Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๔๒๖

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

พระภิกษุและสิทธิเลือกตั้ง

dhammajaree426

พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๖

ได้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาครับ

https://www.prachachat.net/politics/news-1236618

โดยในช่วงระยะเวลานี้ หลายพรรคการเมืองก็เริ่มหาเสียงและนำเสนอนโยบายต่าง ๆ

แต่มีนโยบายหนึ่งที่ผมเห็นว่า เราน่าจะนำมาสนทนากันในวันนี้คือ

นโยบายที่เสนอให้พระภิกษุมีสิทธิเลือกตั้งเช่นเดียวกับฆราวาส

โดยฝ่ายที่นำเสนอนั้นอ้างว่า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ก็มีบางเพจ หรือบางบทความที่ได้ให้ความเห็นว่า

พระธรรมวินัยไม่ได้กำหนดข้อห้ามพระภิกษุใช้สิทธิเลือกตั้ง (ซึ่งไม่จริงนะครับ)

ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนากันในเรื่องนี้ครับ

 

หากพิจารณาในพระธรรมคำสอนแล้ว ใน “สามัญญผลสูตร”

(พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนเรื่องจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล

ซึ่งมัชฌิมศีลมีหลายประการ และมีมัชฌิมศีลประการหนึ่งที่กำหนดว่า

“ภิกษุเว้นขาดจาก ติรัจฉานกถา เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก

ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถา คือ

พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย

เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม

เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ

เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว

เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้น ๆ

แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง”

https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=9&A=1072&Z=1919&pagebreak=0

 

ดังนั้น เราจึงจะเห็นได้ว่าหากให้พระภิกษุเลือกตั้งแล้ว

ภิกษุย่อมจะต้องมาสนใจและสนทนาในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องติรัจฉานกถา

ซึ่งเท่ากับว่าภิกษุประพฤติผิดมัชฌิมศีลดังกล่าว

 

ใน “ติรัจฉานกถาสูตร ว่าด้วยการพูดติรัจฉานกถา”

(พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย

เธอทั้งหลายจงอย่าพูดดิรัจฉานกถา ซึ่งมีหลายอย่าง คือ

พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องรบ เรื่องข้าว

เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน

เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ

เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก

เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้น ๆ

ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะถ้อยคำนี้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

ไม่เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด

ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน”

https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=10014&Z=10036&pagebreak=0

 

นอกจากนี้แล้ว การใช้สิทธิเลือกตั้งก็ไม่ใช่ธุระของพระภิกษุ

ใน “อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑” ได้เล่าว่า

พระมหาปาละได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และทูลถามว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ในพระศาสนานี้มีธุระกี่อย่าง?”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ภิกษุ ธุระมี ๒ อย่าง

คือ คันถธุระ กับ วิปัสสนาธุระ เท่านั้น”

พระมหาปาละทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า ก็คันถธุระเป็นอย่างไร? วิปัสสนาธุระเป็นอย่างไร?”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ธุระนี้ คือ การเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี

จบพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกก็ดี ตามสมควรแก่ปัญญาของตนแล้วทรงไว้

กล่าวบอกพุทธวจนะนั้น ชื่อว่า คันถธุระ

ส่วนการเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ

ยังวิปัสสนาให้เจริญ ด้วยอำนาจแห่งการติดต่อแล้ว

ถือเอาพระอรหัตของภิกษุผู้มีความประพฤติแคล่วคล่อง

ยินดียิ่งแล้วในเสนาสนะอันสงัด ชื่อว่า วิปัสสนาธุระ”

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=1&fbclid=IwAR11vaqSkeIDzwPqfuwzPC4VcepMUKToS3OGh2qXEk0-5vqUpAYSIAo5za8

 

ในเรื่องนี้ มหาเถรสมาคมได้เคยมี คำสั่งมหาเถรสมาคม

เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๘

(ซึ่งในคำสั่งดังกล่าวสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นผู้ลงนาม)

โดยได้อธิบายเหตุผลของการออกคำสั่งดังกล่าวว่า

“โดยที่พระภิกษุสงฆ์ได้นามว่า สมณะ แปลว่า ผู้สงบ

ได้นามว่า บรรพชิต แปลว่า ผู้เว้นกิจกรรมอันเศร้าหมองมีโทษสมควร

เป็นผู้สังวรระวังการกระทำของตนให้เป็นไปแต่ในทางสงบ

ปราศจากโทษทั้งแก่ตนและแก่หมู่คณะ

ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบท

ห้ามพระภิกษุสงฆ์มิให้ประพฤตินอกทางของสมณะบรรพชิต ทรงปรับโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนละเมิด

ในการที่บ้านเมืองมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าเป็นสมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งเป็นธุรกิจฝ่ายบ้านเมือง เป็นหน้าที่ของฆราวาสผู้มีสิทธิตามกฎหมายโดยเฉพาะ

ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุสามเณรผู้อยู่นอกเหนือการเมือง ไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง

ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แม้ผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

หากบวชเป็นพระภิกษุในสามเณรในพระพุทธศาสนา

ก็ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎรทันที

ข้อนี้แสดงว่าความเป็นพระภิกษุสามเณรไม่ควรแก่การเมืองโดยประการทั้งปวง

การที่พระภิกษุสามเณรเข้าไปเกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งบุคคลใด ๆ

เพื่อเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกเทศบาล เป็นต้น

ย่อมเป็นการประพฤติผิดวิสัยของสมณะบรรพชิต

นำความเสื่อมเสียมาสู่ตนเองและหมู่คณะตลอดถึงพระศาสนา

เป็นที่ติเตียนของสาธุชนทั้งในและนอกพระศาสนา

เพราะสมณะบรรพชิตสมควรวางตนเป็นกลาง ทำจิตให้กว้างขวาง

ด้วยเมตตาทั่วไปแก่ชนทั้งปวง ผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยไม่เลือกหน้า

ในตำแหน่งที่มีผู้แข่งขันช่วงชิงกันมากคน

พระภิกษุสามเณรเข้าช่วยให้ผู้ใดได้ ย่อมเป็นที่พอใจของผู้นั้น

แต่ผู้ที่ไม่ได้อีกเป็นจำนวนมากกับพวกพ้องย่อมไม่พอใจ เสื่อมคลายความเคารพนับถือ

ความเป็นอยู่ของสงฆ์และความดำรงอยู่แห่งพระศาสนา

ขึ้นอยู่กับความเคารพนับถือของประชาชน

พระภิกษุสามเณรจึงควรทำตนให้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป

ไม่ควรทำตนให้เป็นพวกเป็นฝ่ายของผู้ใดผู้หนึ่ง

ซึ่งจะทำให้ชนทั้งหลายเห็นว่าไม่ตั้งอยู่ในธรรม

เกิดความเบื่อหน่ายคลายความนับถือ และติเตียนต่าง ๆ

ดังเคยมีตัวอย่างปรากฏมาแล้วมากราย

 

เพื่อสงวนและเชิดชูพระภิกษุสงฆ์ให้ตั้งอยู่ในฐานะอันน่าเคารพนับถือ

ไม่เป็นที่ดูหมิ่นติเตียนของมหาชน และป้องกันความเสื่อมเสียของคณะสงฆ์

และพระศาสนาอันมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ดำรงรักษาไว้เช่นเดียวกับบูรพาจารย์ได้เคยปฏิบัติมา

จึงออกคำสั่งมหาเถรสมาคมไว้ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรถือปฏิบัติต่อไป”

http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER52/DRAWER096/GENERAL/DATA0000/00000516.PDF

 

ดังนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่าการที่กำหนดนโยบายให้พระภิกษุเลือกตั้งได้นี้

ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์ หรือพระศาสนา

แต่กลับจะเป็นการทำลายพระภิกษุ โดยทำให้พระภิกษุประพฤติผิดสิกขาบท

เป็นที่ดูหมิ่นติเตียนของมหาชน และทำให้เสื่อมเสียต่อคณะสงฆ์จนถึงพระศาสนา

ดังที่ได้กล่าวอธิบายแล้วข้างต้น

 

อนึ่ง ในเรื่องการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันนั้น

โดยสภาพแล้ว ฆราวาส และบรรพชิตนั้น ย่อมไม่เท่าเทียมกันโดยสภาพแล้วครับ

เพราะหากเท่าเทียมกันแล้ว ฆราวาสก็ไม่ต้องกราบบรรพชิต

และบรรพชิตก็ใช้ชีวิตเหมือนกับฆราวาสได้

แต่ด้วยความที่บรรพชิตถือศีลจำนวนข้อมากกว่า

และมีข้อวัตรปฏิบัติมากกว่าในฐานะของบรรพชิต

บรรพชิตจึงอยู่ในฐานะที่สูงกว่าฆราวาสโดยสภาพอยู่แล้ว

จึงไม่ควรไปดึงบรรพชิตให้มายุ่งในกิจธุระของฆราวาส

เพราะจะเท่ากับว่าเป็นการทำลายบรรพชิต และพระศาสนานั่นเอง