Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๔๒๕

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ทำงานหนักจนเสียชีวิต

dhammajaree425

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา
หลายท่านคงจะได้ทราบข่าวของพนักงานในธุรกิจสื่อสารมวลชนแห่งหนึ่ง
ที่ได้ทำงานหนักจนเสียชีวิตในขณะที่ทำงาน ณ สถานีข่าวนั้น
ซึ่งจากเนื้อหาข่าวนั้น พนักงานท่านนี้ทำหน้าที่จัดผังรายการของสถานีข่าวสองช่อง
ในแต่ละวัน พนักงานท่านนี้ต้องทำงานเกินเวลา และในแต่ละสัปดาห์ก็ทำงานเกิน ๕ วัน
บางสัปดาห์ทำงานตลอด ๗ วัน พอนานไปร่างกายก็เริ่มแย่ มีอาการป่วยหลายโรค
เมื่อเขาลาหยุด ลาป่วย ไปได้แค่หนึ่งวันหรือสองวัน ก็โดนโทรตามให้รีบกลับมาทำงาน
ซึ่งพนักงานท่านนี้ถึงกับเคยตัดพ้อกับเพื่อนร่วมงานว่า
คงต้องให้ผมตายก่อนล่ะมั้ง เขาถึงจะหาคนมาช่วยงาน”
จนกระทั่งท้ายที่สุด ก็ทำงานจนเสียชีวิตด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่ทำงาน
https://mgronline.com/live/detail/9660000012209
https://brandinside.asia/true-tnn-and-true4u-announce-after-one-of-employee-work-hard-untill-he-passed-away/
https://www.marketthink.co/36638
https://www.tnews.co.th/social/social-news/583562
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1051647

ในกรณีที่ต้องทำงานหนักมากเกินสมควรแล้ว ก็ย่อมจะทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้ครับ
ซึ่งนอกเหนือจากโรคความดัน เบาหวาน หรือโรคหัวใจที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว
ในญี่ปุ่นได้มีโรคทำงานหนักจนเสียชีวิต เรียกชื่อว่า “โรคคาโรชิ” (
Karoshi Syndrome)
ซึ่งถูกพบครั้งแรกเมื่อ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว
“โรคคาโรชิ” คือ อาการจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน
รวมทั้งพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เครียดสะสม
เสียสุขภาพ ก่อเกิดอาการร้ายแรงซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต

ทั้งนี้ ได้มีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า
คนอายุ ๔๕ - ๗๔ ปีที่ทำงานหนักจนเกินไป หรือมีชั่วโมงทำงานมากกว่า ๕๕ ชั่วโมงต่อสัปดาห์
เสียชีวิตด้วยสาเหตุโรคหัวใจ ร้อยละ ๔๒ และเส้นเลือดในสมอง ร้อยละ ๑๙
โดยในประเทศญี่ปุ่น ได้มีการจัดตั้ง
Karoshi Hotlines ไว้ให้คำปรึกษา
นอกเหนือจากที่ญี่ปุ่นแล้ว โรคคาโรชิยังพบได้บ่อยในไต้หวันและเกาหลีใต้
เพราะต่างเป็นประเทศที่มีสังคมกดดันเรื่องการทำงานอย่างหนัก

สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ในปี ๒๕๖๕
จากการจัดอันดับเมืองที่ผู้คนทำงานหนักเกินไป (
Most Overworked Cities) ของ getkisi.com
พบว่า กรุงเทพฯ ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ ๗ ของโลก
ทั้งยังพบว่า พนักงานประจำในกรุงเทพฯ ร้อยละ ๑๕.๑๐
มีการทำงานล่วงเวลามากกว่า ๔๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ซึ่งการทำงานหนักเกินไปจะนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (
Burnout Syndrome)
คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน
มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ
ซึ่งหากปล่อยไว้อาจจะมีผลต่อร่างกาย จิตใจ และการทำงานด้วย

อย่าปล่อยให้งานฆ่าคุณ วิธีบอกลาการทำงานหนักจนตาย (ลิงค์)

ในกรณีที่เราพบว่า เรามีปัญหาว่าทำงานหนักเกินสมควรแล้ว
เราควรกลับมาพิจารณาทบทวนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยผมขอแนะนำให้พิจารณา ดังต่อไปนี้
๑. พิจารณาว่าเหตุที่งานหนักนั้น เป็นเพราะว่างานเยอะ
หรือเพราะว่าเราทำงานช้า หรือเราไม่ได้ใช้เวลาทำงานเท่าที่ควร
โดยหากงานหนักเป็นเพราะว่าเราทำงานช้า
เราก็ควรจะฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพตนเองให้ทำงานให้เร็วขึ้น
เพื่อให้สามารถทำงานเสร็จภายในเวลาที่เหมาะสมและงานไม่คั่งค้าง
หรือหากงานหนักเป็นเพราะว่าเราไม่ได้ใช้เวลาทำงานเท่าที่ควร
เช่น มัวแต่ใช้เวลาไปบันเทิงทำอย่างอื่น โดยไม่ได้ใช้เวลามาทำงานแล้ว
เราก็ควรจะจัดสรรเวลามาทำงานให้มากยิ่งขึ้น

๒. หากพิจารณาแล้วพบว่าเหตุที่งานหนักนั้น เป็นเพราะงานเยอะจริง ๆ
โดยไม่ได้เป็นเพราะว่าเราทำงานช้า หรือเราไม่ได้ใช้เวลาทำงานเท่าที่ควรแล้ว
เราก็ควรจะหารือกับหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาว่า งานที่เราทำอยู่นั้นหนักเกินไป
และเขาจะช่วยลดปริมาณงานลงอย่างไรได้บ้างหรือไม่
หรือเขาจะหาพนักงานอื่นมาช่วยแบ่งงานออกไปได้บ้างหรือไม่ 

๓. ถ้าหารือกับหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาแล้ว และไม่ประสบผลสำเร็จแล้ว
เราก็ควรจะพิจารณาว่างานหนักดังกล่าวนั้น มันร้ายแรงขนาดไหน
กล่าวคือ ร้ายแรงจนถึงขนาดทำให้เสียสุขภาพหรือเจ็บป่วยหรือไม่
หากไม่ได้ทำให้ร้ายแรงจนถึงขนาดทำให้เสียสุขภาพหรือเจ็บป่วยแล้ว
ก็อาจจะพิจารณาทำงานที่เดิมต่อไปก็ได้
แต่หากงานหนักนั้นร้ายแรงจนถึงขนาดทำให้เสียสุขภาพหรือเจ็บป่วยแล้ว
ก็ควรจะพิจารณาหางานใหม่ หรือย้ายงานครับ

อนึ่ง ในมหาสุตโสมชาดก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก)
พระโพธิสัตว์ได้กล่าวสอนว่า
“นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะอันประเสริฐ
เมื่อจะรักษาชีวิตไว้ พึงสละอวัยวะ
เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละทั้งอวัยวะ ทั้งทรัพย์ และแม้ชีวิตทั้งหมด”
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=28&A=2258&Z=2606&pagebreak=0
ดังนั้นแล้ว หากงานหนักที่ทำอยู่นั้นจะทำให้เจ็บป่วย หรือเป็นอันตรายแก่ชีวิตแล้ว
เราก็พึงที่จะยอมสละงานดังกล่าว (คือสละทรัพย์) เพื่อรักษาอวัยวะ และชีวิตครับ

ในเรื่องนี้ เราจะสามารถหางานใหม่ หรือย้ายงานได้ไม่ยาก
หากเราเป็นคนที่ขยันทำงาน และหมั่นพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอยู่เสมอ
ในทางกลับกัน หากเราเป็นคนที่ขี้เกียจทำงาน
หรือไม่ได้มีความรู้ความสามารถในการทำงานเท่าที่ควรแล้ว
ก็ย่อมจะหางานใหม่ หรือย้ายงานได้ยากครับ
ดังนั้นแล้ว เพื่อไม่ให้เราต้องมีปัญหาในเวลาที่เราจำเป็นต้องหางานใหม่ หรือย้ายงานแล้ว
เราเองก็พึงฝึกตนเองให้เป็นคนที่ขยันทำงาน
และหมั่นพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอยู่เสมอครับ