Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๖๐

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

นายประกัน

      dhammajaree360

เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๖๓ ได้มีข่าวอดีตคุณครูท่านหนึ่งวัย ๗๗ ปี
ที่ได้รับความเดือดร้อนจะถูกยึดบ้านและที่ดิน
สาเหตุจากที่อดีตคุณครูท่านนี้ไปลงนามค้ำประกันเงินกู้จาก
กองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้แก่ลูกศิษย์คนหนึ่งที่ปัจจุบันอายุ ๔๐ ปีแล้ว
แต่ลูกศิษย์ และพ่อแม่ของลูกศิษย์ไม่รับผิดชอบใช้หนี้ดังกล่าว
โดยเมื่อปี ๒๕๔๐ (หรือประมาณ ๒๓ ปีที่แล้ว)
อดีตคุณครูท่านนี้เห็นแก่อนาคตของลูกศิษย์ที่ต้องการเรียนมัธยมปลาย
จึงได้ลงนามค้ำประกันเงินกู้ กยศ. จำนวน ๘,๐๐๐ บาทให้แก่ลูกศิษย์
แต่ต่อมา ลูกศิษย์ได้นำเอกสารค้ำประกันเดิมไปขอกู้เพิ่มจาก กยศ.
ในการเรียนต่อในชั้นมหาวิทยาลัยจนมียอดเงินต้นกว่า ๘๐,๐๐๐ บาท
หลังจากนั้น ลูกศิษย์นั้นไม่เคยชำระเงินคืนหนี้ให้แก่ กยศ. เลย และ
กยศ. ได้มีหนังสือทวงหนี้จำนวน ๑๗๔,๑๒๓ บาท มาถึงอดีตคุณครูท่านนี้

หลังทราบเรื่องแล้ว อดีตคุณครูท่านนี้ได้ไปทวงถามกับพ่อแม่ของลูกศิษย์
ซึ่งพ่อแม่ของลูกศิษย์ก็ยืนยันว่าจะรับผิดชอบชำระหนี้ดังกล่าว
อดีตคุณครูได้พาพ่อแม่ของลูกศิษย์ไปพบเจ้าหน้าที่ศาลในกระบวนการไกล่เกลี่ย
และอดีตคุณครูก็เข้าใจว่าตนเองพ้นภาระการรับผิดชอบแล้ว
โดยพ่อแม่ของลูกศิษย์น่าจะทำการชำระหนี้ดังกล่าวให้เรียบร้อย
แต่ต่อมาปรากฎว่าในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑
อดีตคุณครูท่านนี้ได้รับหนังสือของสำนักงานบังคับคดี
เรื่องการยึดบ้านและที่ดินที่ตนเองและสามีอยู่อาศัย
อดีตคุณครูจึงไปขอไกล่เกลี่ยชดใช้ยอดหนี้จำนวน ๑๔๙,๙๐๔ บาท
แบ่งเป็น ๒๔ เดือน ซึ่งหากไม่ชำระตามกำหนด ก็จะถูกยึดขายบ้านและที่ดิน

อดีตคุณครูจึงได้ทำการปลูกพืชผักสวนครัวเก็บไปขายตามตลาดนัด
เพื่อให้มีรายได้เดือนละ ๓,๐๐๐ ถึง ๔,๐๐๐ บาท
เพื่อรวมเงินไปชำระหนี้ กยศ. ทุกเดือนตามกำหนด
แต่ว่าในระยะหลัง ๆ อดีตคุณครูท่านนี้มีอายุมากขึ้น และทำไม่ไหวแล้ว
แต่ยังเหลือหนี้อีกกว่า ๗๐,๐๐๐ บาท ในขณะที่มีระยะเวลาเหลืออีก ๒ เดือน
ซึ่งอดีตคุณครูท่านนี้หมดปัญญาที่จะหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ทันกำหนดแล้ว
และคงถูกบังคับคดียึดบ้านและที่ดินที่อาศัยในปัจจุบัน
โดยอดีตคุณครูท่านนี้ได้ไปวิงวอนขอร้องลูกศิษย์ที่ประกอบอาชีพร้านอาหาร
และมีรายได้พอสมควร รวมทั้งพ่อแม่ของลูกศิษย์
ซึ่งก็ค้าขายมีรายได้พอสมควรเช่นกัน แต่ทุกคนไม่สนใจและยังพูดจาไม่ดีใส่ตน
ทั้ง ๆ ที่ ในเวลากู้เงิน กยศ. นั้น ลูกศิษย์และพ่อแม่ก็มาวิงวอนขอให้
อดีตคุณครูท่านนี้ช่วยค้ำประกันให้ และอดีตคุณครูท่านนี้ก็ยอมเซ็นค้ำประกันให้
แต่สุดท้าย อดีตคุณครูท่านนี้ก็กลับต้องมาเดือดร้อนเช่นนี้
https://hilight.kapook.com/view/206113?fbclid=IwAR0arn_4P5-uAHqqC44739jhPXbYwdEQCrMtAFYMSYAV_l_YZiskiMVdmH0

ในกรณีนี้ก็น่าเห็นใจอดีตคุณครูท่านนี้อย่างมากนะครับ
แต่ก็เป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้แก่อีกหลาย ๆ ท่าน
ว่ากรณีที่ผู้ค้ำประกันต้องมารับผิดชอบแทนลูกหนี้เช่นนี้
เกิดขึ้นในชีวิตจริงเยอะมาก ๆ
ดังนั้นแล้ว ในกรณีที่มีคนมาขอให้ท่านลงนามค้ำประกันใด ๆ ให้แล้ว
ถ้าไม่ใช่พ่อแม่พี่น้องแล้ว ผมแนะนำว่าให้ปฏิเสธทุกกรณีครับ
ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่า กรณีเหล่านี้ถึงกับมีคำพังเพยหรือภาษิตว่า
“อยากเป็นหนี้ให้เป็นนายหน้า อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน”
โดยถ้าหากจะให้ลงนามเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว
เราเอาเงินในจำนวนที่เราไม่เดือดร้อนให้เขายืมไป ยังจะดีกว่าครับ
เพราะว่าเลวร้ายที่สุด ก็เพียงแค่เขาไม่คืนเงิน เราก็ไม่เดือดร้อนมาก
คือเราต้องพิจารณาแล้วว่า เราไม่ได้ให้ยืมเงินเกินตัว
โดยต้องเป็นเงินของเราเอง ไม่ใช่ว่าเราไปยืมเงินคนอื่นมาให้เขายืม
และจำนวนเงินที่ให้ยืมนั้น เราต้องพร้อมที่จะตัดหนี้สูญได้ โดยไม่เดือดร้อน
แต่หากเราเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ซึ่งโดยปกติ จำนวนเงินค้ำประกันจะสูงมาก
หรืออาจจะเป็นจำนวนสูงกว่าที่เราจะรับผิดชอบไหว
ดังนั้น หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันเองย่อมจะเดือดร้อนมาก

อนึ่ง ในเวลาที่ลูกหนี้มาขอให้เราช่วยค้ำประกันหนี้ให้นั้น
เราอาจจะเห็นว่าหรือรู้สึกว่าลูกหนี้เป็นคนดี ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
แต่เราก็ต้องยอมรับนะครับว่า นิสัยและจิตใจคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงได้
เมื่อเวลาผ่านไป นิสัยและจิตใจของลูกหนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไป
ไม่ได้ดีเหมือนเดิมก็ได้ หรืออาจจะไม่ได้ดีตั้งแต่แรกอย่างที่เราเห็นก็ได้
หรือแม้กระทั่งลูกหนี้ก็อาจจะตายได้
หรือเกิดเจ็บป่วยหนัก ไม่สามารถใช้หนี้ได้ก็ได้
ดังนั้นแล้ว การค้ำประกันให้แก่บุคคลอื่นจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก
และผมไม่แนะนำให้ทำครับ

ในกรณีของลูกศิษย์ที่เนรคุณบุญคุณของอดีตคุณครูท่านนี้
ก็เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอนะครับ
โดยเราไม่รู้หรอกว่าลูกหนี้จะเป็นคนกตัญญูหรือคนเนรคุณแค่ไหนเพียงไร
ในพระธรรมคำสอนนั้น ท่านสอนว่า ช่วยไม้ลอยน้ำยังดีกว่าช่วยคนเนรคุณ
โดยในอรรถกถา “สัจจังกิรชาดก” (เอกกนิบาตชาดก วรุณวรรค)
ได้เล่าถึงสมัยหนึ่งที่พระโพธิสัตว์เป็นดาบส และได้ช่วยชีวิตราชกุมารองค์หนึ่ง
ให้รอดชีวิตจากการจมน้ำ และต่อมาราชกุมารองค์นั้นได้เป็นกษัตริย์
เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ไปพบกษัตริย์นั้นแล้ว
แทนที่กษัตริย์นั้นจะตอบแทนบุณคุณ
แต่กลับให้ราชบุรุษจับพระโพธิสัตว์ไปเฆี่ยน และจะนำตัวไปประหาร

บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวว่า คนบางจำพวกในโลกนี้
ไม้ลอยน้ำยังประเสริฐกว่า แต่คนบางคนไม่ประเสริฐเลย
เพราะเหตุว่าไม้แห้งที่เป็นไม้เบา ๆ ลอยอยู่ในแม่น้ำ
เอาขึ้นวางไว้บนบกนั้น ประเสริฐกว่า
กล่าวคือ ไม้นั้นยังเป็นอุปการะแก่ความต้องการในอันจะหุงต้มได้
เป็นอุปการะแก่ความต้องการในอันจะผิงไฟของหมู่ชนก็ได้
เป็นอุปการะแก่ความต้องการในอันกำจัดอันตรายอื่นๆ ก็ได้
แต่บุคคลบางคน คือคนทำลายมิตร คนอกตัญญู คนใจบาป
ถูกกระแสน้ำพัดลอยไป ช่วยฉุดมือให้ขึ้นจากแม่น้ำได้ ไม่ประเสริฐเลย
เพราะการช่วยคนใจบาปนี้ให้รอดชีวิตได้ กลับเป็นอันนำทุกข์มาให้ตน
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=73

ดังนั้นแล้ว ในการช่วยเหลือผู้อื่นนั้น เราก็ต้องมีความระมัดระวังด้วยเช่นกัน
เพราะว่าการช่วยเหลือคนไม่ดีนั้น ย่อมจะนำทุกข์มาให้ตนเองได้
และการช่วยเหลือใด ๆ ที่มีความเสี่ยง หรือเกินกำลังของเรา
เราก็ต้องระมัดระวังอย่างมาก และไม่ควรทำครับ