Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๙๒

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

พระเครื่องดิจิทัล

 

        dhammajaree392

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สินทรัพย์ดิจิทัลและเหรียญคริปโตเคอเรนซีต่าง ๆ
ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นจากนักลงทุน
เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลและเหรียญคริปโตบางประเภทมีราคาเพิ่มสูงมาก
เป็นที่ถูกใจของนักลงทุน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้กำไรกันทุกคน
โดยก็มีนักลงทุนจำนวนมากที่ขาดทุน หรือกระทั่งโดนหลอกลวง
ในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลและเหรียญคริปโตเคอเรนซีบางประเภทด้วยเช่นกัน

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมาก็ได้มีข่าวว่า
วัดแห่งหนึ่งในประเทศไทยมีแผนที่จะออกพระเครื่องดิจิทัล
ในลักษณะเป็นเหรียญคริปโตเคอเรนซีที่มีชื่อว่า “สมเด็จคอยน์” (Somdejcoin)
โดยระบุว่าเป็นเหรียญพระเครื่องรุ่นแรกและเหรียญแรกของโลกที่สร้างขึ้นในระบบบล็อกเชน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแจกให้กับคนไทยทุกคน เพราะต้องการให้คนไทยเข้าถึง
เหรียญสมเด็จดิจิทัลเหรียญแรกของโลกที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมของชาวไทย
และมีแผนที่จะนำไปซื้อขายในซื้อขายศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคตอีกด้วย
ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ออกมาให้ข่าว
ว่ายังอยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติม และพิจารณาว่า
จะการออกเหรียญดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาต
จากสำนักงานพระพุทธศาสนา หรือหน่วยงานอื่น ๆ หรือไม่
https://www.thansettakij.com/money_market/503632

ในเรื่องของกฎหมายหรือกฎระเบียบการออกเหรียญดิจิทัลตามข่าวนั้น
ก็เป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป
แต่ในส่วนของผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ แล้ว
คงไม่ได้มุ่งหมายวัตถุประสงค์ของพระเครื่องหรือพระพุทธรูปไปในทางค้าหากำไร
แต่เราย่อมจะเห็นพระเครื่องหรือพระพุทธรูปเป็นสิ่งเคารพบูชา
หรือเป็นสิ่งที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า และช่วยเจริญพุทธานุสติเป็นสำคัญ
ซึ่งหากเราพิจารณาในแง่ที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า และเจริญพุทธานุสติแล้ว
พระเครื่องหรือพระพุทธรูปดิจิทัลก็ไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะว่าแต่เดิมเราก็สามารถถ่ายภาพพระเครื่องหรือพระพุทธรูป
และสามารถเก็บรักษาไว้ในระบบดิจิทัล และนำกลับมาดูได้
หรือจริง ๆ แล้ว แม้ว่าเราจะไม่เห็นพระเครื่องหรือพระพุทธรูปใด ๆ เลยก็ตาม
เราก็สามารถระลึกถึงพระพุทธเจ้า และเจริญพุทธานุสติได้เช่นกัน

ในเรื่องของพระเครื่องหรือพระพุทธรูปนี้
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
“เจดีย์” หมายถึง ที่เคารพนับถือ, บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา,
เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี ๔ อย่างคือ
๑. ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย
๓. ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรม คือ พุทธพจน์
๔. อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป
ในทางศิลปกรรมไทย หมายถึง สิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระธาตุ และอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%E0%A8%B4%D5%C2%EC&original=1
ดังนี้แล้ว พระเครื่องหรือพระพุทธรูป ไม่ว่าจะอยู่ในระบบดิจิทัลหรือไม่ก็ตาม
ก็ถือว่าเป็น “อุทเทสิกเจดีย์” และเป็นสิ่งที่ควรเคารพบูชา

ในเรื่องของการเจริญพุทธานุสตินั้น
ตาม “อนุสสติฏฐานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ย่อมระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว
ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว
ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม
ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด
ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคต
สมัยนั้น จิตของพระอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม
ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว
เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก
ภิกษุทั้งหลาย คำว่าความอยากนี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ
สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำพุทธานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=7387&Z=7430&pagebreak=0

นอกจากการระลึกถึงพระเครื่องหรือพระพุทธรูปเป็นสิ่งเคารพบูชา
หรือเป็นสิ่งที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า และช่วยเจริญพุทธานุสติแล้ว
บางท่านยังระลึกถึงพระเครื่องหรือพระพุทธรูปแล้ว ช่วยให้รักษาศีลได้ดีขึ้น
เช่น ระลึกว่าตนเองห้อยพระเครื่องอยู่ จึงไม่ประพฤติผิดศีลหรือไม่ไปสถานที่อโคจร
หรือระลึกว่าตนเองมีพระพุทธรูปในบ้าน แล้วจึงไม่ประพฤติผิดศีล เป็นต้น