Print

เพื่อนธรรมจารี : ฉบับที่ ๓๔๔

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

 

บริหารให้เหมาะสมเพื่อเลี่ยงบาปอกุศล

 

    dhammajaree344

 

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ไปซื้ออาหารที่ร้านอาหารจานเดียวแห่งหนึ่ง
ซึ่งร้านนี้มีคนสูงอายุคนหนึ่งเป็นคนจดรายการอาหารที่ลูกค้าสั่ง
และบุตรของคนสูงอายุท่านนี้เป็นคนทำอาหาร โดยมีลูกน้องช่วยทำด้วย
บริเวณที่สั่งอาหารและทำอาหารอยู่บริเวณเดียวกันคือหน้าร้าน
ปัญหาคือ คนสูงอายุท่านนี้มีอาการงง ๆ
โดยเวลาจดรายการอาหารที่ลูกค้าสั่งนั้น ไม่สามารถจดได้อย่างถูกต้องครบถ้วน
และใช้เวลาจดนานมาก แถมจดแล้วก็ลืมหรือสับสนว่าลูกค้าสั่งอย่างไรแน่
แม้ว่ารายการอาหารที่ลูกค้าสั่งจะไม่ได้มากและไม่ได้ซับซ้อนก็ตาม
ผลก็คือทำให้บุตรที่เป็นคนทำอาหารมีอาการโมโหหรือหงุดหงิด
และส่งเสียงดุว่าคนสูงอายุท่านนี้อยู่เรื่อย ๆ

ในแต่ละคราวที่บุตรคนนี้โมโหหรือหงุดหงิดพ่อแม่นั้น
ก็เท่ากับว่าเกิดบาปอกุศลในจิตใจ
และหากกล่าวถ้อยคำดุหรือต่อว่าพ่อแม่ด้วยความโกรธนั้นแล้ว
ก็เท่ากับว่าก่อบาปอกุศลด้วยทางวาจา
ในเรื่องนี้ หากเราจะบอกว่าบุตรคนนั้นไม่ควรโมโหหรือหงุดหงิด
แต่ควรระลึกถึงบุญคุณพ่อแม่ หรือเจริญเมตตาไว้เนือง ๆ
เพื่อที่จะช่วยให้ไม่โมโหหรือไม่หงุดหงิดต่อพ่อแม่นั้น
ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้
เพราะว่าในเวลานั้น บุตรก็ต้องทำอาหารไปด้วย
คิดเงินเก็บเงินไปด้วย ซึ่งก็วุ่นวายอยู่ไม่น้อยเลย

แต่การที่บุตรจะต้องโมโหหรือหงุดหงิดต่อพ่อแม่อยู่เรื่อย ๆ
ในการทำมาค้าขายในละวันนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องสมควรเลยครับ
เพราะตนเองทำไปแล้ว ก็จะยิ่งสะสมบาปอกุศลมากขึ้น ๆ
ในเรื่องนี้ เขาสามารถเลี่ยงได้โดยวิธีการบริหารจัดการให้เหมาะสม
โดยไม่ได้จำเป็นจะต้องให้คนสูงอายุท่านนี้จดรายการอาหารก็ได้
แต่ควรจะหางานในส่วนอื่นที่ง่ายกว่านี้ในร้านให้คนสูงอายุท่านนี้ได้ทำ
แม้คนสูงอายุท่านนี้จะทำหน้าที่จดรายการอาหารนี้มานานแล้วก็ตาม
แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวลาเปลี่ยนไป คนเราสูงอายุมากขึ้น
ความสามารถบางอย่างก็ย่อมจะถดถอยเป็นธรรมดา
ก็เป็นเรื่องที่ควรจะสามารถอธิบายให้เข้าใจกันได้
และพิจารณาปรับเปลี่ยนหน้าที่งานให้แก่คนสูงอายุให้เหมาะสมได้
ซึ่งหากสามารถเปลี่ยนหน้าที่งานในร้านให้แก่คนสูงอายุท่านนี้ได้แล้ว
ย่อมจะช่วยลดละเลี่ยงไม่ให้บุตรต้องก่อบาปอกุศล
ในเรื่องโมโหหงุดหงิดและกล่าวไม่ดีต่อพ่อแม่ตนเองได้ครับ

ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องการบริหารจัดการเช่นกัน
เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้เดินผ่านหน้าบ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเลี้ยงสุนัขไว้
โดยเจ้าของสุนัขกำลังตีสุนัขและส่งเสียงดุว่าสุนัขด้วยเสียงดังโมโหว่า
สุนัขตัวนี้เข้าไปปัสสาวะในบริเวณบ้าน
ทั้งที่เจ้าของได้จัดบริเวณให้ปัสสาวะนอกบ้านแล้ว (โดยอยู่ภายในรั้วบ้าน)
โดยเจ้าของก็ตีสุนัขด้วยความโมโห พร้อมกับส่งเสียงดุว่า
“ไม่ให้เข้าไปฉี่ในบ้าน เข้าใจไหม เข้าใจไหม” แล้วก็ตีสุนัขไปเรื่อย ๆ
สุนัขก็ร้องด้วยความกลัว (หรืออาจจะเจ็บก็ไม่ทราบ) ไปเรื่อย ๆ

ผมได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ก็เห็นว่าการที่เจ้าของเลี้ยงสุนัขเช่นนี้
แทนที่จะเป็นเรื่องทำให้ตนเองมีความสุข
และได้บุญกุศลจากการเลี้ยงและให้อาหารสุนัข
กลับกลายเป็นว่าตนเองได้ความทุกข์ และได้บาปอกุศลมาด้วย
ในเรื่องนี้ การที่เจ้าของสุนัขจะตีสุนัขแรง ๆ และส่งเสียงดุว่าสุนัข
ด้วยความโมโหอย่างรุนแรงนี้ อาจจะไม่ได้ช่วยให้สุนัขเข้าใจนะครับ
และก็ไม่รู้ว่าเขาจะต้องตีทำร้ายสุนัข และดุว่าสุนัขไปเรื่อย ๆ จนถึงเมื่อไร

ในทางที่ถูกต้องที่จะทำให้สุนัขเข้าใจได้แล้ว
เจ้าของสุนัขควรจะที่จะศึกษาวิธีการฝึกสุนัขให้ขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง
ซึ่งในยุคสมัยนี้ การหาข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย
เพียงเข้าอินเตอร์เน็ตค้นในกูเกิ้ลก็จะมีข้อมูลให้อย่างเพียงพอ
หากเจ้าของสุนัขได้ศึกษาข้อมูลและทำการฝึกสุนัขอย่างถูกวิธีแล้ว
ก็ย่อมเป็นการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
ซึ่งย่อมเป็นการลดละเลี่ยงบาปอกุศลที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง

ในสองเรื่องที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นก็เป็นตัวอย่างที่ว่า
หากเราไม่ได้บริหารจัดการเรื่องนั้น ๆ อย่างเหมาะสมแล้ว
ก็ย่อมจะเป็นการก่อบาปอกุศลแก่ตนเองไปเรื่อย ๆ ได้
ดังนี้ หากเราได้ประสบเรื่องใดเป็นประจำที่ทำให้เกิดบาปอกุศลแล้ว
การบริหารจัดการเรื่องนั้น ๆ ให้เหมาะสม
ก็อาจช่วยให้ลดละเลี่ยงการก่อให้เกิดบาปอกุศลนั้น ๆ ได้ครับ

ครับ