Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๔๕

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

คำกล่าวปลอบใจ

     dhammajaree344

ในเวลาที่เพื่อนหรือคนใกล้ตัวเรามีเรื่องเสียใจหรือเรื่องโกรธ
บางทีเราก็ต้องการช่วยกล่าวปลอบใจให้เขาหายเสียใจหรือคลายโกรธ
ซึ่งคำกล่าวปลอบใจก็มีหลายแบบ
โดยคำกล่าวปลอบใจที่บางท่านมักจะกล่าวกัน ยกตัวอย่างเช่น
อย่าไปคิดเรื่องนี้เลย อย่าไปทุกข์ใจเรื่องนี้เลย
ลืมเรื่องนี้ไปเถอะ หรือ ปล่อยวางเรื่องนี้ไปเถอะ เป็นต้น
สำหรับคำกล่าวปลอบใจทำนองนี้ หากเราพิจารณาเนื้อหาจริง ๆ แล้ว
จะเห็นได้ว่าเป็นคำกล่าวที่ช่วยเหลืออะไรเขาไม่ได้เลย
เพราะว่าเป็นสิ่งที่เขาทำไม่สามารถทำได้ (และเราเองก็ทำไม่ได้)

ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่า อย่าไปคิดเรื่องนี้เลย
ถามว่า เราจะสั่งห้ามไม่ให้จิตคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้หรือไม่?
ตอบว่า ไม่ได้ เพราะว่าสังขารเป็นอนัตตา
สังขารทำงานของมันเอง เราสั่งห้ามไม่ให้ปรุงแต่งไม่ได้
สังขารจะปรุงแต่งเรื่องใดขึ้นมา ก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย

หรือ เราบอกว่า อย่าไปทุกข์ใจเรื่องนี้เลย
ถามว่า เราจะสั่งให้จิตรู้สึกสุข และไม่ทุกข์ได้หรือไม่
ตอบว่า ไม่ได้ เพราะเวทนาเป็นอนัตตา
เราสั่งให้รู้สึกสุขไม่ได้ หรือสั่งไม่รู้สึกทุกข์ก็ไม่ได้
เวทนาย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย

หรือ เราบอกว่า ลืมเรื่องนี้ไปเถอะ
ถามว่า เราจะสั่งให้จิตลืมเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้หรือไม่
ตอบว่า ไม่ได้ เพราะสัญญาเป็นอนัตตา
เราสั่งให้จำไปตลอดก็ไม่ได้ หรือสั่งให้ลืมก็ไม่ได้
การจำได้หรือการลืมเรื่องใด ๆ ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย

หรือเราบอกว่า ปล่อยวางเรื่องนี้ไปเถอะ
ถามว่า เราจะสั่งให้จิตวางเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้หรือไม่
ตอบว่า ไม่ได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา
เราสั่งให้จิตวางเรื่องใด ๆ ตามใจเราไม่ได้
จิตจะยึดหรือปล่อยวางเรื่องใด ๆ ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เราจึงย่อมเห็นได้ว่า การที่เราแนะนำเพื่อนหรือคนใกล้ตัวเราว่า
อย่าไปคิดเรื่องนี้ อย่าไปทุกข์ใจเรื่องนั้น
ให้ลืมเรื่องนี้ หรือว่าให้ปล่อยวางเรื่องนั้น
เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราสั่งไม่ได้ทั้งสิ้นนะครับ
โดยแม้แต่เราเองที่เป็นคนแนะนำก็ตาม ก็ทำไม่ได้เช่นกัน
เพราะเป็นการไปสั่งขันธ์ที่เป็นอนัตตาให้ทำงานตามใจต้องการ
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ขันธ์เหล่านี้เป็นไปตามเหตุปัจจัย
ดังนี้ วิธีการที่จะช่วยเหลือให้เพื่อนหรือคนใกล้ตัวเรา
พ้นจากเรื่องเสียใจหรือเรื่องโกรธนั้น ย่อมได้แก่การเจริญปัญญา

ใน “กายสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ละด้วยวาจาไม่ได้
พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ เป็นไฉน
ภิกษุทั้งหลาย โลภะ (ความโลภ) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้
ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้
ภิกษุทั้งหลาย โทสะ (ความเดือดดาลแห่งจิต) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้
ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้
ภิกษุทั้งหลาย โมหะ (ความหลง) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้
ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้
ภิกษุทั้งหลาย โกธะ (ความโกรธ) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้
ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้
ภิกษุทั้งหลาย อุปนาหะ (ความผูกโกรธ) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้
ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้
ภิกษุทั้งหลาย มักขะ (ความลบหลู่คุณผู้อื่น) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้
ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้
ภิกษุทั้งหลาย ปฬาสะ (ความยกตัวขึ้นเทียบท่าน) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้
ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้
ภิกษุทั้งหลาย มัจฉริยะ (ความตระหนี่) อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้
ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้
ภิกษุทั้งหลาย ความริษยาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้
ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้”
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=996&Z=1061&pagebreak=0

ดังนี้แล้ว หากเพื่อนหรือคนใกล้ตัวเรากำลังรู้สึกเสียใจ
(ซึ่งเป็นโทสะประเภทหนึ่ง) หรือกำลังรู้สึกโกรธก็ตาม
วิธีที่จะช่วยเหลือให้เขาพ้นจากสภาวะนั้น ๆ ได้ จึงไม่ใช่การแนะนำให้
ปล่อย ละ วาง หรือลืม ความรู้สึกเสียใจ หรือรู้สึกโกรธนั้นอย่างตรง ๆ
แต่เราควรต้องแนะนำให้เกิดหรือเจริญปัญญา
เพื่อที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้เขาละสภาวะนั้น ๆ ได้
ในเรื่องนี้ หากเราอ่านในอรรถกถาของ “กายสูตร” จะพบว่า
ท่านสอนว่า “พึงละเสียด้วยมรรคปัญญา พร้อมด้วยวิปัสสนา”
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=23
ซึ่งอันนี้ก็อาจจะยากเกินระดับของเราหรือเขา (แล้วแต่ละบุคคล)

แต่อย่างน้อยที่สิ่งเราน่าจะพอทำได้ ก็คือ
เราสามารถกล่าวปลอบใจ โดยช่วยเขาเจริญปัญญาทางโลกได้
เช่น หากเขากำลังเสียใจหรือโกรธเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่
เราแนะนำให้เขาเห็นว่าการเสียใจหรือโกรธเรื่องนั้น
เขาไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาแก่เขาเลย
หรือเราแนะนำให้เขาเห็นว่า เขามีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า
หรือควรให้ความสำคัญมากกว่า หรือเร่งด่วนกว่าที่เขาจะต้องดูแล
หรือเราแนะนำให้เขาเห็นว่า เขามีเรื่องอื่นที่มีคุณค่ามากกว่า
และเขาควรจะใช้เวลาในเรื่องนั้นมากกว่า เพื่อจะได้ประโยชน์มากกว่า
หรือเราแนะนำให้เขาเห็นว่าการที่มัวเสียใจหรือโกรธเรื่องนั้นแล้ว
กลับจะยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น หรือทำให้สถานการณ์แย่ลง
หรือทำให้เขาหรือคนอื่นเดือดร้อนมากขึ้น เป็นต้น
ซึ่งเมื่อเขาได้พิจารณาเห็นดังที่เราแนะนำเช่นนั้นแล้ว
ก็ย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยช่วยให้เขา ลด ละ วาง หรือลืม
ความเสียใจหรือความโกรธนั้นลงได้บ้างตามที่สมควรแก่เหตุปัจจัยนั้น
อันย่อมจะดีกว่าและมีความเป็นไปได้มากกว่า
การที่เราจะกล่าวปลอบใจโดยบอกให้เขาลด ละ วาง หรือลืม
ความเสียใจหรือความโกรธนั้นโดยตรงครับ