Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๘๙

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ไปคนเดียวดีกว่า

 

        dhammajaree389

เมื่อไม่นานมานี้ มีญาติธรรมท่านหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า
ตนเองได้ออกจากไลน์กลุ่มของเพื่อนกลุ่มหนึ่ง
เพราะว่าเพื่อนชอบมาแสดงความเห็นวุ่นวายกับเรื่องส่วนตัวของญาติธรรมท่านนี้
ทั้ง ๆ ที่เพื่อนนั้นก็ไม่ได้ทราบข้อมูลเรื่องราวมากเท่าไร
กล่าวคือเป็นประเภทรู้แค่หลักสิบ แต่คอมเม้นท์ไปหลักร้อย
และญาติธรรมท่านนี้ก็ไม่ได้อยากจะไปเล่ารายละเอียดเรื่องตนเองให้คนอื่นฟังมากนัก
ญาติธรรมท่านนี้ก็เลยออกจากกลุ่มไลน์เพื่อนกลุ่มนี้ไปเลย

ผมได้ฟังแล้ว ก็สอบถามว่า โดยปกติแล้ว ไลน์เพื่อนกลุ่มนี้
ได้แนะนำหรือช่วยอำนวยประโยชน์ในทางโลกหรือทางธรรมอย่างไรหรือไม่
โดยในทางโลก ก็เช่นใช้ติดต่อทำงาน หรือใช้สื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์
ส่วนในทางธรรม ก็เช่นแนะนำให้ให้ทาน ศีล ภาวนาได้เจริญขึ้น เป็นต้น
ญาติธรรมตอบว่า ไม่ได้แนะนำหรืออำนวยประโยชน์ใด ๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม
แต่กลับทำให้เสียเวลาชีวิตมากขึ้น และต้องมาเสียเวลาอธิบายเรื่องไม่เป็นเรื่อง

โดยลักษณะเช่นนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าไลน์เพื่อนกลุ่มนี้ทำให้เสียเวลาชีวิต
โดยที่ไม่ได้เกิดสาระประโยชน์ใด ๆ ทั้ง ๆ ที่เวลาชีวิตในปัจจุบันของเรานี้มีค่ามาก
เพราะสามารถนำมาใช้ศึกษาและปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมเพื่อพ้นจากสังสารวัฏได้
การออกจากไลน์กลุ่มแล้วทำให้เราประหยัดเวลา และนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้
รวมถึงมีเวลามากขึ้นในการศึกษาและปฏิบัติธรรม ก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่า
โดยไม่ต้องไปเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องครับ

ในอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท นาควรรคที่ ๒๓
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตัว
มีธรรมเครื่องอยู่อันดี เป็นนักปราชญ์ ไว้เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้
เขาพึงครอบงำอันตรายทั้งสิ้นเสียแล้ว
พึงเป็นผู้มีใจยินดี มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น.
หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตัว มีธรรมเครื่องอยู่เป็นอันดี
เป็นนักปราชญ์ไว้เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้ เขาพึงเที่ยวไปคนเดียว
เหมือนพระราชาทรงละแว่นแคว้น ที่ทรงชนะเด็ดขาดแล้ว หรือ
เหมือนช้างชื่อว่ามาตังคะ ละโขลงแล้ว เที่ยวไปในป่าตัวเดียวฉะนั้น.
ความเที่ยวไปแห่งบุคคลคนเดียวประเสริฐกว่า
เพราะคุณเครื่องเป็นสหาย ไม่มีอยู่ในชนพาล.
บุคคลนั้นพึงเป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนช้างชื่อมาตังคะ
ตัวมีความขวนขวายน้อยเที่ยวไปอยู่ในป่าฉะนั้น และไม่พึงทำบาปทั้งหลาย.
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=33&p=7

ใน “นาคสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเล่าถึง ช้างตัวประเสริฐซึ่งหลีกออกจากโขลงอยู่ตัวเดียวว่า
ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าเที่ยวหากิน ช้างพลายบ้าง
ช้างพังบ้าง ช้างสะเทิ้นบ้าง ลูกช้างบ้าง เดินไปข้างหน้า กัดปลายหญ้าไว้ด้วน
ช้างตัวประเสริฐนั้นย่อมอิดหนาระอาใจรังเกียจเพราะการกระทำนั้น
สมัยใด เมื่อช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าเที่ยวหากิน ช้างพลายบ้าง ช้างพังบ้าง
ช้างสะเทิ้นบ้าง ลูกช้างบ้าง กัดกินกิ่งไม้ที่ช้างตัวประเสริฐหักลงไว้
ช้างตัวประเสริฐนั้นย่อมอิดหนาระอาใจรังเกียจเพราะการกระทำนั้น
สมัยใด เมื่อช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าลงสู่สระ ช้างพลายบ้าง ช้างพังบ้าง
ช้างสะเทิ้นบ้าง ลูกช้างบ้าง เดินออกหน้า เอางวงสูบน้ำให้ขุ่น
ช้างตัวประเสริฐนั้นย่อมอิดหนาระอาใจรังเกียจเพราะการกระทำนั้น
สมัยใด เมื่อช้างตัวประเสริฐอยู่ในป่าขึ้นจากสระ
ช้างพังทั้งหลายย่อมเดินเสียดสีกายไป
ช้างตัวประเสริฐนั้นย่อมอิดหนาระอาใจรังเกียจเพราะการกระทำนั้น
ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น ช้างตัวประเสริฐนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า
บัดนี้ เราเกลื่อนกล่นไปด้วยช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้น และลูกช้าง
เรากินหญ้ายอดด้วน กินกิ่งไม้ที่ช้างทั้งหลายกินแล้ว ดื่มน้ำที่ขุ่นมัว
และเมื่อเราขึ้นจากสระ ช้างพังทั้งหลายย่อมเดินเสียดสีกายไป
ผิฉะนั้น เราพึงหลีกออกจากโขลงอยู่ตัวเดียวเถิด
สมัยต่อมา ช้างตัวประเสริฐนั้น หลีกออกจากโขลงอยู่ตัวเดียว
กินหญ้ายอดไม่ด้วน กินกิ่งไม้ที่ไม่มีช้างอื่นเล็ม ดื่มน้ำที่ไม่ขุ่นมัว
เมื่อขึ้นจากสระ ช้างพังก็ไม่เดินเสียดสีกาย
สมัยนั้น ช้างตัวประเสริฐย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเราเกลื่อนกล่นไปด้วยช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้น และลูกช้าง
กินหญ้ายอดด้วน กินกิ่งไม้ที่ช้างอื่นเล็มแล้ว ดื่มน้ำขุ่นมัว
และเมื่อเราขึ้นจากสระ ช้างพังยังเดินเสียดสีกายเราไป
บัดนี้ เราหลีกออกจากโขลงอยู่ตัวเดียว กินหญ้ายอดไม่ด้วน
กินกิ่งไม้ที่ช้างอื่นไม่เล็ม ดื่มน้ำที่ไม่ขุ่นมัว
และเมื่อขึ้นจากสระ ช้างพังก็ไม่เดินเสียดสีกายเราไป
ดังนี้ ช้างตัวประเสริฐนั้นเอางวงหักกิ่งไม้มาปัดกาย มีใจชื่นชม
ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด ภิกษุเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์
สมัยนั้น ภิกษุนั้น ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ เราเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์
ผิฉะนั้น เราพึงหลีกออกจากหมู่ไปอยู่ผู้เดียว
เธอเสพเสนาสนะที่สงัด คือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ
ที่แจ้ง ลอมฟาง เธออยู่ป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
ดำรงสติไว้เบื้องหน้า ละอภิชฌาในโลกเสีย มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท
มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์
ละถีนมิทธะ ปราศจากความง่วงเหงาหาวนอน มีความสำคัญในแสงสว่างอยู่
มีสติสัมปชัญญะ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ
ละอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบในภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉา ข้ามพ้นวิจิกิจฉา ไม่เคลือบแคลงสงสัยในกุศลทั้งหลาย
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา เธอละนิวรณ์ ๕ ประการนี้
อันเป็นอุปกิเลสแห่งใจทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว
สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ อาสวะของเธอสิ้นรอบแล้ว
เพราะเห็นด้วยปัญญา เธอมีใจชื่นชม บำบัดความระคายใจได้
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=9302

เช่นนี้แล้ว การอยู่ด้วยหมู่คณะที่ไม่เกิดประโยชน์นั้น
เราพึงออกจากหมู่คณะ และนำมาเวลามาใช้ทำประโยชน์แก่ตนเอง
ซึ่งแม้ว่าจะอยู่คนเดียวก็ตาม ย่อมจะเป็นประโยชน์มากกว่าครับ