Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๖๒

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

เฉย ๆ และอุเบกขา

 

      dhammajaree362

 

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งซึ่งเล่าว่า
เขากับเพื่อนได้เห็นคนสูงอายุยากไร้คนหนึ่งเดินเก็บเศษขยะตามถังขยะ
ญาติธรรมท่านนี้บอกว่าเขาเห็นแล้วรู้สึกสงสารคนสูงอายุยากไร้คนนี้
ส่วนเพื่อนบอกว่าเห็นแล้วรู้สึกเฉย ๆ
ญาติธรรมท่านนี้ถามเพื่อนว่า ไม่รู้สึกสงสารเขาบ้างหรือ
เพื่อนตอบว่า ไม่สงสาร รู้สึกเฉย ๆ และบอกด้วยว่าถึงแม้เขาจะไม่ได้สงสาร
แต่เขามีอุเบกขา ซึ่งเป็นหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ เหมือนกัน
ผมฟังญาติธรรมท่านนี้เล่าแล้ว ก็แนะนำว่าแบบนั้น
ไม่ใช่อุเบกขาในพรหมวิหาร ๔ แต่เป็นความเฉย ๆ ที่ไม่รู้สึกสงสารเท่านั้น

บางท่านก็อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องนี้
โดยเข้าใจว่า หากเราเห็นอะไรแล้วรู้สึกเฉย ๆ ก็ถือเป็นอุเบกขาทั้งหมด
ซึ่งจริง ๆ แล้ว อุเบกขามีความแตกต่างระหว่างรู้สึกเฉย ๆ ครับ
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายความหมายของ
คำว่า “อุเบกขา” ใน ๒ ความหมาย ได้แก่
๑. ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา (= อทุกขมสุข)
(ข้อ ๓ ในเวทนา ๓)
๒. ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง,
ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย
เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ
และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น,
ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้
หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง,
ความวางเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้น ๆ สิ่งนั้น ๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไป
ตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย
ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง
(ข้อ ๔ ในพรหมวิหาร ๔, ข้อ ๗ ในโพชฌงค์ ๗,
ข้อ ๑๐ ในบารมี ๑๐, ข้อ ๙ ในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐)
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D8%E0%BA%A1%A2%D2&original=1

ขออธิบายในความหมายแรกก่อนนะครับ
โดย “อุเบกขา” หมายถึง ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์
หรือที่เรียกว่า “อทุกขมสุขเวทนา” (ข้อ ๓ ในเวทนา ๓)
โดยคำว่า “เวทนา” หมายถึง ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึก,
ความรู้สึกสุขทุกข์ มี ๓ อย่าง คือ
(๑) สุขเวทนา คือ ความรู้สึกสุขสบาย
(๒) ทุกขเวทนา คือ ความรู้สึกไม่สบาย
(๓) อทุกขมสุขเวทนา คือ ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ หรือ เฉยๆ
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%E0%C7%B7%B9%D2_%F3
ในกรณีที่ได้กระทบผัสสะในอายตนะต่าง ๆ เช่น กระทบรูปทางตา,
กระทบเสียงทางหู, กระทบกลิ่นทางจมูก, กระทบรสทางลิ้น,
กระทบโผฏฐัพพะทางกาย หรือกระทบธรรมารมณ์ทางใจ
แล้วเราไม่ได้รู้สึกสุข ไม่ได้รู้สึกทุกข์ แต่รู้สึกเฉย ๆ
อันนั้นเรียกว่าเป็น “อทุกขมสุขเวทนา” หรือ “อุเบกขาเวทนา”
คือความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ได้รู้สึกสุขหรือทุกข์อะไร
อันนี้เป็นข้อ ๓ ในเวทนา ๓

ในความหมายที่สองของคำว่า “อุเบกขา” ที่เป็นหนึ่งในพรมวิหารนั้น
หมายความว่า ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย
เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ
และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น
ขอให้เราสังเกตว่า คำว่า “อุเบกขา” ในความหมายที่สองนี้
ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้เฉย ๆ ธรรมดา แต่เป็นความวางใจเฉยได้
เนื่องจากใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ
และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้นแล้ว

หมายความว่า ในการเจริญพรหมวิหาร ๔ นั้น
หากเราได้เห็นคนหรือสัตว์ที่น่าสงสารแล้ว ย่อมมีความรู้สึกเมตตากรุณา
โดยหากเราสามารถช่วยเหลือได้ เราก็ย่อมจะช่วยเหลือ
แต่หากเราพิจารณาด้วยปัญญาแล้วว่า เราไม่สามารถช่วยเหลือได้
หรือว่าเราไม่สมควรที่ช่วยเหลือ เราย่อมจะวางใจเป็นกลาง
โดยรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม
ฉะนั้นแล้ว การวางเฉยโดยอุเบกขาในพรหมวิหาร ๔
ย่อมเป็นการวางเฉยโดยมีเมตตากรุณา และประกอบด้วยปัญญา
ไม่ได้วางเฉยเพราะรู้สึกเฉย ๆ ไม่ได้มีเมตตากรุณาแก่คนหรือสัตว์ที่น่าสงสารเลย
จะแตกต่างจากการที่เห็นคนหรือสัตว์ที่น่าสงสารแล้วรู้สึกเฉย ๆ
โดยในลักษณะหลังนี้ ไม่ได้รู้สึกสงสารเลย
ไม่ได้ปรารถนาให้เขาได้สุขหรือพ้นทุกข์เลย
ซึ่งในลักษณะเช่นนี้ ไม่ได้เป็นหนึ่งในพรหมวิหารครับ

ดังนี้แล้ว หากเราต้องการเจริญพรหมวิหาร ๔ แล้ว
เราย่อมเจริญเมตตา ปรารถนาให้คนหรือสัตว์อื่นมีความสุข
เราย่อมเจริญกรุณา ปรารถนาให้คนหรือสัตว์อื่นพ้นทุกข์
เราย่อมเจริญมุทิตา พลอยยินดีเมื่อคนหรือสัตว์อื่นมีความสุข
เราย่อมเจริญอุเบกขา วางใจเฉยเมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว
เห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม
จึงจะเรียกว่าเป็นพรหมวิหาร ๔ ครับ
ไม่ใช่ว่าเห็นคนหรือสัตว์ที่น่าสงสารแล้วรู้สึกเฉย ๆ จะเรียกว่าเป็นพรหมวิหาร