Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๕๓

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

สนับสนุนมิจฉาชีพหรือไม่

     dhammajaree353

ในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา
ได้มีข่าวหนึ่งที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก
ได้แก่ คดีของแม่ปุ๊กที่เปิดเพจเฟซบุ๊ก เพื่อขายสินค้าและขอรับบริจาค
โดยอ้างว่าตนเอง เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ถูกสามีทิ้งไป
และต้องเลี้ยงลูก ๒ คน คือ น้องอมยิ้ม และน้องอิ่มบุญ
ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ประกาศขายสินค้าและขอรับบริจาค
เพื่อนำเงินไปรักษาลูกสาวคือ น้องอมยิ้ม อายุ ๓ ขวบ
ที่ป่วยเป็นโรคประหลาด มีเลือดออกปาก อาเจียนเป็นเลือด
ต่อมา ในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ น้องอมยิ้มได้เสียชีวิตลง
และต่อมาในช่วงต้นปี ๒๕๖๓ แม่ปุ๊กได้โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่า
น้องอิ่มบุญ บุตรอีกคนหนึ่งก็ได้ป่วยเป็นโรคเดียวกับน้องอมยิ้ม
จนทำให้โลกออนไลน์สงสัยกันมากขึ้นว่า จะเป็นการวางยาเด็กหรือไม่

ต่อมา โรงพยาบาลที่ตรวจรักษาน้องอมยิ้ม และน้องอิ่มบุญ ได้ให้ข้อมูลว่า
ได้ส่องกล้องหาสาเหตุอาเจียนเป็นเลือดของน้องอิ่มบุญ
พบมีการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร น่าจะได้รับสารกัดกร่อน
โดยมีอาการคล้ายกันกับน้องอมยิ้ม ที่เข้ามารักษาและเสียชีวิตไปแล้ว
และอาการเหมือนผู้พยายามฆ่าตัวตายด้วยการดื่มน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีสารกัดกร่อน
จากนั้น ตำรวจกองปราบจึงได้เข้าจับกุมแม่ปุ๊กในคดีฉ้อโกงกว่า ๑๐ ล้านบาท
https://mgronline.com/daily/detail/9630000054489
https://mgronline.com/live/detail/9630000054460
https://mgronline.com/daily/detail/9630000054131
https://mgronline.com/crime/detail/9630000055235
https://news.mthai.com/special-report/803134.html

หลังจากเกิดเหตุการณ์เรื่องนี้แล้ว บางท่านก็รู้สึกเสียใจว่า
ตนเองโดนหลอกให้ทำทานกับมิจฉาชีพ
โดยถึงกับประกาศว่า ต่อไปนี้ ตนเองจะเลิกทำทานแล้ว
ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีบางท่านแนะนำว่าการทำทานในลักษณะนี้
เป็นการสนับสนุนให้เกิดการทารุณหรือทำร้ายแก่คนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ
จึงแนะนำให้หยุดบริจาคผ่านบัญชีส่วนตัวของผู้ตกทุกข์ได้ยาก

ในเรื่องของการเลิกทำทานนี้
บางท่านอาจจะเห็นว่าเราทำทานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น
ผู้อื่นได้ประโยชน์ แต่ตนเองไม่ได้อะไร เป็นเพียงการเสียสละอย่างเดียว
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำทานนั้น นอกจากช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว
ยังเป็นการช่วยเหลือตัวเราเองอีกด้วยครับ

ใน “ทานานิสังสสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการ
ได้แก่ ๑. ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
๒. สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน
๓. กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป
๔. ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์
๕. ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=887&Z=899&pagebreak=0
เช่นนี้แล้ว การที่ตนเองคิดว่าจะหยุดทำทานนั้น ย่อมเท่ากับว่า
เป็นการทำร้ายตนเองด้วย เพราะแทนที่ตนเองจะได้รับอานิสงส์แห่งทาน
ก็กลายเป็นว่าตนเองไม่ได้รับอานิสงส์เหล่านั้น

ในเรื่องของการสนับสนุนให้เกิดการทารุณหรือทำร้ายแก่คนอื่นนั้น
ในเวลาที่จะพิจารณาในเรื่องของกรรม
เราพึงมองในเรื่องของ “เจตนา” เป็นสำคัญ
ใน “นิพเพธิกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม
บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจาด้วยใจ”
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=9611&Z=9753&pagebreak=0

ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีแรก สมมุติว่าเราเทเศษอาหารทิ้งลงถังขยะ
โดยไม่ได้คิดทำทานอะไร เพียงแค่จะต้องการทิ้งเศษอาหารเท่านั้น
กับอีกกรณีหนึ่ง หากเราเทเศษอาหารทิ้งลงถังขยะ
และตั้งใจทำทานว่า ขอให้เป็นอาหารแก่สัตว์เล็กสัตว์น้อยอื่นด้วย
แม้ว่าทั้งสองกรณีจะมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยมากินอาหารนั้นเหมือนกัน
แต่ว่ากรณีแรกไม่ได้เป็นการทำทานใด ๆ แต่กรณีหลังเป็นการทำทาน
เพราะว่าเจตนาของทั้งสองกรณีนี้แตกต่างกัน

ดังนั้นแล้ว เจตนาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ในเมื่อเรามีเจตนาที่จะทำทานช่วยเหลือแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก
ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และภายหลังการทำทาน
โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะสนับสนุนใด ๆ แก่มิจฉาชีพไปทำร้ายคนอื่นแล้ว
ทานที่เราทำนั้นย่อมไม่ได้มีผลเป็นการทำร้ายคนอื่นที่เป็นเหยื่อ
หรือสนับสนุนให้มีการทำร้ายคนอื่นที่เป็นเหยื่อนั้นครับ

อย่างไรก็ดี บางท่านที่ร่วมทำทานในกรณีดังกล่าว
ก็อาจจะรู้สึกไม่สบายใจ เสียใจ หรือไม่พอใจได้อยู่ดี
และหากทุกคนทำทานกันอย่างไม่ตรวจสอบกันมาก ๆ
ก็ย่อมจะทำให้เกิดมิจฉาชีพในลักษณะนี้มากขึ้น
และส่งผลให้เกิดปัญหาแก่สังคมส่วนรวมมากขึ้น

ดังนี้แล้ว เราจึงควรรับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียด้วยความระมัดระวัง
โดยไม่รีบเชื่อหรือโอนเงินเร็วเกินไป
และควรจะตั้งข้อสงสัยและตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดเสียก่อน
หรืออาจจะร่วมทำทานเฉพาะกับผู้รับบริจาคหรือองค์กรที่เชื่อถือได้
หรือเลือกข้อมูลจากข่าวที่ผ่านการตรวจสอบของสื่อที่เชื่อถือได้แล้ว
ก็จะช่วยลดปัญหาสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคตได้
และยังทำให้มั่นใจว่าเงินที่บริจาคจะได้ใช้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงครับ