Print

เพื่อนธรรมจารี : ฉบับที่ ๓๓๗

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

คุยเรื่องน้ำปัสสาวะ (ตอนที่ ๒)

 

    dhammarajee337

 

ในบทความคราวที่แล้ว เราได้สนทนาเรื่องน้ำปัสสาวะบำบัดโรค
โดยผมได้เล่าว่า ผมได้พยายามค้นหาในพระไตรปิฎก
ที่บางท่านกล่าวอ้างว่า การใช้มูตรเน่าเพื่อเป็นยา
ไม่ได้หมายถึงปัสสาวะของมนุษย์ แต่หมายถึงปัสสาวะของโค (วัว)
แต่ว่าผมหาไม่พบและไม่ทราบว่าคือคัมภีร์ไหน
ต่อมา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมค้นเจอบางพระสูตรที่ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้
ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อความครบถ้วนครับ

ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ กล่าวว่า
สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผอมเหลือง
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ดื่มยาผลสมอดองน้ำมูตรโค
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=987&Z=1043&pagebreak=0
โดยในอรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ เภสัชชขันธกะ อธิบายว่า
บทว่า “มุตฺตหรีฏกํ” ได้แก่ สมอไทยที่ดองด้วยมูตรโค
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=05&i=25#%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8A

นอกจากนี้ ใน อรรถกถาของจัตตาริสูตร (ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ จตุกกนิบาต)
กล่าวว่า “ปติมุตฺตํ” ได้แก่ น้ำมูตรโคชนิดใดชนิดหนึ่ง
อธิบายว่า ร่างกายแม้มีผิวพรรณดุจทองคำก็เป็นร่างกายที่เปื่อยเน่าอยู่นั่นเองฉันใด
น้ำมูตรแม้จะใหม่ก็เป็นน้ำมูตรเน่าฉันนั้นเหมือนกัน
ในเรื่องนั้น อาจารย์บางพวกเรียกชิ้นสมอที่ดองด้วยมูตรโคว่าน้ำมูตรเน่า
อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า เภสัชชนิดใดชนิดหนึ่งที่เขาสละคือทิ้ง
ได้แก่นำออกมาจากร้านตลาดเป็นต้น เพราะเป็นของเสีย
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาว่า เป็นน้ำมูตรเน่า
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=281

กรณีนี้จึงมีประเด็นที่ควรพิจารณาว่า มูตรเน่าทั้งหมดในพระไตรปิฎก
จะหมายถึงว่าเป็นน้ำมูตรโคเท่านั้น หรือว่าจะหมายถึงน้ำมูตรมนุษย์ได้ด้วย
ในที่นี้ ผมขอเสนอให้พิจารณา ดังต่อไปนี้ว่า
ในอรรถกถาของจัตตาริสูตรนั้นได้กล่าวว่า
“อาจารย์บางพวก” เรียกชิ้นสมอที่ดองด้วยมูตรโคว่าน้ำมูตรเน่า
และ “อาจารย์อีกพวกหนึ่ง” กล่าวว่า เภสัชชนิดใดชนิดหนึ่งที่เขาสละคือทิ้ง
ได้แก่นำออกมาจากร้านตลาดเป็นต้น เพราะเป็นของเสีย
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาว่า เป็นน้ำมูตรเน่า
ดังนั้นแล้ว ในเรื่องที่ว่าน้ำมูตรโค และเภสัชที่เขาสละทิ้งก็ตาม
เป็นคำเรียกหรือคำกล่าวของบรรดาอาจารย์

แต่หากย้อนกลับมาในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ แล้ว
เมื่อภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผอมเหลือง
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตให้ดื่มยาผลสมอดองน้ำมูตรโค
ตรงนี้เป็นพระดำรัสโดยตรงของพระผู้มีพระภาคเจ้า
อย่างไรก็ดี กรณีก็มีข้อสังเกตว่าท่านทรงอนุญาตให้ดื่มได้
แต่ในกรณีของนิสสัย ๔ ซึ่งหมายถึงปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตนั้น
(โดยได้กล่าวไว้โดยละเอียดในบทความตอนที่แล้ว)
เช่นใน “จัตตาริสูตร” หรือใน “สันตุฏฐิสูตร” ก็ตาม
ท่านทรงสอนว่า บรรพชาอาศัย “มูตรเน่า” เป็นยา
เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ท่านไม่ได้ใช้คำว่าอนุญาต
แต่ท่านทรงสอนให้พึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต

หากเราลองพิจารณาเทียบกับเภสัช ๕
คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยแล้ว
ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความปริวิตกสืบต่อไปว่า
เภสัช ๕ นี้แล คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชอยู่ในตัว
และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตวโลก
และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบ ผิฉะนั้น เราพึงอนุญาตเภสัช ๕ นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย
ให้รับประเคนในกาลแล้วบริโภคในกาล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช ๕ นั้นในกาล แล้วบริโภคในกาล.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=723&Z=774&pagebreak=0
ดังนี้ ท่านทรงอนุญาตเภสัช ๕ นี้ เป็นอดิเรกลาภ แต่ไม่ได้ถือเป็นนิสสัย
ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ (ฉบับประมวลศัพท์)
โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
บรรพชาอาศัย “มูตรเน่า” เป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต
อดิเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=4&A=1866&w=%B9%D4%CA%CA%D1%C2_%F4

ดังนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ท่านทรงอนุญาตให้ดื่มยาผลสมอดองน้ำมูตรโคได้
แต่ในส่วนของนิสสัย ๔ ที่รวมถึงบรรดาเภสัช มูตรเน่า
ซึ่งน่าจะไม่ได้หมายถึงเฉพาะของโค
เพราะถ้าจะหมายถึงเฉพาะโคแล้ว ก็น่าจะแย้งกันว่า
ในเมื่อท่านทรงสอนให้ถือเภสัช มูตรเน่าเป็นนิสสัยแล้ว
ทำไมจึงจะต้องมาอนุญาตนิสสัยอีก

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ นั้น
เมื่อเกิดเหตุภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผอมเหลือง
ท่านอนุญาตให้ดื่มยาผลสมอดองน้ำมูตรโค
แต่ในส่วนของโรคอื่น ๆ ท่านก็อนุญาตเภสัชอื่น ๆ แตกต่างกันไป เช่น
เมื่อภิกษุรูปหนึ่งอาพาธถูกยาแฝด
ท่านทรงอนุญาตให้ดื่มน้ำที่ละลายจากดินรอยไถซึ่งติดผาล
เมื่อภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นพรรดึก ท่านทรงอนุญาตให้ดื่มน้ำด่างอามิส
เมื่อภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผิวหนัง
ท่านทรงอนุญาตให้ทำการลูบไล้ด้วยของหอม
เมื่อภิกษุรูปหนึ่งมีกายกอปรด้วยโทษมาก
ท่านทรงอนุญาตให้ดื่มยาประจุถ่าย
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=987&Z=1043&pagebreak=0

กรณีจึงน่าพิจารณาว่า ยาผลสมอดองน้ำมูตรโคที่ทรงอนุญาตนั้น
จะเหมาะกับโรคผอมเหลืองเป็นหลักหรือไม่
ซึ่งในวิธีการรักษาโรคผอมเหลืองในสมัยพุทธกาลนั้น
ก็ไม่ได้มีแค่วิธีการใช้ยาผลสมอดองน้ำมูตรโคเท่านั้น
โดยท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้รักษาพระเจ้าปัชโชตราชาในกรุงอุชเชนี
ที่ทรงประชวรด้วยโรคผอมเหลืองนั้น โดยการใช้เนยใส
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=5&A=3514
ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ไม่ได้ใช้ยาผลสมอดองน้ำมูตรโคในการรักษา
อย่างไรก็ดี หากภิกษุใดจะใช้เนยใสในการรักษา ก็สามารถทำได้
เพราะว่าพระผู้พระภาคเจ้าได้ทรงอนุญาตเนยใสไว้แล้ว (เป็นอดิเรกลาภ)
โดยส่วนตัวแล้ว ผมจึงเห็นว่า น้ำมูตรที่ทรงสอนให้ภิกษุถือเป็นนิสสัยนั้น
น่าจะไม่ใช่น้ำมูตรของโค แต่น่าจะเป็น้ำมูตรของมนุษย์มากกว่า
เพราะว่าน้ำมูตรโคนั้น ท่านทรงอนุญาต
เมื่อคราวที่มีภิกษุรูปหนึ่งอาพาธด้วยโรคผอมเหลือง

ในเรื่องนี้ ผมได้อ่านพบบทความหนึ่งที่น่าสนใจชื่อว่า
“น้ำปัสสาวะบำบัดโรคกับน้ำมูตรเน่า : ความเหมือนและความแตกต่าง”
เขียนโดยพระมหาอดิเดช สติวโร (สุขวัฒนวดี)
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ท่านที่สนใจก็สามารถดาวน์โหลดฉบับเต็มมาอ่านได้จากลิ้งค์นี้
https://www.tci-thaijo.org › JGSR › article › download
ทั้งนี้ ผมขอยกบางส่วนของรายงานวิจัยนี้มากล่าวในที่นี้

+++++++++++++++++++++

จากความเชื่อที่ว่า “น้ำปัสสาวะ” เป็นของเสียที่ถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกาย เป็นสิ่งสกปรก และเป็นของน่ารังเกียจที่ร่างกายไม่อาจสะสมไว้ได้นาน จำเป็นต้องถูกขับถ่ายออกมาเป็นประจำ วันหนึ่งๆ คนเรามีการขับปัสสาวะประมาณ ๑,๗๐๐ มิลลิลิตรต่อวัน และปริมาณของน้ำปัสสาวะจะเพิ่มขึ้นได้ หากได้รับปริมาณน้ำดื่มที่มากกว่าปกติ อย่างไรก็ดี ความเชื่อดังกล่าวนี้กลับถูกท้าทาย จากคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้น้ำปัสสาวะในการบำบัดรักษาโรค หรือที่เรียกว่า “Urine Therapy” ซึ่งจัดอยู่ในแขนงหนึ่งของการแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) ในปัจจุบัน โดยใช้หลักการแนวคิดของการใช้พิษต้านพิษมาช่วยอธิบายทฤษฎีแนวคิดของหลักการนี้ กล่าวคือ “สารพิษที่ดื่มกลับเข้าไปจะเป็นตัวไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารต้านพิษขึ้นมา เหมือนการฉีดวัคซีน” เข้าสู่ร่างกาย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน หรือสารต้านพิษชนิดนั้น ๆ ขึ้นมาเอง เมื่อร่างกายมีสารต้านพิษชนิดดังกล่าวแล้ว จะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่แข็งแกร่ง และมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น

การใช้น้ำปัสสาวะบำบัดโรคเพื่อรักษาสุขภาพนี้ ได้รับความนิยมในต่างประเทศมาช้านาน ตำรายาจีนได้มีการบันทึกมานานนับพันปีแล้วว่า “น้ำปัสสาวะของเด็กทารกเป็นยาบำรุงอย่างดีสำหรับคนผอมแห้งแรงน้อย เป็นตาลขโมย” นอกจากนี้แล้ว ยังนับว่าเป็น “ยาอายุวัฒนะ ดื่มแล้วไม่แก่ มีกำลังแข็งแรง โรคภัยไม่เบียดเบียน คนที่ตกจากที่สูง หรือถูกทำร้ายร่างกายจนกระอักเลือด ช้ำใน ท่านสอนให้ดื่มน้ำปัสสาวะของตัวเองให้หายเป็นปกติได้ และได้บอกไว้ว่าน้ำปัสสาวะนี้สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้”

ความเชื่อของคนไทยแต่โบราณก็มีในทำนองเดียวกัน ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน และมีการปฏิบัติกันอยู่ในคนบางกลุ่ม เช่น “การใช้ผ้าอ้อมชุบน้ำปัสสาวะเด็ก แล้วกวาดลิ้นเด็กเพื่อแก้อาการฝ้าขาว เพื่อบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน เป็นต้น” แม้กระทั่ง “พวกนักบวช และพระภิกษุชาวจีน มองโกเลีย และธิเบต ก็รู้จักการดื่มปัสสาวะรักษาโรคมานานแล้ว พวกเขารู้ดีและได้รับการฝึกฝนอยู่บ่อยครั้งถึงวิธีการใช้ปัสสาวะบำบัดเพื่อรักษาโรคหลายชนิด ทำให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง”

อย่างไรก็ดี มิใช่จะมีเพียงแต่ชนชาติเอเชียเท่านั้นที่ใช้น้ำปัสสาวะในการบำบัดโรค ยังมีชนชาติอื่น ๆ ทั่วทุกมุมโลกใช้น้ำปัสสาวะเพื่อบำบัดโรคด้วยเช่นเดียวกัน ดังมีข้อความปรากฏว่า “ชาวอียิปต์และชาวยิปซีใช้ปัสสาวะของพวกเขาเป็นยาได้เป็นอย่างดี ชาวเอสกิโมใช้ปัสสาวะไม่เพียงแต่เป็นยาเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นแชมพูเพื่อทำให้ผมเงางามและแข็งแรงเป็นพิเศษด้วย ส่วนชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียใช้ปัสสาวะสำหรับพิธีกรรมทางศาสนาและรักษาโรคทั่วไป”

ปัจจุบัน ปัสสาวะบำบัดโรค (Urine Therapy) กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะต่างประเทศได้มีการตื่นตัวในเรื่องนี้กันอย่างแพร่หลาย และมีการจัดตั้งองค์กรดื่มปัสสาวะเพื่อบำบัดโรคในระดับโลกขึ้นมาในชื่อว่า “World Conference of Urine Therapy” โดยจัดมาแล้วทั้งหมด ๖ ครั้ง ครั้งล่าสุดได้มีการจัดประชุมที่เมืองซานดิเอโก (San Diego) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ ๑๔-๑๖ พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๑๓

......

คำว่า “น้ำมูตรเน่า” มาจากภาษาบาลีว่า “ปติมุตฺตํ” ตามคัมภีร์อรรถกถาให้ความหมายของคำว่า “น้ำมูตรเน่า” ไว้ ๒ นัย ได้แก่
๑) น้ำมูตรเน่า หมายถึง น้ำมูตรโค หรือน้ำปัสสาวะของโค ตามที่ปรากฏในอรรถกถาขุททกนิกาย อิติวุตตกะว่า “ปติมุตฺตํ” ได้แก่ น้ำมูตรโคชนิดใดชนิดหนึ่ง
๒) น้ำมูตรเน่า หมายถึง น้ำมูตร หรือปัสสาวะของมนุษย์ ตามที่ปรากฏในอรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ว่า “น้ำมูตรเน่า คือ น้ำมูตรอ่อน ๆ ที่รองเอาไว้ในทันทีทันใด ก็เป็นน้ำมูตรอยู่นั่นเอง” อธิบายว่า น้ำปัสสาวะที่เพิ่งออกจากร่างกายของมนุษย์ใหม่ ๆ ก็เรียกว่า น้ำมูตรเน่า เนื่องจากได้รับการหมักดองอยู่ในร่างกายที่เป็นของเน่าเสียชั่วระยะเวลาหนึ่ง

นอกจากนี้ ริส เดวิดส์ (T.W. Rhys Davids) และ วิลเลียม สเตด (William Stede) ยังได้ให้ความหมายของคำว่า “ปติมุตฺตํ” ไว้ ๒ นัย กล่าวคือ ปัสสาวะที่มีกลิ่นแรง (ของมนุษย์) และปัสสาวะของโคที่ใช้เป็นยาโดยพระภิกษุ

จากข้อความข้างต้นทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า น้ำมูตรเน่าตามที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถามีทั้งหมด ๒ ชนิด คือ น้ำปัสสาวะของโค และน้ำปัสสาวะของมนุษย์ ที่เพิ่งจะไหลออกจากร่างกายใหม่ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องหมักดองกับสิ่งใดก็ชื่อว่าเป็นน้ำมูตรเน่าในทันที  

......

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ปัสสาวะมิได้เป็นของสกปรก และน่ารังเกียจอย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน

ปัสสาวะก็คือส่วนที่สกัดกลั่นมาจากน้ำเลือด หากมนุษย์ไม่ถือว่าเลือดเป็นของสกปรก ปัสสาวะก็ไม่ควรถือว่าเป็นของสกปรกด้วย เพราะปัสสาวะ “หลังจากที่ผลิตขึ้นมาใหม่ๆ จะยังไม่มีเชื้อโรคปะปนอยู่” และเมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง ผ่านทางการดื่ม “ส่งกลับไปสู่ช่องปาก ไปสู่กระเพาะ ลำไส้ แล้วก็ผ่านการดูดซึมในสิ่งที่เป็นยา เป็นประโยชน์เข้าไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ไปชดเชยบำรุงอวัยวะส่วนที่เสื่อมสภาพให้กลับสู่ความเป็นปกติ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของอวัยวะก็หมดไป” ความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของร่างกายก็จะกลับคืนมาดังเดิม

กระบวนการทำงานของไตที่หลายท่านเข้าใจกันว่า กรองของเสียออกจากร่างกาย แต่ในทัศนคติของนักปัสสาวะบำบัดได้ให้มุมมองที่แตกต่างกันไว้ว่า แท้ที่จริงควรเข้าใจเสียใหม่ว่า ไตของคนเราทำหน้าที่เป็นเสมือนเขื่อน เพื่อระบายบางสิ่งบางอย่างที่ล้นเกินออกไปเสียบ้าง แต่มิได้หมายความว่าสิ่งที่ระบายออกไปเป็นสิ่งไม่ดีไปเสียทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ถ้าเราดื่มน้ำมากเกินไป น้ำที่เกินก็ล้นเขื่อน คือไตและระบายออกเสีย ถ้าเรากินเกลือมากเกินไป เกลือโซเดียมก็ระบายออก ทั้งน้ำและโซเดียม

ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งไม่ดีไปเสียหมด แม้กระทั่งสารยูเรีย สารนี้จะเป็นพิษกับร่างกาย ถ้ามีล้นเกิน จะอยู่ในภาวะไตวาย แต่สำหรับบุคคลทั่วไป การมียูเรียกลับเข้าสู่ร่างกายบ้าง ซึ่งไม่มากนักเพราะดื่มน้ำปัสสาวะก็เพียง ๑๐๐-๒๐๐ ซี.ซี. เมื่อเทียบกับปัสสาวะที่ออกมาจากตัวคนเราวันละ ๒,๕๐๐ ซี.ซี. สารเหล่านี้ที่เติมกลับเข้าไปย่อมไม่ถึงกับเป็นพิษกับร่างกาย  

การดื่มปัสสาวะที่มีส่วนประกอบของเลือดนี้ ได้มีการตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า “เป็นการนำข้อมูลข่าวสารทางร่างกายและจิตใจ กลับไปในร่างกายอีกที ข่าวสารข้อมูลที่อยู่ในเลือดที่รับรู้สิ่งผิดปกติในร่างกาย จะทำการกระตุ้นร่างกายอย่างรุนแรง และเสริมสร้างความแข็งแกร่ง แก่ส่วนที่ต้องการให้รักษาสุขภาพของร่างกาย” เมื่อร่างกายรับรู้และจัดการปรับสภาพความผิดปกติเหล่านี้ให้กลับไปยังสภาพเดิมก่อนที่จะเป็นโรค กล่าวคือ กลับไปเป็นร่างกายที่มีสุขภาพดีดังเดิมอีกครั้งนั่นเอง

....................

ผู้คนที่หันมาดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อบำบัดโรค ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ กล่าวคือ มีโรคภัยรุมเร้ามากมายจนแพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หาย ใช้เวลานาน และเสียค่าใช้จ่ายมาก เมื่อรักษาโดยใช้ยาจำนวนมากแล้วไม่เป็นผล ทำให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแนวทางในการรักษามาเป็นการใช้ปัสสาวะบำบัดเพื่อรักษาโรคแทน ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถแบ่งวัตถุประสงค์ของการดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อบำบัดโรคได้เป็น ๒ ข้อ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

๑) ใช้เพื่อลดไข้
ตามปกติแล้ว ขณะที่คนไข้กำลังมีไข้ขึ้นสูง จะรู้สึกไม่สบายตัว และอาจเกิดอันตรายต่อคนไข้ได้ มีความจำเป็นจะต้องรีบลดไข้ลง โดยทั่วไปใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาเช็ดตัวสักครู่ ไข้ก็จะลดลง เพราะถ้าใช้น้ำอุ่น การดึงความร้อนออกจากภายในร่างกายจะทำได้ไม่ค่อยดีนัก และถ้าใช้น้ำเย็นจะทำให้เส้นเลือดบริเวณผิวหนังหดตัว การระบายความร้อนออกก็ไม่ดี วิธีนี้เป็นการลดไข้จากภายนอก

พระธุดงค์นิยมลดไข้จากภายใน คือ ดื่มน้ำปัสสาวะตนเอง เนื่องจากปัสสาวะเป็นสิ่งที่ร่างกายขับออกไปแล้ว เมื่อดื่มกลับเข้าไปอีก ร่างกายก็จะรีบไล่ตะเพิดให้ขับปัสสาวะออกโดยเร็ว ยิ่งตะเพิดออกได้เร็วเท่าไร ความร้อนภายในก็ถูกดึงออกมาเร็วเท่านั้น ทำให้สามารถลดไข้ ลดความร้อนภายในลงได้อย่างรวดเร็วมาก ในกรณีที่อยู่ลำพังคนเดียวไม่มีใครมาเช็ดตัวให้ การดื่มปัสสาวะตนเองจึงเป็นวิธีลดไข้ที่ดีที่สุด

๒) ใช้เพื่อรักษาโรค
ได้มีผู้ทดลองวิจัยใช้น้ำปัสสาวะเพื่อรักษาโรคอยู่หลายท่าน เช่นตัวอย่างที่ได้นำมาแสดงไว้ดังต่อไปนี้
๒.๑) ดร.อัลเบิร์ต เซนต์ กีออร์กี นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลทดลองใช้สารเม็ธธิล ไกลอ๊อคซี (Methyl glyoxy) ซึ่งพบในปัสสาวะรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งและได้ผลเป็นที่น่าพอใจในหลายราย สารต่างๆ เหล่านี้แม้จะมีปริมาณน้อยในปัสสาวะ แต่พบว่าอยู่ในรูปแบบที่มีศักยภาพสูง เมื่อดื่มเข้าไปจะซึมผ่านเยื่อบุกระเพาะอย่างรวดเร็วและเกิดผลต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบอีกว่า เมื่อดื่มปัสสาวะจะทำให้มีสมาธิ จิตใจสดชื่น อารมณ์ดีขึ้น เพราะในปัสสาวะมีฮอร์โมน ชื่อว่า เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งพบในปัสสาวะตอนเช้า ในงานวิจัยค้นพบว่า ปัสสาวะของแต่ละคนจะมีผลต่อการทำงานในร่างกายของแต่ละคน โดยจะทำหน้าที่เป็นวัคซีนธรรมชาติ เป็นตัวต่อต้านแบคทีเรียและไวรัส ต่อต้านสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดความสมดุลกับฮอร์โมนและช่วยเรื่องภูมิแพ้

๒.๒) นพ.ธรรมาธิกรี รัฐมหาราษฎร์ ประเทศอินเดีย ได้ทดลองให้ผู้ป่วยจำนวน ๒๐๐ คนดื่มน้ำปัสสาวะของตนเอง และติดตามผลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ได้ข้อสรุปว่า เมื่อดื่มน้ำปัสสาวะ เซลล์ร่างกายจะสามารถรับออกซิเจนได้มากขึ้น และอัตราเผาผลาญในร่างกายจะสูงขึ้น การดื่มน้ำปัสสาวะช่วยให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงมากขึ้นในผู้ป่วยทุกราย และปริมาณฮีโมโกลบินในเลือดก็สูงขึ้นด้วย

งานวิจัยโดยส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ การดื่มปัสสาวะบำบัดโรคเป็นการช่วยให้ภูมิต้านทานในร่างกายดีขึ้น เป็นการสร้างวัคซีนธรรมชาติในร่างกายขึ้นมาเพื่อต่อต้านแบคทีเรีย ไวรัส และโรคภัยที่คุกคามร่างกายอยู่ ทั้งยังช่วยในการปรับสมดุลของฮอร์โมนและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกาย โดยใช้หลักการพิษต้านพิษ

หลักในการใช้ปัสสาวะบำบัดโรคนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำปัสสาวะของตนเองเท่านั้น เนื่องจากตามปกติแล้ว เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย ร่างกายก็จะสร้างเม็ดเลือดขาวออกมาต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ เปรียบเสมือนอาวุธชีวภาพที่มีอยู่ในร่างกาย “เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ๆ สารเหล่านี้จึงผ่านกระบวนการกรองออกมาปนกับปัสสาวะได้ ดังนั้น เมื่อดื่มปัสสาวะกลับเข้าไปอีกครั้งหนึ่งก็มีผลทำนองเดียวกับการให้เซรุ่ม เป็นการเพิ่มอาวุธชีวภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาเฉพาะเจาะจงให้กับทหารต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมนั้น ๆ จนกระทั่งมันลดจำนวนเหลือน้อย ร่างกายก็ฟื้นจากโรคได้โดยเร็ว”

กระบวนการใช้น้ำปัสสาวะรักษาโรค ก็ใช้หลักการนี้เช่นเดียวกัน คือ ใช้พิษต้านพิษ คล้าย ๆ กับการฉีดวัคซีน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทีละน้อย จนในที่สุดก็สามารถระงับโรคที่คอยเบียดเบียนอยู่ได้ ด้วยเหตุนี้ การดื่มน้ำปัสสาวะบำบัดโรคจึงต้องให้ดื่มน้ำปัสสาวะของตนเอง “โดยดื่มก่อนนอนและดื่มตอนเช้าครั้งละ ๑๐๐ ซี.ซี.” ก็จะสามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี