Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๔๑๔

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ขัดขวางการทำบุญ

 

dhammajaree414

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม บางท่านอาจจะได้เห็นข่าวของดารานักร้องท่านหนึ่ง
คือคุณโตโน่ที่ตั้งใจจะจัดกิจกรรม “One Man The River หนึ่งคนว่ายหลายคนให้”
โดยการว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนม ในวันที่ 22 ตุลาคม 2565 นี้
เพื่อระดมทุนหาซื้อเครื่องมือแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลนครพนมของไทย
และโรงพยาบาลแขวงคำม่วนของประเทศลาว
โดยตั้งเป้าว่าจะระดมทุนให้ได้ 10 ล้านบาท
และเริ่มรับบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 ตุลาคม 2565 นี้
ซึ่งท่านที่สนใจก็สามารถร่วมบริจาคได้ที่
บัญชีชื่อ “มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ เพื่อโครงการเทใจ"
บัญชีเลขที่ 034-0-04773-2 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/entertainment/1031352

ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ก็มีกระแสดราม่าจากบางท่านที่ไม่เห็นด้วย
โดยมีเหตุผลต่าง ๆ ที่หลากหลายกันไป
ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีความเห็นที่แตกต่างกันได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเราจะมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องการทำบุญของคนอื่น
แต่เราก็ควรระวังว่า ไม่ควรไปขัดขวางการทำบุญของคนอื่นนั้น
เพราะว่าการขัดขวางการทำบุญของคนอื่นนั้น
ย่อมอาจเป็นอกุศลกรรม และส่งผลกระทบต่อเราได้

ยกตัวอย่างว่า หากมีมิจฉาชีพมาหลอกเรี่ยไรเงินจากคนที่เรารู้จัก
แล้วเราทราบว่าคนที่มาเรี่ยไรนั้นเป็นมิจฉาชีพ
จึงได้ตักเตือนหรือห้ามปรามคนที่เรารู้จักไม่ให้โดนหลอกแล้ว
เช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นอกุศลกรรมครับ
เพราะกระทำด้วยเจตนาที่เป็นกุศลต้องการช่วยคนที่เรารู้จัก
แต่หากคนที่มาเรี่ยไรไม่ใช่มิจฉาชีพ
และคนที่เรารู้จักก็มีเงินทำบุญ โดยไม่ได้เดือดร้อน และต้องการทำบุญนั้น
แต่ว่าเราเองด้วยความไม่พอใจอะไรบางอย่าง
แล้วไปขัดขวางหรือไปห้ามไม่ให้เขาทำบุญด้วย เช่นนี้ย่อมเป็นอกุศลกรรมครับ

ในอันที่จริงแล้ว อกุศลกรรมนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เราไม่พอใจ
และไม่ต้องการให้เขาไปทำบุญแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้ขัดขวางก็ตาม
กล่าวคืออกุศลกรรมเกิดขึ้น โดยมโนกรรม
โดยเมื่อเราได้กล่าววาจา หรือมีพฤติกรรมขัดขวางแล้ว
ก็ย่อมเกิดอกุศลกรรมขึ้น โดยวจีกรรมหรือกายกรรม
ซึ่งหากเทียบกันแล้ว กรรมที่ให้ผลรุนแรงที่สุดในบรรดา ๓ กรรมนี้
คือ มโนกรรม ครับ

ใน “อุปาลิวาทสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
ตถาคตบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ
กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑
ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง และมโนกรรมอย่างหนึ่ง
โดยตถาคตบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่าในการทำบาปกรรม
กายกรรมและวจีกรรมจะมีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=1044&Z=1477&pagebreak=0

ในเรื่องของการขัดขวางการทำบุญนั้น ใน “ชัปปสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “ผู้ใดแลห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมกระทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง
เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง วัตถุ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ
ย่อมทำอันตรายแก่บุญของทายก ๑
ย่อมทำอันตรายแก่ลาภของปฏิคาหก ๑
ตนของบุคคลนั้น ย่อมเป็นอันถูกกำจัดและถูกทำลายก่อนทีเดียวแล ๑”
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=4227&Z=4284&pagebreak=0

สังเกตว่าในพระสูตรกล่าวว่า ตนของบุคคลนั้น ย่อมเป็นอันถูกกำจัดและถูกทำลายก่อน
ซึ่งคำว่า “ตนของบุคคล” ย่อมหมายถึง “ผู้ซึ่งห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่” นะครับ
โดยเป็นบุคคลที่จะต้องได้รับผลร้ายของการกระทำดังกล่าว

ใน “มัจฉริสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)
เทวดาตนหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น
ดีแต่ว่าเขาทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่
วิบากของคนพวกนั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะเป็นเช่นไร”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
“คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น
ดีแต่ว่าเขาทำการกีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่
คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือยมโลก
ถ้าหากถึงความเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุลคนยากจน
ซึ่งจะหาท่อนผ้า อาหาร ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก
คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น
เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้น สมความปรารถนา นั่นเป็นผลในภพนี้
และภพหน้าก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย”
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=990&Z=1023&pagebreak=0

+ + + + + + + + + + + + + + +

หมายเหตุ ขอเชิญร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อสนับสนุนการจัดค่ายเรียนรู้กายใจ โดยพระอาจารย์กฤช นิมׅมโล ได้เมตตาเป็นประธานรับถวายผ้าป่า ในวันที่ 10 ธันวาคม 2565 เวลา 11.30 น. ณ ศาลาประสานวิเทศธรรม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยท่านสามารถร่วมทำบุญทอดผ้าป่า ได้ที่บัญชีชื่อ “นางพจนา ทรัพย์สมาน นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางชญาณัฒ ธิเนตร” ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบิ๊กซีนครสวรรค์ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 627-0348-318

ทั้งนี้ ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์ ได้จัดค่ายเรียนรู้กายใจ สอนการเจริญสติตามหลักสติปัฏฐานสี่ ให้แก่นักเรียน เยาวชน และนักศึกษามาอย่างต่อเนื่อง (เว้นช่วงระยะเวลาไวรัสโควิดระบาด) ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงเดือนกันยายน 2565 จัดค่ายมาแล้วรวมประมาณ 385 ค่าย มีนักเรียน เยาวชน นักศึกษา และญาติธรรมร่วมเรียนรู้ประมาณ 24,240 คน ผลการจัดค่ายพบว่านักเรียน เยาวชน นักศึกษามีพัฒนาการเป็นที่น่าพอใจมาก มีทัศนคติที่ดีต่อพระพุทธศาสนา เข้าใจหลักการและวิธีการฝึกเจริญสติ โดยหลายคนได้ฝึกปฏิบัติต่อเนื่องหลังจบค่าย และมีพฤติกรรมที่ดีงามมากขึ้น ซึ่งในการจัดค่ายเรียนรู้กายใจหลักสูตร 3 วัน 2 คืน มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม สื่อ อุปกรณ์ ฯลฯ ประมาณค่ายละ 40,000 บาท รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายประจำเป็นค่ายามรักษาความปลอดภัย ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ ทางชมรมเรียนรู้กายใจจึงมีความจำเป็นต้องจัดหาทุนเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดค่ายเรียนรู้กายใจดังกล่าว

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0rwvzm6J37js6D8Vkodi5GeHwmXF1XSLLiVqLUegThjvUzP3YaQQVSv6kaMXky6cDl&id=100085700931738