Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๒๕

ngodngam1 

 งดงาม  

  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ความเป็นผู้ว่าง่าย

 

  dhammajaree325

 

ในคราวนี้ เรามาสนทนากันในเรื่อง “ความเป็นผู้ว่าง่าย” นะครับ
ความเป็นผู้ว่าง่าย ในภาษาบาลีคือคำว่า “โสวจัสสตา”
ซึ่งหมายถึง ความเป็นบุคคลที่พูดด้วยง่าย
ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย รู้จักรับฟังเหตุผล
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%E2%CA%C7%A8%D1%CA%CA%B5%D2&original=1

อีกนัยหนึ่ง “โสวจัสสตา” หมายถึง กิริยาของผู้ว่าง่าย ภาวะแห่งผู้ว่าง่าย
ความเป็นผู้ว่าง่าย ความไม่ยึดข้างขัดขืน ความไม่พอใจทางโต้แย้ง
ความเอื้อเฟื้อ ภาวะแห่งผู้เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ทั้งเคารพ
ทั้งรับฟัง ในเมื่อถูกว่ากล่าวโดยสหธรรม
(สุตตันติกทุกะ พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=34&A=7290&w=%C7%E8%D2%A7%E8%D2%C2

คำว่า “ผู้ว่าง่าย” ตรงข้ามกับคำว่า “ผู้ว่ายาก”
โดยในอรรถกถาของสัลเลขสูตร (มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค)
อธิบายว่า คำว่า “เป็นผู้ว่ายาก” หมายความว่า
เป็นผู้ยากที่จะว่ากล่าวได้ กล่าวคือ ถูกว่าอะไรเข้าแล้วทนไม่ได้
ส่วนบุคคลที่ตรงกันข้ามกับคนว่ายาก คือคนว่าง่าย
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12.0&i=100&p=2

หากเป็นคนว่าง่ายก็ต่อเมื่อได้สิ่งของหรือปัจจัยต่าง ๆ แล้ว
ย่อมไม่เรียกว่าเป็นคนว่าง่าย
แต่จะต้องเป็นคนว่าง่ายเพราะเคารพพระธรรม
ดังที่ใน กกจูปมสูตร (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย
เราไม่เรียกภิกษุรูปที่เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย
เพราะเหตุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะแลคิลานปัจจย เภสัชบริขาร
ว่าเป็นคนว่าง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุรูปนั้น เมื่อไม่ได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขารแล้ว
ก็จะไม่เป็นคนว่าง่าย จะไม่ถึงความเป็นคนว่าง่าย

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใด สักการะเคารพ นอบน้อมพระธรรมอยู่
เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย
เราเรียกภิกษุรูปนั้นว่า เป็นคนว่าง่าย
เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เราจักเป็นผู้สักการะ เคารพนอบน้อมพระธรรม
จักเป็นผู้ว่าง่าย จักถึงความเป็นคนว่าง่าย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=4208&Z=4442&pagebreak=0

ประโยชน์ของ “ความเป็นผู้ว่าง่าย” มีมากมายหลายประการครับ เช่น
ความเป็นผู้ว่าง่ายเป็นมงคลชีวิตประการหนึ่งในมงคลชีวิต ๓๘ ประการ
(มงคลสูตร พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ)
http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=25&A=41&Z=72&pagebreak=0

ความเป็นผู้ว่าง่ายเป็นหนึ่งในธรรม ๗ ประการ
ที่เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ อันได้แก่
๑. ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๒. ความเป็นผู้เคารพในธรรม
๓. ความเป็นผู้เคารพในสงฆ์ ๔. ความเป็นผู้เคารพในสิกขา
๕. ความเป็นผู้เคารพในสมาธิ ๖. ความเป็นผู้ว่าง่าย
๗. ความเป็นผู้มีมิตรดีงาม
(สุวจสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=726&Z=740&pagebreak=0

ความเป็นผู้ว่าง่ายเป็นหนึ่งในนาถกรณธรรม ๑๐ ประการ
คือ ธรรมทำที่พึ่ง, ธรรมสร้างที่พึ่ง หรือคุณธรรมที่ทำให้พึ่งตนได้
ได้แก่ ๑ ศีล (มีความประพฤติดี) ๒. พาหุสัจจะ (ได้เล่าเรียนสดับฟังมาก)
๓. กัลป์ยาณมิตตตา (มีมิตรดีงาม) ๔. โสวจัสสตา (เป็นคนว่าง่าย ฟังเหตุผล)
๕. กิงกรณีเยสุ ทักขตา (เอาใจใส่กิจธุระของเพื่อนร่วมหมู่คณะ)
๖. ธัมมกามตา (เป็นผู้ใคร่ธรรม) ๗. วิริยะ (ความขยันหมั่นเพียร)
๘. สันตุฏฐี (มีความสันโดษ) ๙. สติ (มีสติ)
๑๐. ปัญญา (มีปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%B9%D2%B6%A1%C3%B3%B8%C3%C3%C1_%F1%F0

ความเป็นผู้ว่าง่ายเป็นหนึ่งในธรรม ๔ ประการที่เป็นไปเพื่อความตั้งมั่น
เพื่อความไม่ฟั่นเฟือน เพื่อความไม่เสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม
ได้แก่ ๑. ภิกษุย่อมเล่าเรียนพระสูตรอันเรียนกันมาดี
ด้วยบทและพยัญชนะอันตั้งไว้ดี
๒. ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมอันทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
เป็นผู้อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ
๓. ภิกษุเหล่าใดเป็นพหูสูต เล่าเรียนนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ภิกษุเหล่านั้นบอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ
๔. ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระ เป็นผู้ไม่มักมาก ไม่ประพฤติย่อหย่อน
ทอดธุระในการก้าวลง เป็นหัวหน้าในวิเวก
ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง แม้หมู่ชนผู้เกิดมาภายหลังเหล่านั้น
ก็เป็นผู้ไม่มักมาก ไม่ประพฤติย่อหย่อน ทอดธุระในการก้าวลง
เป็นหัวหน้าในวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง
(จตุตถปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=21&A=3884&w=%C7%E8%D2%A7%E8%D2%C2

ที่สำคัญคือ ความเป็นผู้ว่าง่ายเป็นธรรมของผู้ที่ใกล้แห่งการบรรลุคุณวิเศษ
ดังที่ในอรรถกถาเมตตสูตร (อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค)
สอนว่า “จะพึงเป็นผู้ตรง และเป็นผู้ซื่อตรงอย่างเดียวหามิได้
ก็จะต้องเป็นผู้ว่าง่ายอีกด้วย จริงอยู่ บุคคลใดถูกเขากล่าวว่า ท่านไม่ควรทำสิ่งนี้
ย่อมกล่าวว่า ท่านเห็นอะไร ท่านฟังอะไร ท่านเป็นอะไรของผมจึงว่ากล่าว
เป็นอุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์ เป็นเพื่อนเห็น เป็นเพื่อนกินหรือ
หรือย่อมเบียดเบียนด้วยความเป็นผู้นิ่ง หรือรับแล้วไม่ทำตามที่รับ
บุคคลนั้นย่อมอยู่ในที่ห่างไกลแห่งการบรรลุคุณวิเศษ

ส่วนบุคคลใดถูกสั่งสอน ย่อมกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ท่านกล่าวดีอย่างยิ่ง
ชื่อว่าโทษของตนเห็นได้โดยแสนยาก ท่านเห็นอย่างนั้นแล้ว
พึงอาศัยความเอ็นดูกล่าวเตือนกระผมอีก
กระผมได้รับโอวาทจากสำนักของท่านนานแล้วดังนี้
และปฏิบัติตามที่พร่ำสอน บุคคลนั้นเป็นผู้อยู่ในที่ใกล้แห่งการบรรลุคุณวิเศษ
เพราะฉะนั้น บุคคลรับคำของคนอื่นแล้วกระทำอย่างนี้
พึงเป็นผู้ว่าง่าย และพึงเป็นผู้อ่อนโยน เหมือนเป็นผู้ว่าง่าย”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=308

ตัวอย่างของกรณีผู้ว่าง่ายในสมัยพุทธกาลนั้นได้แก่ ท่านพระราธะ
แต่เดิม ท่านพระราธะในสมัยที่เป็นคฤหัสถ์ ได้เป็นพราหมณ์ตกยาก
และได้มาขอบวช แต่ไม่มีภิกษุรูปใดทำการบวชให้
ต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงให้ประชุมเหล่าภิกษุในเรื่องนี้
พระองค์ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย ใครระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้ มีอยู่บ้าง"
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ระลึกได้
เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์
พราหมณ์นี้ให้คนถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง”
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ให้ท่านพระสารีบุตรให้ท่านพระราธะบวช
ท่านพระราธะเป็นผู้ว่าง่าย มีปกติรับเอาโอวาทโดยเคารพแล้ว
เมื่อท่านปฏิบัติตามคำที่ท่านพระสารีบุตรพร่ำสอนอยู่ ๒-๓ วันเท่านั้น
ก็ได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว

หลังจากนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระราธะเป็นผู้ว่าง่ายเหลือเกิน
เมื่อโทษไรที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวสอนอยู่ พระราธะท่านไม่เคยโกรธเลย
หากท่านพระสารีบุตรจะรับสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) เช่นนี้แล้ว
ย่อมจะรับสัทธิวิหาริกได้เป็นจำนวนมาก

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถาว่า
“บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าวนิคคหะ
ชี้โทษว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้
พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิต
เมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษที่ลามก”
(อรรถกถาบัณฑิตวรรควรรณนา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=16&p=1

จะเห็นได้ว่า ประโยชน์ของ “ความเป็นผู้ว่าง่าย” มีมากมายดังที่กล่าว
สิ่งที่ควรพิจารณาต่อมา คือทำอย่างไร จึงจะเป็นผู้ว่าง่าย?
ในอนุมานสูตร (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้สอนธรรม ๑๖ ประการ
ที่ทำให้ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ว่าง่าย ดังนี้
๑. ภิกษุไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก
ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก
๒. ภิกษุไม่เป็นผู้ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
๓. ภิกษุไม่เป็นคนมักโกรธ อันความโกรธไม่ครอบงำแล้ว
๔. ภิกษุไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่ผูกโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุ
๕. ภิกษุไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่มักระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุ
๖. ภิกษุไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ
๗. ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่โต้เถียงโจทก์
๘. ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่รุกรานโจทก์
๙. ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่ปรักปรำโจทก์
๑๐. ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่เอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน
ไม่พูดนอกเรื่อง ไม่แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย
และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ
๑๑. ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง พอใจตอบในความประพฤติ
๑๒. ภิกษุไม่เป็นคนลบหลู่ ไม่ตีเสมอ
๑๓. ภิกษุไม่เป็นคนริษยา ไม่เป็นคนตระหนี่
๑๔. ภิกษุไม่เป็นคนโอ้อวด มิใช่เจ้ามายา
๑๕. ภิกษุไม่เป็นคนกระด้าง ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น
๑๖. ภิกษุไม่เป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ไม่ถือรั้น ถอนได้ง่าย
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=3185&Z=3448&pagebreak=0