Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๘๓

ngodngam1 

 งดงาม

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

อัลกอริทึมกับโลกคู่ขนาน

        dhammajaree383

เราอาจจะสังเกตได้ว่า ในสังคมปัจจุบันนี้
คนแต่ละกลุ่มมีแนวคิดในสังคมที่แตกต่างอย่างห่างไกลกันมากยิ่งขึ้น
และความแตกต่างนั้นยากที่จะประสานกันได้ ไม่เหมือนกับในอดีต
โดยเหมือนกับว่า ข้อมูลข่าวสารที่คนแต่ละกลุ่มได้รับรู้นั้นแตกต่างกันอย่างมาก
เปรียบเสมือนกับว่าอยู่กันคนละโลกเลยทีเดียว
หรือที่บางคนเปรียบเทียบว่าคนแต่ละกลุ่มเหมือนกับอยู่กันในโลกคู่ขนาน

ถามว่าเหตุการณ์มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ และจะเป็นไปได้อย่างไร?
ทั้ง ๆ ที่เราก็อยู่ในสังคมเดียวกันแท้ ๆ
เราก็รับรู้ข่าวสารจากช่องทางต่าง ๆ เหมือนกัน จากสื่อต่าง ๆ เหมือนกัน
แล้วจะมีความแตกต่างของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับรู้ขนาดนั้น
จนถึงกับทำให้คนแต่ละกลุ่มอยู่ในโลกคู่ขนานเชียวหรือ
ตอบว่า เป็นเช่นนั้นจริงครับ และเป็นไปได้เสียด้วย
เหตุผลของคำตอบนี้ คือ อัลกอริทึม (Algorithm) ในระบบโซเชียลมีเดีย

ถามว่า อัลกอริทึม (Algorithm) คืออะไร?
ตอบว่า ในสาขาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์
อัลกอริทึม (Algorithm) คือ ชุดลำดับคำสั่งที่ใช้แก้ลำดับชั้นปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือใช้ในการคำนวณเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์
เป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่สามารถอธิบายออกมาเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน
เมื่อนำเข้าอะไร แล้วจะต้องได้ผลลัพธ์เช่นไร
กระบวนการนี้ ประกอบด้วยวิธีการเป็นขั้น ๆ และส่วนที่ต้องวนซ้ำ (loop)
จนกระทั่งเสร็จสิ้นการทำงานและได้ผลลัพธ์
อัลกอริทึมสามารถใช้เขียนโปรแกรม
เพื่อสั่งการคอมพิวเตอร์ให้ทำงานที่มอบหมายให้สำเร็จได้
ยกตัวอย่างเช่น การคำนวณทางคณิตศาสตร์, การประมวลผลข้อมูล,
การให้เหตุผลโดยอัตโนมัติ และงานอื่น ๆ ที่คอมพิวเตอร์สามารถทำได้
https://th.wikipedia.org

ถามว่า อัลกอริทึม (Algorithm) เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้อย่างไร?
ตอบว่า ในโลกปัจจุบันนี้ คนที่รับข้อมูลข่าวสารจากโทรทัศน์และวิทยุมีน้อยลง
โดยคนส่วนใหญ่เลือกรับข้อมูลข่าวสารผ่านระบบโซเชียลมีเดีย
เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และสามารถเลือกประเภท
หรือแนวทางการนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามที่ตนเองสนใจได้
หากข้อมูลข่าวสารไหนเป็นประเภทหรือแนวทางการนำเสนอที่ตนเองไม่สนใจแล้ว
ก็สามารถปิดไม่รับข้อมูลข่าวสารนั้นได้
และเลือกเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่ตนเองสนใจ
เมื่อเราเลือกรับข้อมูลข่าวสารในประเภทหรือแนวทางใดแล้ว
ระบบอัลกอริทึม (Algorithm) ในระบบโซเชียลมีเดียก็จะทราบ
และก็จะจัดข้อมูลข่าวสารให้เราเฉพาะข้อมูลข่าวสารประเภทและแนวทางที่เราชอบ
โดยจะไม่จัดข้อมูลข่าวสารประเภทหรือแนวทางอื่นให้เรา
(ซึ่งก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดหรือการค้าปกติของระบบโซเชียลมีเดีย
ที่ต้องการให้เราชื่นชอบ ยึดติด และใช้ระบบโซเชียลมีเดียนั้นเป็นประจำ)

นอกจากเราจะได้รับข้อมูลข่าวสารเฉพาะประเภทและแนวทางที่เราชอบแล้ว
ความเห็นหรือ comment ต่าง ๆ ในชุดข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับประเภทและแนวทางที่เราชอบด้วย
เพราะว่าทุกคนส่วนใหญ่ก็เลือกรับชุดข้อมูลข่าวสารที่ตนเองชอบ
ดังนั้นเวลาที่ให้ความเห็นหรือ หรือ comment ต่าง ๆ ในชุดข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น
จึงเป็นไปในแนวทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่
แต่ละคนในกลุ่มที่ได้รับชุดข้อมูลข่าวสารในประเภทและแนวทางเหล่านั้น
จึงยิ่งฝังใจและเข้าใจว่าคนอื่น ๆ ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับตนเอง
และคนที่เห็นด้วยกับตนเองมีอยู่จำนวนมาก
เพราะอัลกอริทึม (Algorithm) และระบบโซเชียลมีเดีย
ได้จัดสรรให้กลุ่มคนที่ชอบในข้อมูลข่าวสารประเภท
และแนวทางเดียวกัน ได้รับชุดข้อมูลข่าวสารเดียวกัน
และได้ให้ความเห็นในชุดข้อมูลข่าวสารนั้นในเพจหรือกลุ่มเดียวกัน
จึงทำให้เกิดเป็นโลกเสมือนเล็ก ๆ โลกหนึ่งขึ้นมาได้ในระบบ Virtual

ทีนี้ เมื่อคนจำนวนมากรับข้อมูลข่าวสารทางระบบโซเชียลมีเดียเป็นหลัก
และอัลกอริทึม (Algorithm) ก็จัดข้อมูลข่าวสารให้ในประเภทและแนวทางเดียวแล้ว
(ประกอบกับคนจำนวนมากขาดความสามารถในการใช้ตรรกะ
และความระมัดระวังในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่ตนเองได้รับ)
และเวลาที่แสดงความเห็น หรือ comment ต่าง ๆ ก็พบว่าคนอื่น ๆ จำนวนมาก
ก็เห็นตรงกับตนเองแล้ว ก็ยิ่งฝังใจยึดมั่นในข้อมูลข่าวสารประเภทและแนวทางดังกล่าว
ซึ่งเมื่อคนแต่ละกลุ่มได้รับข้อมูลข่าวสารในประเภทและแนวทางที่แตกต่างกัน
มาเป็นระยะเวลาที่เนิ่นนานแล้ว ก็ทำให้คนแต่ละกลุ่มมีความรู้ ความคิด
และความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ นั้นแตกต่างกันอย่างมาก
จนเปรียบเสมือนกับว่าอยู่กันคนละโลก หรืออยู่ในโลกคู่ขนานนั่นเองครับ

ถ้าเราเข้าใจการทำงานของอัลกอริทึม (Algorithm) และระบบโซเชียลมีเดียเช่นนี้แล้ว
เราย่อมจะไม่แปลกใจนะครับว่า ทำไมคนแต่ละกลุ่มจึงได้รับรู้ข้อมูลแตกต่างกันมาก
เหมือนกับว่าอยู่กันในโลกคนละใบ หรือโลกคู่ขนาน และไม่สามารถคุยกันได้รู้เรื่อง
ก็ตอบได้ว่าก็เป็นเช่นนั้นจริง คนแต่ละกลุ่มรับรู้ข้อมูลข่าวสารแตกต่างกันมาก
อยู่ในโลก Virtual คนละใบที่ข้อมูลต่างกัน และอยู่ในโลก Virtual คู่ขนานจริงครับ
ซึ่งโดยการที่ได้รับข้อมูลข่าวสารแตกต่างกันมาเป็นเวลาเนิ่นนานเช่นนี้แล้ว
การให้ข้อมูลเพียงระยะเวลาสั้น ๆ การอธิบายในมุมอื่นเพื่อให้เข้าใจ
หรือการตั้งข้อสังเกตเพื่อให้พิจารณา โดยใช้เวลาเพียงสั้น ๆ
จึงย่อมไม่สามารถจะทำให้คนแต่ละกลุ่มที่ได้รับชุดข้อมูลข่าวสาร
ในประเภทหรือแนวทางหนึ่งมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว
จะสามารถเปิดใจ หรือทำความเข้าใจในชุดข้อมูลข่าวสาร
ในประเภทหรือแนวทางอื่นได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ

แต่ว่าในโลกนี้ มีกฎแห่งกรรม มีกฎแห่งธรรมชาติ
และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ในโลกนี้ มีสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิด มีสิ่งที่ดี และสิ่งที่ชั่วแตกต่างกัน
ปัญหาที่สำคัญคือ การที่เราได้เข้าไปอยู่ในโลก Virtual
ซึ่งทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารในประเภทและแนวทางเดียวเช่นนี้
เราจะรู้และพิจารณาได้อย่างไรว่าชุดข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับอยู่นั้น
เป็นข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารปลอม
เป็นข้อมูลข่าวสารที่เมื่อรับ และนำไปปฏิบัติแล้ว
จะเป็นไปเพื่อความถูกต้อง ความดีงาม บุญกุศล และประโยชน์แก่ตนเอง
ไม่เป็นไปเพื่อความผิดหลง ความชั่วร้าย บาปอกุศล และโทษแก่ตนเอง
เพราะหากเราไม่สามารถรู้ได้ชุดข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นจริงหรือเท็จ
เป็นไปเพื่อความถูกต้องหรือผิดหลง เป็นไปเพื่อความดีงามหรือความชั่วร้าย
เป็นไปเพื่อบุญกุศล หรือบาปอกุศล เป็นไปเพื่อประโยชน์หรือโทษแก่ตนเองแล้ว
การที่เราได้รับรู้ชุดข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นเป็นเวลาเนิ่นนาน
จนฝังลึก และยึดมั่นถือมั่นเสียแล้ว
แต่ปรากฏว่าชุดข้อมูลนั้น เป็นข้อมูลเท็จ หรือเป็นไปเพื่อความผิดหลง
ความชั่วร้าย บาปอกุศล และโทษแก่ตนเองแล้ว
ย่อมจะทำให้เราหลงคิด พูด และทำไปในทางที่ผิด
อันย่อมจะเป็นบาปอกุศลและโทษแก่ตนเอง
กรณีไม่แตกต่างอะไรกับการคบแต่คนพาลเป็นมิตร
รับฟัง สนทนา ยึดถือ และปฏิบัติตามแต่คำแนะนำของคนพาล
อันย่อมจะเป็นบาปอกุศลและโทษแก่ตนเองครับ

ฉะนั้นแล้ว เพื่อที่จะป้องกันมิให้เราโดนชุดข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับนั้น
ลากเราไปสู่อบายภูมิได้ เราจึงควรที่จะต้องมีวิจารณญาณอย่างมาก
ในการเลือกรับข้อมูลข่าวสารในประเภทและแนวทางที่เลือกนั้น
โดยไม่หลงเชื่อข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ โดยง่าย
แต่ควรจะรับฟังข้อมูลข่าวสารในหลาย ๆ ทาง
และพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลประกอบด้วย
โดยเราไม่ควรจะเชื่อถือข้อมูลข่าวสารใด ๆ โดยง่าย
แต่ควรจะฝึกนิสัยของการไม่เชื่อง่าย
และควรต้องตรวจสอบเสมอว่าชุดข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับเป็นจริงหรือเท็จ
โดยเราก็พึงต้องค้นคว้าและตรวจสอบจากหลาย ๆ แหล่งที่เชื่อถือได้ครับ

นอกจากนี้ เราพึงต้องพิจารณาอยู่เสมอว่าชุดข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับนั้น
เป็นไปเพื่อความถูกต้องหรือผิดหลง เป็นไปเพื่อความดีงามหรือความชั่วร้าย
เป็นไปเพื่อบุญกุศล หรือบาปอกุศล เป็นไปเพื่อประโยชน์หรือโทษแก่ตนเองแล้ว
ซึ่งในการนี้ เราอาจพิจารณาได้โดยไม่ยากครับ กล่าวคือ ควรพิจารณาว่า
เมื่อเราได้คิด พูด และทำตามชุดข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นแล้ว
จะเป็นไปเพื่อโทสะหรือโทสะ เป็นไปเพื่อโลภะหรืออโลภะ เป็นไปเพื่อโมหะหรืออโมหะ
เป็นไปเพื่อการช่วยเหลือผู้อื่นหรือทำร้ายผู้อื่น
เป็นไปเพื่อการเจริญในทาน หรือเสื่อมในทาน
เป็นไปเพื่อการเจริญในศีล หรือเสื่อมในศีล เป็นต้น
ซึ่งหากเราสามารถใช้วิจารณญาณในการตรวจสอบชุดข้อมูลข่าวสารได้เช่นนี้แล้ว
ก็ย่อมจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี และป้องกันไม่ให้ชุดข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับนั้น
นำพาเราไปคิด พูด และทำไปในทางที่ผิดก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น
อันย่อมจะเป็นบาปอกุศลและโทษแก่ตนเองครับ