Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๕๑

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

 

ช่วยอย่างเหมาะสม

 

     dhammajaree351

วิกฤติไวรัส Covid-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างร้ายแรง
จนกระทั่งในช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF)
ได้ออกมากล่าวเตือนว่าวิกฤติไวรัส Covid-19 นี้
ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก จนเข้าสู่ภาวะถดถอยเลวร้ายที่สุด
นับตั้งแต่เคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)
ที่เริ่มเกิดในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป เมื่อปี ค.ศ. 1929
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งหรือ เมื่อ 91 ปีที่ผ่านมา
และยังขยายวงไปยังนานาประเทศทั่วโลก

กรรมการผู้จัดการใหญ่ IMF กล่าวถึงวิกฤติไวรัส Covid-19
ว่าได้ก่อให้เกิดการหยุดชะงักทางสังคมและเศรษฐกิจในนานาประเทศทั่วโลก
ในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเท่าที่จำความได้
โดยผู้คนจำนวนมากต้องติดเชื้อสูญเสียชีวิต
และมาตรการ lock down ที่จำเป็นต่อการต่อสู้กับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด
ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกเป็นพัน ๆ ล้านคน
https://www.thansettakij.com/content/world/429403?alk&fbclid=IwAR2UK59odAohoOScEZtmQru8qz8OBDFKsDdGK9gKwai0bNYv9_iusFLgSHQ

หลายท่านย่อมได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้
และย่อมมีญาตสนิทหรือคนรู้จักใกล้ชิดได้รับผลกระทบเช่นกัน
โดยอาจจะมีญาติสนิทหรือคนรู้จักใกล้ชิดมาขอความช่วยเหลือ
ซึ่งในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นในเวลานี้
ก็ต้องพิจารณาวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสมด้วย
ซึ่งวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสมนั้น
อาจจะไม่ใช่การช่วยในวิธีการที่ญาติสนิทหรือคนรู้จักใกล้ชิดนั้นร้องขอก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น มีญาติธรรมท่านหนึ่งมาสอบถามผมว่า
น้องชายประกอบธุรกิจและได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้
โดยน้องชายมีหนี้สินมากมายต่อธนาคาร
และได้จำนองบ้านและที่ดินไว้กับธนาคารด้วย
น้องชายได้มาขอความช่วยเหลือจากญาติธรรมท่านนี้ว่า
ขอให้ช่วยซื้อบ้านและที่ดินของน้องชายไปในราคา 3 ล้านบาท
เพื่อที่ว่าจะได้นำเงินไปใช้หนี้บางส่วนแก่ธนาคาร
และไม่โดนธนาคารยึดบ้านและที่ดินไปขายทอดตลาด
และเมื่อพ้นจากวิกฤติไวรัส Covid-19 แล้ว
น้องชายก็จะพยายามหาเงินมาซื้อบ้านและที่ดินคืนในภายหลัง

นอกจากน้องชายจะมาขอร้องญาติธรรมท่านนี้แล้ว
ก็ยังมีพ่อแม่มากดดันให้ช่วยน้องชายอีก
ซึ่งญาติธรรมท่านนี้ก็ไม่ได้มีเงินเก็บเยอะแยะมากมาย
แม้ว่าญาติธรรมท่านนี้จะสามารถช่วยเหลือน้องชายในเรื่องนี้ได้ก็ตาม
แต่ถ้าช่วยเหลือน้องชายแล้ว ตนเองก็จะไม่เหลือเงินเก็บ
ไว้สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินในเรื่องอื่น ๆ อีก

ในกรณีนี้ ผมได้แนะนำว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้
ไม่ใช่จะอยู่เพียงสองหรือสามเดือนแล้วก็หายไป
แต่จะส่งผลกระทบยาวนานมาก ดังที่กล่าวแล้วว่า
กองทุนการเงินระหว่างประเทศเตือนว่าวิกฤติไวรัส Covid-19 นี้
ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก จนเข้าสู่ภาวะถดถอยเลวร้ายที่สุด
นับตั้งแต่เคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)
เมื่อ 91 ปีที่ผ่านมา หรือเรียกว่าเป็นวิกฤติในรอบเกือบ 100 ปีก็ได้
ฉะนั้นแล้ว ญาติธรรมท่านนี้ควรต้องมีเงินเก็บไว้ช่วยเหลือ
ตนเองและครอบครัวให้สามารถดำรงชีพได้ในยามวิกฤติได้
และหากจะช่วยเหลือใคร ก็พึงใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

หากเขานำเงินเก็บตนเองทั้งหมดไปช่วยเหลือซื้อบ้านและที่ดินของน้องชาย
แล้วต่อมาเขาเองประสบปัญหาต้องตกงาน
หรือเกิดมีเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินช่วยเหลือพ่อแม่
หรือคนอื่นในครอบครัวแล้ว เขาก็จะไม่สามารถช่วยเหลือได้
ในกรณีนี้ วิธีการช่วยเหลือน้องชายที่เหมาะสมนั้น
ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือตามที่น้องชายร้องขอเสมอไป
แต่เขาสามารถพิจารณาช่วยเหลือวิธีการอื่นที่เหมาะสมได้

เช่น หากสมมุติว่าญาติธรรมท่านนี้มีเงินเก็บจำนวน 3 ล้านบาท
และเขาไม่ได้นำเงินไปช่วยซื้อบ้านและที่ดินจากน้องชาย
แต่ต่อมาบ้านและที่ดินของน้องชายโดนธนาคารยึดไปขายทอดตลาดแล้ว
ญาติธรรมท่านนี้จะทยอยแบ่งเงินช่วยเหลือให้น้องชายเป็นรายเดือน
เช่น ช่วยเหลือเดือนละ 1 หรือ 2 หมื่นบาทในทุกเดือนเป็นระยะเวลา 2 ปี
เพื่อช่วยค่าเช่าบ้านและค่ากินอยู่ของครอบครัวน้องชาย
ทั้งหมดก็จะใช้เงินเพียง 2.4 แสนบาท หรือ 4.8 แสนบาท (แล้วแต่กรณี)
เท่ากับว่าเขาจะยังมีเงินเก็บเหลือไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
อีกเป็นจำนวน 2.76 ล้านบาท หรือ 2.52 ล้านบาท (แล้วแต่กรณี)
เอาไว้เผื่อช่วยเหลือตนเอง พ่อแม่ และคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้อีก
เทียบกับว่าการนำเงินทั้งหมดไปช่วยซื้อบ้านและที่ดินของน้องชายแล้ว
ถึงเวลาที่น้องชายไม่มีค่ากินอยู่ เขาก็ช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติมไม่ได้
หรือหากตนเองตกงาน พ่อแม่หรือคนอื่นในครอบครัวเดือดร้อน
เขาก็ช่วยเหลือไม่ได้แล้วแล้ว กลายเป็นต้องไปขอให้คนอื่นช่วย

ฉะนั้นแล้ว ในการที่จะช่วยเหลือญาติสนิท
หรือคนรู้จักใกล้ชิดที่มาขอความช่วยเหลือนั้น
ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือในวิธีการที่เขาร้องขอก็ได้นะครับ
เพราะการช่วยเหลือในวิธีการที่เขาร้องขอนั้น อาจจะเป็นวิธีที่ผิดก็ได้
แต่เราควรจะพิจารณาวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสม
โดยพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ
และพึงใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

ในเรื่องนี้ หากเราจะพิจารณาเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นในทางธรรมแล้ว
ตามพระธรรมคำสอนนั้น ในการจะช่วยเหลือผู้อื่นในทางธรรมนั้น
เราพึงจะต้องช่วยเหลือตนเองให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้
ใน “โธตกมาณวกปัญหานิทเทส” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส)
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรจุนทะ บุคคลนั้นหนอเป็นผู้ติดหล่มอยู่ด้วยตน
จักถอนขึ้นซึ่งบุคคลอื่นผู้ติดหล่มได้ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้.
ดูกรจุนทะ บุคคลนั้นหนอ ไม่ได้ฝึก ไม่ได้ถูกแนะนำ ไม่ดับรอบแล้วด้วยตนเอง
จักฝึกจักแนะนำให้บุคคลอื่นให้ดับรอบได้ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้”
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=2020&Z=2388&pagebreak=0