Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๓๒๔

ngodngam1 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

สมัยที่บำเพ็ญเพียรไม่ง่าย

  dhammajaree324

 

ช่วงนี้ได้ผ่านวันเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ไปแล้ว
เราก็คงเริ่มได้เห็นบรรยากาศของความวุ่นวายและขัดแย้งกันมากขึ้น ๆ
ก็มีข้อควรพิจารณาว่าในเวลาที่บ้านเมืองหรือสังคมวุ่นวายและขัดแย้งมาก
จะกระทบต่อการปฏิบัติธรรมของเราหรือไม่ และเราควรจะทำอย่างไร? 

ใน “สมยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า สมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการ
ได้แก่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นคนแก่ ถูกชราครอบงำ
นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๑
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้อาพาธ ถูกพยาธิครอบงำ
นี้เป็นสมัยที่ไม่ควร บำเพ็ญเพียรข้อที่ ๒
อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีข้าวแพง ข้าวเสียหาย มีบิณฑบาตหาได้ยาก
ไม่สะดวกที่จะยังอัตตภาพให้เป็นไปได้ด้วยการแสวงหาบิณฑบาต
นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๓
อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีภัย มีความกำเริบในป่าดง
ชาวชนบทพากันขึ้นยานพาหนะอพยพไป
นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๔
อีกประการหนึ่ง สมัยที่สงฆ์แตกกัน มีการด่ากันและกัน
บริภาษกันและกัน มีการใส่ร้ายกันและกัน มีการทอดทิ้งกันและกัน
ผู้คนไม่เลื่อมใสในสงฆ์หมู่นั้น นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๕ 

สมัยที่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการ ได้แก่
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท
ประกอบด้วยความเป็นหนุ่ม ตั้งอยู่ในปฐมวัย
นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๑ 

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง
ประกอบด้วยไฟธาตุที่เผาอาหารให้ย่อยสม่ำเสมอ
ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร
นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๒ 

อีกประการหนึ่ง สมัยที่ข้าวถูก ข้าวดี มีบิณฑบาตหาได้ง่าย
สะดวกที่จะยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงหาบิณฑบาต
นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๓ 

อีกประการหนึ่ง สมัยที่พวกมนุษย์พร้อมเพรียงกัน สามัคคีกัน
ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ
มองดูกันและกันด้วยจักษุที่ประกอบด้วยความรัก
นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๔ 

อีกประการหนึ่ง สมัยที่สงฆ์พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน
มีอุเทศร่วมกัน อยู่ผาสุก ไม่มีการด่ากันและกัน ไม่บริภาษกันและกัน
ไม่มีการใส่ร้ายกันและกัน ไม่มีการทอดทิ้งกันและกัน
ผู้คนเลื่อมใสในสงฆ์หมู่นั้น นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๕
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=1522&Z=1556&pagebreak=0 

คำว่า “ไม่ควร” ใน “สมยสูตร” นี้ ไม่ได้หมายความว่า
ห้าม หรือ ไม่ควรที่จะบำเพ็ญเพียรเลยนะครับ
แต่หมายความว่า บำเพ็ญเพียร ได้ไม่ง่าย
ยกตัวอย่างเช่น การบำเพ็ญเพียรในวัยหนุ่มสาว
ย่อมจะบำเพ็ญเพียรได้ง่ายกว่าในวัยชรา
หรือการบำเพ็ญเพียรในเวลาที่สุขภาพแข็งแรง
ย่อมจะบำเพ็ญเพียรได้ง่ายกว่าในเวลาเจ็บป่วยหนัก เป็นต้น 

ใน “อนาคตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า ภิกษุผู้เห็นภัยในอนาคต ๕ ประการนี้
ก็ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง คือ 

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นว่า
บัดนี้ เรายังเป็นหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความเป็นหนุ่มอันเจริญ
ตั้งอยู่ในปฐมวัย ถึงกระนั้น ก็มีสมัยที่ชราย่อมจะถูกต้องกายนี้ได้
ก็ผู้ที่แก่แล้ว ถูกชราครอบงำแล้ว จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ไม่ใช่ทำได้ง่าย จะเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า และป่าชัฏ ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย 

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บัดนี้ เรามีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุ
สำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ขนาดกลาง
ควรแก่การบำเพ็ญเพียร แต่ย่อมมีสมัยที่พยาธิจะถูกต้องกายนี้
ก็ผู้ที่ป่วยไข้อันความป่วยไข้ครอบงำแล้ว
จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทำได้ง่าย 

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บัดนี้ ข้าวกล้าดี บิณฑบาตก็หาได้ง่าย สะดวกแก่การแสวงหาเลี้ยงชีพ
แต่ก็ย่อมมีสมัยที่มีข้าวแพง ข้าวกล้าไม่ดี บิณฑบาตหาได้ยาก
ไม่สะดวกแก่การแสวงหาเลี้ยงชีพ
อนึ่ง ในสมัยข้าวแพง พวกมนุษย์ย่อมหลั่งไหลไปในที่ที่มีอาหารดี
ในที่นั้นย่อมมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีการอยู่พลุกพล่านกัน
เมื่อมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ อยู่พลุกพล่านกัน
จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทำได้ง่าย 

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บัดนี้ มนุษย์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน
เป็นดังน้ำนมกับน้ำ มองดูกันด้วยนัยน์ตาแสดงความรักอยู่
แต่ย่อมมีสมัยที่มีภัย มีความปั่นป่วนในดง ประชาชนวุ่นวาย และเมื่อมีภัย
พวกมนุษย์ย่อมหลั่งไหลไปในที่ที่ปลอดภัย
ในที่นั้นย่อมมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีการอยู่พลุกพล่านกัน
เมื่อมีการอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ อยู่พลุกพล่านกัน
จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทำได้ง่าย 

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บัดนี้ สงฆ์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศร่วมกัน
อยู่ผาสุก แต่ก็ย่อมมีสมัยที่สงฆ์แตกกัน ก็เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว
จะมนสิการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทำได้ง่าย
จะเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า และป่าชัฏ ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย
http://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=22&item=78&items=1&preline=0&pagebreak=0 

จาก “สมยสูตร” และ “อนาคตสูตร” ข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า
ในสมัยที่มีภัย มนุษย์ทะเลาะกัน ไม่สามัคคีกัน วิวาทกัน
ก็ย่อมจะเป็นสมัยที่บำเพ็ญเพียร
หรือมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ยากกว่า
แต่ในสมัยที่มนุษย์พร้อมเพรียงกัน สามัคคีกัน
ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ก็ย่อมจะเป็นสมัยที่บำเพ็ญเพียร
หรือมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ง่ายกว่า 

จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าในสมัยใดก็ตาม เราก็พึงไม่ประมาท และต้องบำเพ็ญเพียร
แต่หากในสมัยนั้น สังคมไม่ได้ทะเลาะกัน สามัคคีกัน และไม่วิวาทกันแล้ว
ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราควรจะไม่ประมาท และเร่งบำเพ็ญเพียร
เพราะเป็นโอกาสที่จะบำเพ็ญเพียร
หรือมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ง่ายกว่า
โดยเมื่อถึงสมัยที่สังคมทะเลาะกัน ไม่สามัคคีกัน และวิวาทกันแล้ว
ก็ย่อมจะบำเพ็ญเพียร หรือมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ยากกว่า 

นอกจากภัยเรื่องมนุษย์ทะเลาะกัน ไม่สามัคคีกัน วิวาทกันแล้ว
ก็ยังมีภัยในเรื่องความชรา ความเจ็บป่วย การทำมาหากิน
รวมถึงเรื่องสงฆ์ทะเลาะกันอีกด้วย
ดังนี้ เราจึงควรระลึกถึงภัยเหล่านี้ และเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
มีใจเด็ดเดี่ยว เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้ง ธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้งครับ