Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๕๔

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

โทษของความโกรธ

      dhammajaree354

ในชีวิตประจำวันของเรา ก็ย่อมจะมีความโกรธกันบ้างเป็นปกตินะครับ
เพียงแต่ว่าแต่ละคนอาจจะโกรธง่าย โกรธยาก โกรธมาก โกรธน้อย
โกรธบ่อย โกรธไม่บ่อย โกรธแล้วมีสติรู้ทัน หรือโกรธแล้วไม่มีสติรู้ทัน ฯลฯ
แต่ละคนแตกต่างกันไป

ในคราวนี้ เราก็จะมาสนทนากันในเรื่องโทษของความโกรธครับ
ในโกธนาสูตร (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “คนโกรธมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์
ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์
ทำปาณาติบาตด้วยกายและวาจา ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์
ผู้มัวเมาเพราะความโกรธ ย่อมถึงความไม่มียศ
ญาติมิตรและสหายย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล
คนผู้โกรธย่อมไม่รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ
ภัยที่เกิดมาจากภายในนั้น คนผู้โกรธย่อมไม่รู้สึก
คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม
ความโกรธย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น
คนผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย
ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้
คนผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยากก่อน เหมือนไฟแสดงควันก่อน ในกาลใด
ความโกรธเกิดขึ้น คนย่อมโกรธ ในกาลนั้น
คนนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ และไม่มีความเคารพ
คนที่ถูกความโกรธครอบงำย่อมไม่มีความสว่างแม้แต่น้อยเลย
กรรมใดยังห่างไกลจากธรรม อันให้เกิดความเดือดร้อน
เราจักบอกกรรมเหล่านั้น เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ
คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้
ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้นกิเลสหยาบช้า
โกรธขึ้นมาย่อมฆ่าแม้มารดานั้นผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ได้
จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง
คนโกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองได้ เพราะเหตุต่าง ๆ
ย่อมฆ่าตัวเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษบ้าง
เอาเชือกผูกคอตายบ้าง โดดเขาตายบ้าง
คนเหล่านั้น เมื่อกระทำกรรมอันมีแต่ความเสื่อม และทำลายตนก็ไม่รู้สึก
ความเสื่อมเกิดแต่ความโกรธ ตามที่กล่าวมานี้
เป็นบ่วงของมัจจุราช มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย”
https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=2036&Z=2138&pagebreak=0

ใน “นิทานสูตรที่ ๑” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วยความโกรธ
เกิดแต่ความโกรธ มีความโกรธเป็นเหตุ มีความโกรธเป็นแดนเกิด
กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล
กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อความดับกรรม กรรมนั้นเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป”
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=551&items=1&preline=0&pagebreak=0

ใน “จุลลโพธิชาดก” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑)
พระโพธิสัตว์ได้กล่าวสอนว่า เมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว
บุคคลย่อมไม่เห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น
เมื่อความโกรธไม่เกิดขึ้น บุคคลย่อมเห็นได้ดี
ชนทั้งหลายย่อมยินดีด้วยความโกรธที่เกิดขึ้นแล้ว
ชื่อว่าเป็นศัตรูหาทุกข์ให้แก่ตนเอง
ความโกรธเป็นอารมณ์ของคนไร้ปัญญา

บุคคลถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมละทิ้งกุศลเสีย
ย่อมซัดส่ายประโยชน์แม้มากมายได้
เขาประกอบด้วยเสนา คือ กิเลสหมู่ใหญ่ที่น่ากลัว มีกำลัง
สามารถปราบผู้อื่นให้อยู่ในอำนาจได้

ธรรมดาไฟย่อมเกิดขึ้นที่ไม้สีไฟอันบุคคลสีอยู่
ไฟเกิดขึ้นแต่ไม้ใด ย่อมเผาไม้นั้นเองให้ไหม้
ความโกรธย่อมเกิดขึ้นแก่คนโง่เขลา เบาปัญญา ไม่รู้จริง
เพราะความแข่งดี แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาลน
ความโกรธย่อมเจริญขึ้นแก่ผู้ใด ดุจไฟเจริญขึ้นในกองหญ้าและไม้
ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อมไป เหมือนพระจันทร์ข้างแรม
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=5611&Z=5648&pagebreak=0

ใน “กัณหชาดก” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก)
พระโพธิสัตว์ได้กล่าวสอนว่า
ความโกรธเกิดแต่ความไม่อดทน ทีแรกเป็นของน้อย
แต่ภายหลังเป็นของมาก ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ
ความโกรธมักทำความเกี่ยวข้อง มีความคับแค้นมาก
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจความโกรธ
วาจาของผู้ประกอบด้วยโทสะ เป็นวาจาหยาบคาย
ถัดจากนั้นก็เกิดปรามาสถูกต้องกัน ต่อจากนั้นก็ชกต่อยกันด้วยมือ
ต่อไปก็หยิบท่อนไม้เข้าทุบตีกัน จนถึงจับศาตราเข้าฟันแทงกันเป็นที่สุด
โทสะเกิดแต่ความโกรธ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจโทสะ
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=27&A=5484&Z=5523&pagebreak=0

ในอรรถกถาของพรหมชาลสูตร (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค)
ได้กล่าวสอนว่า “คนมักโกรธ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงเนื้อความของคำที่เป็นสุภาษิต
และคำที่เป็นทุพภาษิตของคนพวกใดพวกหนึ่ง
คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวก หรือมารดาบิดา
หรือคนที่เป็นข้าศึกได้เลย”
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=3

จากพระธรรมคำสอนที่ยกมาข้างต้น เราย่อมจะเห็นได้นะครับว่า
โทษของความโกรธมีมากมายหลายประการ
โดยไม่เห็นว่าจะมีข้อดีในประการใด ๆ เลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมซึ่งบุคคลทำด้วยความโกรธนั้น
กรรมนั้นเป็นอกุศล มีโทษ มีทุกข์เป็นผล และเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป

ในทางกลับกัน เรามาพิจารณาในเรื่องของความไม่โกรธดูบ้างว่า
ความไม่โกรธจะเป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง
ใน “นิทานสูตรที่ ๑” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วยความไม่โกรธ
เกิดแต่ความไม่โกรธ มีความไม่โกรธเป็นเหตุ มีความไม่โกรธเป็นแดนเกิด
กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล
กรรมนั้นเป็นไปเพื่อความดับกรรม กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป”
https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=20&item=551&items=1&preline=0&pagebreak=0

ใน “ฆัตวาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)
เทวดาได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
“ฆ่าอะไรหนอจึงอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรหนอจึงไม่เศร้าโศก
ข้าแต่พระโคดม พระองค์ชอบฆ่าอะไรซึ่งเป็นธรรมอันเดียว”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ฆ่าความโกรธเสียได้ จึงอยู่เป็นสุข
ฆ่าความโกรธเสีย จึงไม่เศร้าโศก
พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญการฆ่าความโกรธ
ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน
เพราะฆ่าความโกรธนั้นเสียแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก”
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=1252&Z=1262&pagebreak=0

ฉะนั้นแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ความไม่โกรธย่อมเป็นประโยชน์อย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วยความไม่โกรธ
ย่อมเป็นกุศล ไม่มีโทษ มีสุขเป็นผล และไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป
โดยหากเราสามารถฆ่าความโกรธได้เสียแล้ว
ย่อมอยู่เป็นสุข และไม่เศร้าโศก

ในกรณีนี้เราจึงควรที่จะฝึกตนที่จะฆ่าความโกรธนะครับ
ซึ่งในโกธนาสูตร (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “บุคคลผู้มักโกรธ มีการฝึกตนคือมีปัญญา
ความเพียรและสัมมาทิฐิ พึงตัดความโกรธนั้นขาดได้”
https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=2036&Z=2138&pagebreak=0

เราเองจึงควรฝึกตนในการเจริญปัญญา ด้วยความเพียร
เพื่อให้เกิดสัมมาทิฐิ โดยหมั่นมีสติรู้ทันความโกรธ
และเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของความโกรธนั้น
ซึ่งก็ย่อมจะเสมือนเป็นการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสนะครับ
เพราะความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถนำพาเราให้ก่อกรรมไม่ดี
แต่เราสามารถนำความโกรธ มาใช้เพื่อการเจริญปัญญาแก่เราได้