้วยในทุกประการ
เพราะว่านักการเมืองมาแล้วก็ไปอยู่ไม่นาน
แต่ว่าบาปอกุศลที่ตนเองประพฤติผิดต่อพ่อแม่นั้น
ย่อมทำให้ตนเองย่อมประสบบาปอกุศลเป็นอันมาก
ซึ่งผลกรรมที่จะได้รับนั้นยาวนานกว่ามากครับ