Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๕๘

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

บุญคุณของพ่อแม่

 

      dhammajaree358

 

เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ที่ผ่านมาเป็นวันแม่แห่งชาติ
ซึ่งเป็นวันสำคัญที่ให้เราทุกคนได้ระลึกถึงบุญคุณของคุณแม่
จริง ๆ แล้ว การทำดีต่อคุณแม่และคุณพ่อนั้น
ไม่ใช่ว่าเราควรจะทำดีเฉพาะในวันแม่หรือวันพ่อเท่านั้น
แต่เราควรจะทำดีต่อคุณแม่และคุณพ่อในทุกวันครับ

ก่อนหน้านี้ ผมเคยเห็นการเผยแพร่ความเข้าใจผิด ๆ
เกี่ยวกับบุญคุณของพ่อแม่ในโซเชียลมีเดีย
โดยบางคนพยายามเผยแพร่ความเข้าใจผิด ๆ ว่า
พ่อแม่ไม่มีบุญคุณต่อลูก เพราะลูกไม่เคยขอให้พ่อแม่ทำให้ตนเองเกิดมา
ซึ่งในเมื่อพ่อแม่ทำให้ลูกเกิดมา พ่อแม่ก็ย่อมมีหน้าที่เลี้ยง
โดยการที่พ่อแม่เลี้ยงลูกไม่นับว่าเป็นบุญคุณ
และในเมื่อพุทธศาสนาสอนว่า การเกิดเป็นทุกข์
เท่ากับว่า พ่อแม่ทำให้ลูกเกิดเป็นทุกข์ เพียงเพื่อความสุขของพ่อแม่
พ่อแม่จึงเป็นหนี้บุญคุณของลูก ไม่ใช่ลูกเป็นหนี้บุญคุณพ่อแม่
โดยความเข้าใจข้างต้นดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก
และขัดแย้งกับคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างร้ายแรงครับ
แต่ก็มีบางคนที่มีความเข้าใจผิดนี้ และพยายามเผยแพร่ความเข้าใจผิดนี้

ตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ใน “พรหมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ
และพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต) นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ตระกูลใด บุตรบูชามารดาและบิดาอยู่ในเรือนของตน
ตระกูลนั้นชื่อว่ามีพรหม มีบุรพเทวดา มีบุรพาจารย์ มีอาหุไนยบุคคล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหม เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าบุรพเทวดา เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าบุรพาจารย์ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าอาหุไนยบุคคล เป็นชื่อของมารดาและบิดา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาและบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก
เป็นผู้ถนอมเลี้ยง เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร
มารดาและบิดาเรากล่าวว่า เป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์
เป็นอาหุไนยบุคคลของบุตร เพราะเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร
เพราะเหตุนั้นแหละ บัณฑิตพึงนอบน้อม
และพึงสักการะมารดาและบิดาทั้งสองนั้น ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน
การขัดสี การให้อาบน้ำ และการล้างเท้า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ทีเดียว
เพราะการปฏิบัติในมารดาและบิดาบุคคลนั้นละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์”
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=6643&Z=6657&pagebreak=0
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=3468&Z=3481&pagebreak=0

ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภูมิอสัตบุรุษเป็นไฉน อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญูอกตเวที
ก็ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ อสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ เป็นภูมิอสัตบุรุษทั้งสิ้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสัตบุรุษย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที
ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีทั้งหมดนี้เป็นภูมิสัตบุรุษ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้ง ๒
ท่านทั้ง ๒ คือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง
เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้ง ๒ นั้น
ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด
และท่านทั้ง ๒ นั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้น
ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติอันเป็นอิสราธิปัตย์
ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น
ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก
บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย”
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=1617&Z=1840&pagebreak=0

ใน “สิงคาลกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “ดูกรคฤหบดีบุตร
มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
ด้วยตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ ๑
จักรับทำกิจของท่าน ๑ จักดำรงวงศ์สกุล ๑
จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ๑
หรือเมื่อท่านละไปแล้ว ทำกาลกิริยาแล้ว จักตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา ๑”
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=11&A=3923&Z=4206&pagebreak=0

จากพระธรรมคำสอนข้างต้น เราย่อมจะได้เห็นได้ชัดเจนว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า มารดาและบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก
เป็นผู้ถนอมเลี้ยง เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร
บุตรจึงพึงสักการะและดูแลตอบแทนมารดาบิดาทั้งสองนั้น
โดยบัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลที่กตัญญูตอบแทนต่อมารดาบิดา
และความเป็นคนกตัญญูกตเวทีดังกล่าวเป็นภูมิแห่งสัตบุรุษ
(ทั้งนี้ คำว่า “แสดงโลกนี้แก่บุตร” คือหมายถึง ได้ให้กำเนิดแก่บุตร
หรือได้ให้ชีวิตแก่บุตรกำเนิดมาในโลกนี้
ส่วนคำว่า “สัตบุรุษ” หมายถึง คนดี คนมีศีลธรรม)
ดังนี้แล้ว ความเข้าใจที่มีบางคนเผยแพร่กันว่า
พ่อแม่ไม่มีบุญคุณต่อบุตร โดยอ้างคำสอนในศาสนาพุทธนั้น
เป็นความเข้าใจที่ผิด และขัดต่อพระธรรมคำสอนในศาสนาพุทธครับ

ทีนี้ หากแม้ว่าเราจะพิจารณาเรื่องนี้โดยใช้สามัญสำนึกก็ตาม
เราลองพิจารณาว่า หากเราหิวข้าว และมีคนให้ข้าวเราจานหนึ่ง
ถามว่า คน ๆ นั้นมีบุญคุณกับเราหรือไม่?
หากเราบอกว่า มีบุญคุณกับเราแล้ว
ถามว่า แล้วพ่อแม่ที่ให้ชีวิตเราและให้ข้าวน้ำมากมายนับไม่ถ้วน
ทำไมจึงจะไม่ถือว่ามีบุญคุณกับเรา?

ในเรื่องของการระลึกถึงบุญคุณนี้
ผมขอยกตัวอย่างเรื่องความกตัญญูของพระสารีบุตร
ที่มีต่อราธพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล
ราธพราหมณ์เป็นคฤหัสถ์ตกยากในกรุงสาวัตถี
และได้เลี้ยงชีพอยู่ในสำนักของภิกษุ
โดยทำงานดายหญ้า กวาดบริเวณ ถวายวัตถุมีน้ำล้างหน้าเป็นต้น
และขออาหารจากภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายได้สงเคราะห์ราธพราหมณ์ แต่ก็ไม่ได้ให้ราธพราหมณ์บวช

ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่งแล้ว
ทอดพระเนตรเห็นราธพราหมณ์ว่า มีอุปนิสัยพระอรหันต์
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ และตรัสถามว่า
ภิกษุทั้งหลาย ใคร ๆ ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้ มีอยู่บ้างหรือ?
พระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ระลึกได้
เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์
พราหมณ์นี้ให้คนถวายภิกษาทัพพีหนึ่งที่เขานำมาเพื่อตน
ข้าพระองค์ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้”
เมื่อพระศาสดาตรัสว่า "สารีบุตร ก็การที่เธอเปลื้องพราหมณ์ผู้มีอุปการะ
อันกระทำแล้วอย่างนี้จากทุกข์ ไม่ควรหรือ?"
พระสารีบุตรกราบทูลว่า "ดีละ พระเจ้าข้า, ข้าพระองค์จักให้เขาบวช"
พระสารีบุตรจึงให้พราหมณ์นั้นบวชแล้ว.
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=16&p=1

ในเรื่องที่ยกมาข้างต้นนั้น แม้ราธพราหมณ์ได้ถวายข้าวเพียงทัพพีหนึ่ง
ให้แก่พระสารีบุตรก็ตาม พระสารีบุตรก็ยังกล่าวว่า
“ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้”
ดังนั้นแล้ว สำหรับพ่อแม่ที่ได้ให้ชีวิตแก่บุตร
และได้ให้ข้าวน้ำมากมายนับไม่ถ้วนแก่บุตร
ย่อมมีบุญคุณมากมายเหลือคณานับครับ