Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๖๔

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

คุยเรื่องการจัดงานบวช 

       dhammajaree364

 

เมื่อไม่นานมานี้ เราอาจจะได้เห็นข่าวการจัดงานบวชแห่งหนึ่ง
ที่ว่าจัดอย่างหรูหราอลังการ โดยใช้เงินจัดงานนับเป็นสิบล้านบาท
อย่างไรก็ดี หากเราได้อ่านข้อมูลอื่น ๆ ด้วยแล้ว
จะพบว่าผู้ที่บวชในข่าวนั้นอยู่ระหว่างเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีฉ้อโกง
และกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์จากการขายทองออนไลน์
โดยมีผู้เสียหายจากการได้ทองไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนนับพันคน
และในระหว่างนี้ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
https://www.thebangkokinsight.com/471467/

ดังนี้ เราพึงระมัดระวังและใช้วิจารณญาณในการรับฟังข่าวครับ
เพราะว่าการสร้างข่าวในเรื่องการจัดงานบวชอย่างหรูหราอลังการนั้น
อาจจะเป็นเพียงวิธีการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือก็ได้
ส่วนว่าจะเป็นทองจริงทองปลอม เพชรนิลจินดาจริงหรือไม่ ก็ไม่ทราบได้
ซึ่งในเรื่องการจัดฉากปลอมเพื่ออวดรวย ก็เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น
กรณีของเน็ตไอดอลขายตุ๊กตาออนไลน์ และเท้าแชร์ลูกโซ่ของแม่มณี เป็นต้น
ซึ่งอวดอ้างว่ามีร้านทอง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปค้นร้านทอง
ก็ปรากฏว่าเป็นทองปลอมทั้งหมด
https://www.thairath.co.th/news/crime/1694175
https://workpointtoday.com/mae-mani/

ในคราวนี้ เราจะมาสนทนากันเรื่องงานบวชกันครับว่า
จำเป็นหรือสมควรจะจัดงานบวชโดยใช้เงินทองมากมายหรือไม่
ซึ่งตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
คำว่า “อุปสัมปทา” หมายถึง การบวช, การบวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณี
ซึ่งวิธีอุปสมบทมีทั้งหมด ๘ วิธี แต่เฉพาะที่ใช้เป็นหลักมี ๓ วิธี คือ
๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือการอุปสมบทด้วยพระวาจาว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด”
เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง
๒. ติสรณคมนูปสัมปทา หรือ สรณคมนูปสัมปทา
คือ การอุปสมบทด้วยถึงไตรสรณะ
เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้พระสาวกทำในยุคต้นพุทธกาล
เมื่อคณะสงฆ์ยังไม่ใหญ่นัก แต่เมื่อทรงอนุญาตวิธีที่ ๓ แล้ว
วิธีที่ ๒ นี้ก็เปลี่ยนใช้สำหรับบรรพชาสามเณร
๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา คือการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำ ในเมื่อคณะสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่ขึ้นแล้ว
และเป็นวิธีใช้สืบมาจนทุกวันนี้

วิธีอุปสมบทอีก ๕ อย่าง ที่เหลือเป็นวิธีที่ทรงประทานเป็นการพิเศษ
จำเพาะบุคคลบ้าง ขาดตอนหมดไปแล้วบ้าง ได้แก่
๔. โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา คือ การอุปสมบทด้วยการรับโอวาท
เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่พระมหากัสสปะ
๕ ปัญหาพยากรณูปสัมปทา คือ การอุปสมบทด้วยการตอบปัญหาของพระพุทธองค์
เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่โสปากสามเณร
๖. ครุธรรมปฏิคคหณูปสัมปทา (หรือ อัฏฐครุธรรมปฏิคคหณูปสัมปทา)
คือ การอุปสมบทด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการ
เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี
๗. ทูเตนะอุปสัมปทา คือ การอุปสมบทด้วยทูต
เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่นางคณิกา (หญิงโสเภณี) ชื่ออัฑฒกาสี
๘. อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา คือ การอุปสมบทมีวาจา ๘ คือ
ทำด้วยญัตติจตุตถกรรม ๒ ครั้งจากสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
คือจากภิกษุณีสงฆ์ครั้งหนึ่ง จากภิกษุสงฆ์ครั้งหนึ่ง ได้แก่การอุปสมบทของภิกษุณี
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D8%BB%CA%D1%C1%BB%B7%D2

ทั้งนี้ วิธีการอุปสมบทที่ใช้สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ
ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา คือการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
ได้แก่วิธีอุปสมบทที่สงฆ์เป็นผู้กระทำ
โดยภิกษุประชุมครบองค์กำหนด ในเขตชุมนุมซึ่งเรียกว่าสีมา
กล่าววาจาประกาศเรื่องความที่จะรับคนนั้นเข้าหมู่
และได้รับความยินยอมของภิกษุทั้งปวงผู้เข้าประชุม เป็นสงฆ์นั้น
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D8%BB%CA%D1%C1%BB%B7%D2

เราจะเห็นได้ว่าในวิธีการอุปสมบททั้ง ๘ วิธีการ
รวมถึงวิธีการญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทาในปัจจุบันนี้
ไม่ได้เป็นวิธีการที่จะต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองอะไรมากมายครับ
ดังนี้ การแห่ การเลี้ยงรื่นเริง การจัดดนตรี ที่ทำ ๆ กันอยู่นั้น
ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น หรือสมควรในการอุปสมบทแต่อย่างใด
ในทางกลับกัน เราพึงเข้าใจว่า พระภิกษุถือศีล ๒๒๗ ข้อ
ซึ่งย่อมรวมถึงศีลในข้อเว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี
ดังนั้น การที่จะนำดนตรีหรือการขับร้องเข้าไปในวัดนั้น
ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สมควร และย่อมอาจจะทำให้พระภิกษุบางรูปศีลด่างพร้อยได้

ในส่วนของการจัดงานหรูหราใช้เงินจำนวนมากนั้น
ย่อมไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น หรือสมควรในการอุปสมบทเช่นกัน
โดยหากเราได้พิจารณาในพระไตรปิฎกแล้ว จะเห็นว่า
ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะบัญญัติศีลหรืออาบัตินั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก
ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน
ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย
ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม เป็นต้น
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=1&A=671&w=%C1%D1%A1%C1%D2%A1

นอกจากนี้ ในสังขิตตสูตร (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนถึงวิธีจำแนกธรรมวินัยว่า
ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก
เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ
เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด
เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย
ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า
นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา

ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้
เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก
เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ
เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก
ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า
นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=5908&Z=5933&pagebreak=0