Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๔๖

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

กรรมเก่าและกรรมใหม่

     dhammajaree346

ตามพระธรรมคำสอนในพุทธศาสนานั้น
สิ่งต่าง ๆ ที่เราได้รับหรือได้ประสบย่อมเป็นไปตามกรรม
ไม่ใช่เป็นเพราะเทพเทวดาองค์ใดดลบันดาลให้
เช่น ใน “ฐานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย
ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ
๕ ประการเป็นไฉน คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต
ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๑
เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๑
เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๑
เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑
เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด
ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=1649&Z=1741&pagebreak=0

ใน “อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย
ทสก-เอกาทสกนิบาต) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ
๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า
เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์ ๑
การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๑
อากัปกิริยาอย่างอื่นอันเราควรทำมีอยู่ ๑
เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีลหรือไม่ ๑
เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว
ติเตียนเราได้โดยศีลหรือไม่ ๑
เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑
เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
เราจักทำกรรมใด ดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑
วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๑
เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่าหรือไม่ ๑
ญาณทัสนะวิเศษอันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ
คือ อุตริมนุสธรรม อันเราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือหนอ
ที่เป็นเหตุให้เราผู้อันเพื่อนพรหมจรรย์ถามแล้ว
จักไม่เป็นผู้เก้อเขินในกาลภายหลัง ๑
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ
http://www.84000.org/tipitaka/read/r.php?B=24&A=2110

ใน “จูฬกัมมวิภังคสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=14&A=7623&Z=7798&pagebreak=0

จะเห็นได้ว่าตามหลักกรรมแล้ว เราทุกคนมีทางเลือกได้นะครับ
ถ้าเลือกทำกรรมดี ก็จะได้รับผลแห่งกรรมดี
ถ้าเลือกทำกรรมไม่ดี ก็จะได้รับผลแห่งกรรมไม่ดี
ถ้าเลือกที่จะทำกรรมที่เป็นเหตุให้ออกจากสังสารวัฏ
ก็สามารถจะพ้นออกจากสังสารวัฏได้
สิ่งต่าง ๆ ที่จะได้รับหรือได้ประสบนี้ย่อมเป็นไปตามกรรม
ซึ่งหากเรามีศรัทธาและเข้าใจในเรื่องหลักกรรมเช่นนี้แล้ว
ย่อมจะทำให้เรามีความขยันที่จะสร้างกรรมดี
หรือสร้างกรรมที่เป็นเหตุให้ออกจากสังสารวัฏก็ตาม
เพื่อที่จะได้รับผลแห่งกรรมดังกล่าวต่อไป

แต่แม้กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีหลายคนจำนวนมาก
ที่นำหลักกรรมไปอ้างหรือใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง
โดยนำเรื่องกรรมเก่าและกรรมใหม่ผสมปะปนกันอย่างไม่ถูกต้อง
ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนบ้านเอาส้มให้เราถุงหนึ่ง
การที่เราได้รับส้มถุงนี้ย่อมเป็นผลจากกรรมเก่าของเรา
แต่การที่เราจะทำอะไรต่อไปนั้น เป็นเรื่องของกรรมใหม่
เช่น เราจะทำเฉย ๆ ก็ได้ หรือเราจะเพียงกล่าวขอบคุณเขาก็ได้
หรือเราจะนำของอื่นให้เขาเพื่อตอนแทนก็ได้ เป็นต้น
โดยมีทางเลือกกรรมใหม่ที่หลากหลายที่เราจะเลือกได้
แต่ย่อมไม่ใช่ว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เราทำเป็นเพราะกรรมเก่า
เช่น เราทำเฉย ๆ ไม่ได้กล่าวขอบคุณเขา และไม่ได้ให้อะไรตอบแทน
แล้วเราอ้างว่าอันนี้เป็นผลแห่งกรรมเก่าที่เราต้องทำเฉย ๆ
เพราะแท้จริงแล้ว เราจะไม่ทำเฉย ๆ ก็ได้ หรือทำอย่างอื่นก็ได้

จริงอยู่ที่ว่า เมื่อเวลาผ่านไป การที่เราทำเฉย ๆ
ไม่ได้กล่าวขอบคุณเขา และไม่ให้อะไรตอบแทนเขานี้
จะกลายเป็นกรรมเก่าในอดีต
แต่ในขณะเวลาก่อนที่เราจะทำเฉย ๆ นั้น
เรามีทางเลือกได้ว่าเราจะทำอะไร ซึ่งจะเป็นกรรมใหม่
เพียงแต่เราเลือกที่จะทำเฉย ๆ ไม่ได้กล่าวขอบคุณเขา
ซึ่งก็คือกรรมใหม่ในเวลานั้นเอง
และเมื่อเวลาผ่านไป ก็กลายเป็นกรรมเก่า

เช่นนี้แล้ว เราย่อมจะเห็นได้ว่า กรรมเก่าและกรรมใหม่นั้น
แท้จริงแล้วได้สืบต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว
กล่าวคือ การที่อายตนะภายนอกทั้ง ๖ ได้แก่
รูป รส กลิ่น เสียง โพฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ ได้มากระทบต่อ
อายตนะภายในทั้ง ๖ ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น
ล้วนแต่เป็นเพราะผลแห่งกรรมเก่าทั้งสิ้น
แต่เมื่ออายตนะภายนอกได้มากระทบต่ออายตนะภายในแล้ว
เราจะเลือกที่จะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น
เป็นเรื่องของกรรมใหม่ที่เราจะเลือกทำ
และเมื่อเราได้ทำกรรมผ่านไปแล้ว กรรมนั้นก็กลายเป็นกรรมเก่า
เช่น สมมุติว่าเราได้ยินเสียงเพื่อนชักชวนเราไปเที่ยวเถลไถล
เราก็เลือกได้ว่าจะไปกับเขาหรือไม่
ถ้าเราเลือกไปเที่ยวเถลไถลกับเขา ก็เป็นกรรมใหม่ที่เราทำ
แล้วก็จะกลายเป็นกรรมเก่าที่จะก่อให้เกิดผลแห่งกรรมต่อไปครับ
แต่ไม่ใช่ว่าเราจำเป็นต้องตามเขาไป เพราะว่าเป็นกรรมเก่า

หรือสมมุติว่า เราได้ประสบเหตุคนมาขับรถปาดหน้ารถเรา
เราก็เลือกได้ว่าจะทำอย่างไร
เราจะเลือกทำเฉย ๆ ปล่อยไป หรือโมโหบีบแตรใส่ หรือทำอื่น ๆ ก็ได้
ถ้าเราเลือกทำอย่างใดก็ตาม ก็เป็นกรรมใหม่ที่เราทำ
แล้วก็จะกลายเป็นกรรมเก่าที่จะก่อให้เกิดผลแห่งกรรมต่อไปครับ
แต่ไม่ใช่ว่าเราจำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพราะว่าเป็นกรรมเก่า

ในเมื่อเรามีทางเลือกทำกรรมใหม่ได้อยู่ตลอดเวลาเช่นนี้แล้ว
ก็พึงเลือกทำทางเลือกที่ดีและเป็นประโยชน์ครับ