Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๒๗

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

พาผู้ป่วยระยะสุดท้ายกลับบ้าน

 

  dhammajaree327

 

ในบทความฉบับที่ ๒๙๑ เดือนธันวาคม ๒๕๖๐
เรื่องข้อควรระวังสำหรับผู้สูงอายุ
ผมได้เล่าถึงคุณอาท่านหนึ่งที่เดินตกบันไดล้มลงมา
ศีรษะฟาดพื้น และได้รับการผ่าตัดสมอง
แต่ปรากฏว่าไม่ฟื้น แล้วก็กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่รู้สึกตัว
หรือที่บางท่านเรียกผู้ป่วยลักษณะนี้ว่าเป็นผักนะครับ
http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/1514-2017-12-22-02-49-05

การดูแลผู้ป่วยลักษณะนี้ ไม่ใช่ดูแลโดยง่าย
และยังมีค่าใช้จ่ายสูงด้วยนะครับ

เพราะว่าผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลย
เราต้องให้อาหารและน้ำผ่านทางสายยาง
ต้องคอยช่วยจับพลิกตัวทุก ๒ ชั่วโมง เพื่อป้องกันแผลกดทับ
และหากช่วงไหนมีเสมหะมาก ก็ต้องคอยใช้เครื่องดูดเสมหะออก
หากที่บ้านไม่มีคนที่สามารถช่วยดูแลได้
ก็จำเป็นจะต้องนำไปฝากไว้ที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วย ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายสูง
นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามระยะเวลาด้วย
โดยแพทย์จะให้ยาที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยลักษณะนี้ เช่น ยาป้องกันชัก เป็นต้น
ในส่วนผมเองก็ได้นำคุณอาท่านนี้ไปฝากไว้ที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยเช่นกัน
โดยคุณอาท่านนี้ได้ไปอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยประมาณปีครึ่งแล้ว

เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยบอกว่าคุณอาเริ่มมีอาการทรุดลง
โดยหากมีอาการหนักมากขึ้นแล้ว ก็แนะนำให้พาไปนอนที่โรงพยาบาล
คุณอาอีกท่านหนึ่งที่เป็นน้องสาวของคุณอาท่านนี้
ได้หารือกับผมว่า ไม่ต้องการพาไปนอนที่โรงพยาบาล
เพราะน่าจะต้องโดนเสียบสายโน่นนี่นั่น หรือกระทั่งสายเครื่องช่วยหายใจ
ซึ่งจะทำให้คนป่วยเจ็บมาก โดยยังไงคนป่วยก็ไม่หายอยู่แล้ว
เพียงแต่จะยื้อให้มีชีวิตอยู่นานขึ้นโดยอยู่อย่างทรมาน
และจะทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็เสียเงินเยอะมากแล้ว

คุณอาท่านที่เป็นน้องสาวจึงต้องการจะพาคุณอาท่านนี้กลับบ้าน
เพื่อให้มาเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านมากกว่า

ในการที่จะพาคุณอาท่านนี้กลับบ้านเพื่อมาดูแลเอง
และให้มาเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านนี้
มีเรื่องสำคัญที่ผมต้องพิจารณาอยู่ ๒ เรื่องนะครับ
เรื่องแรก คือเรื่องในทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาว่า

การนำคุณอาท่านนี้กลับมาดูแลเอง และให้เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านนี้
จะถือว่าเป็นการที่เราซึ่งเป็นญาติได้งดเว้นหรือละเว้นไม่ดูแล
หรือจงใจปล่อยให้คุณอาท่านนี้เสียชีวิตหรือไม่?

ในกรณีที่คนป่วยยังรู้สึกตัวโต้ตอบได้ หรือยังรักษาให้หายได้
เราจะมาปล่อยให้คนป่วยจากไปอย่างสงบไม่ได้นะครับ
นอกจากจะมีปัญหาเรื่องศีลแล้ว เราอาจจะมีปัญหาทางกฎหมายด้วย
แต่ในกรณีของคุณอาท่านนี้ ท่านได้รักษาผ่านมา ๒ โรงพยาบาลแล้ว

และก็ได้นอนไม่รู้สึกตัว มาเกือบปีครึ่งแล้ว
จึงเห็นว่าสามารถอธิบายได้ชัดเจนว่า

เราไม่ได้งดเว้นหรือละเว้นไม่ดูแล หรือจงใจปล่อยให้ท่านเสียชีวิต
แต่ว่าเราได้พยายามรักษาและดูแลท่านมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว
และไม่มีทางรักษาหายแล้ว

เรื่องที่สอง คือเรื่องศีล ซึ่งเรื่องนี้ยากกว่าเรื่องกฎหมายเสียอีก
โดยต้องพิจารณาว่าการนำคุณอาท่านนี้กลับมาดูแลเองที่บ้าน
เพื่อจะให้เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านนี้ จะเป็นการผิดศีลปาณาติบาตหรือไม่?
ในเรื่องนี้ เท่าที่ผมได้ค้นข้อมูลดู
ก็ได้พบปุจฉาวิสัชนาของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
ซึ่งก็เป็นประโยชน์มากครับ โดยมีรายละเอียด ดังนี้


ปุจฉา - ทราบมาว่าความเชื่อทางพุทธ มองว่าการฆ่าคนเป็นบาป
การฆ่าตัวตายก็บาปมาก เลยอยากทราบว่า
คนที่ป่วยเป็นผักทำอะไรไม่ได้แล้วไม่มีทางหาย
กลายเป็นภาระให้คนในครอบครัว รู้สึกอยากตายแล้วญาติปล่อยให้ตาย
(อาจจะโดยการถอดสายช่วยหายใจ) จะบาปในฐานะฆ่าคนไหมคะ?
หรือก่อนที่จะป่วย ผู้นั้นเคยแจ้งความจำนงว่า
ถ้าอยู่ในสภาพนั้น ให้ปล่อยให้ตายได้ แล้วญาติปล่อยให้ตาย
จะบาปหรือเปล่าคะ?

อีกกรณี คือการการุณยฆาต คือผู้ป่วยเป็นคนร้องขอให้ปล่อยให้ผู้ป่วยตายเสีย
คนที่ยินยอมทำตามนั้นด้วยความสงสารจะถือว่าฆ่าคนไหมคะ?

พระไพศาล วิสาโล วิสัชนา การปล่อยให้ผู้ป่วยตาย โดยไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย
หรือด้วยการกระทำบางอย่าง เช่น ถอดสายช่วยหายใจ
หากมีเจตนาที่จะให้เขาตาย ย่อมถือเป็นบาป ผิดศีลข้อที่ ๑ คือปาณาติบาต

ส่วนกรณีที่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในระยะสุดท้าย ไม่สามารถเยียวยาให้หายหรือดีขึ้นได้
หากปฏิเสธการยื้อชีวิต เพราะประสงค์จะตายอย่างสงบ
หรือตายอย่างธรรมชาติอีกทั้งเห็นว่าการพยายามยื้อชีวิต
จะทำให้มีความทุกข์มากขึ้น หรือคุณภาพชีวิตแย่ลงย่อมไม่ถือว่าเป็นการฆ่าตัวตาย
หากแต่เป็นการยอมรับความตายที่กำลังจะมาถึง
หากญาติยอมทำตามความประสงค์ของผู้ป่วย ไม่ถือว่าเป็นการทำปาณาติบาต
เพราะไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เขาตาย หรือยินดีที่เขาตาย
แต่เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ
การที่ผู้ป่วยขอร้องให้ปล่อยเขาตาย หากผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว
ไม่ถือว่าเป็นการุณยฆาตหรือการฆ่าตัวตาย
แต่ถ้าผู้ป่วยขอให้ญาติทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้เขาตายเร็วขึ้น
ซึ่งไม่ใช่การตายอย่างธรรมชาติ อย่างนี้เข้าข่ายฆ่าตัวตาย
ส่วนผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำให้เขาตายเร็วขึ้นในกรณีดังกล่าว
ก็ถือว่ามีส่วนในการทำปาณาติบาตด้วย
อย่างไรก็ตาม ควรเข้าใจว่า การฆ่าตัวตายไม่ใช่บาปหนักในพุทธศาสนา
บาปหนักในพุทธศาสนา หรืออนันตริยกรรมฝ่ายอกุศล ได้แก่
การฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า และทำสงฆ์ให้แตกแยก

(จาก ปุจฉา-วิสัชนา โดย พระไพศาล วิสาโล
ความแตกต่างของการตายอย่างสงบ การุณยฆาต การฆ่าตัวตาย
)


นอกจากนี้แล้ว ผมได้ค้นในพระไตรปิฎก
เพื่อหากรณีตัวอย่างที่จะนำมาเทียบเคียงในเรื่องนี้
แต่ก็ไม่ได้พบกรณีตัวอย่างที่จะนำมาเทียบเคียงได้ตรง ๆ นะครับ
อย่างไรก็ดี ผมสรุปข้อมูลและประเด็นสำคัญได้ว่า
ในอรรถกถาทสกัมมปถสูตร (สังยุตตนิกาย นิทานวรรค) อธิบายว่า
ปาณาติบาตนั้นมีองค์ ๕ คือ
สัตว์มีชีวิต ๑ ความเป็นผู้มีความสำคัญว่าสัตว์มีชีวิต ๑
จิตคิดจะฆ่า ๑ มีความพยายาม ๑
สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น ๑
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=397

ดังนั้น การที่ผมจะพาคุณอาท่านนี้กลับบ้าน ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะถ้าหากทำไม่ดีแล้ว ก็จะกลายเป็นปาณาติบาตได้
โดยเราสามารถเปรียบเทียบองค์ ๕ ได้ ดังนี้
๑. คุณอาเป็นบุคคลมีชีวิต
๒. ผมรู้อยู่แล้วว่าคุณอาเป็นบุคคลมีชีวิต
๓. ผมตั้งใจว่าพากลับบ้านแล้ว จะปล่อยให้ท่านจากไปอย่างสงบ
๔. ได้มีความพยายาม คือพากลับมาบ้าน และปล่อยให้จากไป
๕. คุณอาเสียชีวิตด้วยการกระทำนั้น
ถ้าหากผมทำไปในแนวนี้แล้ว ก็ย่อมจะสุ่มเสี่ยงผิดศีลข้อปาณาติบาตได้ครับ


บางท่านอาจจะมองว่า ถ้าสิ่งที่เราทำนี้เป็นไปตามที่คนป่วยได้สั่งไว้
เราก็ถือว่าไม่ผิดศีลข้อปาณาติบาตหรือเปล่า?
ตอบว่า แม้ว่าจะปล่อยให้ตายตามคำสั่งของคนป่วยก็ตาม
ก็ผิดศีลข้อปาณาติบาตได้นะครับ
โดยขอยกตัวอย่างในอรรถกถา ตติยปาราชิกสิกขาบท
(พระวินัยปิฎก มาติกา มาติกาวิภังค์) ซึ่งได้สอนว่า
กรณีที่ภิกษุสั่งให้ภิกษุอื่นมาฆ่าตนเอง
แล้วภิกษุผู้รับสั่งได้ฆ่าภิกษุผู้สั่งนั่นเองตาย
เช่นนี้แล้ว ภิกษุผู้สั่งต้องอาบัติทุกกฎ ส่วนภิกษุผู้ฆ่าต้องปาราชิก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=01&i=187
ดังนี้ การทำให้คนป่วยนั้นถึงแก่ความตายตามคำสั่งคนป่วยเอง
ก็ยังถือผิดศีลข้อปาณาติบาตอยู่ดีครับ

ทีนี้ เราจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้
เพื่อพาคุณอาท่านนี้ให้กลับมาเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้าน
โดยไม่ผิดศีลข้อปาณาติบาต
?
เท่าที่ผมศึกษาพระไตรปิฎกในส่วน
ตติยปาราชิกสิกขาบท นะครับ
เห็นว่าทางที่จะเป็นไปได้มากที่สุดคือ เราจะต้องไม่มีจิตคิดจะฆ่า
หรือเราจะต้องไม่มีจิตคิดจะให้เขาตาย
ซึ่งถ้าขาดข้อนี้ ซึ่งเป็นองค์ข้อ ๓ ของศีลข้อปาณาติบาตแล้ว
การกระทำก็ย่อมจะไม่ผิดศีลข้อปาณาติบาตครับ
โดยผมขอยกตัวอย่างใน
ตติยปาราชิกสิกขาบท บางเรื่อง ดังนี้

สมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งกำลังฉันอาหาร เนื้อติดคอ
ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้ทุบที่คอภิกษุนั้น เนื้อหลุดออกมาพร้อมกับโลหิต
ภิกษุนั้นถึงมรณภาพ ภิกษุรูปที่ทุบมีความรังเกียจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว กระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุ เธอคิดอย่างไร
?
ภิกษุตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้า ไม่มีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุไม่มีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ ไม่ต้องอาบัติ

สมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งกำลังฉันอาหาร เนื้อติดคอ
ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้ทุบที่คอภิกษุนั้น เนื้อหลุดออกมาพร้อมกับโลหิต
ภิกษุนั้นถึงมรณภาพ ภิกษุรูปที่ทุบมีความรังเกียจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว กระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามว่า ดูกรภิกษุ เธอคิดอย่างไร
?
ภิกษุตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้า มีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

สมัยนั้นแล พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี ช่วยกันสร้างวิหารที่อยู่
ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ข้างล่างยกศิลาส่งขึ้นไป ศิลาที่ภิกษุผู้อยู่ข้างบนรับไว้ไม่มั่น
ได้ตกทับกระหม่อมภิกษุผู้อยู่ข้างล่างถึงมรณภาพแล้ว
เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว กระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูกร ภิกษุ เธอคิดอย่างไร
?
ภิกษุตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้ามิได้จงใจ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร ภิกษุ ภิกษุไม่จงใจ ไม่ต้องอาบัติ

สมัยนั้นแล พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี ช่วยกันสร้างวิหารที่อยู่
ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ข้างล่างยกศิลาส่งขึ้นไป ศิลาที่ภิกษุผู้อยู่ข้างบนรับไว้ไม่มั่น
ได้ตกทับกระหม่อมภิกษุผู้อยู่ข้างล่างถึงมรณภาพแล้ว
เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว กระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูกร ภิกษุ เธอคิดอย่างไร
?
ภิกษุตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้า มีความประสงค์จะให้ตาย พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

สมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งมุงวิหารเสร็จแล้วจะลง
ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า อาวุโส ท่านจงลงทางนี้
ภิกษุนั้นก็ลงทางนั้น ได้พลัดตกลงถึงมรณภาพแล้ว
รูปที่กล่าวมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว กระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูกรภิกษุ เธอคิดอย่างไร
?
ภิกษุตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้า มิได้มีความประสงค์จะให้ตาย พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุ
ภิกษุไม่มีความประสงค์จะให้ตาย ไม่ต้องอาบัติ

สมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งมุงวิหารเสร็จแล้วจะลง
ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า อาวุโส ท่านจงลงทางนี้
ภิกษุนั้นก็ลงทางนั้น ได้พลัดตกลงถึงมรณภาพแล้ว
รูปที่กล่าวมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว กระมังหนอ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูกรภิกษุ เธอคิดอย่างไร
?
ภิกษุตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้า มีความประสงค์จะให้ตาย พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

http://www.84000.org/tipitaka/read/r.php?B=1&A=7852

ดังนั้นแล้ว ในเวลาที่พาคุณอาท่านนี้กลับมาบ้านนั้น
หากผมระลึกว่า ตั้งใจจะพามาเพื่อปล่อยให้คุณอาตายอย่างสงบ
อย่างนี้ก็ถือว่าสุ่มเสี่ยงที่จะผิดศีลข้อปาณาติบาตได้
การดูแลใด ๆ ที่ผมจะทำ ก็จะทำด้วยเจตนาเพื่อให้เขาตายอย่างสงบ
เราจึงไม่ควรไประลึกเรื่องว่า ตั้งใจจะปล่อยให้ตายครับ

แต่ควรจะระลึกใจตามวิสัชนาของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
คือระลึกว่า คนป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย ไม่สามารถรักษาให้หายได้
เราไม่ประสงค์จะทรมานคนป่วย เราจึงไม่ทำการยื้อชีวิตเขา
เพราะจะทำให้เขามีความทุกข์มากขึ้น
ส่วนว่าคนป่วยจะตายเมื่อไรนั้น ก็เป็นไปตามอายุขัยของเขาเอง
เราไม่ได้มีเจตนาว่าเราจะปล่อยหรือทำให้เขาตายอย่างสงบ
ซึ่งหากเราระลึกเช่นนี้แล้ว การดูแลของเราก็จะไม่มีเจตนาฆ่า
ส่วนว่าเขาจะจากไปเมื่อไร ก็เป็นเรื่องการสิ้นอายุขัยของเขาเอง

ต่อมา ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
คุณอาท่านนี้ได้มีอาการทรุดหนักลง และลมหายใจเริ่มอ่อนแล้ว
ผมจึงได้พาคุณอากลับจากศูนย์ดูแลเพื่อมาดูแลเองที่บ้าน
โดยได้ให้คุณอาท่านนี้นอนฟังบทสวดมนต์ไปเรื่อย ๆ
และทำบรรยากาศรอบ ๆ ในห้องให้ปราศจากสิ่งรบกวนใด ๆ
มีแต่เพียงเสียงบทสวดมนต์เท่านั้น
ผ่านไปสองวัน คุณอาท่านนี้ก็ได้จากไปอย่างสงบครับ

ทีนี้ บางท่านอาจมีผู้ป่วยลักษณะนี้อยู่ในครอบครัว และดูแลเอง
แต่อาจจะมีข้อจำกัดว่าไม่สามารถดูแลได้อย่างเต็มที่เท่าไรนัก
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม
ในหลักการก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกันนะครับว่า
แม้ว่าเราอาจจะเลือกแนวทางที่ให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ
มากกว่าที่จะมาทนทรมานไปเรื่อย ๆ โดยรักษาไม่หายก็ตาม
แต่ในการดูแลผู้ป่วยลักษณะนี้ในครอบครัวนั้น
ก็ไม่ควรระลึกว่าเราทำอย่างนี้ ๆ เพื่อให้เขาตายอย่างสงบ
แต่ควรระลึกว่า คนป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย ไม่สามารถรักษาให้หายได้
เราไม่ประสงค์จะทรมานคนป่วย เราจึงไม่ทำการยื้อชีวิตเขา
ส่วนว่าคนป่วยจะตายเมื่อไรนั้น ก็เป็นไปตามอายุขัยของเขาเอง
เราไม่ได้มีเจตนาว่าเราจะปล่อยหรือทำให้เขาตาย
แต่เราก็ดูแลอย่างดีที่สุดตามสภาพและกำลังของเราเท่าที่มี
ส่วนว่าเขาจะจากไปเมื่อไร ก็เป็นเรื่องการสิ้นอายุขัยของเขาเอง