Print

เพื่อนธรรมจารี : ฉบับที่ ๓๔๑

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

แก่นของพิธีกรรม

 

    dhammajaree341

เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา เป็นวันลอยกระทง
ซึ่งภายหลังจากคืนวันลอยกระทงแล้ว
ผู้ว่ากรุงเทพมหานครได้ให้ข้อมูลเรื่องการเก็บกระทงในปี ๒๕๖๒ ว่า
กรุงเทพมหานครได้ระดมเจ้าหน้าที่ดำเนินการเก็บกระทง
ในแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลองต่าง ๆ และสวนสาธารณะทั้ง ๓๐ แห่ง
ที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทงทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นับและคัดแยกกระทงเสร็จสิ้นในเวลา ๖.๐๐ น.
ของวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ปรากฏว่า
เจ้าหน้าที่เก็บกระทงทั่วกรุงเทพฯ ได้เป็นจำนวน ๕๐๒,๐๒๔ ใบ
โดยลดลงจากปี ๒๕๖๑ ซึ่งเก็บได้ ๘๔๑,๓๒๗ ใบ
หรือลดลงประมาณ ๓.๓ แสนใบ หรือประมาณ ๔๐%

นอกจากนี้ ในปี ๒๕๖๒ นี้ กระทงส่วนใหญ่ได้ทำจาก
วัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จำนวน ๔๘๓, ๒๖๔ ใบ
คิดเป็นร้อยละ ๙๖.๓ โดยเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๑ ที่มีจำนวนร้อยละ ๙๔.๗
และกระทงทำจากโฟมมีจำนวน ๑๘,๗๖๐ ใบ

คิดเป็นร้อยละ ๓.๗ โดยลดลงจากปี ๒๕๖๑ ที่มีจำนวนร้อยละ ๕.๓
https://mgronline.com/qol/detail/9620000108417
ซึ่งข้อมูลสถิตินี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปได้ให้ความสนใจมากขึ้น
ในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมนะครับ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลข้างต้นแสดงเฉพาะกระทงในพื้นที่
ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครเท่านั้น
ที่มีจำนวนกระทงประมาณ ๕ แสนใบ
โดยหากพิจารณาพื้นที่อื่นนอกความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร
รวมถึงพื้นที่ในต่างจังหวัดด้วยแล้ว ก็น่าจะมีจำนวนหลายล้านใบ

ในประวัติของการลอยกระทงนั้น
การลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ
โดยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร
โดยแต่ท้องถิ่นแต่ละแห่ง ก็จะมีจุดประสงค์และความเชื่อ
ในการลอยกระทงที่แตกต่างกันไป เช่น
เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคาที่เป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์
รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป
หรือเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หรือเพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึก
หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ เป็นต้น
https://www.sanook.com/campus/910912/

โดยที่การลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณแล้ว
แต่ว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันมาก
เช่น ในอดีตนั้นไม่ได้มีจำนวนประชากรมากเท่าในปัจจุบัน
ไม่ได้มีวัสดุย่อยสลายยาก เช่น โฟม เหมือนในปัจจุบัน
จำนวนของแม่น้ำลำคลองมีมากกว่าในปัจจุบัน

ไม่ได้มีปัญหาน้ำเสียและขยะเหมือนในปัจจุบัน เป็นต้น
ดังนี้ แม้ว่าเราควรจะต้องช่วยกันดำรงรักษาประเพณีไว้ก็ตาม
แต่รูปแบบพิธีกรรมก็ย่อมสามารถปรับเปลี่ยนได้
ตราบเท่าที่เรายังดำรงแก่นของพิธีกรรมไว้
และช่วยให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง
เพราะท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมย่อมจะส่งผลกระทบ
ต่อสังคมส่วนรวม และพวกเราทุกคนเองในที่สุด

ในเรื่องนี้ เราก็เห็นได้ว่ามีหลายท่านที่ปรับเปลี่ยน
รูปแบบพิธีกรรมในประเพณีการลอยกระทง เช่น
บางท่านลอยกระทงโดยใช้กระทงผูกเชือก
โดยเมื่อลอยกระทงไปลงแล้ว ก็ดึงกระทงกลับขึ้นมาทิ้ง เป็นต้น
ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

แต่ถ้าหากเราพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของพิธีกรรม
ที่ทำเพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคา
และขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปแล้ว
หรือเพื่อเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีหรือพระอุปคุตเถระก็ตาม
เราย่อมสามารถจุดธูปเทียนบูชาบนบก
โดยไม่ต้องนำกระทงไปลอยบนน้ำก็ได้เช่นกัน
หรือแม้กระทั่งจะเพียงพนมมือและตั้งจิตขอขมาหรือบูชา
โดยไม่จุดธูปเทียนใด ๆ เลยก็ยังเป็นการขอขมาหรือบูชาได้เช่นกัน
ซึ่งการตั้งจิตที่จะขอขมาหรือบูชาอย่างแน่วแน่
ย่อมจะเกิดอานิสงส์และเป็นประโยชน์มากกว่า
การที่จิตไหลไปมุ่งสนใจในของบูชาสวยงามและบันเทิง
โดยที่ไม่ได้สนใจตั้งใจที่จะขอขมาหรือบูชาจริงจัง

ในส่วนของวัตถุประสงค์เพื่อสะเดาะเคราะห์
หรือลอยทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน
เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
เราจักทำกรรมใดดีหรือชั่วก็ตาม
เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
http://www.84000.org/tipitaka/read/r.php?B=24&A=2110

ดังนี้ หากเราได้ทำกรรมไว้ ซึ่งส่งผลให้เกิดวิบากกรรมไม่ดี
ลำพังการจุดธูปเทียนลอยกระทง
ย่อมไม่ได้เป็นการปัดเป่าวิบากกรรมไม่ดีแก่เราได้
แต่วิธีการที่จะช่วยได้ก็คือ งดเว้นการทำกรรมไม่ดีนั้น
และให้ทำกรรมดีเพื่อจะส่งผลให้เกิดวิบากกรรมที่ดีต่อไป

อีกพิธีกรรมหนึ่งที่มักจะทำกันในเทศกาลลอยกระทงได้แก่
การปล่อยโคมลอย ซึ่งในอดีตนั้น ไม่ได้เป็นอันตรายเท่าในปัจจุบัน
โดยในปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตได้พัฒนาวัสดุที่ใช้ทำเชื้อเพลิง
ซึ่งทำให้โคมสามารถลอยตัวได้สูงขึ้นและนานขึ้น
จนสามารถทำให้เกิดอันตรายได้ทั้งภาคอากาศและภาคพื้นดิน
โดยโคมลอยสามารถเกิดไฟไหม้ที่ตัวโคมลอย
ขณะลอยอยู่เหนือท้องฟ้าและร่วงหล่นลงมาสู่พื้นดินก็ได้
ทำให้เกิดไฟไหม้ร้านค้า บ้านเรือน และทรัพย์สินต่างๆ ของประชาชน
หรือหากโคมลอยติดหรือลอยไปตกบนสายไฟฟ้าแรงสูง
ก็จะทำให้หม้อแปลงระเบิดส่งผลให้ไฟฟ้าดับในวงกว้าง
หรือหากตกลงมาบนทางวิ่ง หรือทางขับในพื้นที่สนามบิน
ก็จะเป็นวัตถุอันตรายต่อเครื่องบินและผู้โดยสารได้
รวมถึงอาจจะตกบนพื้นที่หญ้าหรือป่า ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าได้
ข่าว : ปล่อยโคมลอย ผิดที่ ผิดเวลา ผิดกฎหมายมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งหากเกิดกรณีเหตุร้ายดังกล่าวแล้ว
สิ่งที่เราได้กระทำในรูปแบบพิธีกรรมนี้
ย่อมไม่ใช่การก่อประโยชน์แก่สังคม และบุคคลอื่น ๆ
แต่เป็นการสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่สังคมและบุคคลอื่น ๆ
เราจึงควรต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบพิธีกรรมให้เหมาะสม
เพราะจริง ๆ แล้วการบูชานั้นไม่ได้จำเป็นต้องกระทำในรูปแบบโคมลอย
รวมทั้งการปล่อยโคมลอยก็ไม่ได้เป็นการสะเดาะห์แต่อย่างใด

ในทางกลับกัน การปล่อยโคมลอยในบางแห่งบางเวลา อาจผิดกฎหมาย
กลายเป็นการสร้างเคราะห์ให้แก่ตนเอง
หรือหากปล่อยโคมลอยแล้ว ไปทำความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่น
ก็ย่อมจะเป็นการสร้างเคราะห์ให้แก่บุคคลอื่น
ซึ่งก็ย่อมจะไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผู้ที่ปล่อยโคมลอยนั้น

อีกพิธีกรรมหนึ่งที่นิยมทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ได้แก่
การอาบน้ำเพ็ญ คือ การอาบน้ำมนต์น้ำเพ็ญในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง
ซึ่งหากตรงกันกับวันจันทร์ด้วยก็จะเรียกว่าจันทร์ซ้อนจันทร์
โดยเชื่อกันว่าจะช่วยล้างบาป เสริมเสน่ห์ เรียกงาน เงิน ความรัก เป็นต้น
https://www.sanook.com/horoscope/108181/
ในเรื่องนี้ก็เป็นทำนองเดียวกันกับที่ได้กล่าวแล้วนะครับว่า
ลำพังการอาบน้ำในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง
หรือแม้ว่าจะเป็นจันทร์ซ้อนจันทร์ก็ตาม
ย่อมไม่ได้เป็นการปัดเป่าวิบากกรรมไม่ดีแก่เราได้
แต่วิธีการที่จะช่วยได้ก็คือ งดเว้นการทำกรรมไม่ดีนั้น
และให้ทำกรรมดีเพื่อจะส่งผลให้เกิดวิบากกรรมที่ดีต่อไป

ในวัตถูปมสูตร (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนเรื่องการอาบน้ำในศาสนา
ในสมัยนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ทูลว่า ท่านพระโคดม
แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าให้ความบริสุทธิ์ได้
ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก
สมมติว่าเป็นบุญ อนึ่ง ชนเป็นอันมาก
พากันไปลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ว่า
ดูกรพราหมณ์ คนพาลมีกรรมดำ แล่นไปยังแม่น้ำพาหุกา
ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี
ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี แม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้
แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้
จะชำระนรชนผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้า
ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย
ผัคคุณฤกษ์ ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ
อุโบสถ ก็ย่อมถึงพร้อม แก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ
วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาด ย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ
ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด
จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์
ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้
ท่านไปยังท่าน้ำคยาแล้วจักทำอะไรได้
แม้การดื่มน้ำในท่าคยา ก็จักทำอะไรให้แก่ท่านได้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=12&A=1136&w=%CD%D2%BA%B9%E9%D3