Print

เพื่อนธรรมจารี : ฉบับที่ ๓๓๙

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ

 

    dhammajaree339

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่ง
ซึ่งมีมารดาอายุประมาณ ๘๕ ปีแล้ว โดยญาติธรรมท่านนี้ได้พาคุณแม่
ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรับยารักษาความดันตามปกติ
ในการตรวจครั้งล่าสุดนี้ แพทย์ได้ทำการตรวจหัวใจให้ด้วย
และพบว่าหัวใจมีอาการเต้นผิดปกติ
จึงแนะนำให้ไปตรวจกับแพทย์ที่รักษาโรคหัวใจเฉพาะทาง

ญาติธรรมท่านนี้จึงพิจารณาว่า หากแพทย์ที่รักษาโรคหัวใจเฉพาะทาง
วินิจฉัยว่าคุณแม่ต้องทำการผ่าตัดใหญ่แล้ว ตนเองควรจะทำอย่างไร
ซึ่งญาติธรรมเห็นว่าคุณแม่อายุมากแล้ว ไม่ต้องการให้เจ็บตัว
แต่ต้องการให้อยู่สบาย ๆ และจากไปอย่างสบายมากกว่า
ผมสอบถามญาติธรรมท่านนี้ว่า ในตอนนี้คุณแม่เจ็บปวดอะไรหรือไม่
ญาติธรรมท่านนี้ตอบว่าปกติดี และไม่ได้เจ็บปวดอะไร
ผมจึงแนะนำว่า ในเมื่อคุณแม่รู้สึกปกติดี ไม่ได้เจ็บปวดอะไร
ก็ย่อมจะไม่มีเหตุผลจำเป็นที่จะต้องพาคุณแม่ที่สูงอายุมากแล้ว
ไปเจ็บตัวผ่าตัดใหญ่ใด ๆ เพราะย่อมเท่ากับว่า
ตอนนี้คุณแม่ไม่ได้เจ็บอะไร แต่เราเป็นคนพาคุณแม่ไปเจ็บเสียเอง
แม้ว่าเราจะทำด้วยเจตนาดีเพื่อรักษาคุณแม่ก็ตาม

ในทางเลือกนี้ ก็มีข้อเสียว่า หากคุณแม่เป็นโรคหัวใจแล้ว
ก็มีโอกาสที่อยู่ ๆ อาการอาจกำเริบทำให้คุณแม่จากไปอย่างรวดเร็วก็ได้
ซึ่งญาติธรรมท่านนี้ก็กังวลในเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน
ผมได้ถามว่า หากญาติธรรมท่านนี้จะทำการรักษาเพื่อให้คุณแม่อยู่นาน ๆ แล้ว
ต้องการจะให้คุณแม่ทำอะไร (ที่เป็นไปเพื่อตัวคุณแม่เอง
แต่ไม่ใช่อยู่ตามความต้องการหรือเพื่อประโยชน์ของญาติธรรมท่านนี้)
ญาติธรรมท่านนี้ตอบว่า ไม่ได้จะให้คุณแม่ทำอะไรเป็นพิเศษ
เพราะทุกวันนี้ก็ให้คุณแม่สวดมนต์ทุกวัน
และพาคุณแม่ไปตักบาตรและเข้าวัดทำบุญทุกสัปดาห์อยู่แล้ว
ไม่ได้คิดว่าจำเป็นจะต้องให้คุณแม่ทำอะไร

ผมได้แนะนำว่า ถ้าหากมีอะไรที่ต้องการจะให้คุณแม่ทำ
หรือต้องการที่จะพาคุณแม่ไปทำ ก็ควรจะต้องทำในระหว่างนี้
เพราะคุณแม่ก็สูงอายุมากแล้ว
ไม่ใช่ว่าพยายามยื้อเวลาให้คุณแม่อยู่ไปนาน ๆ
แต่ไม่ได้ให้ทำเรื่องหรือสิ่งที่สมควรจะทำให้เสร็จ
แล้วก็ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ โดยรอหวังว่าจะไปทำในอนาคต
ซึ่งเราก็ควรจะต้องมีความเข้าใจด้วยนะครับว่า
คนสูงอายุนั้นไม่ใช่ว่าอยู่อย่างสบายตัวหรอกนะครับ
เช่น ทานอาหารก็ใช้ฟันปลอม หากทานอาหารเยอะ อาหารก็ไม่ย่อย
เดี๋ยวร่างกายก็ปวด เจ็บ ยอก หรือเมื่อยตรงนั้นตรงนี้
เดินไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวก ขับถ่ายก็ไม่สะดวกสบาย
เดี๋ยวก็เจ็บป่วยโน่นนี่นั่น ฯลฯ โดยก็มีปัญหาความไม่สบายตัวหลาย ๆ เรื่อง
ซึ่งลำพังแค่อยู่แบบธรรมดาแบบคนสูงวัย ก็เหนื่อยมากพออยู่แล้ว
แต่เรายังพาไปผ่าตัดใหญ่ ก็ยิ่งทำให้ต้องเหนื่อย ลำบาก และเจ็บมากขึ้น

ถ้าเป็นคุณแม่ผมเองแล้ว สิ่งที่ผมจะทำก็คือ
พยายามจะให้คุณแม่ใช้เวลาที่มีอยู่ในปัจจุบันของคุณแม่นี้ให้คุ้มค่าสูงสุด
โดยใช้เวลาทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุด
ซึ่งย่อมจะเป็นประโยชน์มากกว่า ให้มีชีวิตอยู่นาน ๆ
แต่ไม่ได้ใช้เวลาชีวิตให้เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราควรจะมุ่งเน้นคุณภาพของการใช้เวลา
มากกว่าการมุ่งได้ปริมาณเวลามามาก ๆ แต่ใช้เวลาอย่างไม่มีคุณภาพ

ใน คาถาธรรมบท (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท) สอนว่า
ก็บุคคลผู้มีศีลเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ทุศีล มีจิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
ก็บุคคลผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไร้ปัญญามีจิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
ก็บุคคลผู้ปรารภความเพียรมั่น มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าบุคคลผู้เกียจคร้านมีความเพียรอันเลว มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไป
มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไป มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นอมตบท มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นอมตบทมีชีวิตอยู่ร้อยปี
ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นธรรมอันสูงสุด มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าบุคคล ผู้ไม่พิจารณาเห็นธรรมอันสูงสุดมีชีวิตอยู่ร้อยปี
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=544&Z=586

ฉะนั้นแล้ว แม้ว่าจะมีชีวิตอยู่เพียงแค่วันเดียว
หากใช้เวลาอย่างมีสาระและเกิดประโยชน์
ย่อมจะเป็นประโยชน์มากกว่ามีเวลาชีวิตอยู่เป็นร้อยปี
แต่ใช้เวลาอย่างไร้สาระและไม่เกิดประโยชน์ครับ