Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๕๒

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ดราม่าตู้ปันสุข

     dhammajaree352

ในช่วงวิกฤติไวรัส Covid-19 นี้ คนไทยจำนวนมากมีน้ำใจช่วยเหลือกัน
หลายท่านได้ช่วยกันจัดตั้งตู้แจกสิ่งของที่เรียกว่า “ตู้ปันสุข”
หลายท่านได้นำสิ่งของไปร่วมแจกในตู้ปันสุข
เพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนได้มาหยิบไปกินใช้บรรเทาความเดือดร้อน
บางคนที่ไม่ได้ทำเป็นตู้ปันสุข แต่ทำเป็นรถปันสุขก็มี
โดยนำสิ่งของติดตามรถยนต์แล้วนำไปแจกตามสถานที่ต่าง ๆ
https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/431158?fbclid=IwAR0QP43zODl1Q_GPwo5mrCqpoBaklDiOYJK9OcNh5ZkL0w50AGcieCW0ksA
แต่ก็มีเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจบางเรื่องที่ปรากฏตามสื่อ
เช่น มีบางคนมากวาดสิ่งของไปคนเดียวหมดตู้
หรือมีบางคนมาคุกคามหรือตะโกนด่าบ้านที่ตั้งตู้ปันสุข
หรือมีบางคนนำสิ่งของจากตู้ปันสุขมาวางขาย เป็นต้น
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000049263
https://mgronline.com/live/detail/9630000049594
https://www.komchadluek.net/news/regional/431699?fbclid=IwAR167jVkthSGFqJXzFQilOn84Q6tJGSoqFTDQJL6yi2hcwJBdcKOnfLNcTE

ทำให้บางท่านอาจรู้สึกเสียกำลังใจที่จะร่วมทำบุญกับตู้ปันสุข
ผมก็ขอแนะนำว่า การให้ทานช่วยเหลือกันในยามวิกฤติไวรัส Covid-19 นี้
มีลักษณะเป็นหนึ่งในกาลทาน ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้
ใน “กาลทานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ว่าประกอบด้วย ๕ อย่าง โดยท่านอาจารย์ประณีต ก้องสมุทรได้อธิบายไว้ ดังนี้

๑. อาคันตุกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน
หมายความว่าผู้นั้นเป็นผู้มาใหม่ ยังไม่รู้จักสถานที่และบุคคลในถิ่นนั้น
เราก็ช่วยสงเคราะห์ให้ที่พักหรือข้าวของต่าง ๆ
เพื่อให้เขาได้รับความสะดวกสบาย
แม้พระภิกษุที่จรมาจากที่อื่น ท่านยังไม่รู้จักทางที่จะไปบิณฑบาตเป็นต้น
ภิกษุที่อยู่ก่อนหรืออุบาสก อุบาสิกา ก็ช่วยอนุเคราะห์ท่าน
ด้วยการถวายอาหารบิณฑบาต และของใช้ที่จำเป็นแก่สมณะ
ทำให้ท่านได้รับความสะดวกสบายไม่เดือดร้อน
อย่างนี้จัดเป็น อาคันตุกะทาน และเป็นกาลทาน
๒. คมิกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้เตรียมตัวจะไป
หมายความว่า ให้แก่บุคคลที่เตรียมตัวจะไปยังถิ่นอื่น
สัตบุรุษย่อมสงเคราะห์คนที่จะเดินทางไปนั้น ด้วยค่าพาหนะ
หรือด้วยยานพาหนะ ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคที่สมควร
๓. ทุพภิกขทาน คือ ทานที่ให้ในสมัยข้าวยากหมากแพง
ผู้คนอดอยาก ได้รับความเดือดร้อน แม้ในสมัยที่น้ำท่วม ไฟไหม้
ผู้คนเดือดร้อนไร้ที่อยู่ การให้ที่พักอาศัย และข้าวของ
เครื่องใช้ข้าวปลาอาหาร ในเวลานั้น ก็จัดเป็นกาลทาน
๔. นวสัสสะทาน การให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล
๕. นวผละทาน การให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล
https://84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html
https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=22&A=900&Z=915&pagebreak=0

การให้ทานช่วยเหลือกันในยามวิกฤติไวรัส Covid-19 นี้
ย่อมมีลักษณะเป็น “ทุพภิกขทาน” คือ
ทานที่ให้ในสมัยข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยาก ได้รับความเดือดร้อน
เราจึงควรมีกำลังใจที่จะช่วยเหลือกันในส่วนนี้ต่อไป
แต่หากการตั้งตู้ปันสุขเอง ทำให้ถูกคุกคาม หรือโดนกวาดสิ่งของไปหมด
เราก็สามารถนำสิ่งของไปร่วมทำบุญในตู้ปันสุขของสถานที่อื่น เช่น
ทางวัด หรือของหน่วยงานรัฐที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่ก็ได้
เพื่อความสบายใจในการทำทานของเราเอง

ในส่วนของสิ่งของที่ได้ทำทานในตู้ปันสุขไปแล้ว
ก็ถือว่าเราได้ทำ “ทุพภิกขทาน” ไปแล้วนะครับ
โดยเราไม่ควรต้องไปกังวลใจ เสียใจ หรือแค้นใจว่า
มีใครกวาดสิ่งของไปคนเดียวหรือเปล่า
ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะทำให้จิตเป็นอกุศลเสียเปล่า ๆ
โดยเราพึงระลึกใจว่าเราได้ทำทานไว้ดีแล้ว

ในเรื่องของการทำทานนี้ เราแบ่งเจตนาในการทำทานออกเป็น ๓ กาล
ได้แก่ ๑. ปุพพเจตนา คือ เจตนาก่อนที่จะทำทาน เช่น
คิดว่าจะให้ทานกับใคร คิดจัดหาสิ่งของที่จะให้ เป็นต้น
๒. มุญจนเจตนา คือ เจตนาขณะที่ทำทาน
คือขณะที่กำลังให้สิ่งของที่เป็นทาน เช่น
เวลาที่เอาสิ่งของไปวางไว้ในตู้ปันสุข เป็นต้น
๓. อปรเจตนา คือ เจตนาภายหลังจากที่ทำทานแล้ว
เช่น เมื่อทำทานเสร็จแล้ว ก็เกิดปีติยินดีในการทำทานนั้น
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26.0&i=106&p=3

ในการทำทานโดยการนำสิ่งของไปวางไว้ในตู้ปันสุขนั้น
เมื่อได้วางสิ่งของเสร็จเรียบร้อย ทานที่ได้ทำก็สำเร็จแล้ว
เมื่อเราระลึกถึง เราก็ควรจะมีปีติยินดีในการทำทานนั้น
ส่วนเรื่องที่จะมีคนมากวาดของไปทั้งหมดในภายหลัง
ก็เป็นเรื่องการสร้างกรรมไม่ดีของผู้นั้นเอง
ไม่ได้กระทบต่อทานที่เราได้ทำด้วยเจตนาดีสำเร็จไปแล้ว
ฉะนั้นแล้ว เราก็ไม่ควรต้องเสียกำลังใจ
แต่ควรที่จะมีกำลังใจในการทำทุพภิกขทานนี้ต่อไปครับ

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ผู้เดือดร้อนได้รับประโยชน์มากที่สุด
และเพื่อจะเป็นการช่วยเหลือต่อสังคมส่วนรวมให้ได้มากที่สุด
เราก็สมควรพิจารณาต่อไปด้วยว่า
เราควรจะนำสิ่งของไปวางในตู้ปันสุขแห่งไหนในอนาคต
เพื่อที่จะได้เกิดประโยชน์แก่ผู้เดือดร้อนและสังคมส่วนรวมมากที่สุด