Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๗๒

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

ทำทานแล้วเกิดโทสะ

        dhammajaree372

ในเดือนที่ผ่านมา ญาติธรรมท่านหนึ่งได้สนทนาเล่าให้ผมฟังว่า
เขาได้ซื้อขนมให้น้อง ๆ ที่ทำงานหลายคนแบ่งกันกิน
แต่ไม่ได้มีน้อง ๆ คนไหนกล่าวขอบคุณเขาเลย
แต่ที่แย่กว่านั้นคือ น้อง ๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ขนมเหล่านั้นเท่าที่ควร
โดยบางคนก็กินแบบทิ้งขว้าง บางคนก็ปล่อยขนมไว้หลายวันจนเสีย
เขาเห็นแล้วก็รู้สึกโกรธไม่พอใจ และคิดว่าควรจะทำอย่างไรในคราวหน้า

ในเรื่องนี้ จริง ๆ แล้ว ก็เป็นข้อเท็จจริงปกติของโลกที่เปลี่ยนไป
ซึ่งเด็ก ๆ Generation รุ่นหลัง ๆ ย่อมมีวัฒนธรรมหรือพฤติกรรมแตกต่าง
จากผู้ใหญ่ Generation รุ่นเก่า ๆ ในอดีตเป็นธรรมดา
โดยเราเองก็ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม
และเราย่อมไม่สามารถจะสั่งหรือบังคับให้สภาพสังคม
หรือเด็ก ๆ มีวัฒนธรรมหรือพฤติกรรมที่เป็นไปตามใจเราต้องการได้
ดังนี้ ในเรื่องนี้ปัญหาของญาติธรรมท่านนี้จึงไม่ใช่ว่า
เขาจะไปแก้ไขสภาพสังคม หรือแก้ไขเด็ก ๆ Generation รุ่นหลัง ๆ อย่างไร
แต่ปัญหาของเขาคือว่า เขาจะปรับตัวเองอย่างไรมากกว่า

ในอรรถกถาของ “อังกุรเปตวัตถุ” (พระสุตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ)
ได้อธิบายว่า ในเวลาที่เราให้ทานนั้น เจตนาจะประกอบไปด้วย ๓ กาล ได้แก่
๑. “ปุพพเจตนา” ได้แก่ เจตนาก่อนที่จะทำทาน หรือให้ทาน
๒. “มุญจนเจตนา” ได้แก่ เจตนาขณะที่ได้ทำทาน หรือให้ทาน
๓. “อปรเจตนา” ได้แก่ เจตนาหลังจากที่ทำทาน หรือให้ทาน
โดยเมื่อนึกถึงแล้วก็มีจิตใจยินดีหรือเบิกบานในทานนั้น
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26.0&i=106&p=3

ในกรณีของญาติธรรมที่ได้ซื้อขนมให้น้อง ๆ ที่ทำงานท่านนี้
เจตนาก่อนที่จะทำทาน และเจตนาขณะที่ได้ทำทาน ย่อมเป็นกุศลนะครับ
แต่ว่าเมื่อเห็นพฤติกรรมของน้อง ๆ แล้ว
จิตใจเกิดโทสะไม่พอใจ และเมื่อนึกย้อนไปถึงทีไร ก็เกิดโทสะเป็นอกุศล
การทำทานในครั้งนี้จึงไม่ได้มีเพียงแค่กุศลเท่านั้น
แต่ได้สร้างอกุศลขึ้นมาด้วย และพอนึกถึงทีไร จิตใจตนเองก็เกิดอกุศล
จึงไม่ได้เป็นการทำทานที่จะได้ประโยชน์สมดังวัตถุประสงค์

ในกรณีเช่นนี้ ผมก็ได้แนะนำญาติธรรมท่านนี้ใน ๒ แนวทางครับ
แนวทางแรก คือ ถ้าเราสามารถทำใจยอมรับสภาพสังคม และ
วัฒนธรรมหรือพฤติกรรมของน้อง ๆ เหล่านี้ได้ว่า ก็เป็นอย่างนี้แหละ
เราไม่ได้คาดหวังว่าพวกเขาจะต้องมีพฤติกรรมตามที่เราคาดหวัง
และเราให้ทานแล้วก็คือ เราได้ทำดีและเหมาะสมตามกิจของเราแล้ว
เราก็สามารถทำทานได้เหมือนเดิม โดยที่ไม่ทำให้เกิดโทสะในจิตใจ
แต่ญาติธรรมท่านนี้ได้บอกว่า เขาไม่สามารถทำใจแบบนั้นได้

ในแนวทางที่สอง ก็คือ เราทำทานในลักษณะ
ที่เราทำแล้วสบายใจ ทำแล้วจิตใจยินดีและเบิกบาน เช่น
หากเราซื้อขนมให้น้อง ๆ แล้วส่งผลให้มีโทสะ เราก็ไม่ได้จำเป็นต้องทำเช่นนั้น
เพราะเราก็มีวิธีทำทานอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ซื้อขนมให้พ่อแม่
ให้ญาติพี่น้อง ให้คนด้อยโอกาสอื่น ๆ หรือถวายพระภิกษุ ถวายสังฆทาน
หรือจะโอนเงินไปร่วมทำบุญในกิจกรรมบุญต่าง ๆ ก็ได้ ฯลฯ
โดยที่การโอนเงินร่วมทำบุญในปัจจุบันนี้ก็สะดวกง่ายดาย
ส่วนที่จะซื้อขนมให้น้อง ๆ ที่ทำงานก็อาจจะทำน้อยลง
หรือทำเท่าที่ทำแล้ว จิตใจยินดีและเบิกบานไม่เกิดอกุศลก็พอ

โดยหากเราทำทานตามที่เหมาะสมแล้ว
เมื่อเราระลึกถึงทานดังกล่าว หรือที่เรียกว่า “จาคานุสสติ” ย่อมจะมีใจที่เป็นกุศล
ใน “มหานามสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
“ดูกรมหานามะ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมระลึกถึงการบริจาคของตน
เนือง ๆ ว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ คือ
เมื่อหมู่สัตว์ถูกมลทิน คือความตระหนี่กลุ้มรุม
เรามีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่อยู่ครองเรือน
เป็นผู้มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม (คอยหยิบของบริจาค)
ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน
ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงการบริจาคเนือง ๆ
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม
ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว
ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคต
ย่อมได้ความทราบซึ้งอรรถ ย่อมได้ความทราบซึ้งธรรม
ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ
เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรมหานามะ นี้อาตมภาพกล่าวว่า
อริยสาวกเป็นผู้ถึงความสงบเรียบร้อยอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังไม่สงบเรียบร้อย
เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังมีความพยาบาท
เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญ จาคานุสสติ”
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=6756&Z=6837&pagebreak=1

ดังนี้ หากเราทำทานอย่างเหมาะสมแล้ว เราระลึกถึงเมื่อไร
จิตใจย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
แต่หากเราทำทานแล้ว ระลึกทีไร จิตใจเกิดโทสะไม่พอใจ เป็นอกุศล
เราก็ควรต้องปรับเปลี่ยนการทำทานของเราให้เหมาะสมแก่ตนเองด้วยครับ