Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๓๔

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ทศพิศราชธรรม

    dhammajaree334

เนื่องในวาระโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ นั้น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงมีพระดำรัสถวายพระพรในเรื่องทศพิศราชธรรม ความว่า
อภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว อาตมภาพในนามคณะสงฆ์ ขอตั้งกัลยาณจิตร่วมกับปวงชนชาวไทย สำแดงความปีติโสมนัส และขอถวายพระพรชัยมงคล

บัดนี้ สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ทรงรับพระบรมราชาภิเษก ตามโบราณขัตติยราชประเพณีทุกประการ พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการที่จะทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร ดุจเดียวกับที่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงปฏิญาณพระองค์ เป็นแนวทางดำเนินพระราชจริยาสืบมาทุกรัชสมัย

อันว่าพระราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์นั้นมี ๑๐ ประการ เรียกว่า ‘ทศพิธราชธรรม’ ประกอบด้วย การให้, การสังวรระวังกายวาจา ให้เป็นปรกติ, การบริจาคเพื่อบรรเทาความโลภ, ความซื่อตรง, ความอ่อนโยน, การกำจัดความเกียจคร้านและความชั่ว, ความไม่มักโกรธ, ความไม่เบียดเบียน, ความอดทน และการดำรงความยุติธรรม

เมื่อใดพระมหากษัตริย์ทรงดำรงทศพิธราชธรรม ให้บริบูรณ์ด้วยดีในพระองค์ เมื่อนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และราษฎร ย่อมสวามิภักดิ์ พร้อมพลีกำลังกาย กำลังความคิด สนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์สุจริตและกตัญญู ปรากฏพระปีติโสมนัสมาสู่ดวงพระราชหฤทัย ในขณะเดียวกัน ประชาชนทุกคนก็พึงทำความแยบคายในใจให้ถ้วนถี่ว่า ทศพิธราชธรรมนี้ หาได้เป็นพระราชปฏิบัติสำหรับพระมหากษัตริย์แต่ฝ่ายเดียวไม่ ด้วยเหตุที่ความรุ่งเรืองของชาติบ้านเมือง จำเป็นต้องอาศัยกำลังพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ช่วยกันทำหน้าที่ ตามฐานะของตนๆ เพื่อสนองพระบรมราโชบาย จนบังเกิดผลสัมฤทธิ์ได้สมพระราชปรารถนา เพราะฉะนั้น ในฐานะผู้อาศัยใต้พระบรมโพธิสมภาร จึงพึงศึกษาและน้อมนำธรรมะทั้ง ๑๐ ประการข้างต้น มาเป็นวิถีการดำรงตนโดยทั่วหน้ากัน

ณ อุดมสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา อาตมภาพขออัญเชิญนิพนธคาถาแห่งสุขาภิยาจนคาถา มากล่าวอ้างเป็นสัจจวาจา ว่า

มาตา ปิตา จ อตฺรชํ นิจฺจํ รกฺขนฺติ ปุตฺตกํ
เอวํ ธมฺเมน ราชาโน ปชํ รกฺขนฺตุ สพฺพทา ฯ
ความว่า "มารดาและบิดา ย่อมถนอมบุตรน้อยอันบังเกิดในตนเป็นนิตย์ฉันใด พระราชาจงทรงรักษาประชาราษฎร์โดยชอบ ในกาลทั้งปวงฉันนั้น"

ด้วยเดชะแห่งสัจจวาจานี้ ขอประชาราษฎร์ทั้งปวง จงสมัครสมานสามัคคี ประพฤติปฏิบัติตนเป็นเสมือนลูกที่ดี พร้อมเพรียงกันทำนุบำรุงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้วัฒนาสถาพร เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่น ในอันที่จะทรงรักษาประชาราษฎร์โดยชอบ ดุจดั่งบิดรมารดา จักได้ทรงปลอดโปร่งพระราชหฤทัย ทรงบริบูรณ์ด้วยพระกำลังที่จะทรงยังราชอาณาจักรไทย ให้ร่มเย็นเป็นสุขใต้ร่มพระบารมีสืบไป

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และพระราชกุศลธรรมจริยา จงอภิบาลรักษาสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ให้ทรงพระเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย เสด็จสถิตเป็นมิ่งขวัญหลักชัยแห่งราชอาณาจักรไทย ตราบจิรัฏฐิติกาล เทอญ”
http://bit.ly/33O6UhS


เมื่อพระราชาทรงประพฤติ “ทศพิศราชธรรม” ไว้ดีแล้ว ย่อมจะไปสู่มนุษยโลกหรือเทวโลก โดยไม่ต้องไปเกิดในทุคติ ใน “สุมังคลชาดก ว่าด้วยคุณธรรมของกษัตริย์”
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า

“พระราชาเหล่าใด ทรงยินดีแล้วในทศพิธราชธรรม อันพระอริยเจ้าประกาศไว้
พระราชาเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐด้วยกาย วาจา และใจ
พระราชาเหล่านั้นทรงดำรงมั่นอยู่แล้วในขันติ โสรัจจะ และสมาธิ
ย่อมถึงโลกทั้งสองโดยวิธีอย่างนั้น.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=27&A=4874&w=%B7%C8%BE%D4%B8%C3%D2%AA%B8%C3%C3%C1

ใน “อรรถกถาสุมังคลชาดก” อธิบายว่า คำว่า “ย่อมถึงโลกทั้งสอง” หมายถึง จากมนุษยโลกถึงเทวโลก หรือ จากเทวโลกถึงมนุษยโลก โดยไม่ต้องไปเกิดในทุคติมีนรกเป็นต้น
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1146

ขอให้เราสังเกตว่าในพระดำรัสของสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงสอนพวกเราเหล่าประชาชนทั้งหลายด้วยว่า

“ในขณะเดียวกัน ประชาชนทุกคนก็พึงทำความแยบคายในใจให้ถ้วนถี่ว่า ทศพิธราชธรรมนี้ หาได้เป็นพระราชปฏิบัติสำหรับพระมหากษัตริย์แต่ฝ่ายเดียวไม่ ด้วยเหตุที่ความรุ่งเรืองของชาติบ้านเมือง จำเป็นต้องอาศัยกำลังพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ช่วยกันทำหน้าที่ ตามฐานะของตนๆ เพื่อสนองพระบรมราโชบาย จนบังเกิดผลสัมฤทธิ์ได้สมพระราชปรารถนา เพราะฉะนั้น ในฐานะผู้อาศัยใต้พระบรมโพธิสมภาร จึงพึงศึกษาและน้อมนำธรรมะทั้ง ๑๐ ประการข้างต้น มาเป็นวิถีการดำรงตนโดยทั่วหน้ากัน”

ดังนี้ เราจึงควรพิจารณาทำความเข้าใจในทศพิศราชธรรม ๑๐ ประการ เพื่อที่เราจะได้นำมาประพฤติปฏิบัติด้วยครับ

ใน “”พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม”
โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
“ราชธรรม ๑๐” หรือ “ทศพิธราชธรรม” หมายถึง
ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ,
คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง ประกอบด้วย

๑. ทาน หมายถึง การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของ บำรุงเลี้ยง
ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

๒. ศีล หมายถึง ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายและวจีทวาร
ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณ ให้ควรเป็นตัวอย่าง
และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน

. ปริจจาคะ หมายถึง การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น
ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

๔. อาชชวะ หมายถึง ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา
ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน

๕. มัททวะ หมายถึง ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัย
ไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือองค์
มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม
ให้ได้ความรักภักดี แต่มิขาดยำเกรง

๖. ตปะ หมายถึง ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา
มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้
ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ
มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ
มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์

๗. อักโกธะ หมายถึง ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด ลุอำนาจความโกรธ
จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำกรรมต่าง ๆ ผิดพลาดเสียธรรม
มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่น
วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง

๘. อวิหิงสา หมายถึง ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น
เก็บภาษีขูดรีด หรือ เกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา
หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด
เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง

๙. ขันติ หมายถึง ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ
ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย
ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ
ไม่ยอมละทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม

๑๐. อวิโรธนะ หมายถึง ความไม่คลาดธรรม คือ
วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว
เพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใด ๆ
สติมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม ก็ดี
นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง
ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ดี
ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป

http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=326

นอกจากนี้ ขอนำบางส่วนของพระธรรมเทศนาเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เรื่อง "ทศพิธราชธรรมจริยาทิกถา" ในพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย
และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
มาอธิบายเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

“สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ยังต้องทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจโปรดเวไนยนิกร
ให้ดื่มด่ำพระสัจธรรมยังพระพุทธภูมิให้สำเร็จเป็นอันดี ข้อนี้มีอุปมาฉันใด
พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงดำรงราชัยสวรรคก็มีอุปไมยฉันนั้น
จึงขอรับพระราชทานเลือกสรรพระราชธรรมของโบราณกษัตริย์มาถวายวิสัชนา
โดยมีทศพิธราชธรรมมาเป็นปฐม ๑๐ ประการ ดังนี้

. ทาน การให้
พระมหากษัตริย์พึงชุบเลี้ยงพระราชวัง ข้าทูลละอองธุลีพระบาท

ข้าราชการ บรรพชิต ตลอดจนอาณาประชาราษฎร
ด้วยวัตถุปัจจัยบรรดาอามิตรทั้งหลายตามฐานานุรูปของบุคคลนั้น ๆ
และการพระราชทานธรรมทานแจกจ่ายพระบรมราโชวาท
พระราชดำริ อันถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ให้พสกนิกรทั้งหลายเจริญรอยตาม

. ศีล การสังวรกาย วาจาให้ปราศจากโทษ
พระมหากษัตริย์พึงเว้นจากความประพฤติทุจริต
กล่าวในการทางปกครอง ย่อมหมายถึงรัฐธรรมนูญ บทกฎหมาย
และจารีตประเพณีอันดีงาม
กล่าวในทางพุทธศาสนา หมายถึงศีล อย่างน้อยคือศีล ๕ ของฆราวาสทั่วไป
และพระราชาจะทรงรักษาและโน้มน้าวให้พสกนิกรรักษาด้วย

. บริจาค
พระมหากษัตริย์พึงสละสิ่งไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นประโยชน์

เพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ใหญ่กว่า เพื่อบรรเทาความตระหนี่
ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะอันประเสริฐ
เพื่อรักษาชีวิตก็พึงสละอวัยวะ
เพื่อจะรักษาธรรมะก็พึงสละทรัพย์ อวัยวะ และแม้ชีวิตได้ทั้งสิ้น

. อาชวะ ความซื่อตรง
พระมหากษัตริย์พึงประพฤติพระองค์

ซื่อตรงในการงานตามหน้าที่ของพระประมุข ปราศจากมารยา
ซื่อสัตย์สุจริตต่อสัมพันธมิตร พระราชวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาท
ไม่ทรงหลอกลวงประทุษร้ายโดยอยุติธรรม

. มัททวะ ความอ่อนโยน
พระมหากษัตริย์พึงมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยน

ละมุนละม่อม ไม่ถือพระองค์ด้วยความดื้อรั้น
เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยเหตุผลของบัณฑิตก็ควรทรงสดับฟังโดยถี่ถ้วน
ถ้าดีควรอนุโมทนาและปฏิบัติตาม
และควรมีความอ่อนน้อมท่านผู้เจริญโดยวัยและคุณความดี

. ตบะ การกำจัดความเกียจคร้านและความชั่ว
พระมหากษัตริย์พึงมีตบะ ซึ่งตบะของพระมหากษัตริย์คือการคุ้มครองประชาชน
ต้องทรงพากเพียรที่จะขจัดความเกียจคร้านเบื่อหน่าย
ที่จะรักษาอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข
ต้องทรงตั้งพระราชหฤทัยบำเพ็ญพระราชกิจอย่างสม่ำเสมอและให้ดียิ่งขึ้น

. อักโกธะ ความไม่มักโกรธ
พระมหากษัตริย์พึงมีพระเมตตาสูงส่ง

ไม่ทรงปรารถนาจะก่อเวรภัยแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ทรงพระพิโรธด้วยเหตุอันไม่สมควร
แม้จะมีเหตุให้ทรงบรรลุแก่อำนาจแห่งความโกรธ ก็พึงข่มพระราชหฤทัยให้สงบระงับ
มิให้บังเกิดพระกริยาอันไม่งดงาม ไม่น่ารัก น่าเคารพ
ดุจมีพระฉายส่องพระพักตร์เป็นเครื่องกำกับพระอาการไว้เสมอ

. อวิหิงสา การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตลอดจนสรรพสัตว์ให้ตกทุกข์ได้ยาก
พระมหากษัตริย์พึงประกอบด้วยพระมหากรุณา
ไม่ปรารถนาจะทรงเบียดเบียนผู้ใดให้ลำบาก
ไม่ทรงก่อทุกข์ยากแก่มนุษย์หรือสัตว์เพียงเพื่อความสนุก
ไม่ขูดรีดหรือกะเกณฑ์ราษฎรอย่างเหลือกำลัง กระทั่งเกิดความระส่ำระสาย
ทรงคุ้มครองประชาชนดุจดังบิดรมารดารักษาบุตร

. ขันติ ความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทนเป็นเบื้องหน้า
พระมหากษัตริย์พึงมีพระราชหฤทัยกล้าหาญ
อดทนต่อโลภะ โทสะ และโมหะ ย่อมต้องทรงอดทนต่อสู้กับกิเลสได้
ทรงสามารถอดทนต่อถ้อยคำที่ชั่ว ติฉินนินทา
ทรงรักษาพระกายพระวาจาให้สงบเรียบร้อยได้เสมอ

๑๐. อวิโรธะ การไม่ปฏิบัติให้ผิดจากการที่ถูกที่ตรง ดำรงอาการคงที่
พระมหากษัตริย์พึงรักษาพระราชจรรยานุวัตรตามหลักนิติศาสตร์และราชศาสตร์
ไม่ทรงประพฤติคลาดจากความยุติธรรม ทรงยกย่องผู้กระทำดีสมควรได้รับการยกย่อง
ทรงปราบปราบผู้กระทำเลวสมควรถูกกำราบ
ไม่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเชิดชูหรือข่มเหงบุคคลใด ๆ ด้วยอำนาจแห่งอคติ
คือ ความลำเอียง ๔ ประการ เพราะความชอบ ความชัง ความกลัว และความเขลา

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000043151