Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๙๙

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

วิกฤติสงคราม

         dhammajaree399

 

ในช่วงเดือนปลายกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมีนาคมในปัจจุบันนี้
ท่านผู้อ่านคงได้เห็นข่าวสำคัญในเรื่องปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน
ซึ่งทางรัสเซียก็กล่าวอ้างว่ามีความจำเป็นต้องทำเช่นนี้เพราะว่า
ฝ่ายองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization)
หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า NATO (นาโต้) ได้เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงกับรัสเซีย
ที่ว่าจะไม่ขยายพื้นที่ของ NATO เข้าไปใกล้รัสเซีย
แต่ว่าที่ผ่านมา NATO ได้รับสมาชิกเพิ่มและได้ขยายพื้นที่เข้าไปใกล้รัสเซียมากขึ้นทุกที
https://www.rt.com/news/549921-nato-expansion-russia-document/
ในส่วนของฝ่าย NATO และยูเครนก็อ้างว่าเป็นเสรีภาพของ NATO และยูเครน
ที่ยูเครนจะสมัครเข้า NATO และ NATO จะรับยูเครนเป็นสมาชิกของ NATO
และก็กล่าวหาว่ารัสเซียเป็นฝ่ายส่งทหารเข้าไปรุกรานยูเครน

โดยประเทศที่เป็นสมาชิกที่สำคัญของ NATO ได้แก่ สหรัฐอเมริกา
สหราชอาณาจักร แคนาดา เยอรมัน ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ เบลเยียม เป็นต้น
หากผลของวิกฤติสงครามนี้ได้ขยายตัวไปเป็นสงครามระหว่างรัสเซียและ NATO แล้ว
ก็เท่ากับว่าเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๓ และเป็นสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก
แต่ถึงแม้ว่าวิกฤติสงครามนี้ยังไม่ได้ขยายตัวไปเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๓ ก็ตาม
วิกฤติสงครามนี้ก็ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างร้ายแรงแล้ว
เนื่องจากกลุ่มประเทศของ NATO กลุ่มประเทศ EU (European Union)
และประเทศอื่น ๆ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions) ทางการค้าต่อรัสเซีย
(ในขณะที่รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกพลังงาน และสินค้าที่สำคัญ ๆ หลายประเภท)
และรัสเซียก็ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions) ทางการค้ากลับไปเช่นกัน
ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าอื่นอีกหลายประเภท
รวมถึงปุ๋ยเคมี ในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก

ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจโลกเองก็ยังไม่พ้นวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19
โดยมีผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเป็นจำนวนมากในหลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย)
และแต่ละประเทศก็มีหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล
จนไม่ทราบว่าจะสามารถชำระหนี้สาธารณะคืนได้หมดหรือไม่ หรือภายในเมื่อใด
นอกจากนี้ ในระหว่างวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 นี้
ก็ได้มีหลายประเทศที่ได้ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (Quantitative Easing)
หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า QE กล่าวคือเป็นการที่ธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ
พิมพ์เงินจำนวนมหาศาลออกมาเพื่อซื้อสินทรัพย์ในตลาดต่าง ๆ
จนกระทั่งทำให้เงินในระบบมีจำนวนมาก และส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
วิกฤติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้
จึงย่อมส่งผลให้ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงมากยิ่งขึ้น
และย่อมจะทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศ
จำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เช่น การขึ้นดอกเบี้ย
ซึ่งก็ย่อมจะทำให้กระทบต่อประชาชนจำนวนมากที่จะมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น
นอกเหนือจากต้นทุนในการดำรงชีพที่สูงขึ้น เพราะเงินเฟ้อ และสินค้าขึ้นราคาแล้ว

ในส่วนของประเทศไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก
ซึ่งก็ย่อมจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งในแง่ของการเตรียมตัวเองในทางเศรษฐกิจแล้ว
เราก็พึงศึกษาและนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ครับ
http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/1418-2017-02-27-15-20-04
อนึ่ง ในสถานการณ์เช่นนี้ บางคนอาจจะมองว่าต้องเก็บเงินไว้เยอะ ๆ
เผื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามเกิดวิกฤติสินค้าแพง
แต่จริง ๆ แล้ว ถามว่าเก็บเงินไว้เยอะ ๆ แล้วจะช่วยได้จริงหรือ
สมมุติว่าสงครามขยายมาถึงประเทศไทย และมีการโจมตีทางระบบไอที
แล้วข้อมูลเงินในธนาคารทั้งหมดโดนลบไปหมด แล้วจะเป็นอย่างไร
บางคนอาจจะบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็เก็บเป็นทองหรือเงินไว้ที่บ้าน
กรณีนี้ก็เสี่ยงจะสูญหายหรือถูกปล้นหรือโจรกรรมทั้งหมดได้อยู่ดี
หรือแม้ว่าจะเก็บทรัพย์สินไว้มากมายเพียงใดก็ตาม
แต่หากสมมุติว่ามีระเบิดมาลงที่บริเวณที่เราอยู่ และเราตายไป
ทรัพย์สินทั้งหลายที่เก็บสะสมไว้นั้น ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเราได้
ดังนั้นแล้ว การฝากชีวิตไว้กับทรัพย์สินนั้นไม่ได้ปลอดภัยจริง

ใน “นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
“บุรุษย่อมฝังขุมทรัพย์ไว้ในน้ำลึกด้วยคิดว่า เมื่อกิจที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้น
ทรัพย์นี้จักเป็นประโยชน์แก่เรา เพื่อเปลื้องการประทุษร้ายจากพระราชาบ้าง
ความบีบคั้นจากโจรบ้าง เพื่อเปลื้องหนี้สินบ้าง ทุพภิกขภัยบ้าง
ในคราวเกิดอันตรายบ้าง ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้ในโลกเพื่อประโยชน์นี้แล
ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้เป็นอย่างดี ในน้ำลึกเพียงนั้น
ขุมทรัพย์นั้นทั้งหมด ย่อมหาสำเร็จประโยชน์แก่เขาในกาลทั้งปวงทีเดียวไม่  
เพราะขุมทรัพย์เคลื่อนจากที่เสียบ้าง ความจำของเขาย่อมหลงลืมเสียบ้าง
นาคทั้งหลายลักไปเสียบ้าง ยักษ์ทั้งหลายลักไปเสียบ้าง
ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขุดเอาไปเมื่อเขาไม่เห็นบ้าง
เมื่อใดเขาสิ้นบุญ เมื่อนั้นขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้นย่อมพินาศไป
ขุมทรัพย์คือบุญ เป็นขุมทรัพย์อันผู้ใดเป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม
ฝังไว้ดีแล้วด้วยทาน ศีลความสำรวม และความฝึกตน ในเจดีย์ก็ดี ในสงฆ์ก็ดี
ในบุคคลก็ดี ในแขกก็ดี ในมารดาก็ดี ในบิดาก็ดี ในพี่ชายก็ดี
ขุมทรัพย์นั้นชื่อว่าอันผู้นั้นฝังไว้ดีแล้ว ใคร ๆ ไม่อาจผจญได้ เป็นของติดตามตนไป
บรรดาโภคะทั้งหลายเมื่อเขาจำต้องละไป เขาย่อมพาขุมทรัพย์คือบุญนั้นไป
ขุมทรัพย์คือบุญ ไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น โจรลักไปไม่ได้
บุญนิธิอันใดติดตนไปได้ ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น
บุญนิธินี้ให้สมบัติที่พึงใคร่ทั้งปวงแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายปรารถนานักซึ่งผลใด ๆ
ผลนั้น ๆ ทั้งหมด อันเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม ความเป็นผู้มีเสียงไพเราะ
ความเป็นผู้มีทรวดทรงดี ความเป็นผู้มีรูปสวย ความเป็นอธิบดี ความเป็นผู้มีบริวาร
อิฐผลทั้งปวงนั้น อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ความเป็นพระราชาประเทศราช ความเป็นใหญ่ สุขของพระเจ้าจักรพรรดิอันเป็นที่รัก
แม้ความเป็นพระราชาแห่งเทวดาในทิพกาย
อิฐผลทั้งปวงนั้น อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
มนุษย์สมบัติ ความยินดีในเทวโลก และนิพพานสมบัติ
อิฐผลทั้งปวงนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ความที่พระโยคาวจร ถ้าเมื่ออาศัยคุณเครื่องถึงพร้อมคือมิตร
แล้วประกอบอยู่โดยอุบายอันแยบคายไซร้ เป็นผู้มีความชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
อิฐผลทั้งปวงนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ปฏิสัมภิทาวิโมกข์ สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และพุทธภูมิ
อิฐผลทั้งปวงนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
คุณเครื่องถึงพร้อมคือบุญนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์มากอย่างนี้
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญาจึงสรรเสริญความที่บุคคลมีบุญอันทำไว้แล้ว”
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=195&Z=236&pagebreak=0

ในการเก็บขุมทรัพย์คือบุญนี้ก็ไม่ได้จำเป็นต้องทำบุญด้วยทรัพย์เท่านั้น
โดยในนิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะก็ได้อธิบายว่า ขุมทรัพย์คือบุญนี้
ฝังได้ด้วยทาน ศีลความสำรวม และความฝึกตน
ซึ่งถ้าจะจำแนก ก็สามารถจำแนกได้เป็น “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐” ได้แก่
๑. ทานมัย คือ ทำบุญด้วยการให้
๒. สีลมัย คือ ทำบุญด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี
๓. ภาวนามัย คือ ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย คือ ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
๕. เวยยาวัจจมัย คือ ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้
๖. ปัตติทานมัย คือ ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนความดีให้ผู้อื่น
๗. ปัตตานุโมทนามัย คือ ทำบุญด้วยความยินดี ความดีของผู้อื่น
๘. ธัมมัสสวนมัย คือ ทำบุญด้วยการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย คือ ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ คือ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%BA%D8%AD%A1%D4%C3%D4%C2%D2%C7%D1%B5%B6%D8_%F1%F0

โดยการที่เรากระทำบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อยู่เรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ
ก็เท่ากับว่าเป็นการทยอยฝังขุมทรัพย์คือบุญเอาไว้
ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคคลอื่นลักขโมยไปไม่ได้ และย่อมติดตามเราไปครับ